สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
  • Ajahn Mitre's Dhamma Talk 2012-12-11.mp3
  • 12/12/2011
  • 224
  • 2.179 Mb

ธรรมเทศนาวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๔

เทศนาพระอาจารย์มิตร เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ [๑๙:๐๒ นาที]

 

วันนี้ก็เป็นวันหยุด อีกวันนึง ถือว่าพวกเรานี้ก็ใช้วันหยุดนี้ให้มีคุณค่า

 

วันคืนหมดไปกับการสร้างความดีนี้ ก็ถือว่าเป็นวันคืนที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อชีวิต

 

หรือว่าอีกมุมมองอีกมุมมองก็คือ วันคืนที่หมดไปจากการชำระล้างหรือ ทำลายสิ่งที่ไม่ดีออกไปก็ได้

 

การที่พวกเราจะมองชนิดไหน ก็อยู่ที่สติปัญญาของเราเป็นหลัก

 

ถ้าสติปัญญาของเรานี้ ประกอบด้วยศรัทธา เราก็จะมุมมองว่าเราพยายามสร้างคุณงามความดี ทุกวัน ทุกคืน ทุกเดือน ทุกปี

 

แต่ถ้าสติปัญญาของเรานี่ ประกอบด้วยปัญญา เป็นตัวนำ เราก็จะมุมมองใหม่ว่า เราจะทำลายความไม่ดีไม่งามหรืออกุศลในใจเราอย่างไร

 

ที่เรียกว่าอุปัทวะทั้งหลาย คือ ความชั่วทั้งหลาย อย่าได้มีแก่เราเลย

 

เมื่อมีแล้วเนี่ย เราจะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นได้ถูกต้องมั๊ย?

 

ผลจากการที่พวกเราเนี่ย จัดการกับสิ่งเหล่านั้นได้ถูกต้อง คือ อุปัทวะทั้งหลาย คือ ความชั่วทั้งหลายเนี่ย

 

ก็จะนำความสงบสุข ความร่มเย็น ความเจริญ ความไพบูลย์ ความเกษม  ความปลอดโปร่ง มาสู่จิตใจดวงนี้

 

อยู่ที่ความมุ่งหมายของเรา ว่าเราจะมุ่งหมายไปไหนทิศทางใด

 

แต่รวมลงมาแล้ว ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า ละความชั่ว หรือ สร้างความดี

 

ผลจากการที่เราละความชั่ว และ สร้างความดีเนี่ย มารวมกันเป็น ทำจิตนี้ให้มันผ่องใส

 

ทุกวันนี้จิตของเราไม่ผองใส เพราะกิเลสมันจรไป

 

มันจรมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและก็ใจ มันจรมา

 

มันจรมาเสร็จ เราก็ไปยึดหมายมั่น สิ่งที่จรมาเป็นเรา เป็นของของเรา

 

เป็นสิ่งที่พยายามทำให้เราเนี่ย เศร้าหมอง

 

แต่ถ้าเราเนี่ย ไม่มีสติปัญญากำหนดให้ทัน เราก็จะอลเวงเลย ในจิตใจ

 

รู้สึกว่าหาความร่มเย็นให้กับจิตใจไม่ได้

 

เราจะไปโทษสิ่งภายนอกก็ไม่ถูกต้อง

 

เพราะสิ่งภายนอก มันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันอยู่แล้ว

 

อย่าง..คนนี้มาว่าเรา มาด่าเรา มาโกรธ มาเกลียดเรา เนี่ย เราคงห้ามมันไม่ได้ เพราะว่าเหนือความควบคุม

 

แต่ถ้าเราควบคุมภายใน…ความคุมภายในจิตใจของเราดีกว่า

 

เพราะการควบคุมภายในใจของเราเนี่ย ด้วยสติปัญญาที่เราฝึกมาดีแล้ว

 

คือกำหนดสติระลึกรู้อยู่เนี่ย จิตของเราเป็นอย่างไร เป็นกุศลเป็นอกุศลอย่างไร จิตของเราวางอุเบกขาได้มั๊ย?

 

จิตของเรายึดหมายมั่นอะไรอยู่? 

 

มันต้องรู้พื้นฐานตรงนี้ก่อน จิตของเราถึงจะชำระ จิตใจนี้ให้ผ่องใสได้

 

แต่ถ้าเราไม่รู้เลย ยึดถือหมายมั่นสิ่งเหล่านั้น ว่าเป็นเราเป็นของเรา เราก็คือว่าเราไม่รู้

 

แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งที่สติปัญญาของเรามันเกิดจากการเฝ้าระวัง..เฝ้าระวังความรู้สึกนึกคิด, รู้ความรู้สึกนึกคิด

 

จิตของเราจะไปแตะต้องกับอารมณ์อะไรที่สร้างความรู้สึก เป็นเราเป็นเขาขึ้นมาเมื่อไหร่ เนี่ยแหล่ะ

 

ตรงนั้นแหล่ะเป็นเหตุเป็นปัจจัย แห่งความเห็นผิดในความทุกข์แน่นอน

 

พระพุทธเจ้าได้มาสอนพวกเรา ให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริง ของอารมณ์คือโลกนี้

 

โลกนี้คืออารมณ์ อารมรณ์คือโลก มันก็ยังเป็นความจริงอยู่

 

คนตายหน่ะเห็นมั๊ย..ไม่มีอารมณ์..หมด

 

หรือคนวิกลจริต..ก็มีอารมณ์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง; เห็นกระดาษเป็นเงิน, เห็นกิ่งไม้เป็นงู, เห็นนกเป็นปลา, เป็นปลาเป็นไส้เดือน

 

เห็นอะไรเป็นกลับตะละปัด..เรียกว่าเห็นอะไรคลาดเคลื่อนจากความเป็นสมมติ, เรียกว่าวิปลาส ทางร่างกายและจิตใจ

 

พวกเราก็เป็นว่า มีความเห็นวิปลาส ทางด้านธรรม 

 

ทุกคนเป็นหมดไม่เลือก เว้นแต่พระอริยเจ้าเท่านั้น พระโพธิสัตว์เจ้า และพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะไม่เห็นความคลาดเคลื่อน

 

ความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ คือร่างกายและจิตใจ ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และแปรเปลี่ยน

 

ร่างกายและจิตใจของเรานี้ ก็ตกอยู่ในกฎเกณฑ์นี้เหมือนกัน

 

ถ้าพวกเรายอมรับความเป็นจริงตรงนี้  ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นเนี่ยถูกต้อง

 

สัญญาความจำได้หมายรู้ ก็ไม่วิปลาส ไม่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

 

เห็นสิ่งต่างๆเหล่านั้น แปรเปลี่ยนไป ตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์

 

ขณะที่เราเห็นมันแปรเปลี่ยนไปอยู่เนืองนิตย์อย่างนี้ ไม่ว่ารูป ไม่ว่านามก็ตาม

 

ใจของเราก็จะออกมา ออกมาจะรูปนามนั้น อยู่ก็เหมือนกันไม่อยู่ เหมือนน้ำกับน้ำมันเนี่ย อยู่ในขวดเดียวกันก็แยกกัน

 

ผู้รู้ของเรา ธาตุรู้ของเราเนี่ย เมื่อมีสติมีปัญญา ฝึกอบรมมาดีเนี่ย

 

ระลึกรู้อยู่ในกัมมัฐฐาน พินิจพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ของอารมณ์เนี่ย ที่เกิดขึ้น ตั้ง และดับไป...ให้มันเห็นชัด ให้มันเห็นแจ้ง

 

ว่าอันนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา เป็นสักแต่ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น

 

จิตเค้ารู้อย่างดีแล้วก็วางเลย รู้ขณะหนึ่ง ขณะหนึ่งขณะความรู้สึกนึง ก็วางไปได้ สติก็ตั้งมั่นดี ปัญญาก็รอบรู้ ในกองสังขารนี้

 

แต่ถ้าสติปัญญาของเรามัน ไม่เข้มข้น ไม่ต่อเนื่อง ไม่มั่นคง เราก็จะไปยึด รูปเป็นเรา เวทนา สัญญา สังขาร เป็นเรา วิญญาณเป็นเรา

 

ความรู้สึกนึกคิดนั่นแหล่ะ ความรู้สึกนึกคิดมากมาย เป็นเรา เป็นของเรา

 

คิดถูกคิดผิดยึดหมด เราไม่เห็นว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างนึง

 

ความคิดคือสังขาร คือ ธรรมชาติอย่างนึง เกิดจากการจำได้หมายรู้ เกิดจากการเรียนรู้ เกิดจากความรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เนี่ยส่งไป

 

เกิดให้ความสุข ความทุกข์ แล้ว เราก็คิดไป ปรุงไป แต่งไป แล้วก็เกิดการกระทำออกมา ทางกายและวาจา เป็นกรรม สมบูรณ์ บริบูรณ์

 

อย่างพวกเราเนี่ย ต้องคิดก่อน เอ๊ วันนี้ วันนู้น วันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น

 

เราจะมาทำบุญสุนทาน เตรียมตัว เตรียมอาหาร เตรียมข้าว เตรียมทุกอย่าง เตรียมการเดินทาง เตรียมหมด

 

..อันนี้เรียกว่าเราใช้สังขารคิดปรุงแต่งเป็นกุศล เป็นความฉลาด เป็นบารมี เป็นความดี

 

บุคคลใดสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มาก บุคคลนั้นก็จะใกล้กับความเป็นจริง ใกล้กับธรรมชาติที่เป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจได้

 

แต่ถ้าเราอยู่กับความปรุงแต่ง ไม่ได้ไปอยู่กับธรรมชาติ..ปรุงแต่งของสิ่งภายนอก..

 

นึกว่าสิ่งภายนอกเนี่ยจะนำความสุข ความร่มเย็นมาให้กับเราเนี่ย..เราก็ปรุงแต่งไป แสวงหาไป กระเสือกกระสนไป เร่าร้อนไป วุ่นวี่วุ่นไป หาทางจบไม่ได้

 

จบไม่เป็น..เป็นการต่อ  เป็นวัฏฐะสงสาร ต่อไป..ต่อไป..ต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด หาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ได้

 

แต่เมื่อคนเราย้อนมา กลับมาดูตัวตนของเรา ว่าตัวตนของเรามันมีมั๊ย มันเป็นจริงมั๊ย เห็นว่าตัวตนนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรานั่นแหล่ะ

 

ก็ถือว่าคนนั้น  เห็นตัวตนที่แท้จริง มีที่พึ่งที่แท้จริง พึ่งความเป็นจริงที่มีอยู่ในความรู้สึก ในจิตใจของเรา

 

เห็นความเป็นจริงอย่างนี้บ่อยๆ บ่อยๆเนี่ย ความต่อเนื่องของสติปัญญา มันก็ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

 

ความปล่อยวางในเรื่องราวต่างๆ ในเหตุกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเหตุกาลอะไรก็ตาม เราสามารถปล่อยวางได้

 

เพราะว่าเรามาปล่อยวางจุดศูนย์กลางที่เรายึดถือได้ คือ ร่างกายและจิตใจนี้ ได้ก่อน

 

ตรงนี้แหล่ะ เป็นจุดศูนย์กลางที่เรายึดถือไว้   ถ้าเราปล่อยวางตรงนี้ได้ทันรอบ มันก็วางหมด

 

ถ้าเราปล่อยวางตรงนี้ไม่ได้ มันก็ยึดหมดเหมือนกัน

 

การเราจะปล่อยวางได้ เราก็ต้องพยายามเห็นคุณเห็นโทษ เห็นประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ จากการยึดถือ กับการปล่อยวาง

 

เห็นโทษของความยึดถือ เห็นประโยชน์ของการปล่อยวาง ตามความเป็นจริงของมัน ให้มันอยู่อย่างนั้น

 

ก็เหมือนเราเห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย ขอทานคนยากไร้คนอนาถา คนอะไรเราก็สงสารอยู่..แต่เราก็ต้องวาง

 

เพราะเราก็ไม่สามารถที่จะไปแบกรับภาระ หรือไปช่วยอะไรเขาได้มากมายขณะนั้น..

 

..ฉันใดก็ฉันนั้น  ความทุกข์หรือความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจของเราก็เหมือนกัน  สุดท้ายแล้วเราก็ต้องปล่อยวาง

 

เราไม่สามารถที่จะไปแก้ไขเหตุการณ์ สิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าเรายึดถืออยู่ 

 

แต่ถ้าเราพยายามหาเหตุผลของตัวเองให้เจอ พินิจพิจารณาใคร่ครวญอยู่ ว่ากายนี้เป็นอย่างไร?

 

มันเที่ยงมั๊ย? มันเป็นตัวตนเราจริงมั๊ย? มันสวยสดงดงามจริงหรือเปล่า? มันคงที่มั๊ยเนี่ย?  

 

มันก็ไม่, มันเกิดดับ ร่างกายนี้เกิดดับแค่ลมหายใจมันก็เกิดดับอยู่แล้ว

 

หายใจเข้าเห็นมั๊ย..เกิด, ตั้งอยู่ขณะนึง หายใจออกก็ดับ, เข้าเกิด ตั้งอยู่แล้วก็ดับ

 

การเห็นการเกิดดับของกายนี้ก็ได้ หยาบๆ 

 

หรือเห็นความแปรเปลี่ยนของกายนี้: การหลับตา การเคลื่อนไหว ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราฉลาดทั้งนั้น

 

ถ้าเราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ สิ่งที่เรายึดถือมานมนาน กี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้ เกิดมาก็มายึดเลย, เป็นความยึดถือที่เหนียวแน่นมาก

 

ก็พยายามคลายมัน คลายมัน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มั้นตั้งคืนสภาพธรรมชาติ

 

ของแข็งกระดูกเนื้อเอ็นก็กลายเป็นดินไป เอาไปเผาไฟก็เป็นดิน ไม่เผามันก็เป็นดิน ทิ้งมันไว้มันแตกสลาย จิตวิญญาณอยู่ไม่ได้

 

น้ำก็เป็นน้ำไป น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ก็เป็นน้ำ

 

ลมหายใจ ลมที่ทำใหร่างกายนี้เบา ก็หายไป อยู่กับลม ก็กลายเป็นลมไป

 

ไฟก็กลายเป็นธาตุไฟไป

 

ธาตุไฟกับธาตุลมเป็นธาตุอาศัย  ดินน้ำเนี่ยเป็นธาตุหลักของร่างกายนี้ จะแตกสลายช้าหน่อย

 

เมื่อเรารู้อย่างนี่ เข้าใจอย่างนี้ เราก็ปล่อย เราก็วาง

 

บางคนปล่อยว่างไม่ได้ ยึดถือหมายมั่น อยากจะให้มันเป็นดังใจปรารถนา พวกนี้ยาก..คนนั้นก็แบกโลกแบกอารมณ์ไป

 

แบกความเห็นผิดไว้ ไว้ในจิตในใจ เดี๋ยวก็ทุกข์   “ทุกโข ติณณา”  เห็นมั๊ย เป็นผู้ถูกความทุกข์ จับเอาแล้ว หยั่งไว้ในความรู้สึก

 

เราไม่สามารถที่จะปลดเปลื้องความทุกข์นั้นได้ จนว่าเราเห็นโทษของความทุกข์นี้ว่า มันทุกข์จริงๆ

 

ทำไมถึงทุกข์?  เพราะไม่สมใจปรารถนาเนี่ยแหล่ะ มันยึดหมายมั่น

 

ตามเหตุตามปัจจัยเหล่านั้น เราก็ไม่สามารถจะปล่อยได้

 

จนวันใดนึงเนี่ย สติปัญญาของเรามัน มากขึ้น การสำรวมระวังเราดีขึ้น สติเราตั้งมั่นดี จิตใจของเรามันก็เยือกเย็นสงบ

 

เอาความสงบอันนั้น ไปพิจารณากายและอารมณ์ ให้เห็นตามความเป็นจริงของมันเนี่ย

 

มันก็จะแยกออกมา กายส่วนนึง ใจส่วนนึง อารมณ์ส่วนนึง เป็นสามส่วนอยู่ด้วยกัน

 

ก็เหมือนกัน ขวดน้ำ, น้ำ, น้ำมัน อยู่ด้วยกัน แยกกันอยู่ แต่ก็รวมกันอยู่ มองภายนอกเหมือนรวมกัน แต่ถ้ามองภายในมันก็แยกกัน

 

กายเนี่ยก็เปรียบเหมือนขวดน้ำ, น้ำมันเนี่ยจรมาในน้ำ, น้ำคือใจที่ใสสะอาด; น้ำมันก็เข้ามา น้ำมันชนิดนั้น น้ำมันชนิดนี้เข้ามา

ถึงเราจะคนยังไงก็ตาม มันก็เหมือนกันรวมกัน ซักพักนึงก็ลอยแยก         

 

ตอนเราทุกข์เนี่ย มันก็จะเหมือนน้ำกับน้ำมันในขวดน้ำ..เขย่า  มันก็เหมือนมองไป, โห..มันรวมกัน

 

แต่เมื่อมันนิ่งเมื่อไหร่ ใจนี้มันนิ่ง อารมณ์ก็หลุดออกไป..ลอยออกไป  น้ำมันก็ลอยอยู่บนผิวน้ำ

 

ใจของเราเนี่ย ถ้าฝึกดีแล้วเนี่ย มันจะนำความสุขมาให้อย่างมหาศาลมาก

 

งั้นพวกเราเนี่ย อย่าปล่อยกาลเวลาให้ล่วงเลยเปล่าประโยชน์

 

เพราะความตายเนี่ย มันอยู่ต่อหน้าเราเลยนะ อยู่ต่อหน้าเราขณะทุกวินาทีเลย ประมาทไม่ได้

 

นั่งชักโครก นั่งในห้องน้ำ ล้มตายในห้องน้ำมีมั๊ยโยม?  มี..นั่งในห้องน้ำตายก็ยังมีเลยโยม เป็นลมวูบ

 

พระภิกษุสงฆ์ก็เป็น ก็มี มรณภาพเหมือนกัน ลงบันไดพลาดนิดนึงก็ล่วงลงมาเรียบร้อย อย่าคิดว่ามันไม่ลื่นล้มนะโยม ถึงจะไม่มีน้ำมันก็ลื่นได้โยม

 

มันเดินผิดท่า มันเดินก้าวสั้นก้าวยาว หรือเหยียบวัตถุที่กลมๆลื่นๆ มันก็ลื่นได้หมดแหล่ะ

 

มันต้องระวัง..ระวังใจ มันก็จะระวังกายไปด้วย มีสติ, โอ้..ชีวิตนี้มันไม่แน่นอนนะ ลงบันไดพลาดมันก็ตายแน่นอน

 

เป็นการฝึกสติไปในตัว  แม้แต่น้ำสำลักก็ตายได้โยม อาหารสำลักก็ตายได้

 

ในข่าวหนังสือลงเยอะแยะ ทานข้าวสำลักข้าวตายก็มี สำลักน้ำตายก็มี หกล้มหัวฟาดพื้นตายก็มี

 

อุบัติเหตุมันเกิดได้ตลอดเวลา ถ้าเรามีสติดีเราก็คอยระวัง ระวังใจนี้ไม่ให้เมามัว ลุ่มหลง เพลิดเพลิน ในกายนี้ มากนัก

 

ให้เห็นตามความเป็นจริงของกายนี้เนี่ย จิตของเราก็จะไม่วิปลาส

 

จิตของเราจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีญาณคือความรู้ รู้ตามความเป็นจริง

 

จิตใจของเราก็รู้สึกว่าเบาขึ้นสบายขึ้น เป็นจิตใตที่มีความสุขความสงบ  เป็นจิตใจที่มีคุณประโยชน์สูงสุดได้ ถ้าเราฝึกหัดปฏิบัติอย่างนี้บ่อยๆ

 

เตือนตัวเองบ่อยๆซึ่ง พิจารณาซึ่งความเกิดแก่เจ็บตายบ่อยๆ พิจารณาความพลัดพรากบ่อยเนี่ยแหล่ะ จะทำให้เราเห็นความเป็นจริงของชีวิต

 

ชีวิตนี้ก็จะประเสริฐถึงที่สุดได้..ต่อไปตั้งใจรับพรกัน

Tags :

view