สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ 3

เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๓ - ๔

(หลวงพ่อแต่งขึ้น เปรียบเสมือนว่าเทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)

ต่อมาจากเรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๒ - ๔ (เทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)

พระสุคตจึงทรงย้ำให้พวกพุทธบริษัท ผู้มีศรัทธาในธรรมที่พระองค์แสดงไว้ดีแล้ว เป็นผู้ต้องขวนขวายแสวงหาที่พึ่งให้กับตนเองให้ได้ เพราะการพึ่งตนเอง พระตถาคตตรัสไว้ว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” การฝึกหัดตนจึงเป็นผู้ประเสริฐได้ (คือปฏิบัติตนสมควรแก่ธรรมที่เราอยู่ในครองชีวิตร่วมกัน) พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “จะต้องให้เรามีธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้” จะต้องมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (การให้ทาน)

การพูดจาจะต้องพูดสุภาพ ไพเราะอ่อนหวาน พร้อมทั้งช่วยขวนขวายช่วยเหลือกิจการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อสังคม เราจะต้องเป็นผู้ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย (การถือศีลศีล ทางกาย-วาจา) ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว จะทำให้ชีวิตคู่ของเราราบรื่น ถ้ามีอุปสรรคเกิดขึ้นก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่มีมีทิฐิมานะที่ผิดเข้ามาทำให้เกิดความขัดแย้ง (ภาวนา ทางใจ-เจริญปัญญา) ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ผลจากการปฏิบัติที่ถูกต้องไม่มีทิฐิจะนำความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม จะเกิดเป็นคนมีนิสัยปัจจัยต่อไปในอนาคต

พระพุทธองค์เองก็ทรงสร้างเหตุปัจจัยในการปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ต้องทำบารมี ๑๐ ประการ (บารมี ๑๐ ธรรมที่ทำให้สำเร็จเป็นพระอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้า) ให้ครบถ้วนจึงจะสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ อันได้แก่ การทำทาน การรักษาศีล (กาย-วาจาดี) การออกบวช การเจริญปัญญา มีวิริยะ (ความเพียร) พร้อมทั้งจะต้องมีขันติ (ความอดทน) มีสัจจะ (พูดจริง ทำจริง) มีอธิษฐาน (จิตให้มั่นคง) เมตตา (รักต่อชีวิตทุกชีวิต) และสุดท้ายมีอุเบกขา (วางจิตให้เป็นกลางไม่ยินดี ยินร้ายต่อโลกธรรม ๘ ประการ)

ปกติคนทั่วไปจะต้องอยู่ในอำนาจของโลกธรรม ๘ ประการอยู่ตลอดเวลา (เป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์โลก) โลกธรรม ๘ ประการ ได้แก่ มีลาภคู่กับเสื่อมลาภ มียศคู่กับเสื่อมยศ มีสรรเสริญคู่กับติเตียนนินทา สุดท้ายมีความสุขคู่กับความทุกข์ โลกธรรม ๘ ประการทำให้ลุ่มหลง ยินดียินร้าย ครอบงำย่ำยีจิตใจเรื่องไป ไม่พ้นจากทุกข์ ส่วนบุคคลที่ต้องการออกจากโลกธรรม ๘ ประการ จะต้องปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ ประการ (เท่านั้น) การปฏิบัติมรรค ๘ ประการเป็นทางสายกลางเพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลส และดับทุกข์ได้ไม่ต้องสงสัย ได้แก่

๑. สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) คือการเห็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

๒. สัมมาสังกัปโป (ความดำริชอบ) คือคำริออกจากกาม ดำริในการไม่มุ่งร้าย ดำริในการไม่เบียดเบียน

๓. สัมมาวาจา (เป็นผู้เจรจาชอบ) คือเว้นจากการพูดไม่จริง เว้นพูดส่อเสียด เว้นการพูดหยาบ เว้นการพูดเพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันโต (การะทำการงานชอบ) คือเว้นจากการฆ่า เว้นการลักขโมย เว้นการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย (+ เว้นการดูสุราเมรัย)

๕. สัมมาอาชีโว (การเลี้ยงชีพชอบ) คือเว้นจากมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาอาชีพ

๖. สัมมาวายาโม (ความพยายามชอบ) คือ

-  ได้เพียรระวังอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมีไม่ให้เกิดขึ้น (๑)

-  เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว (๑)

-  เพียรเจริญทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (๑)

-  เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญขึ้น (๑)

๗. สัมมาสติ (การระลึกชอบ) คือต้องระลึกอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรมอยู่เสมอ ให้อยู่ในอารมณ์กรรมฐานไม่เผลอสติ

๘. สัมมาสมาธิ (ความตั้งจิตมั่นชอบ) คือทำจิตใจให้เกิดความสงบให้ได้

พระตถาคตทรงตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลายเจตนานั่นเองเราเรียกว่า กรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นที่กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้หยาบและประณีต” เมื่อพวกเราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธองค์แล้วก็เกิดปัญญาเป็นคนมีเหตุผล ไม่เชื่องมงาย (เช่นไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือความฝันว่ามีลักษณะดี หรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว เป็นต้น) ข้ามพ้นกิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในตนไปเสียได้ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก

เพราะฉะนั้นสรุปเรื่องของกรรมให้เข้าใจง่ายขึ้น คือกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบาก (ผล) ที่จะได้รับ พระตถาคตตรัสไว้ว่า “เพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริงในธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งการกระทำทางกาย คำพูด ความนึกคิดปรุงแต่งในใจขึ้นเองบ้าง” เนื่องจากตัวการอื่นบ้างโดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ถ้าเรามองเห็นทุกเรื่องเป็นเพราะกรรมเก่า พวกเราจะเป็นคนพึงนอนรอคอยผลกรรมเก่าสุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น (กลายเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง)

พระพุทธเจ้าทรงถือความเพียรพยายามในการกระทำความดีเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าของบุคคล เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการกระทำต่าง ๆ ที่เราคิดและกระทำลงไป และให้ผลเกิดขึ้นตามที่เรามุ่งหมายจึงเป็นบุคคลที่เข้าใจเรื่องกรรมได้ดีว่า กรรมอยู่ในฐานะกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ตนเองก็ดี ผู้อื่นก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องแต่ไหนเพียงใด ย่อมต้องพิจารณาความเป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและเป็นไปในการกระบวนการ พระพุทธองค์ก็มิได้ปฏิเสธกรรมเก่าโดยสิ้นเชิง เพราะกรรมเก่าก็ย่อมมีส่วนอยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยและย่อมมีผลต่อปัจจุบัน (ให้เราทำปัจจุบันให้ดีอนาคตก็จะดีเอง)

ถ้าพุทธบริษัทไม่เข้าใจกระบวนการของกรรมแล้วก็อาจเปิดโอกาสให้ความเห็นผิดที่เรียกว่ามิจฉาทิฐิ เข้าครอบงำ ทำให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว (เห็นผิดเป็นชอบ) เช่น การกล่าวความเห็นผิดของตนออกไปโดยความไม่รู้เรื่องกรรมว่า ทำกรรมดีมีที่ไหน แต่ทำความชั่วได้ดีมีถมไป ฉะนั้นไซร้จึงอย่าทำความดี เป็นต้น กรณีนี้คนพูดก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องกรรมให้เข้าใจประกอบความเห็นผิดออกไป พวกมิจฉาทิฐิเมื่อได้ฟังก็พอใจเห็นคล้อยตามพวกที่กล่าวมาเมื่อเขาเป็นอยู่ด้วยความเห็นผิดอย่างนี้ การที่เขาทำแต่กรรมชั่วอยู่เป็นนิจ จิตใจของพวกเขาก็จะต้องตกต่ำแม้ว่าร่างกายจะเป็นมนุษย์ แต่จิตเป็นสัตว์ดิรัจฉานพวกมืดมัวโง่เขลา การที่พวกเขามีความเห็นผิดย่อมทำให้ชีวิตของเราปราศจากความเจริญ

ตรงกันข้ามกับพวกเรามีความเชื่อเรื่องของกรรม คือการกระทำของเราว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตรงกับพระพุทธเจ้าที่สอนไว้ “บุรุษที่ทำกรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งเจตนาอย่างไร เขาย่อมได้เสวยวิบาก (ผลของกรรมนั้น) อย่างนั้น ๆ” เมื่อเป็นอย่างนี้การครองชีวิตประเสริฐจึงมีได้ เป็นอันเห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้ พวกเราเป็นผู้มีปัญญาดีเข้าใจเรื่องกรรมย่อมถือเอาประโยชน์จากกรรมเก่าทั้งดีและไม่ดีเป็นบทเรียนของชีวิต เป็นคนมีความหนักแน่นในเหตุผลทำให้เข้าใจตนเองและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดปัญญาที่จะแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ดีขึ้น พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาแล้วให้ลุล่วงไปด้วยดี

 

ติดตามต่อได้ที่เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๔ - ๔ (เทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)

view