สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เรื่อง พ่อค้าโง่และฉลาด กับยักษ์


เรื่อง พ่อค้าโง่และฉลาด กับยักษ์ (อปัณณกชาดก)


อัปปมัตโต หิ ฌายันโต ปัปโปติ วิปุลัง สุขัง


ผู้ไม่ประมาทพินิจอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์


คือในครั้งก่อนโน้น มีพ่อค้าเกวียน ๒ คน อยู่ในเมืองพาราณสี ทั้ง ๒ เป็นเพื่อนรักกัน แต่ทั้ง ๒ คนมีนิสัยแตกต่างกัน พ่อค้าโง่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เชื่อคนง่าย ขาดความสังเกต ส่วนอีกคนหนึ่งพ่อค้าฉลาดเป็นคนมีสติปัญญา ไตร่ตรองพิจารณาถี่ถ้วน โดยมีหลักธรรมประจำใจที่เรียกว่า “อปัณณกธรรม แปลว่า ข้อปฏิบัติไม่ผิดพลาด” อยู่มาคราวหนึ่งพ่อค้าทั้ง ๒ คนได้คิดที่จะเดินทางข้ามทางกันดารไปค้าขาย แต่ไม่อาจไปพร้อมกันได้ เพราะกลัวว่าอาหาร น้ำ และหญ้าสำหรับสัตว์อาจไม่พอสำหรับเดินทาง ทั้ง ๒ ได้ปรึกษากันว่าใครจะไปก่อนไปหลัง พ่อค้าโง่ก็ตอบว่าจะไปก่อน ด้วยคิดว่า โคของเราจักได้กินหญ้าก่อน ของก็จะขายดี

พ่อค้าโง่ได้คุมเกวียน ๕๐๐ ออกเดินทาง พอไปถึงที่กันดาร (ทะเลทราย) ก็มียักษ์ ๑๒ ตน จำแลงเป็นคนขับเกวียนและบริวาร มีเสื้อผ้าเปียก ผมชุ่มด้วยน้ำ ทำท่าเหมือนเพิ่งผ่านทางที่มีฝนตก และมีอาหารพรั่งพร้อม ยักษ์ตนหนึ่งได้ ถามต่อพ่อค้าเกวียนคนนี้ว่า จะไปทางไหน ? พอได้รับคำตอบว่าจะไปทางข้างหน้าโน้น ยักษ์จึงถามว่า ดูเหมือนเกวียนบรรทุกหนัก ๆ อยู่หลายเล่ม บรรทุกของอะไร ? ก็ตอบว่าบรรทุกโอ่งน้ำใหญ่ ๆ ยักษ์ก็บอกว่า บรรทุกไปทำไม เททิ้งเสียดีกว่า ไม่ช้าก็ถึงน้ำ ป่าชอุ่มข้างหน้า แม่น้ำลำธารเต็มไปด้วยน้ำทั้งนั้น เพราะฝนพึ่งตกใหม่ ๆ ดูแต่ล้อเกวียนของพวกเราซิ เปียกชุ่มไปด้วยโคลนทั้งนั้น

พ่อค้าเกวียนโง่คนนั้นก็เชื่อยักษ์เพราะอุปนิสัยความเป็นคนหูเบาของตน ได้สั่งบริวารให้ต่อยโอ่งน้ำเสียให้หมดเพื่อให้เดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นแล้วขับเกียนไป พอเดินทางมาสักพักก็ไม่เจอแหล่งน้ำแหล่งอาหาร จึงรู้ว่าตนถูกหลอก พยายามเดินทางก็ไม่พบน้ำ เนื่องจากขาดน้ำ จึงทำให้ทั้งคนและโคต่างก็หมดกำลังนอนหลับหมดสติกันทุกคน พวกยักษ์ที่รอโอกาสอยู่ก็พากันมากินเสียหมด เหลือแต่ร่างกระดูก และเกวียนที่บรรทุกสินค้าจอดทิ้งไว้

ต่อมาประมาณ ๑๕ วัน พ่อค้าฉลาดก็คุมเกวียน ๕๐๐ ออกเดินทาง พอใกล้จะถึงที่กันดารก็ให้บริวารบรรทุกน้ำและฟืนไปให้พร้อม เมื่อไปถึงที่กันดารนั้น ยักษ์ ๑๒ ตนนั้นก็จำแลงมาหลอกลวงเหมือนอย่างเก่าแล้วก็ผ่านไป พ่อค้าฉลาดจึงสั่งให้หยุดเกวียน เนื่องจากพ่อค้าฉลาดเป็นคนช่างสังเกตจึงรู้ว่านี่ไม่ใช่มนุษย์ ด้วยการการสังเกตดูประกายตามีสีแดง เมื่อถูกแดดก็ไม่มีเงา รวมทั้งได้ถามพวกบริวารว่า ท่านเคยได้ยินใครเล่าลือหรือเปล่าว่าทางกันดารนี้มีห้วยหนองคลองบึงอยู่ที่ไหน ? เมื่อพวกบริวารตอบว่า ไม่เคย

ได้ยินคำตอบนั้นแล้วจึงถามต่อว่า ลมฝนพัดไกลสักเท่าไร ? มีผู้ตอบว่า ประมาณสัก ๓ โยชน์ (๑ โยชน์ เท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร) ก้อนเมฆเล่าแลเห็นไกลสักเท่าไร ? มีผู้ตอบว่า ประมาณ ๓ โยชน์ แสงฟ้าแลบเล่าเห็นไกลสักเท่าไร ? ประมาณ ๓-๔ โยชน์ เสียงฟ้าร้องเล่าได้ยินไกลสักเท่าไร ? ประมาณ ๑-๒ โยชน์ แล้วพวกท่านได้เห็นลมฝน ได้เห็นก้อนเมฆ ได้ยินเสียงฟ้าร้องบ้างไหม ? เมื่อพวกบริวารตอบว่า เปล่าเลย

พ่อค้าเกวียนฉลาดจึงพูดสรุปว่า “จึงว่าด้วยเหตุเหล่านี้แหละพวกเราอย่าเชื่อคนที่บอกพวกเราเมื่อกี้นี้ว่าข้างหน้ามีฝนตก น้ำเต็มห้วยเต็มหนอง มันคงจะเป็นยักษ์หรือเป็นคนร้ายออกอุบายหลอกลวงพวกเราเป็นแน่ พวกเราทิ้งน้ำไม่ได้เป็นอันขาด” ว่าแล้วก็ออกคำสั่งให้พวกบริวารให้เตรียมระวังตัวไว้ให้ดีแล้วขับเกวียนต่อไป เมื่อเดินทางมาสักพักก็หยุดพักดื่มน้ำ กินอาหารที่เตรียมมาด้วยความระมัดระวัง เสร็จแล้วจึงเดินทางต่อ

เมื่อเดินทางไปเรื่อย ๆ ก็ได้ไปพบกับเกวียนบรรทุกของ อีกทั้งซากกระดูกของมนุษย์ กระดูกโค ของพ่อค้าโง่กับบริวารขบวนแรก ก็ทราบได้ว่าพวกกลุ่มคนพวกนั้นไม่ใช่มนุษย์จริง ๆ จึงบอกบริวารว่า นี่เห็นไหมละกลุ่มคนที่บอกพวกเราต้องเป็นยักษ์แน่ ว่าแล้วก็ให้หยุดพักตั้งกองพิทักษ์รักษา จัดเวรยามเตรียมอาวุธให้พร้อมอยู่ตลอด ตลอดการพักผ่อนก็ไม่มีใครเป็นอะไร จึงให้เลือกเอาสินค้าที่มีราคาจากเกวียนของพ่อค้าโง่คนก่อนมาบรรทุกเกวียนของพวกตนจนพอความประสงค์ แล้วออกเดินทางต่อไป (พวกยักษ์ที่รอโอกาสอยู่ก็ไม่กล้าเข้ามาเพราะกลัวอันตราย) ในที่สุดก็ไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ค้าขายได้กำไรอย่างงามกว่าที่คิดไว้ จนขายสินค้าได้สิ้นแล้วกลับสู่เมืองพาราณสีโดยสันติภาพ

นับแต่นั้นมาพวกคนเกวียนต่างก็ซาบซึ้งถึงอานิสงส์อันประเสริฐของ อปัณณกธรรม ว่าเป็นธรรมคุ้มครองชีวิต ทุกคนจึงถือปฏิบัติกันสืบไป มาชาติสุดท้าย พ่อค้าโง่ได้มาเกิดเป็นพระเทวทัต ส่วนพ่อค้าฉลาดได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า จบเรื่องนี้ในอปัณณกชาดก เอกนิบาต เท่านี้

ธรรมนิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

“เชื่อใจคนจนใจตัวไม่ดีเลย”

“ผู้ปฏิบัติดี ย่อมไม่มีข้อผิดพลาด”

“หวังต่อน้ำบ่อหน้า ไม่ดีเลย”

“เมื่อเราได้ยินได้ฟัง ได้รู้ ได้เห็นสิ่งใด ต้องคิดหาเหตุผลให้รอบคอบ เห็นด้วยตา ให้พิจารณาด้วยใจ ดังนี้ให้ได้จึงจะเป็นการดี”

view