เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๑ - ๔
(หลวงพ่อแต่งขึ้น เปรียบเสมือนว่าเทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)
วันนี้เป็นวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นวันสำคัญของชาวพุทธอีกวันหนึ่งคือวันเข้าพรรษา (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) พวกเราก็ได้เข้าวัดมาทำบุญฟังธรรมตามที่ได้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ วันเข้าพรรษาเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอธิฐานจำพรรษาในอาวาสใดอาวาสหนึ่งตลอด ๓ เดือน หรือครบไตรมาส (ตามพุทธบัญญัติในธรรมวินัยสงฆ์) เพราะเป็นระยะฤดูฝนการเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ไม่สะดวก
สมัยพุทธกาลรถเราก็ยังไม่มี ต้องใช้การเดินเท้าไปในสถานที่ต่าง ๆ พระภิกษุสงฆ์ก็เดินไปถูกพืชสวนไร่นาของชาวบ้านเสียหาย ประชาชนในสมัยนั้นก็ตำหนิติเตียนว่าพระภิกษุสงฆ์ของพระพุทธเจ้าเดินทางในฤดูฝน (เพราะประเพณีของนักบวชสมัยนั้นจะต้องไม่เดินทางในฤดูฝน) เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องราวว่าประชาชนตำหนิติเตียน พระองค์ท่านจึงเรียกประชุมสงฆ์แล้วบัญญัติเป็นธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์ห้ามเดินทางในช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝนตลอด ๓ เดือน
แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในอาวาสบางแห่งถูกน้ำท่วม บางแห่งถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน หรือญาติป่วยไข้ไม่สบาย ตลอดจนประชานชนที่เลื่อมใสต้องการฟังธรรมหรือทำบุญบ้าน ทำให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมว่า “ให้พระภิกษุสงฆ์สามารถเดินทางไปค้างแรมที่อื่นได้ไม่เกิน ๗ วัน” บางทีญาติโยมก็ไม่เข้าใจ ตำหนิติเตียนพระภิกษุสงฆ์โดยความประมาทไม่รู้ว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้อย่างไร
ในสายวัดป่าแล้วช่วงเข้าพรรษาจะมีโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์เจริญกรรมฐานภาวนา เพิ่มข้อวัตรที่เข้มข้นกวดขันมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติหรือที่เรียกว่า “สมาทานธุดงค์วัตร” “ธุดงค์วัตร” หมายถึง อุบายขัดเกลากิเลส ช่วยให้จิตใจของผู้ปฏิบัติมีความมักน้อยสันโดษในปัจจัย ๔ และการเป็นอยู่ ในการถือปฏิบัติธุดงค์วัตรแล้วช่วยให้การภาวนาทำจิตของเราให้สงบ และเกิดปัญญา “ควรถือปฏิบัติ” แต่ถ้าถือธุดงค์วัตรเพื่อให้ญาติโยมศรัทธา เพื่อหวังลาภ ยศ ชื่อเสียง “ไม่ควรถือปฏิบัติ” (สมาทานธุดงค์วัตรมีอยู่ ๑๓ ข้อ ธุดงค์วัตรไม่ใช่บทบัญญัติทางวินัยให้ทุกคนต้องทำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ)
โดยปกติพระทุกองค์ในวัดเขาแผงม้าจะสมาทานธุดงค์ฉัน (ทานอาหาร) เฉพาะในบาตร (คือไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกินหนึ่งอย่างคือบาตร) (ข้อวัตรเรื่องการฉันในบาตรนี้เป็นข้อวัตรทุกสาขาหนองป่าพง) แต่บางองค์ก็สมาทานเพิ่มเติม เช่น “เนสัชชิ” (“เนสัชชิ” คือเว้นนอนอยู่เพียง ๓ อิริยาบถคือยืน เดิน นั่ง เท่านั้น) เป็นต้น
พวกเรา (ญาติโยม) ก็ต้องเพิ่มข้อวัตรให้กับตัวเองด้วย อาจจะตื่นนอนตอนเช้ามาก็นั่งสมาธิสักระยะหนึ่ง (อย่างน้อย ๓๐ นาที) แล้วก็มาใส่บาตรพระก่อนที่จะไปทำงาน ส่วนวันพระก็เข้าวัดฟังธรรมสามาทานศีลอุโบสถ ๘ ประการ จากเดิมที่พวกเราถือศีล ๕ ประการเป็นปกติแล้ว ก็มาเพิ่มความเข้มข้นให้กับตนเองอีก ๓ ข้อ คือ
๑. (ศีลข้อ ๖) เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (“เวลาวิกาล” คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่) (ทานปานะได้)
๒. (ศีลข้อ ๗) เว้นจาการฟ้อนรำ ขับร้อง การดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ และห้ามการใช้เครื่องหอม เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย
๓. (ศีลข้อ ๘) เว้นจากที่นอนอันสูงอันใหญ่
การรักษาศีล ๘ ประการ ทำให้พวกเราได้เป็นบุคคล ที่มักน้อย สันโดษ ในการเป็นอยู่ชั่วคราว เกิดความรู้สึกเบากายและเบาใจขึ้นมามาก การทำสมาธิก็สงบง่ายขึ้นเพราะร่างกายไม่ได้รับประทานอาหารตอนเวลาเย็นจะมีความรู้สึกว่าร่างกายของเราเบาดีไม่เซื่องซึม ไม่งวงนอน (เหมาะสมกับการนั่งสมาธิ) โอกาสดี ๆ อย่างนี้จะเกิดขึ้นในชีวิตของพวกเราก็ยาก ถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสสอนไว้เราก็ไม่รู้เลยว่าศีลเป็นอย่างไร ? สมาธิเป็นอย่างไร ? และปัญญาที่จะแก้ไขความทุกข์ในจิตใจของเราเป็นอย่างไร ?
การรักษาศีล การทำสมาธิ การเจริญปัญญาทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่ามากขึ้น รู้ว่าอะไรควรทำ เช่นรู้ว่าการทำทาน (การให้ การเสียสละ) ดี เพราะผู้ให้จะเป็นที่รักของผู้รับ ทำลายความเห็นแก่ตัว ลักษณะของการทำทานมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
๑. การให้สิ่งของช่วยค้ำจุนชีวิตของคนอื่น ทำให้เขามีที่พึ่งอาศัยในเบื้องต้น
๒. การให้ธรรม (ให้ปัญญา) เป็นทางช่วยให้เขารู้จักพึ่งตนเองได้ต่อไป
การที่พวกเราได้ทำทานในวัดป่าทั่วไปส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสังฆทานคือให้แก่สงฆ์เป็นส่วนรวม โดยอุทิศต่อสงฆ์ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่งหรือบางครั้งเราก็ทำทานให้จำเพาะบุคคลที่เราศรัทธาคือถวายต่อครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือก็มี แต่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่า “สังฆทานเป็นทานอันเลิศ เป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางอันมีผลมากที่สุดและก็เป็นสิ่งทำได้ยาก” ต้องอาศัยปัญญาของเราให้เกิดขึ้นก่อน การทำทานถึงจะกระทำได้ไม่ผิดวัตถุประสงค์ของการทำทาน เพราะผลการทำทานจัดเป็นการทำความดีในเบื้องต้น (ทาน ศีล ภาวนา) ถ้าจิตใจของผู้ทำทานให้ทานเป็นปกติก็จะทำลายความเห็นแก่ตัวความตระหนี่ได้ การที่เราจะมารักษา ศีล ๕ ศีล ๘ ก็เป็นของทำได้ง่ายขึ้น
อย่างที่พวกเราได้มากระทำในวันนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ทำทานเป็นปกติอยู่แล้ว และเป็นบุคคลที่มีศีล ๕ อยู่กันเป็นประจำ พอได้มาฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการภาวนา (คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา) ที่พวกเราก็กำลังทำอยู่ในขณะนี้ ล้วนแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเรามาก จะทำให้เข้าใจในธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนได้ง่ายขึ้น ในพฤติกรรมทางกาย วาจาของเราสะอาดขึ้น คือมีศีลเป็นพื้นทำให้จิตใจของเราสงบขึ้นด้วยการเจริญภาวนา เมื่อได้ฟังธรรม (ความเป็นจริงในเรื่องของสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน) ก็เข้าใจได้ ล้วนแล้วเกิดจากการปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ สามารถเป็นที่พึ่งแก่จิตใจของเราได้แน่นอน มีความสุขในปัจจุบัน
พวกเราจะเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงานประกอบอาชีพอันสุจริตมีความชำนาญงานนั้น ๆ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตราหาอุบายวิธี และสามารถจัดดำเนินการงานทั้งทางโลกและทางธรรมให้ได้ผลดี หาทรัพย์มาได้แล้วถ้าไม่มีปัญญาจะรักษาทรัพย์นั้นให้ก็ยากอยู่ ดังนั้นเราจะต้องรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาทรัพย์หรือถ้าเราทำงานเป็นเงินเดือน เราจะต้องแบ่งการใช้จ่ายไม่ให้เกินตัว และจะต้องรู้จักรักษาผลงานของเราไม่ให้ตกต่ำหรือเสื่อมเสีย
ถ้าพวกเราได้สังเกตดูว่าบุคคลที่เข้าวัดมาประพฤติปฏิบัติล้วนแล้วแต่เป็นคนดีส่วนใหญ่ (กัลยาณมิตร) พวกเราต้องเลือกพูดคุยและศึกษาตัวอย่างจากบุคคลที่ทรงคุณความดีคือ มีศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา จะเป็นประโยชน์ในปัจจุบันแน่นอน ถ้าเราได้ศึกษาจากบุคคลที่กล่าวมานี่ทุกคนเหล่านั้นล้วนแล้วจะเป็นผู้รู้จักประมาณในการเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่าย รู้จักการประหยัดเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น การได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มีประโยชน์ในปัจจุบันมากมาย
ติดตามต่อได้ที่เรื่อง ธรรมที่ควรรู้ ตอนที่ ๒ - ๔ (เทศน์วันเข้าพรรษา ๒๕๕๑)