สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
  • Ajahn Mitre's Dhamma Talk 2012-12-10.mp3
  • 11/12/2011
  • 202
  • 2.178 Mb

ธรรมเทศนาวันเสาร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๔

เทศนาพระอาจารย์มิตร เช้าวันเสาร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ (วันรัฐธรรมนูญ) [๑๙:๐๐ นาที]

วันนี้ก็เป็นวันพระ

 

ในวันนี้ก็เป็นวันที่ ๑๐ ด้วย เป็นวันรัฐธรรมนูญ เป็นวันหยุด ประจำปีของคนไทยพวกเรา ในช่วงเดือนธันวา ก็จะมีวันสำคัญ อยู่สองวัน

 

คือวันที่ ๕ ธันวามหาราช หรือว่าวันที่ในหลวงของเรา หรือ พ่อหลวงของเรา หรือ พระมหากษัตริย์ ของพวกเราชาวไทย ชาวสยามนี้

 

ได้ลงมาเกิดในโลกมนุษย์  ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ลงมาเกิดในโลกมนุษย์

 

ก็เรียกว่าเป็นสมมติเทพ เทพโดยสมมติ เป็นบุคคลที่มีความพิเศษ กว่าบุคคลธรรมดา ถือว่าเกิดในชนชั้นสูงของสังคม สูงที่สุด มีคนเดียว

 

๖๐ ล้านกว่าคน ก็มีคนเดียว คนที่จะเกิดเป็นพระมหากษัตริย์ได้ต้องอบรมวาสนาบารมีมา และ ตั้งความปรารถนามาด้วย

 

เมื่อเกิดมาแล้ว เป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ยิ่งยากกว่าเดิม ที่จะรักษาสภาวะ หรือความเป็นพระมหากษัตริย์ให้ยาวนานก็ยาก

 

หรือจะสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับของสังคมนั้นๆ ก็ยาก

 

หรือเป็นที่ยอมรับของสังคมโลกยิ่งยากเข้าไปใหญ่

 

แต่พระมหากษัตริย์ของเรา พ่อหลวงของเรา รัชกาลที่ ๙ นี้

 

ก็ถือว่า เป็นผู้ที่มีการครองราชย์นานกว่าองค์อื่น

 

เราฉลองครองราชย์ มา ๖๐ ปี งวดที่แล้วก็รอบนึง แล้วปีนี้ก็ฉลองพระชนม์มายุ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา

 

การที่พระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าเราก็เป็นพระมหากษัตริย์ เกิดในวรรณะชนชั้นสูง ได้รับการอบรมแบบชนชั้นสูง

 

ไม่ ว่าการศึกษาก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่ คัดสรร อาจารย์ที่มีความสามารถ สติปัญญา ฉลาดสามารถที่จะสอน พระมหากษัตริย์ หรือว่าราชวงศ์ หรือว่าเชื้อพระวงศ์ ในยุคนั้นๆให้มีความรู้ ทางด้านปกครองก็ตาม ทางด้านการบริหาร จัดการ ด้านเศรษฐกิจก็ตาม สังคมก็ตาม ในการอนุเคราะห์สงเคราะห์สาธารณะประโยชน์ให้กับประชาชนในแว่นแคว้น ในเมืองนั้นๆ

 

ก็ล้วนแล้วแต่ต้องศึกษาเท่านั้น

 

คนเราจะเรียนรู้เองโดยไม่มีการศึกษาจากผู้อื่นนี้ยาก มีอยู่ แต่น้อย

 

ส่วนใหญ่พวกเราต้องอาศัย ครูบาอาจารย์โดยเฉพาะพ่อแม่นี้ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นบุคคลแรกของลูก ที่สอนเรา

 

ไม่น่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะขับถ่าย จะอะไรก็ตามในการดำรงค์ชีวิตขั้นพื้นฐานนี้ พ่อแม่ต้องสอน

 

การพูดก็สอน เมื่อถึงวัยเล่าเรียนก็ส่งเข้าไปเรียนในระบบโรงเรียนนั้นๆ ตามกำลังความสามารถของพ่อแม่

 

พระพุทธเจ้าก็ทรงได้รับการอบรมสั่งสอน จากครูบาอาจารย์ที่ถือว่าดีที่สุด เลิศที่สุด

 

แต่การที่พระพุทธเจ้า เรานี้ทำความดีมาเยอะ การเรียนรู้นี้ก็แตกฉานได้ ไม่ยาก ที่คนในยุคปัจจุบันนี้เรียกว่าอัจฉริยะ

 

บาลีเรียกอุคคติตัญญู เป็นผู้รู้เร็ว

 

คนกลุ่มนี้มีน้อยในสังคม การเรียนรู้เรื่องการดำรงค์ชีวิตก็รวดเร็ว ฉลาด ว่องไว

 

ธรรมะก็เหมือนกัน การที่พวกเราจะเรียนรู้ธรรมได้รวดเร็ว ฉลาด เข้าใจในอรรถ ในธรรมนี้

 

พื้นฐานของจิตใจของเรานี้ต้องดีก่อน

 

ที่พระพุทธเจ้าบอกว่างาม มีความงามในเบื้องต้นด้วยศีล คือกายปกติ วาจาปกติ มีความงามเบื้องต้น

 

เมื่อสอน เมื่อได้ยิน ได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศไว้ ในยุคที่ท่านมีพระชนม์อยู่ก็ตาม ในปัจจุบันก็ตาม

 

ธรรมะก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ก็ยังสอนมนุษย์เหมือนกัน

 

คำสอนก็ยังเหมือนเดิม ละความชั่ว สร้างความดีนี่ ทำจิตใจของเรานี้ ให้สะอาด ปราศจากการมีตัวมีตน มีเรามีเขานี่แหล่ะ

 

สองพันกว่าปีแล้ว ก็สอนมาในแนวทางเดียวกัน คือ งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด

 

จิตของบุคคลใด ก็ตาม เมื่อได้กายวาจาสงบด้วยศีลแล้ว ทำให้งามในท่ามกลางด้วย

 

จิตที่ว้าวุ่น วุ่นวาย มันก็สงบได้ เพราะว่าวาจากับกายของเรานี่สงบ กายวาจาของเราไม่ไปเบียดเบียนใคร

 

ไม่ไปเบียดเบียนตนเองและไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นด้วย ไม่ฆ่าสัตว์ 

 

โยม ดูศีลห้าก็ตาม ห้าประการที่เราได้ยินได้ฟังกันมานี้ ก็สอนเรื่องการไม่ให้เบียดเบียนกันนั่นแหล่ะ ในส่วนนึง ไม่ให้ไปเบียดเบียนตนเอง อีกส่วนหนึ่ง

 

เพราะการเบียดเบียนตนเองและคนอื่น จะทำให้กายวาจาของเราผิดปกติ

 

ก็ทำให้จิตผิดปกติไปด้วย ความงามในท่ามกลางก็ไม่เกิด

 

เมื่อไม่เกิด ความงามในที่สุดก็เกิดไม่ได้อีก เพราะมันต่อเนื่องกัน

 

เราก็ต้องพยายามสร้างความงามในเบื้องต้นให้ได้ก่อน

 

ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เบียดเบียนคนอื่น

 

ไม่โกหก ไม่ดื่มสุราเมรัย การไม่โกหกก็ทำให้ไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย ไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วย

 

ยิ่งสุราเมรัย ยาเสพติดด้วย ก็เบียดเบียนตัวเองอย่างเดียวเลย

 

ถ้ามากๆ ก็ไปฆ่าสัตว์อีก ก็ทำให้ไปเบียดเบียนคนอื่นอีก

 

ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ ก็สอนกันมาอย่างนี้ สองพันกว่าปีก็สอนกันมาเรื่องนี้

 

ไม่ใช่เรื่องวิเศษวิโส เรื่องใหม่อะไร เป็นเรื่องเก่าๆ เป็นเรื่องเดิมๆนี่แหล่ะ

 

แต่เป็นการได้ยินได้ฟังเฉยๆ เป็นการได้อ่านเฉยๆ ศีลยังไม่เกิด ที่การกระทำ ทางกายวาจาของเรานี้

 

ผลของศีล ก็เลยไม่มี อานิสงส์ที่เราจะได้รับ ในการที่จะทำศีลให้เกิดขึ้นก็ไม่มี

 

เพราะการกระทำของเรายังไม่ได้ทำลงไป จนเราเห็นคุณค่าของศีลนั้น มันยิ่งใหญ่มาก

 

ยิ่งใหญ่กว่าทรัพย์สินเงินทอง ทรัพย์สมบัติในโลกนี้ ในเทวโลกด้วย แม้แต่ในพรหมโลกด้วย

 

ก็สู้ศีลห้าไม่ได้ เพราะศีลห้า ทำให้บุคคลนั้นสมบูรณ์ ประเสริฐทั้งกายและใจ เต็มเปี่ยมเลย

 

ตรงนี้ต้องเป็นพยานตัวเอง บุคคลใดมีศีลห้า แล้วไปเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นนี่ ตัวเองก็เยือกเย็น บุคคลอื่นก็เยือกเย็น

 

เมื่อทำไปจนถึงจุดๆนึง ที่ศีลของเราบริบูรณ์ สมบูรณ์ ถึงพร้อม เต็มรอบ เต็มรอบแห่งศีล

 

สมาธิที่เกิดขึ้นจากสัมมาทิฏฐิ เป็นพื้นฐาน เพราะมีศีลเป็นตัวรองนี้

 

ก็เป็นสัมมาสมาธิ ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมทุกๆการกระทำ ที่กายและใจ

 

ความสงบชนิดนี้ไม่ได้ไปอยู่ทื่อื่น ไม่ได้ไปอยู่กับคนนู้นคนนี้ สิ่งนู้นสิ่งนี้ แต่อยู่ที่กายและใจของเรา

 

เป็นความสงบที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เพราะอยู่บนพื้นฐานของสติปัฎฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการระลึกรู้

 

ไม่ว่าจะเป็นส่วนของกายก็ตาม เวทนา จิตและธรรมก็ตาม อยู่ส่วนไหนถึงกันหมด แล้วแต่จริตนิสัย ความละเอียดอ่อน

 

ของจิตดวงนั้น ว่าชอบระลึกรู้ในส่วนไหน มากกว่า

 

เมื่อการระลึกรู้ของเรานี้ มันต่อเนื่อง ปัญญามันก็ออกมาตอนที่การระลึกรู้ของเราต่อเนื่องนี่แหล่ะ

 

มันจะเห็นความรู้สึกนึกคิด เรียกว่าอารมณ์ มันเกิดขึ้นอย่างไร อาศัยอะไรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ตั้งแต่อยู่อย่างไร อาศัยอะไรให้มันตั้งอยู่ และมันดับไปได้อย่างไร เหตุปัจจัยอะไรที่มันดับ

 

และมันก็เกิดอีก และก็ตั้งอยู่ และก็ดับอีก

 

จนเราเห็นความรู้สึก เห็นอารมณ์ ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ และดับไปนั้น ไม่ใช่เรา เป็นธรรมธาตุอันหนึ่ง เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง

 

ที่อาศัยเหตุปัจจัย ของรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ไม่มีอิสระ

 

แต่ธาตุรู้ของเรานี้ไปหลงใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้แหล่ะ เลยสร้างความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา

 

เป็นความรู้สึกร้อยพันแปดประการ เยอะแยะไปหมด หาความสงบที่แท้จริงไม่ได้ เพราะเราไปหลง

 

สิ่งที่ทำให้เราหลง กับสิ่งที่เรารู้นี้ มันก็อยู่ด้วยกัน

 

ตอนที่เราหลง สติของเรา สัมปชัญญะของเรานี้ มันไม่ตั้งมั่น มันไม่รู้พร้อม มันก็เลยหลง

 

แต่ถ้าสติ สัมปชัญญะของเรานี้ รู้พร้อม ตั้งมั่นดี สิ่งที่เราหลง เราก็รู้ รู้ตามความเป็นจริงของธรรมธาตุนั้นๆ

 

เราจะยึดหมายมั่นมากี่ภพ กี่ชาติก็ตาม เราก็สามารถที่จะปล่อยวาง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นๆ ให้เป็นธรรมชาติได้

 

เพราะอาศัยที่จิตที่อบรมมาดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตาม

 

เราอบรมมาดีแล้ว จิตของเรา น้อมไปสู่ความเป็นจริง อยู่ตลอดเวลา

 

ไม่ว่าตาของเราจะดูรูป หูฟังเสียงก็ตาม จมูกดมกลิ่นก็ตาม แม้แต่ลิ้นสัมผัสรส การสัมผัสความร้อนความหนาวก็ตาม..เข้าใจ

 

เข้าใจสมมติ แล้วก็เข้าใจวิมุตติ

 

สมมติ กับวิมุตติ มันอยู่ด้วยกัน

 

ก็เหมือนเรานี้มีชื่อนี้ เดิมแท้ไม่มีชื่อ ก็อยู่ด้วยกัน  เมื่อก่อนไม่มีเดี๋ยวนี้มี ต่อไปก็ไม่มีอีก ต่อไปอีกก็มีอีก สลับไปเรื่อยๆ

 

จนวันหนึ่งจิตใจของเรา เกิดญาณ หรือความรู้ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ ตามความเป็นจริง

 

ว่ามันไม่ใช่สัตว์เอย ไม่ใช่บุคคลเอย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

 

เป็นธรรมธาตุของรูป  เป็นธรรมธาตุของนาม

 

ที่สิ่งที่อยู่กลางๆระหว่างรูปนาม ก็คือ ธาตุรู้  ธาตุแห่งความปล่อยวาง ธาตุแห่งความว่าง

 

ในธาตุนั่นเนี่ย พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่มีความเกิดแก่เจ็บตาย เพราะตัวตนตรงนั้นนี่ไม่มี

 

ไม่มีความเกิดดับ ตรงนั้นไม่มีความเกิดดับ

 

เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นความรู้ล้วนๆ ที่ไม่ประกอบด้วยตัวตนจิตนี้แหล่ะ เดิมแท้ก็เกิดขึ้น

 

จิตเดิมแท้ที่เกิดขึ้น เป็นจิตที่อิสระ จากรูปและนาม

 

จากตัวตน จากเรา จากเขา

 

เมื่อ เราทำความรู้สึกเดิมแท้นี้ให้มันต่อเนื่อง จากวินาที เป็นนาที จากหลายๆนาที เป็นหลายๆนาทีเป็นชั่วโมง จากหลายๆชั่วโมงเป็นวัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายๆปี

 

จนมันต่อเนื่องไปเลย เป็นอิสระเลย เป็นอิสระ จากตัวจากตนจากเราจากเขาเลย

 

อันนี้แหล่ะ คือความรู้ตามความเป็นจริง ของรูปและนาม ที่เราสามารถฝึกฝนอบรมให้มันเกิดมีเกิดเป็นได้

 

เพราะอะไร เพราะมันมีมันเป็นอยู่แล้ว บางทีจิตของเราก็ว่างอยู่แล้ว วางอยู่แล้ว

 

จิตคนไหนที่จะมีตัวตนอยู่ทุกวินาที ไม่มีหรอก บางทีมันก็ว่างจะความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน ตรงนั้นหล่ะเราจะสบาย

 

แต่ถ้าความรู้สึกของเรานี้ มีอารมณ์ ขึ้นมาเมื่อไหร่ เราไปยึดถือในความรู้สึกนึกคิดเมื่อไหร่

 

ความรู้สึกนึกคิดเป็นเรานั่นแหล่ะ ความมีตัวตนของเรานี่แหล่ะ จะเกิดขึ้น เพราะสติปัญญาของเรากำหนดไม่ทัน

 

การกำหนดสติ คือการระลึกรู้อารมณ์ที่เราตั้งใจให้รู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตก็ว่าได้

 

ถ้าพวกเราต้องการที่จะรู้ตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอน รู้แบบครูบาอาจารย์ทรงสอน

 

เราก็ต้องพยายามทำ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงทำมาแล้ว ครูบาอาจารย์ทำมาแล้ว ที่กายวาจานี้แหล่ะ ที่ใจนี้แหล่ะ ให้เหมือนท่าน

 

ท่าน สอนให้เราสำรวมระวัง อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดี ยินร้าย ท่านบอกเลยอย่ายินดี ยินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์

 

ธรรมดามันก็ยินดี ยินร้าย เป็นธรรมดา ของจิตที่ยังไม่ได้ฝึก ของกายที่ยังไม่ได้ฝึก เมื่อมีการสำรวมระวัง ก็เป็นการฝึก

 

เกิดความยินดีมา เราก็พิจารณา อันนี้ไม่เที่ยงนะ

 

เกิดความยินร้ายมา เราก็พิจารณา ก็ไม่เที่ยงอีก แล้วมันก็ไม่เที่ยงจริงๆ

 

เรายินดียินร้ายมา ก็นับไม่ได้ มันก็ไม่เที่ยง มันก็หายไปแล้ว มันก็เกิดใหม่ มันก็หายอีก

 

แต่เราไม่ได้พินิจพิจารณานี่แหล่ะ มันต่างตรงที่ไม่ได้พินิจพิจารณา

 

พิจารณาว่ามันเป็นใคร มันเป็นเราหรือเป็นเขาจริงมั๊ย

 

ความยินดียินร้าย นี่มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

 

การพินิจพิจารณานี่แหล่ะ จะทำให้เราเกิดปัญญา คือ รู้เห็นตามความเป็นจริงของรูปและนามนี้ ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

 

ทีละเล็กละน้อย ทีละในความรู้สึก ทีละในอารมณ์ไปเรื่อยๆ

 

การเดินทางของจิตใจของเรา ปฏิปทาที่เราดำเนินชีวิตอยู่ ก็ไม่ผิด

 

เป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด ที่พระพุทธเจ้าทรงรับรอง แม้แต่พวกเราเมื่อลงมือปฏิบัติ เราก็จะรับรองตัวเราเองได้

 

ว่าการสำรวมระวัง กับการไม่สำรวม มันต่างกันอย่างไร

 

การพินิจพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กับการไม่พิจารณา มันต่างกันอย่างไร

 

เมื่อจิตใจของเราเกิดความยินดียินดีร้าย แล้วเราปล่อยจิตไปให้ยินดียินร้ายฃ

 

กับการพินิจพิจารณา ความยินดียินร้าย ให้มันเป็นปกติ มันต่างกันอย่างไร

 

มันก็เป็นพยาน กับตัวเราเองนี่แหล่ะ เราต้องเห็นคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติ

 

ไม่ว่าจะเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตาม ว่ามันมีคุณค่ามหาศาล ที่ทำให้เราออกจากอารมณ์ ที่เป็นความทุกข์

 

เราจะหาเหตุของความทุกข์ได้ไม่ยาก ว่าเราทำลายความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน

 

กิเลสก็พยายามที่จะสร้างความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน ตลอดเวลา

 

เราก็ตั้งสติระลึกรู้อยู่ ทำลายความเป็นตัวเป็นตน ตลอดเวลา เท่ากัน

 

ถ้า วันไหน มรรคของเรา คือ หนทางอันประเสริฐ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ของเรามันแก่กล้า มันก็ฆ่ากิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ตาม

 

แต่ถ้าเมื่อขณะใดนี้ มรรคของเราอ่อน กิเลสมันก็กล้า มันก็ฆ่ามรรคของเรา

 

มันก็เป็นการต่อสู้ระหว่างปัญญา เรียกว่า วิชชา กับ อวิชชา ความรู้กับความหลง ตัวตนกับไม่ใช่ตัวตน

 

เป็นการต่อสู้กัน ทุกๆความรู้สึกก็ว่าได้

 

ให้พวกเรานี้ ตั้ง ตั้งให้มั่นคิดปรุงแต่งไป คิดปรุงแต่งให้เป็นประโยชน์ พินิจพิจารณาในเรื่องของความจริง

 

ความไม่งามของร่างกายนี้เป็นอย่างไร ความเสื่อมความสิ้น ของร่างกายนี้เป็นอย่างไร สรรพสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับเราเป็นอย่างไร

 

สุดท้ายนี้ร่างกายของเรานี้จะแตกสลายไป จิตใจของเราเป็นอย่างไร

 

ยังหวาด ยังกลัว ยังอาลัยอาวรณ์ ในโลกนี้อยู่มั๊ย ถ้ายังอาลัยอาวรณ์อีก ก็ต้องมาเกิดใหม่ มาเรียนรู้อีก

 

เพราะมันยังอาลัยอาวรณ์อยู่ ยังพอใจยินดีอยู่ ยังไม่เห็นโทษ ในภพน้อยภพใหญ่ที่เราเกิดมา

 

จนว่าจิตของเราเห็นโทษนี้แหล่ะ มันถึงจะออกจากสิ่งเหล่านั้นได้

 

ถ้าไม่เห็นโทษ เราก็ยังข้องอยู่ พอใจยินดีอยู่ เราจะเห็นโทษนั้นเราจะต้องพิจารณา  สิ่งที่เราเป็นอยู่นี่แหล่ะ

 

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัวตนนี้แหล่ะ ที่ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรานี้แหล่ะ จริงมั๊ย

 

ตั้งคำถาม ถาม หาคำตอบให้ถูกต้องให้กับธาตุรู้ของเรา  ธาตุรู้ของเราก็จะบริสุทธิ์ เป็นอิสระได้ไม่ยาก

 

อาศัยทำความเพียรไม่หยุด พิจารณาไม่หยุด ศรัทธานี่ต้องเป็นตัวนำ และต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย

 

ถึงจะเป็นศรัทธาที่มีกำลัง และสมบูรณ์ที่จะทำให้เราออกจากความทุกข์ได้

 

วันนี้อาตมาให้ข้อคิดพวกเรานี้ นำไปพินิจพิจารณา อันไหนเห็นเป็นคุณเป็นประโยชน์ เราก็นำไปประพฤติปฏิบัติ

 

อันไหนเราฟังแล้วไม่เข้าใจ ก็วางมันไว้ก่อน เพราะว่าความรู้ของเรา การอบรมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี่มันยังไม่สมบูรณ์

 

มัน ต้องมาประพฤติปฏิบัตินี่แหล่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นนี่แหล่ะ เราถึงจะฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ ธรรมะของครูบาอาจารย์ได้เข้าใจตลอดทุกคำพูด

 

จริงๆแล้วธรรมะแล้วสุดท้ายแล้วไม่ต้องพูดนะ สูงสุดก็คือไม่พูด อย่างครูบาอาจารย์บอก ของจริงนิ่งเป็นใบ้  ของพูดได้นั้นไม่จริง

 

มันก็ยังเป็นความจริงอยู่ ถึงปัจจุบัน อาตมาก็ขอยุติด้วยประการฉะนี้.

Tags :

view