สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ 2

เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๒ - ๔

(หลวงพ่อแต่งขึ้น เปรียบเสมือนว่าเทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)

ต่อมาจากเรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๑ - ๔ (เทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)

ส่วนประโยชน์ในอนาคตเมื่อเราได้จากโลกนี้ไปแล้ว สุคติภูมิเป็นที่หมาย (มนุษย์ เทวดา พรหม พระนิพพาน) ไม่ไปสู่ทุคติภูมิ (นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน) เพราะบุคคลได้ทำกรรมอะไรไว้ไม่ว่าจะเป็นบุญหรือบาป จะต้องเป็นผู้เป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๆ พวกเราสะสมแต่กรรมดีทำเป็นนิจ (ทำเป็นประจำเป็นปกติ) มีความพอใจในการสร้างความดี ไม่หยุด เพราะจุดหมายปลายทางของพวกเรา ยังไม่ถึง (พระนิพพาน) ก็ต้องสะสมความดีงามกันไปตลอดชีวิตก็ว่าได้

พวกเราชาวพุทธจะต้องไม่ท้อถอยในการสร้างความดีโดยเด็ดขาด จะต้องน้อมนึกถึงความพากเพียร (วิริยะ) ของพระพุทธเจ้าเป็นหลักไว้จะได้มีกำลังใจในการสร้างความดี ถ้าเราเคยสังเกตความคิดของเราจะพบว่า บางครั้งจิตใจของเราก็คิดไปในทางอกุศล (คือความนึกคิดที่ไม่ดี) เช่น ความนึกคิดพัวพัน ติดข้องในสิ่งที่จะมาสนองความอยากของเรา (ความโลภ) หรือความนึกคิดที่ประกอบด้วยความขัดเคือง เพ่งมองในแง่ร้ายของบุคคลอื่น (ความโกรธ) ถ้าหนักมากก็อาจจะนึกคิดในการทำร้ายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ตลอดเวลา

เมื่อพวกเรามีความคิดเช่นนี้ (คิดอกุศล หรือคิดชั่ว) เกิดขึ้น ต้องรีบกำจัดความคิดชนิดนี้ออกไปให้เร็วที่สุด (ให้รีบเปลี่ยนความคิดชั่วเป็นความคิดดี หรือคิดเป็นกุศล) เพราะมันจะบั่นทอนความเป็นอยู่ที่ผาสุกของเรา พวกเราจะจัดการต่ออารมณ์อกุศลอย่างไร ? เราจะต้องใช้ความเพียร ตั้งสติให้อยู่ในอารมณ์กรรมฐานที่พวกเราได้ฝึกฝนไว้อย่างไรต้องนำออกมาใช้ เช่น “มรณานุสสติกรรมฐาน” คือพิจารณาตามระลึกถึงความตาย (บริกรรมพิจารณาในใจว่า ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน ความตายเป็นของแน่นอน เราจะต้องตายแน่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ระลึกบ่อย ๆ จะทำให้จิตใจของเราดีขึ้น)

เมื่อจิตใจของเรากลับมาเป็นปกติแล้ว ควรพิจารณาว่าอารมณ์อกุศลของเราที่ผ่านมาเกิดขึ้นมาเพราะอะไรเป็นเหตุ เมื่อพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า ตัณหาทั้ง ๓ เป็นเหตุให้เราทุกข์ ไม่ว่าจะเป็น

๑. กามตัณหา คือสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย (ถ้าไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์)

๒. ภวตัณหา คือความอยากในภาวะของตัวตนที่จะได้จะเป็น เช่น อยากให้สิ่งที่เราต้องการคงอยู่ตลอดไป (ถ้าไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์)

๓. วิภวตัณหา คืออยากทำลาย อยากให้ดับสูญอันไม่ปรารถนา (ถ้าไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์)

เมื่อเราพิจารณาเห็นรากเหงาของต้นตอของความชั่วแล้วจะต้องไม่ให้จิตใจของเราตกไปอยู่ในอำนาจของมัน (ตัณหาทั้ง ๓ ข้อ) โดยการเจริญภาวนา คือการทำให้เป็นให้มีขึ้น เช่น เมื่อจิตใจของเราอยู่กับคำภาวนาบทใดบทหนึ่งอาจจะเป็นการระลึกความตาย (บริกรรมพิจารณาในใจว่าชีวิตเป็นของไม่แน่นอน ความตายเป็นของแน่นอน เราจะต้องตายแน่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ระลึกบ่อย ๆ จะทำให้จิตใจของเราดีขึ้น) ก็ได้ พุทโธ (หายใจเข้า นึกว่า “พุท” หายใจออก นึกว่า “โธ”) ก็ได้ ธัมโม (หายใจเข้า นึกว่า “ธัม” หายใจออก นึกว่า “โม”) ก็ได้ สังโฆ (หายใจเข้า นึกว่า “สัง” หายใจออก นึกว่า “โฆ”) ก็ได้ หรือจะเป็นการระลึกรู้ลมหายใจเข้า-ออก (อานาปานสติกรรมฐาน) ก็ได้ จะทำให้สติของเราอยู่กับใจของเรา เมื่ออารมณ์อะไรผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะรู้ว่าจิตใจของเราเกิดความพอใจหรือความไม่พอใจในสิ่งนั้น ๆ

เราต้องอบรมสั่งสอนจิตใจของเราว่า “ความพอใจและความไม่พอใจเป็นสิ่งที่จะต้องละมันให้ได้” พิจารณาไปพิจารณามาก็พบตัวกิเลส คือ ความยึดมั่นในกามและอารมณ์ต่างๆ ทำให้เกิดความพอใจ และความไม่พอใจ (เป็นทุกข์เผารนจิตใจของเราให้ไม่สบาย) ก็มีสติปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ต่างนั้น ๆ (มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่ในจิตใจของเรามานับภพนับชาติไม่ถ้วน) พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นมีจะพึงปรากฏชัดแก่เราได้” เป็นพระดำรัสที่กินใจพุทธบริษัททั้งหลายเราจะต้องมีจุดหมายปลายทางในการทำสิ่งต่าง ๆ คือ ที่สุดแห่งกองทุกข์ให้ได้ไม่ว่าชาติใดก็ชาติหนึ่ง

แต่พวกเราจะต้องเป็นผู้ไม่ประมาทเพราะบุคคลที่ประมาท ครูบาอาจารย์สอนว่า “ตายแล้วจากคุณงามความดีทั้งหลาย” สติปัญญาของเราจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราเป็นผู้ประมาท เราจะต้องตกต่ำเป็นไปตามอำนาจของกิเลสต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ และความหลง) จนกว่าที่พวกเราได้กลับมาเจริญภาวนาตั้งสติอยู่ในกาย สติที่ตั้งอยู่ในกายของเรานี้จะทำให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นสามารถกั้นกระแสของอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งในทุกข์ ไม่รู้แจ้งในเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) ไม่รู้แจ้งในความดับทุกข์ (นิโรธ) และไม่รู้แจ้งในทางดับแห่งทุกข์ (มรรคมีองค์ ๘)

ขั้นตอนการปฏิบัติตามศีล สมาธิ และปัญญา (อริยมรรคมีองค์ ๘) ตามที่พระตถาคตได้ทรงตรัสบอกทางให้พวกเราเดินตาม พระองค์ท่านทรงตรัสว่า “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักข้อหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญบริบูรณ์ เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย” คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทรงมีคุณค่าต่อมวลมนุษย์ที่มีศรัทธาความเชื่อ (พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว) เพราะเมื่อเรามีความเชื่อที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) แล้ว วิริยะที่เราหากทำตามคำสั่งสอนก็เกิดขึ้น เมื่อเราทำความดีให้มากเจริญความดีให้มาก สติความระลึกได้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลในจิตใจของพวกเราก็ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หดหู่ ความคับแค้นใจต้องจบ ความลังเลสงสัยต่อการกระทำความดีของเราก็ไม่มี เราพอใจในธรรม

ให้เราพยายามรักษาจิตใจของเราไม่ติดใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จิตใจของเราก็จะเกิดความตั้งใจมั่นในอารมณ์กุศล เมื่อจิตของเราเป็นอย่างนี้บ่อย ๆ จะทำให้จิตของเรามีปัญญารู้เห็นตามความจริงของ รูป-นาม อย่างที่พวกเราได้เคยสวดมนต์ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น จะได้ยินคำสวดทำวัตรเช้าในเรื่องคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น “... ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลายส่วนมาก มีส่วนคือการจำแนกอย่างนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง  รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ...”

เมื่อจิตใจของเราได้รู้เห็นตามความจริงในเรื่องกาย และเรื่องใจของเรา ก็จะทำให้ถอนอุปาทานในขันธ์ ๕ ได้ทีละเล็กทีละน้อย ความสุขที่เรียกว่า “สันติ” ก็เกิดขึ้นในจิตใจของพวกเรา ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติย่อมนำความสงบสุขมาให้กับชีวิตครอบครัวและสังคมไม่ต้องไปรอในภพหน้าชาติหน้า พระผู้มีพระภาคเจ้าให้พวกเราเจริญภาวนาให้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบันส่วนใหญ่ (สติอยู่ในปัจจุบัน แต่พิจารณาในเรื่องอดีต หรืออนาคต เช่น พิจารณาความเกิด พิจารณาความตาย เป็นต้น) ไม่ส่งจิตใจของเราตกไปอยู่เรื่องราวในอดีต หรือเรื่องราวในอนาคตเป็นส่วนมาก

เมื่อสติเราไปอยู่ในอดีต อนาคต ทำให้เราทำความสงบได้ยาก และเกิดความทุกข์ในรูปต่าง ๆ มากมาย เรามีความเจ็บไข้ไม่สบายจิตใจของเราก็เป็นทุกข์ เรากลัวความตายจะเกิดขึ้นกับเรา จิตใจของเราก็เกิดความทุกข์ รวมไปถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกโศกเศร้า ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจก็เป็นความทุกข์ แม้แต่ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ (สรุปแล้ว “ความยึดมั่นในร่างกายและจิตใจของเรา เป็นต้นต่อแห่งความทุกข์ทั้งหลาย”)

ความดีโดยเด็ดขาด จะต้องน้อมนุมพอใจในการสร้างความดี ไม่อยุดเพราะจุดหมายปลายทางของพวกเรา ยั

ติดตามต่อได้ที่เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๓ - ๔ (เทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)

view