สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เรื่อง เศรษฐีจากหนูตาย


เรื่อง เศรษฐีจากหนูตาย (จุลลกเศรษฐีชาดก)


สมุฏฐาเปติ อัตตานัง อณุง อัคคิงวะ สันธะมัง


ตั้งตัวให้ได้ เหมือนก่อไฟจากกองน้อย


คือครั้งก่อนโน้น มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า จูฬเศรษฐี อยู่ในเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำเมือง หลังจากที่บิดาและมารดาได้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยความที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเป็นอันมาก อีกทั้งเป็นผู้รอบรู้ฤกษ์ต่ำ ฤกษ์บน และนิมิตดี-ร้ายทั้งปวง จึงได้รับตำแหน่งบัณฑิตนักปราชญ์ประจำวังหลวงจากพระราชา

อยู่มาวันหนึ่งเศรษฐีได้ออกเดินทางไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ได้ไปสังเกตพบหนูตายตัวหนึ่งที่ถนนก็รู้สึกถึงนิมิต จึงตรวจดูฤกษ์บน เห็นว่าจะมีเศรษฐีคนใหม่เกิดขึ้นในเมืองนี้ จึงกล่าวลอย ๆ ขึ้นว่า “ผู้ใดอยากเป็นเศรษฐี ให้เอาหนูตัวนี้ไปทำประโยชน์ ผู้นั้นอาจเลี้ยงลูกเมียได้” ขณะนั้นชายยากจนคนหนึ่งเดินผ่านมาได้ยินเข้า จึงคิดว่าจูฬเศรษฐีพูดทำนายออกมาเช่นนี้ต้องมีเหตุแน่ จึงเก็บหนูตายตัวนั้นไปขายที่ตลาด โดยคิดว่าหวังว่าตนคงเป็นเศรษฐีคนใหม่ตามคำทำนายของจูฬเศรษฐี ต่อมามีชาวบ้านคนหนึ่งมาซื้อหนู บอกว่าจะเอาไปให้แมวกิน ขายได้เงิน ๑ กหาปณะ (กหาปณะ เป็นค่าเงินขั้นต่ำที่ใช้กับประเทศอินเดีย)

ชายยากจนได้เงินมาแล้วก็คิดหาทางที่จะทำให้เงินงอกเงยขึ้นมาอีก เขารู้ว่าชาวสวนดอกไม้หลังจากเก็บดอกไม้เสร็จต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานแน่นอนเลย เขาจึงใช้เงิน ๑ กหาปณะนั้นไปซื้ออ้อยงบตัดเป็นท่อน เอามาต้มแล้วเป็นน้ำอ้อย เอาไปบริการ พูดเชิญชวนกับคนเก็บดอกไม้อย่างสุภาพ อ่อนน้อม ชาวสวนดอกไม้ก็มาดื่มกิน ปรากฏว่าแก้กระหายได้เป็นอย่างดี พวกเก็บดอกไม้จึงตอบแทนโดยได้ให้ดอกไม้แก่เขาคนละเล็กคนละน้อย ชายยากจนแปรรูปดอกไม้ให้เป็นเงินโดยเขาก็เอาดอกไม้เหล่านั้นไปขาย แล้วเอาเงินไปซื้ออ้อยงบจำนวนมากแล้วนำมาต้มเป็นน้ำอ้อยเอาไปบริการคนสวนดอกไม้เหมือนเดิม พวกชาวสวนต่างก็ดีใจ พากันมาดื่มกินน้ำอ้อยจากชายยากจนและให้ดอกไม้คนละเล็กละน้อยเป็นการตอบแทน เขาก็เอาดอกไม้ไปขายเรื่อย ๆ กระทั่งรวบรวมเงินเก็บได้มากขึ้น ๆ เป็นเงิน ๘ กหาปณะ

อยู่มาวันหนึ่งเกิดมีพายุฝนอย่างรุนแรง ลมพัดกิ่งไม้ในสวนหลวงหักลงเป็นอันมาก ชายยากจนได้เดินไปหาคนเฝ้าสวนแล้วพูดว่า “นายครับ กิ่งไม้พวกนี้ ข้าจะขอท่านไปทำประโยชน์ได้ไหม ?” ชายเฝ้าสวนได้ตอบว่า “ให้หมดทั้งสวน โดยไม่คิดอะไรเลย กลัวจะเอาไปไม่หมด” เพราะสุดท้ายก็ต้องเป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้วที่ต้องเก็บ ชายยาจกเมื่อได้ฟังดังนั้นก็ดีใจมาก ได้ไปหาพวกเด็กเลี้ยงโคให้ช่วยขนกิ่งไม้ออกไปวางกองไว้นอกสวนหลวง (คนผ่านไปผ่านมาอาจจะมาซื้อก็ได้) โดยให้น้ำอ้อยเป็นค่าตอบแทน เมื่อเด็ก ๆ ขนเสร็จแล้วสักพักมีช่างปั้นหม้อเดินผ่านมาพอดีจึงขอซื้อฟืนเหล่านี้ทั้งหมด ชายยากจนขายให้เป็นเงิน ๑๖ กหาปณะ (ตอนนี้เขามีเงินเก็บรวมแล้ว เท่ากับ ๒๔ กหาปณะ , ๘ + ๑๖)

เมื่อได้เงินมาแล้ว เขาจึงคิดวิธีหาเงินอีกต่อไป เขาคิดจะใช้วิธีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่พ่อค้าคนหาบหญ้ามาขาย เพราะเขารู้ว่าคนทำงานต้องเหนื่อยกันทุกคนเขาจึงไปทำความรู้จักกับพวกพ่อค้าขายหญ้า โดยการเอาน้ำใส่โอ่งไปบริการฟรีที่ใกล้ประตูเมือง พอพวกหาหญ้าขายทาบหญ้ามาถึงตอนเย็น ชายยากจนก็ร้องเรียกด้วยเสียงไพเราะและจริงใจให้มาดื่มน้ำแก้เหนื่อยฟรี เมื่อพ่อค้าคนหาบหญ้ามาขายได้ยินต่างก็มาดื่มน้ำฟรีกันทุกคน แล้วบอกกับชายยากจนว่า “เจ้าช่างเป็นผู้ที่มีน้ำใจดีแท้ ภายภาคหน้าถ้าท่านมีอะไรให้พวกเราช่วย ท่านก็บอกพวกเราได้เลยนะ” ชายยากจนจึงตอบว่า “ขอบคุณครับ ถ้าเรามีเรื่องให้ท่านช่วยแล้วเดี๋ยวข้าจะบอกพวกท่าน แต่คงมีไม่มากหรอก พวกท่านไม่ต้องคิดมากนะ”

แล้วประกอบกับที่ผ่านมาชายยากจนก็พยายามเที่ยวคบเพื่อนพ่อค้าทั้งทางบกและทางน้ำไว้ด้วย ความที่เขาเป็นคนมีไมตรี พูดจาสุภาพไพเราะ ถูกกาลเทศะอย่างนี้เอง ไม่ว่าเขาจะเดินไปไหน ทุกคนต่างต่างก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ได้มีการทักทาย ถามสารทุกข์สุขดิบกันด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส (จากชายที่ยากจนเงินทองก็กลายเป็นคนร่ำรวยมิตรสหาย)

ต่อมาเพื่อนพ่อค้าทางบกก็บอกข่าวล่วงหน้าว่า “พรุ่งนี้ พ่อค้าม้าจักนำม้า ๕๐๐ มาถึง” เขาก็ไปบอกพวกเพื่อนพ่อค้าคนหาบหญ้ามาขายว่า “วันนี้จงให้หญ้าแก่เราคนละฟ่อน ๆ แล้วพรุ่งนี้ขอให้ท่านอย่าเพิ่งแบ่งขายหญ้าก่อนที่เราจะขายหมด (ไม่อย่างนั้นเราจะขายไม่ได้เพราะว่าเพิ่งขายครั้งแรก)” พวกเพื่อนพ่อค้าขายหญ้าก็นำหญ้าไปทิ้งไว้ในบ้านของเขาคนละฟ่อน ๆ (รวมเป็น ๕๐๐ ฟ่อน) รวมทั้งรับปากว่าจะช่วยเพื่อน (ไม่ขายหญ้าก่อนที่เขาจะขายหมดก่อน)

เช้าขึ้นมา พวกพ่อค้าม้าก็มาถึงเมืองพาราณสี งานที่ต้องทำก่อนอื่นคือต้องเดินตามหาแหล่งที่ขายหญ้าเพื่อที่จะเอามาให้ม้า ๕๐๐ ตัวกิน แต่ไม่มีใครขายซักเจ้าเลย จนกระทั่งไปเจอชายยากจนนั่งขายหญ้าอยู่ จึงขอซื้อหญ้าทั้งหมดจากเขา เขาก็ขายได้ ๑,๐๐๐ กหาปณะ (ตอนนี้ชายยากจนมีเงินเก็บประมาณ ๑,๐๒๔ กหาปณะ)

หลังจากนั้นต่อมาไม่กี่วันก็ได้รับข่าวล่วงหน้าจากเพื่อนพ่อค้าทางน้ำว่า “พรุ่งนี้ จะมีสำเภา ๕๐๐ ลำมาถึง” เขานำเงิน ๘ กหาปณะไปเช่ารถเศรษฐี พร้อมกับบริวารลงไปที่ท่าเรือสำเภา ได้วางมัดจำสินค้าเรือสำเภาไว้สิ้นในราคาที่ถูก (ตอนนี้เป็นพ่อค้าใหญ่ที่สุดในกรุงพารณสีแล้ว เพราะทุกคนต้องมาซื้อของกับเขา) แล้วจัดสำนักงานง่าย ๆ เพื่อสะดวกในการติดต่อ วันรุ่งขึ้น เรือสำเภาเทียบท่า ชายยากจนก็แต่ตัวและวางตัวให้เหมาะสมกับเป็นพ่อค้าใหญ่แล้วเข้าไปนั่งอยู่ภายในม่านมีบริวารห้อมล้อม (ห้องเจรจาต่อรองการซื้อขาย) ก็มีพวกพ่อค้ามาขอเข้าหุ้นด้วย (เพราะสินค้าทั้งหมดไม่มีซื้อไปขายในเมือง ไปติดต่อกับเรือสำเภาเขาก็บอกว่าถูกพ่อค้าใหญ่เหมาหมดแล้ว)

พ่อค้ารายย่อยต่างเชื่อถือ (การวางตัว การแต่งตัว การพูดการเจรจาต่อรองถูกตามกาลเทศะ) ยอมให้เงินคนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะถึง ๗๐ คน (๗๐,๐๐๐ กหาปณะ) ไม่พอเท่านั้น เหล่าพ่อค้าทั้งหลายยังขอร้องให้เขาปล่อยหุ้นทั้งหมดพร้อมทั้งยินดีช่วยเพิ่มให้อีกคนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ (๗๐,๐๐๐ กหาปณะ) รวมเป็นเงิน ๑๔๐,๐๐๐ กหาปณะ เขาก็ยอมรับ จากชายยากจนเริ่มจากการขายหนูตายในราคา ๑ กหาปณะ ผ่านไปเป็นเวลาประมาณ ๔ เดือนเท่านั้น มีเงินร่วมประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ กหาปณะ

คนที่สามารถหาเงินโดยใช้วิธีอย่างนี้ได้ ต้องมี

๑. มีวิสัยทัศน์กว้างไกล

๒. มีคุณธรรม

๓. ทำการค้าไม่ผิดศีลธรรม

๔. มีน้ำใจไมตรี

เมื่อเขาร่ำรวยแล้ว เขาคิดว่า เราควรจะไปตอบแทนคุณท่านเศรษฐี ผู้มีบุญคุณจุดประกายให้สร้างเนื้อสร้างตัวได้ จึงเดินทางไปกราบขอบคุณและนำเงินมอบให้ครึ่งหนึ่ง (๗๐,๐๐๐ กหาปณะ) ท่านจูฬเศรษฐีถามว่า ได้มาอย่างไร ? เขาก็เล่าเรื่องราวชีวิตทั้งหมดของตนให้ฟัง เศรษฐีเห็นว่าเป็นคนดีมีปัญญา มีความเพียร มีคุณธรรมจึงยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย (เป็นลูกเขย) ภายหลังจากจูฬเศรษฐีตายแล้ว ตำแหน่งเศรษฐีและทรัพย์สมบัติ (ดูแลกิจการทั้งหมด) ก็ให้แก่พ่อค้าใหญ่แห่งเมืองพาราณสี (ชายยากจน) มาชาติสุดท้าย ชายยากจนผู้มีปัญญาตั้งตัวได้เริ่มจากการขายหนูตายได้เกิดมาเป็นพระจูฬปันถกองค์อรหันต์ ส่วนเศรษฐีพ่อตาผู้รู้ฤกษ์ยามได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า จบเรื่องนี้ใน จุลลกเศรษฐีชาดก เอกนิบาต เท่านี้.

ธรรมนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

“ผู้มีปัญญาเฉียบแหลมย่อมตั้งตัวได้ด้วยทรัพย์เพียงเล็กน้อย”

“ผู้มีกตัญญูกตเวที ย่อมเจริญ”

“หมั่นเรียนมาก รู้มาก ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที เป็นทางสู่ทางเจริญ”

view