สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ 4

เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๔ - ๔

(หลวงพ่อแต่งขึ้น เปรียบเสมือนว่าเทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)

ต่อมาจากเรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๓ - ๔ (เทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)

เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” ความรอบรู้จะเกิดได้ต้องอาศัยการฟัง การอ่าน และนำไปพิจารณาหาเหตุผลให้ประจักษ์ชัดขึ้นในจิตใจของเรา ก็จะสามารถแก้ไขความทุกข์ได้ระดับหนึ่ง แต่ปัญญาที่เกิดจากฝึกหัดอบรม ลงมือปฏิบัติภาวนา จะทำให้สามารถเกิดญาณ (ความหยั่งรู้ในทุกข์) เกิดความสงบมีความรู้ยิ่งในร่างกายว่าเป็นของไม่เที่ยง ทำให้เกิดความรู้พร้อมในอริยสัจทั้ง ๔ ที่พวกเราได้เคยยินได้ฟังมา

ทุกข์ (สภาวะที่บีบคั้นหรือสภาพที่ทนได้ยาก ไม่ให้ความพึงพอใจแก่ใคร) ได้แก่ การเกิด การแก่ชรา ความตาย การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ๆ (คือไม่สมหวัง) ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์

ความรอบรู้ในการภาวนาของเราล้วนเกิดจากความพากเพียรของเราเอง ไม่สามารถอ้อนวอนหรือโชคช่วยให้เกิดขึ้นได้ การอ้อนวอนทุกคนก็ทำได้ไม่ยากความทุกข์ก็คงไม่เกิดกับบุคคลใดเลย เพราะทุกคนก็อ้อนวอนได้ เป็นเรื่องทำง่าย ๆ แต่พระพุทธองค์ทรงเตือนท่านทั้งหลายว่า “ภิกษุไม่หมั่นประกอบความเพียรในการฝึกอบรมจิต ถึงจะมีความปรารถนาขอให้จิตของเราหลุดพ้นจากอาสวะเถิด ดังนี้ จิตของเธอจะหลุดพ้นไปจากอาสวะกิเลสได้ก็หาไม่

จากพระดำรัสของพระองค์ท่านทำให้พวกเราได้รู้ว่า ความเพียรจะต้องทำให้ต่อเนื่องไม่ว่าจะเพียรทางกายมีการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือ จะเพียรทางจิตใจ มีสติ รู้ตัวอยู่ พยายามถอนความยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส จิตของพวกเราก็จะเป็นกลาง มีสติระลึกรู้อยู่ในกาย (พิจารณาโดยใช้ความคิดไปด้วยว่า “สิ่งทั้งหลายมันก็เป็นไปตามสภาวะของความไม่เที่ยง เกิดเป็นเด็ก ต่อมาโตจนเป็นหนุ่มสาว ต่อมาเป็นผู้อยู่ในวัยกลางคน สุดท้ายก็แก่ชราและตายไป”) เมื่อมีความเคลื่อนไหวอิริยาบถไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้กำหนดรู้ (มีสติ) ทันอิริยาบถ (จะทำให้เกิดสัมปชัญญะ) เรียกว่าสร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง หรือถ้าเรานั่งสมาธิก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก (อานาปานสติกรรมฐาน) ก็ได้

ถ้าจิตใจของเรามันไม่ยอมอยู่กับลมหายใจ ก็มาพิจารณาความจริงของร่างกายโดยการแบ่งส่วนต่าง ๆ ออก เช่นแบ่งชิ้นส่วนต่าง ๆ ในร่างกายให้เห็นเป็นอวัยวะน้อยใหญ่ (กายคตานุสสติกรรมฐาน) มี ๓๒ ประการ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ให้เห็นความไม่สะอาด (อสุภกรรมฐาน) ทั้งหลายของร่างกายนี้ มันเป็นการประชุมของอวัยวะต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นสกลร่างกาย อย่างที่เราเห็นแต่ที่จริงเป็นสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างมาประชุมกัน (จตุธาตุกรรมฐาน) คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้น

พวกเราทุกคนอาจจะเคยเห็นศากศพ ในสภาพต่าง ๆ ไม่มากก็น้อย เราก็น้อมจิตใจของเราให้เห็นว่า “ผู้อื่นเป็นเช่นใด เรา ท่านทั้งหลายก็จะเป็นเช่นนั้น (อสุภกรรมฐาน)” เมื่อทำอารมณ์อย่างนี้ให้ชำนาญจิตก็จะเกิดความมั่นคงเป็นสมาธิได้ง่าย ความสงบอันเกิดจากการน้อมจิตในลักษณะนี้ เรียกว่า “ปัญญาทำให้เกิดสมาธิ” ก็จะทำให้เราเห็นร่างกายของเราตามเป็นจริงในระยะต่อมา ผลก็คือทำให้เราค่อย ๆ ถอนอุปาทาน (คือความยึดมั่นว่าตัวตนของเราได้) ความโลภ ความโกรธ ความหลงในอารมณ์โลก ๆ ก็จะน้อยลง ๆ จิตก็สว่างขึ้นมีปัญญาขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสอนอยู่บ่อย ๆ ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” เพราะแสงสว่างภายนอกก็เห็นเฉพาะร่างกายของเราเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา (ถ้าจิตสงบก็เห็นร่ายกายไม่เป็นเรา ไม่เป็นเขา)

ถ้าเราไม่ชอบระลึกรู้ที่กาย ก็อาจระลึกรู้ที่เวทนาว่าเวทนา (คือจิตในของเราไปเสวยอารมณ์) ความสุขกาย ความทุกข์กาย ความสุขใจและสบายใจ หรือความทุกข์ใจและความเสียใจ ตลอดจนจิตของเรามีความรู้สึกเฉย ๆ จะสุขก็ไม่ใช่จะทุกข์ก็ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น (มีสภาวะเกิดขึ้นปรากฏขึ้น ต่อมาก็มีความดับสลายปรากฏให้เห็น ตลอดจนความแปรปรากฏขึ้น) ให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดในเวทนา ตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ จิตใจก็จะเกิดความสงบและเกิดปัญญา

หรือจะพิจารณาจิตให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงจิต (ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา) คือมีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดว่า “จิตของตนที่มีราคะหรือไม่มีราคะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ มีโมหะหรือไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ว่ามีลักษณะอย่างไร ๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้น ๆ”

หรือบางคนชอบพิจารณาธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ให้รู้เห็นตามที่เป็นจริงว่าเป็นแต่เพียง “ธรรม” (ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา) คือมีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดในธรรมทั้งหลาย (ได้แก่ อริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ ว่าคืออะไร ? เป็นอย่างไร ? มีอยู่ในตนหรือไม่ ? เกิดขึ้น เจริญอยู่ และดับไปได้อย่างไร ? ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้น ๆ)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการตั้งของสติ พระตถาคตได้ตรัสบอกให้พวกพุทธบริษัททั้งหลายว่า “ให้หมั่นเจริญสติให้มาก ทำให้มากความสงสัยในธรรมทั้งหลายก็จะหมดไป” ความสงสัยจะไม่หมดไปด้วยการอ่านหนังสือธรรมะ หรือการฟังธรรมจากครูบาอาจารย์แต่จะหมดไปด้วยการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องในธรรมทั้งหลาย อย่างที่พวกเราได้กำลังปฏิบัติธรรมกันอยู่ ณ บัดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความสงบสุขในปัจจุบัน และในอนาคตอย่างแน่นอน

เพราะพวกเราทำถูกวิธี ผลก็ออกมาให้เราได้รู้เห็นความเป็นจริงในชีวิตของพวกเราว่า ก่อนที่จะมาปฏิบัติธรรมจิตใจของเราเป็นอย่างไร ? (มีความโลภ มีโทสะ มีโมหะ ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ได้ ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างมากมายในชีวิตไม่สามารถจะแก้ไขความทุกข์ให้น้อยลงหรือหมดลงไปได้แล้ว) หลังจากมาปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว จิตใจเป็นอย่างไร ? (พวกเรามีความเห็นถูกต้อง) เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเฉพาะคน ที่เรียกว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ”

 

ที่พวกเราได้ยินจากบทสวดทำวัตรแปลตอนเช้าและตอนเย็นล้วนแล้วทำให้เกิดปัญญาทั้งสิ้น การได้ยินสุภาษิตเป็นคำพูดที่พระตถาคตได้กล่าวไว้ดีว่าเป็นมงคลต่อชีวิตมนุษย์เป็นอันมาก

ส่วนพวกที่ไม่ได้สดับฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าส่วนมากก็จะมีความคิดเห็นที่ผิดว่า ผลของทานไม่มี ผลของการสำรวมจิตใจไม่มี ผลของการเคารพคารวะต่อบุคคลที่ควรคารวะไม่มี พวกเขาก็จะกระทำตามใจอยู่ตลอดเวลา ผลคือมีแต่ความทุกข์ ความทะยานอยาก ความขัดเคือง ไม่พอใจ คิดประทุษร้ายตัวเองและคนอื่น ทำให้ลุ่มหลงไม่รู้ไม่เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงว่า กิเลสมีลักษณะทำให้จิตใจของเขาผูกโกรธคนไม่เลือกหน้า ลบหลู่คุณท่านที่มีพระคุณมี มารดาบิดา เป็นต้น เอาความคิดของตนเป็นใหญ่ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน มีความอิจฉาริษยาคนอื่นอยู่เสมอ ในจิตใจมีมารยาที่เรียกว่า วางฟอร์ม มีความตระหนี่เป็นพื้นจิตใจ ชอบโอ้อวดหลอกเขาอยู่เสมอ เป็นคนหัวดื้อไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะคนอื่น มีความถือตัว ดูหมิ่นคนอื่น มัวเมาในทรัพย์ ยศ สรรเสริญ ความสุข จนทำให้เป็นคนประมาท

พระพุทธองค์ทรงเตือนภิกษุทั้งหลายก่อนจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า” การที่เป็นผู้ไม่ประมาทก็จะต้องมีสติดังที่ได้แสดงวิธีการมีสติขึ้นแล้วในตอนต้น

ขอให้พวกเราจงนำธรรมที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็จะประสบผลสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ฯ

 

view