สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เรื่อง จิตนี้คืออะไร ตอนที่ 2

เรื่อง จิตนี้คืออะไร ตอนที่ ๒ - ๒

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)

แสดงธรรมแก่พุทธบริษัท ณ วัดหนองป่าพง

๒๖ กรกฎาคม ๒๕๒๓

ต่อมาจาก เรื่อง จิตนี้คืออะไร ตอนที่ ๑ - ๒ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)

ดังนั้น ขอให้ญาติโยมทั้งหลายจงเข้าใจ ไม่มาก เข้าใจในเรื่องตัวของเราเท่านี้แหละไม่ใช่อื่นไกล ฉะนั้น วันนี้ตั้งใจจะพานั่งสมาธิ อาตมาจะเป็นผู้จุดธูป พูดเรื่องสมาธิไปญาติโยมทั้งหลายจะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้

จึงขอความสงบทุก ๆ คน ให้สงบ คนจะนั่งก็นั่งให้สงบ คนจะยืนก็ขอความสงบ คนที่จะนอนอยู่ก็ขอความสงบ อิริยาบถการยืน การเดิน การนั่ง การนอน นี้ มันทำความสงบได้ทุกอย่าง เอ้า ตั้งใจนั่งขัดสมาธิขึ้น ขาขวาทับขาซ้าย ให้มันตรง ๆ ดูพระพุทธรูปท่านแหงนหน้าขึ้นหรือเปล่า ท่านก้มลงหรือเปล่า ลักษณะพอดี กายให้มันพอดี เพราะเวลานี้เดี๋ยวนี้เราจะทำให้มันพอดี ทำกายให้มันพอดี ทำใจให้มันพอดี กายใจมันไม่พอดีแล้วมันก็ไม่สงบ

เคยรู้จักไหม สิ่งที่ไม่พอดี มันไม่ดี สิ่งที่มันดีนั้นคือมันพอดี ทุกอย่างดูอะไรไหม เราเคยทำไหม ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอก ดูแกงของเราทานกันนั่นน่ะถ้ามันเค็มไปอร่อยไหม ? ถ้ามันจืดไปอร่อยไหม ? เราแม่ครัวทำแกงก็หาสิ่งที่พอดี ทุกอย่างหาสิ่งพอดีทั้งนั้นแหละ ทำกายให้พอดี ทำใจให้มันพอดี เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ทำเสีย รู้ว่าจิตอยู่ไหน ดูที หรือกายอยู่ตรงไหน ? อะไรมันเป็นกาย ? อะไรมันเป็นจิต ? กายจิตดูใคร ? ที่เขานำเรานั่งรถมาเห็นไหม ? ใครนำเรานั่งรถมาถึงวัดหนองป่าพง รู้ไหม ? นั้นแหละ

เอางี้ดีกว่า เอาใครที่เรียกว่าจิต แต่ว่าไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร จิตนี้คืออะไร ? ตอบไม่ได้เหมือนกัน ไม่รู้ว่ามันคืออะไร กายก็คือก้อนนี้ เราพอเห็นได้ จิตนี้เรียกว่าอะไร เอาอย่างงี้ดีกว่า “เอาความรู้สึก เอาผู้รู้สึก ผู้รู้สึกสมมติให้มันเป็นจิตเสียนะ” รู้สึกการเคลื่อนไหว รู้สึกดีชั่ว รู้สึกร้อนเย็นต่าง ๆ เอาตรงนี้ซะ ตอบมันค่อยรู้จักหน่อย มันคือความรู้สึก รู้กาย ปล่อยกายให้เป็นสภาวะอันหนึ่งอย่างนี้ อันนี้ จิตคือความรู้สึก ผู้รับรู้อารมณ์ทั้งหลายนั่นแหละเรียกว่าผู้รู้สึก เรียกว่าจิต

จิตอันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าของเราต้องการให้อบรมจิตนี้มันรู้เหมือนกัน แต่ว่ามันรู้ไม่ถึง ฉะนั้น ท่านจึงให้ภาวนาพุทโธ พุทโธ เอาพระพุทธเจ้าเข้ามา ให้มันอดทน ให้รู้แจ้ง ให้เกิดปัญญา ตัวรู้นี้สำคัญหลาย ตัวรู้ตัวนี้มาอบรม ตัวรู้ตัวนี้คือรู้จิต มาอบรมจิตของเรา “ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงตามดูจิตของตน ใครตามดูจิตของตน คนนั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร” ใครตามดูใคร ? ให้เข้าใจอย่างนั้น

จิตมีแล้ว กายมีแล้ว นั่งกำหนดลม เห็นลมไหม ปรากฏลมไหม ลมในจมูกของเรานี่เห็นไหม รู้สึก ดูลม ลมมันเข้า ลมมันออก ดูลมเรียกว่าอานาปานสติ คือทำสติตามลมนี้ ลมเข้าแล้วก็ลมออก นี้คือทำจิตให้มีอารมณ์อันเดียว บังคับลมออกรู้จักพุทโธ ตามลมเข้าลมออกนี้ ปัจจุบันนี้เราต้องการตอนนี้ ไม่ต้องการอะไรอื่นมากไปกว่านี้ ต้องการให้ตัวเราตามดูลมเท่านั้น ลมเข้าก็ให้รู้ ลมออกก็ให้รู้จัก ไม่ต้องการอะไรมาก ไม่ต้องการไปดูนรก สวรรค์ ไม่ต้องการไปดูอะไรทั้งนั้นแหละ ทำสติตามลม รู้จักว่าลมมันออกลมมันเข้า ด้วยการมีสติเสมอเท่านี้ ไม่ต้องไปดูอะไรอื่นมากกว่านี้ เพราะในเวลานี้เรามีหน้าที่การงานที่จะทำเท่านี้

มันจะคิดว่าเมื่อดูลมต่อไปมันจะเป็นยังไง ไม่เอา ไม่ต้องคิด ยังมิใช่หน้าที่ของเรา จิตมันจะสงบมันจะเป็นยังไง ไม่เอา อันนั้นไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเรามันจะดูลมออกอย่างนี้ อันอื่นไม่ต้องสนทั้งนั้นแหละ นั่งเฉย ๆ ดูลมมันออกและมันเข้า ลมไม่ต้องไปบังคับให้มันสั้น ปล่อยตามสภาวะของมันพอดี พอดี นี่เรียกว่าทำด้วยการปล่อยวาง ไม่ใช่ทำด้วยการยึดมั่น ทำด้วยการปล่อยวาง ไม่ใช่ทำด้วยการยึดมั่น ทำด้วยการปล่อยวาง ลมมันออกไปก็รู้ ลมเข้าก็รู้ รู้จักลมมันสั้น รู้จักลมมันยาว

มันสะดวกแค่ไหน เอาแค่นั้น อย่าไปบีบมันเลย มันหยาบก็ให้มันหยาบไปก่อน มันยาวก็ให้มันยาวไปก่อน มันสั้นก็ให้มันสั้นไปก่อน อย่าไปบังคับมันเลย เราทำตามเรื่องของมันดูเรื่องของมัน ปล่อยตามลม รู้จะออกยาวเข้าสั้นอะไรก็ช่างมันเถอะ แต่เรามีสติค่อย ๆ ตามให้มันรู้จัก เมื่อเราทำอย่างนี้มันจะวางข้างนอก มันจะดูลมอย่างเดียว ลม ไม่ต้องสงสัยอย่างอื่น ต้องทำอย่างนี้ตลอดไป ดูลมนี่แหละก่อน ดูลมนี้

อันนี้เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องอยากเห็นอันนั้น ไม่ต้องอยากรู้อันนี้ อันนั้นมันเป็นความอยาก ไม่ใช่ทำด้วยการปล่อยวาง อันนั้นมันเป็นกิเลส อันนั้นมันเป็นตัณหา อยากรู้เดี๋ยวนี้ อยากเห็นเดี๋ยวนี้ อยากอะไรทุกอย่าง อันนั้นมันเป็นความอยาก ลมค่อย ๆ ดูมันออก ดูมันเข้า จนเราเห็นลม รู้จักว่าลม มันจะเป็นความละเอียด ถ้ามันไม่ฟุ้งซ่านรำคาญมันก็จะค่อย ๆ ละเอียด มันละเอียดเรื่อย ๆ มันยาวก็ให้รู้ว่ามันยาว ถ้ามันสั้นก็ให้รู้ว่ามันสั้น อย่าไปบังคับมัน ดูมันอยู่อย่างนี้

ทีนี้ถ้าจิตมันสงบแล้ว ค่อย ๆ สงบแล้วจิตใจไม่อยากจะตามลม ไม่อยากจะนึกว่าพุทโธ นี่เพราะอะไร ? อารมณ์ที่เราเรียกว่า พุทโธ พุทโธนี้เมื่อจิตเราละเอียดแล้วมันหยาบ คนทำงานละเอียดแล้วจะให้ทำงานหยาบมันไม่อยากจะทำ ไม่ต้องตามลม

ฉะนั้น ไม่ต้องสงสัย เอาสติคือความรู้สึกวางตรงที่จมูกนี้ รู้ว่าลมมันเข้ามันออกเท่านั้น ถ้ามันละเอียดนั่งอยู่แห่งเดียวเท่านี้ ให้รู้จักว่าลมมันเข้ามันออกอย่างนี้ มันสั้นมันยาวไม่กำหนดมันรู้ว่าลมมันออกเท่านั้น นี้คือความรู้สึก ลมเราก็เห็น ดูลมก็เห็นผู้รู้สึกคือจิต ดูผู้รู้สึกก็เห็นสติ ดูสติก็เห็นลม ดูลมก็เห็นสติ ดูสติก็เห็นจิต ดูจิตก็เห็นสติ มันกลมเกลียวเป็นอันเดียวกันแล้วไม่ต้องไปสงสัย

เมื่ออะไรเกิดขึ้นมาอีกเรานั่งอย่างนี้ต่อไป มันจะเป็นยังไง บอกว่า “หยุด” ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา ทุกอย่างที่จะปรากฏขึ้นมาในดวงอันนี้ มันจะฉายแสงอย่างไรก็ช่างมันเถอะ ก็ดูแล้วก็หยุดไม่ต้องวิ่งไปตามมัน ทำความสงบอยู่ไปจนกระทั่งมีลมอยู่อย่างนี้ ดูต่อไปจนมันละเอียดที่สุด จนที่ว่าลมไม่มี

บางคนเห็นลมมันไม่มี เอ๊ะ จะตายเอา ออก ถอยกลับอย่างนี้ ไม่รู้จะทำอะไร ลมไมมี แต่มีความรู้อยู่ ความรู้มันนะไปตรงไหน ? ความรู้มันมีอยู่ มันจึงรู้ว่าลมไม่มี อย่างนี้ ก็เอาอารมณ์ที่ว่ามันไมมีนี่เป็นอารมณ์ต่อไปอีก อย่างนี้ นี่ความสงบก็เข้าไปจิตคือตา กาย นี่คือควรแก่งาน มันก็เป็นเครื่องสัมพันธ์กันไปเองของมัน อย่างนี้เรียกว่า “ความสงบ” ดูมันไปเรื่อย ๆ เท่านั้นแหละ อันนี้เรียกว่าการทำจิตให้สงบ ตั้งใจและทำ

พอดีวันนี้ฝนตกเลยเย็น ทำสมาธิไป พักผ่อนตามอัธยาศัย คงจะง่วงกระมั้งหนอ หรือคงจะง่วงกันมั้ง มันคันเนื้อคันตัว พักผ่อนตามอัธยาศัยก็ได้.

view