สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เดือน ต.ค 2560 ชุด 1/3

เดือน ต.ค 2560 ชุด 1/3


ร่างกายและจิตใจนั้นต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะใช้ในการเดินทางทั้งทางโลกและทางธรรม ร่างกายนี้จะต้องแข็งแรงสามารถต้านสภาวะแวดล้อมภายนอกได้พอประมาณและจะต้องฝึกกำลังใจให้เข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับอารมณ์ร้ายที่เกิดขึ้นจากกิเลสในจิตใจของเรา การเอาธรรมะเป็นที่พึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่พระพุทธองค์ ก็ยังตรัสรับรองว่า พระองค์สามารถที่ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์ในธรรมทั้งหลาย พระองค์ยังต้องเอาธรรมเป็นที่พึ่งและเคารพในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว การเคารพในธรรมนั้นก็คือ เอาธรรมที่ได้ศึกษามาจากพระสงฆ์ โดยที่พระสงฆ์ได้ปฏิบัติตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ จนเกิดผลที่จิตใจของท่าน พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นก็นำธรรมสั่งสอนกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จนถึงพวกเราในปัจจุบันนี้ ธรรมก็ยังจงเหมือนเดิม ปฏิบัติตอนไหนก็ได้ผลตอนนั้น ถึงโลกภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปมากมาก แต่ธรรมก็ไม่เปลี่ยน เช่นบุคคลเมื่อสองพันปีที่แล้ว ทำทานรักษาศีลเจริญภาวนาและได้รับผลของทานศีลภาวนาอย่างไร บุคคลในปัจจุบันนี้ทำทานรักษาศีลเจริญภาวนา ก็ได้รับผลเหมือนกันฉันนั่น เจริญพร 29/9/60 เจริญพรหลวงพ่อมิตร

 

การสิ้นกรรมหรือการดับกรรมหรือการแก้กรรม ไม่ใช่หมายความว่า อยู่นิ่งๆ เลิกไม่ทำอะไรหมด แต่หมายความว่าเลิกการกระทำแบบปุถุชน ปุถุชนทำอะไรก็ทำด้วยตัณหาอุปาทาน การกระทำของบุถุชนจึงเรียกว่า กรรม แบ่งเป็นดีชั่ว และก็ยึดถือเอาไว้ว่าเป็นอย่างนั้นๆ ด้วยตัณหาอุปาทาน ดับกรรม แก้กรรมหรือสิ้นกรรมคือ เลิกกระทำการต่างๆ ด้วยความยึดมั่นในความดีชั่ว ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราของเรา ผลประโยชน์ของเรา เมื่อไม่มีดีมีชั่วที่ยึดมั่นไว้กับตัว ทำอะไรก็ไม่เรียกว่ากรรม เพราะกรรมต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ดีก็ไม่ชั่ว การกระทำของพระอริยบุคคลจึงเป็นการกระทำไปตามความหมายและวัตถุประสงค์ของเรื่องที่ทำนั้นล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับตัณหาอุปาทานภายใน พระอริยบุคคลไม่ทำชั่ว เพราะหมดเหตุปัจจัยที่จะให้ทำชั่ว ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ที่จะให้ทำอะไรเพื่อให้ตัวเราได้เราเป็น ทำแต่ความดีและประโยชน์ เพราะทำการต่างๆ ด้วยปัญญาและกรุณา แต่ที่ว่าดีก็ว่าตามที่ปรากฏยอมรับของโลก ไม่ได้ยึดว่าเป็นความดีของเราหรือดีที่จะให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ รู้ความรู้สึกของท่านไว้ แล้วพวกเราก็ตั้งความรู้สึกแบบนั้นไว้ในใจของพวกเรา เจริญพร 30/9/60 หลวงพ่อมิตร

 

ความแตกต่างระหว่างวิญญาณกับปัญญา คนมีปัญญา รู้ชัด เข้าใจ ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ส่วนวิญญาณรู้แยกต่างออกไปว่านี้เป็นสุข รู้ว่านี้เป็นทุกข์ รู้ว่าไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ แต่ทั้งปัญญาและวิญญาณนั้นเป็นองค์ธรรมที่ระคนกันอยู่ ไม่อาจแยกออกบัญญัติข้อแตกต่างกันได้ แต่ความแตกต่างก็มีอยู่ในแง่ที่ว่า ปัญญาคือเป็นสิ่งที่ควรฝึกฝนอบรมทำให้เจริญขึ้น ให้เพิ่มพูนแก่กล้าขึ้น ส่วนวิญญาณคือเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้หรือทำความรู้จักให้เข้าใจ รู้เท่าทันสภาวะและลักษณะของมันตามความเป็นจริง พรุ่งนี้ต่อ เจริญพร 1/10/60 หลวงพ่อมิตร

 

ความแตกต่างระหว่างสัญญา วิญญาณและปัญญา สัญญาเพียงรู้จักอารมณ์ว่า เขียว เหลือง เป็นต้น คือรู้อาการของอารมณ์ ไม่อาจให้ถึงความเข้าใจลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ วิญญาณรู้อารมณ์ว่า เขียว เหลือง เป็นต้นได้ด้วย ทำให้ถึงความเข้าใจลักษณะว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ด้วย เข้าใจตามที่ปัญญาบอก แต่ไม่อาจส่งให้ถึงความปรากฏแห่งมรรคคือให้ตรัสรู้อริยสัจไม่ได้ ส่วนปัญญาทั้งรู้อารมณ์ว่า ทั้งให้ถึงความเข้าใจลักษณะและทั้งส่งให้ถึงความปรากฏขึ้นแห่งมรรค พรุ่งนี้ต่อ เจริญพร 2/10/60 หลวงพ่อมิตร

 

วิธีการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ จะต้องเริ่มที่ตั้งใจเอาจริงจังกับชีวิตด้วยการสำรวจความผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา เมื่อเห็นความผิดพลาดของตนเองแล้ว ขั้นต่อมาจะต้องเริ่มด้วยการยอมรับความผิดพลาดนั้นๆของเราด้วยความจริงใจกับตนเองจนเกิดความสำนึกผิดในการกระทำนั้น ๆของตนเอง อย่างเห็นโทษร้ายแรงมาก ๆ ในผลที่เรากำลังรับอยู่ตอนนี้ สิ่งที่จะเกิดมาพร้อมกับการสำนึกผิดคือการสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นมาภายในจิตใจ ที่เป็นพลังจะขับเคลื่อนชีวิตของเราให้เกิดใหม่ในทางธรรม สภาวะความรู้สึกที่จะมีความกล้าหาร  ความเพียร ความบากบั่น ความอดทน ความมุ่งมั่นที่ประกอบด้วยเจตนา ความรักตนเองที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตใหม่ของเรา เกิดมาจากการเห็นคุณและโทษจากการกระทำของตนเองทั้งดีและไม่ดี แจ้งชัดถึงที่เรียกว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา จิตใจจะน้อมไปสู่ศรัทธาที่ถูกธรรมในเรื่องกรรมคือการกระทำของเราเอง จะเป็นตัวตัดสิ้นทุกอย่างในชีวิตของเราในปัจจุบันนี้ เจริญพร 3/10/60 หลวงพ่อมิตร

 

พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ธรรมของพระตถาคตเมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอมไป แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตใจของกัลยาณชลและพระอริยเจ้าแล้ว ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วย เพราะฉะนั้น พวกเรายังมีความเพียรแต่อ่านฟังธรรมะฝ่ายเดียวจึงยังใช้การไม่ได้ ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจ กำจัดเหล่าก่อของอวิชชาคืออุปกิเลสทั้งหลายแล้ว นั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมคือคำสอนบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมแท้ พวกเรามารักษาศีลห้า ทำทานตามสมควรแก่ตน คือทำแล้วเกิดความสุขสงบที่ใจ มาเจริญปัญญาด้วยการทำจิตใจนี้ให้สงบ จึงได้ชื่อว่าเดินตามรอยบาทของพระพุทธเจ้า เรียกว่าปฏิบัติบูชา ถือว่าเป็นการบูชาที่สูงสุด เจริญพร 4/10/60 หลวงพ่อมิตร

 

การมองเห็นว่า ขันธ์ 5  ได้ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ มีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน ก็จะไม่เกิดความเห็นผิดว่าขาดสูญและเห็นผิดว่าเที่ยง นอกจากนั้นเมื่อพวกเรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนและมีอยู่อย่างสัมพันธ์อาศัยกันและกันเช่นนี้แล้วก็จะเข้าใจหลักกรรมโดยถูกต้องว่าเป็นไปได้อย่างไร การฝึกความคิดหรือสร้างนิสัยที่จะใช้ความคิดแบบวิเคราะห์ความจริง คือ เมื่อพวกเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ความคิดก็ไม่หยุด ยึดถือเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น พวกเราจะต้องสร้างนิสัยสืบหาความจริง คือทำให้รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะล้วนๆของมันคือตามที่มันเป็นไป ไม่นำเอาตัณหาอุปาทานเข้าไปจับอันเป็นเหตุให้มองเห็นตามที่อยากหรือไม่อยากให้มันเป็น ลักษณะการฝึกฝนอย่างนี้ทำให้เรามีสติและปัญญาเกิดขึ้น จะทำให้จิตใจของพวกเราไม่ยึดมั่นถือมั่น เจริญพร 5/10/60 หลวงพ่อมิตร

 

การติดคุกภายนอกนั้นไม่น่ากลัวเท่าไร ก็แค่ใช้หนี้กรรมกันในชาตินี้ในโลกปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่การติดคุกภายในใจนั้นยากที่จะออกจากคุกนั้นได้ เพราะโรคทางใจที่เกิดจากตัณหาอุปาทานและความหลงผิดนั้น สัตว์โลกทั้งหลายติดกันนานแสนนาน นับภพนับชาติไม่ได้เลย ต้องอาศัยผู้ที่ออกจากคุกทางใจคือกิเลสได้ก่อน แล้วมาบอก มาสอนทางออกจากคุกทางใจให้พวกเราทราบ พวกเราจึงจะมีโอกาสที่จะออกตามท่านผู้รู้ได้ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ทางออกจากคุกนี้ได้เป็นบุคคลแรกของโลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก มารโลก  ยมโลก คุณความดีที่พระพุทธองค์ทรงกระทำไว้นับไม่ถ้วน ส่งผลให้พระองค์ทรงพบทางออกนั้น คือศีลสมาธิภาวนานี้เอง เป็นเครื่องมือออกจากคุกทางใจได้โดยเด็ดขาด จะไม่หวนกลับมาติดคุกอีกต่อไป เจริญพร 6/10/60 หลวงพ่อมิตร

 

สิ่งที่ดี ๆ จะเกิดขึ้นในชีวิตของพวกเราในการศึกษาธรรมะ หรือ อานิสงส์ที่พวกเราจะได้รับในการศึกษาธรรมะ หรือผลรับที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ประเสริฐสูงสุด การฟัง การอ่าน การปฏิบัติธรรม จะทำให้พวกเราได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้ หรือถ้ามีโอกาสได้เรียนรู้ ก็ทำให้แจ่มแจ้ง เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถแก้ข้อสงสัยได้ หรือ บรรเทาความสงสัยในสิ่งต่างๆเสียได้ จนสามารถทำความเห็นในสิ่งต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพวกเราให้ถูกต้องได้เรียกว่าเกิดปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม จนทำให้จิตของพวกเราผ่องใสคือห่างไกลจากทุกข์ทั้งหลายนี้แหละคืออานิสงส์ในการฟัง อ่าน ปฏิบัติธรรม บุญกุศลที่พวกเราทำในชาติปัจจุบันนี้จึงเป็นที่พึ่งของพวกเราในภพชาติต่อไปข้างหน้าด้วย เจริญพร 7/10/60 หลวงพ่อมิตร

 

ทศพิธราชธรรมหรือราชธรรมคือธรรมของพระราช กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติธรรมหรือ คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง สรุปสั้นๆ คือธรรมของนักปกครอง มาเทียบกับบารมี 10 หรือทศบารมี ที่พระพุทธองค์ทรงเกิดมาแต่ละชาติ ที่ตรงกับราชธรรม ได้แก่ ทาน การให้ คือให้เพื่อประโยชน์มหาชน เป็นหลักใหญ่ ตรงกับ (พระเวสสันดรทำทานบารมี) ศีล ความประพฤติดีงาม กาย วาจา และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ตรงกับชาติ (พระภูริทัตต์ทำศีลบารมี) การบริจาค คือเสียสละความสุขสำราญ ตลอดจนชีวิตของตนเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมืองตรงกับชาติที่เกิดมาเป็น (พระมหาชนก ทำวิริยะบารมี) อาชีวะ ความซื่อตรง มีความจริงใจไม่หลอกประชาชนตรงกีบชาติที่เกิดมาเป็น (พระวิธุระ ทำสัจจะ) มัททวะ ความอ่อนโยน(พระเตมีย์ ทำ เนกขัมมะออกบวช) ตปะ ความทรงเดช (พระเนมิราช ทำอธิษฐานคือตั้งใจหรือตั้งเจตนาหรือตั้งเป้าหมายของชีวิต) อักโกธะ ความไม่โกรธ (พระสุวรรณสาม เจริญเมตตา) ขันติ ความอดทน (พระจันทกุมาร ทำขันติ) อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน(พระนารทะ ทำอุเบกขาวางจิตเป็นกลาง) ข้อสุดท้าย อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม คือวางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม (พระมโหสถทำ ปัญญา) ถ้ามีครบ ถือว่าเป็นนักปกครองที่สมบูรณ์แบบ เจริญพร 8/10/60 หลวงพ่อมิตร

view