สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

อุปลมณี ตอนที่ 5 (ฑูตมรณะ - ป่วยแต่กาย)


ฑูตมรณะ


          กลางป่าช้าข้างวัดหลวงตา มีศาลาเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ท่ามกลางหลุมฝังศพที่เรียงรายเกลื่อนป่า เป็นที่สงบสงัด และมีความวิเวก วังเวง อันอำนวยต่อ

การเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อจึงมักหลีกเร้นมานั่งสมาธิภาวนา พิจารณาสภาวธรรมอยู่ที่ศาลาหลังนั้นเสมอ


          วันหนึ่ง ขณะหลวงพ่อนั่งอยู่บนศาลานั้น มีกาตัวหนึ่งบินมาจับกิ่งไม้ใกล้ ๆ แล้วส่งเสียงร้อง กา กา หลวงพ่อไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่ามันคงร้องไปตามประสา

สัตว์ เมื่อเห็นหลวงพ่อไม่สนใจกาจึงร่อนลงมายืนบนพื้นศาลาตรงหน้าท่าน มันคาบหญ้าแห้งมาวางแล้วร้อง กา กา แสดงอาการเหมือนจะส่งหญ้าให้หลวงพ่อเห็น

กิริยามันแปลก ๆ มองดูมันด้วยความสนใจ เมื่อกาเห็นท่านสนใจมันก็ทิ้งหญ้าแห้งไว้ แล้วบินหายไป หลังจากนั้น ๓ วัน ชาวบ้านได้หามศพเด็กชายอายุประมาณ ๑๓

ปี ป่วยเป็นไข้ตาย มาเผาข้าง ๆ ศาลานั้น ๓-๔ วันต่อมา อีกาก็บินมาหาหลวงพ่อที่ศาลานั้นอีก ครั้งแรกเกาะอยู่กิ่งไม้ เมื่อเห็นหลวงพ่อไม่สนใจ กาก็บินลงมาที่บ้าน

แล้วแสดงกิริยาเหมือนครั้งแรก หลวงพ่อหันมาดู มันก็บินหนีไปอย่างเคย จากนั้นไม่กี่วัน ชาวบ้านหามศพมาอีก คราวเป็นพี่ชายเด็กที่ตายเมื่อไม่นานนั่นเอง ซึ่งเกิด

ป่วยกระทันหันตายตามกันอย่างน่าประหลาดใจ กาตัวนั้นมันเป็นฑูตมรณะจริง ๆ เพราะอีก ๓ วันเท่านั้น มันก็บินมาส่งข่าวหลวงพ่ออีกครั้ง แล้วไม่กี่วัน พี่สาวของเด็ก

ชายทั้งสองที่ตายไปก่อนหน้านั้น ก็มีอันต้องป่วยตายไปอีกคน พ่อแม่และญาติพี่น้องของเด็กทั้งสามเศร้าโศกเสียใจอย่างแสนสาหัส หลวงพ่อได้เห็นสภาพของคน

เหล่าสั้น ยิ่งเกิดสลดสังเวชในความเป็นจริงของชีวิต ได้น้อมนำเหตุการณ์เฉพาะหน้านี้มาเตือนตนมิให้ประมาท รวมทั้งพิจารณาเห็นว่าความทุกข์โศก ย่อมเกิดจาก

ของที่เรารักและหวงแหน



          สัจธรรมในป่าช้า เร่งเร้าให้หลวงพ่อไม่ยอมเนิ่นช้าในการปฏิบัติ ท่านเพิ่มเวลาในการภาวนามากขึ้น ลดเวลาพักผ่อนลง มุ่งหน้าทำความเพียร แม้ฝนตกพรำ

ๆ ก็เหยียบย่ำน้ำเดินจงกรมอยู่อย่างนั้น วันหนึ่งเกิดนิมิตว่า ได้เดินไปยังที่แห่งหนึ่ง พบคนแก่นอนป่วยร้องครวญครางปานจะขาดใจ หลวงพ่อหยุดพิจารณาดูแล้วเดิน

ต่อไป ระหว่างทางพบคนป่วยหนักจนตาย ร่างกายซูบผอมเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกนอนหายใจรวยรินอยู่ริมทาง ได้หยุดดูแล้วเดินผ่านไปไม่ไกล ก็พบคนตายนอน

หงายขึ้นอืด ตาถลน ลิ้นจุกปาก และมีหนอนชอนไชอยู่เต็มร่างกาย เกิดความสลดสังเวชเป็นอย่างยิ่ง พอตื่นขึ้นมา ภาพนั้นยังติดตาติดใจไม่เลือนลาง รู้สึกเบื่อหน่าย

ต่อชีวิต อยากหลุดพ้นออกจากกองทุกข์นี้โดยเร็ว จึงคิดจะปลีกตัวขึ้นไปทำความเพียรบนยอดเขาสัก ๗ หรือ ๑๕ วัน จึงจะลงมาบิณฑบาต แต่มีปัญหาว่า บนยอดเขา

ไม่มีน้ำดื่ม พอดีนึกถึงกบจำศีลอยู่ในรู มันกินน้ำเยี่ยวของตัวเองยังมีชีวิตอยู่ได้ จึงอยากทดลองดูบ้าง แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะปัสสาวะเมื่อดื่มซ้ำเข้าไปหลาย ๆ ครั้งพอ

ตกถึงกระเพาะก็ไหลออกมาทันที จึงคิดหาวิธีใหม่ เมื่อคิดว่าไม่อาจไปอยู่บนยอดเขาได้ จึงทดลองอดอาหาร ฉันวันเว้นวันสลับกันไปทำอยู่ประมาณ ๑๕ วัน ขณะอด

อาหารรู้สึกว่าร่างกายร้อนดังถูกไฟแผดเผา มีอาการทุรนทุรายแทบทนไม่ได้ จิตใจก็กระสับกระส่ายไม่สงบ จึงล้มเลิกวิธีนี้เพราะไม่ถูกกับจริต


          ต่อมาได้นึกถึง อปณฺณกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด) คือ โภชเนมตฺตญฺญุตา การรู้จักประมาณในการฉันอาหารให้พอสมควร ไม่มากหรือน้อยเกินไป อินทรีย

สังวร สำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ ชาคริยานุโยค ทำความเพียรสม่ำเสมอ ไม่เกียจคร้านหรือเห็นแก่หลับนอนจนเกินไป เมื่อใจน้อมไป

ถึงทางดำเนินนี้ จึงหยุดวิธีทรมานตน กลับมาฉันอาหารวันละครั้งดังเดิมแล้วทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง การบำเพ็ญภาวนาก้าหน้าขึ้นมาก จิตใจสงบระงับปราศจาก

นิวรณ์ การพิจารณาธรรมก็แตกฉานแจ่มแจ้งไม่ติดขัด ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงตาซึ่งเฝ้าจับตามองหลวงพ่อมานาน เห็นหน่วยก้านและภูมิธรรมภูมิปัญญาน่าเลื่อมใส

จึงชักชวนให้ข้ามโขงไปตั้งสำนักยังฝั่งลาวด้วยกัน แต่หลวงพ่อได้ปฏิเสธอย่างสุภาพ จวนจะสิ้นปีหลวงตาจึงพาคณะย้ายออกจากสำนักธุดงค์ข้ามโขงไปฝั่งลาว อย่าง

ที่พูดไว้


เห็นสมมติ


          หลังจากหลวงตาและคณะย้ายไปได้ ๗ วันแล้ว หลวงพ่อก็ออกจากสำนักสงฆ์แห่งนั้นบ้าง โดยธุดงค์มุ่งหน้าไปทางภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม

เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติซึ่งยังติดข้องอยู่ โดยที่หลวงพ่อมีอาการสะดุดในการเจริญสมาธิภาวนา ดังที่ท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า


          “... ไปถึงแค่นั้นแล้วเลยหยุด มันไม่ไป... สมมุตินะ... คล้าย ๆ ว่าเราเดินมานี้ มันหยุดทรุดอยู่อย่างนี้ มันไม่ไปน่ะ แล้วก็กลับ... พูดถึงความรู้สึก

พูดถึงเรื่องจิตของเราน่ะ... เราก็ทำไปทำมา มาถึงที่นี่ไม่มีที่ไปอีก หยุด อันนี้อันหนึ่ง อันที่สองนี่มันเป็นอย่างนี้ เดินมาชนนี้เลยแล้วก็กลับ แบบหนึ่ง ก็

มันไม่มีอะไรจะชนแล้วก็ตกลงไป ก็ทำภาวนาไป เดินจงกรมไป เดี๋ยวมันก็กลับมาอยู่ตรงนี้แหละ


          นี่อะไร ๆ ถามอยู่ในใจ

          อะไรก็ช่างมันเถอะ มันตอบอย่างนี้

          นาน ๆ ไปก็เลยหยุด พอไปอีกก็วกมาอีก นี่อะไร ๆ มันมาทวงอยู่เรื่อย


          ธรรมดาอยู่ปกติมันก็มีความรู้สึกอย่างนี้ จิตใจมันยังวุ่นวาย เลยคิดว่านี้คืออะไร ตรงที่มันเป็นในสมาธิเรา มันติดอยู่ในสมาธินั่น เมื่อเดินไปมัน

ก็มีความรู้สึกว่า นี้คืออะไร มันมาทวงเราอยู่บ่อย ๆ คือ เรายังไม่รู้ทันมัน รู้ไม่ถึงขั้นที่ปล่อยวาง มันจึงติดตามอยู่


          มามองเห็นพระในเวลานั้นมีใครหนอจะช่วยเราได้ นึกถึงท่านอาจารย์วัง ท่านไปอยู่ยอดเขาภูลังกา ท่านมีเณรอยู่ ๒ องค์ แล้วก็มีพระรูปเดียว

คือท่าน อยู่บนโน้นยอดเขานั่น ไม่เคยเห็นท่านหรอก เราก็คิดว่าพระรูปนี้ ท่านต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งแหละ ท่านถึงมาอยู่อย่างนี้...”



          หลวงพ่อได้ขึ้นไปกราบนมัสการท่านอาจารย์วัง ได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติกันอยู่ ๓ คืน เนื้อความจากการสนทนาธรรมของ

ท่านทั้งสองถ่ายทอดจากคำบอกเล่าของหลวงพ่อมีดัง นี้


ท่านอาจารย์วัง : คราวหนึ่งกำลังเดินทำความเพียร เดินจงกรมหยุดอยู่กำหนดร่างกายนี่มันจมลงไปในดินเลย


หลวงพ่อ : รู้ตัวไหมครับ ?


ท่านอาจารย์วัง : รู้ ทำไมจะไม่รู้ รู้อยู่ มันก็จมลงไป กำหนดไปมันก็จมลงไปเรื่อย ๆ กำหนดรู้ว่ามันจะเป็นยังไงก็ให้มันเป็นไป มันก็จมลงไปเรื่อย ๆ มันถึงที่สุดแล้วละ

ที่ไหนไม่รู้คือมันถึงที่สุดแล้วมันก็ขึ้นมา ขึ้นมาเลย แผ่นดินอยู่ตรงนี้มันขึ้นมามันไม่อยู่ ประเดี๋ยวก็ขึ้นไปโน่นอีกแล้ว ขึ้นไปโน ก็รู้มันอยู่นะ อัศจรรย์เหลือเกินว่ามันเป็น

ไปได้ยังไง ทีนี้มันก็ขึ้นไป ๆ จนถึงปลายไม้ ร่างกายแตก บึ้ม! ลำไส้นี่ ไส้น้อยใส่ใหญ่ มันไปติอยู่กิ่งไม้เป็นพวงเลย


หลวงพ่อ : ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ฝันเหรอครับ?


ท่านอาจารย์วัง : ไม่ใช่ฝัน นี่ถ้าเราไม่รู้มัน มันจะเอาให้เราเป็นอย่างอื่น มันเป็นจริง ๆ อย่างนั้นนี่ ในตอนนั้นก็เชื่อว่ามันเป็นจริง ๆ อย่างนั้น เดี๋ยวนี้เรารู้อยู่เห็นอยู่ว่ามัน

เป็นอย่างนั้น ขนาดนี้แหละ ท่านอย่าไปพูดเลยนิมิตอย่างอื่น ขนาดนี้มันเป็นได้ ถ้าหากว่าคนเราร่างกายแตก บึ้ม! มันจะมีความรู้สึกอย่างไรนะ ไส้เป็นพวงเลยมันพัน

ต้นไม้อยู่นั่น มันมั่นเหลือเกิน แต่เข้าใจว่าอันนี้คือนิมิต มันอยู่อย่างนี้ เชื่อในใจว่าไม่มีอะไรจะทำอันตรายเราได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็กำหนดดูเข้ามา ดูมาถึงจิต ขณะของ

จิตมันอยู่อย่างนี้แล้วก็หายไป เลยมานั่งคิด มันอะไรน้อ


หลวงพ่อ : ทีนี้ผมมากราบท่านอาจารย์ ผมจนปัญญาแล้ว ผมไม่ใช่เป็นอย่างนั้น มันเป็นอีกแบบหนึ่ง คล้าย ๆ กับเราเดินไปบนสะพาน คล้าย ๆ สะพาน

นี่มันโด่ไปในแม่น้ำ เราก็เดินไปแล้วก็หยุดอยู่ ไม่มีที่ไปอีกแล้วจะทำยังไง อย่างนี้ แล้วก็หันกลับมา บางทีมันก็เดินเข้าไปอีก มันเป็นในสมาธิน่ะ ไปถึง

ตรงนั้นแล้วมันก็จบอยู่ไม่มีที่ไป เลยกลับมาอีก กำหนดไปมันไปไม่ได้ บางทีกำหนดไปมันมีอะไรมาขวางอยู่มาชน กึ๊ก! ไม่มีที่ไปอีกแล้ว มันเป็นนาน

นะครับอันนี้ มันคืออะไรครับท่านอาจารย์


ท่านอาจารย์วัง : อันนี้มันหมด มันเป็นที่สุดแห่งสัญญาแล้ว เมื่อมันเป็นอย่างนั้นจะไปที่ไหนก็ยืนมันอยู่ตรงนั้นแหละ ให้กำหนดอยู่ที่ตรงนั้น ถ้าเรายืนอยู่ที่ตรงนั้น

มันจะแก้สัญญา มันจะเปลี่ยนเองของมัน ไม่ต้องไปบังคับมันเลย ถ้าเรากำหนดว่าอันนี้มันเป็นอย่างนี้ เมื่อมันเป็นอย่างนี้ รู้สึกว่าจิตมันเป็นอย่างไรไหม ให้รู้จักว่ามัน

เป็นอย่างนั้น ให้รู้เข้ามา ถ้ามันรู้สึก เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนสัญญา คล้าย ๆ กับว่าสัญญาของเด็กกับสัญญาของผู้ใหญ่ มันก็เปลี่ยนออกไปเป็นสัญญาของผู้ใหญ่

อย่างเด็กมันอยากจะเล่นของอย่างนี้ เมื่อมันเติบโตขึ้นมามันเห็นของชิ้นนี้ไม่น่าจะเล่นเสียแล้ว มันก็เลยเล่นของอย่างอื่น มันเปลี่ยนเสียแล้ว


หลวงพ่อ : อ้อ! เข้าใจครับ


ท่านอาจารย์วัง : อย่าพูดมากเลย มันหลายเรื่อง หลายเรื่อง คิดว่ามันเป็นได้ทุกอย่างก็แล้วกันเรื่องสมาธินี่ แต่มันเป็นทุกอย่างก็ช่างมันเถอะ เราอย่าไปสงสัยมัน

อันนี้เมื่อเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ค่อยหมดราคาของมันไป มันจิตสังขารไม่มีอะไรต่อไป ถ้าเราเข้าไปดูเลยกลายเป็นเป็ด เดี๋ยวเป็ดกลายเป็นไก่  เดี๋ยวไป

ตามดูไก่ ไก่เป็นหมา ดูหมาไปเดี๋ยวกลายเป็นหมู เลยวุ่นไม่รู้จบสิ้น กำหนดรู้มัน เพ่งมันตรงนี้ แต่ว่าอย่าเข้าใจว่าหมดนะ อย่าเข้าใจว่าหมด เดี๋ยวมันจะมีอีก แต่เรา

วาง มันรู้ไว้ในใจแล้วปล่อยวางเสมอ อย่างนี้ไม่เป็นอันตรายทั้งนั้น กำหนดอย่างนี้ให้มันมีรากฐานอยู่ อย่าไปวิ่งตามมัน พอเราแก้อันนี้ได้ มันก็ไปได้ มันมีช่วงเวลา

ของมันไปอดีตอนาคตต่อไปก็ทำนองเดียวกันนี้ แต่มันจะยิ่งหย่อนกว่ากันได้ มันจะดีเลิศจะดีประเสริฐอะไรก็ช่างมันเถอะ มันจะต้องเป็นอย่างนั้น ให้ทำความเข้าใจ

จริง ๆ อย่างนั้น


หลวงพ่อ : ทำไมบางคนเขาไม่มีอะไรล่ะครับ ไม่เป็นทุกข์ด้วยครับ ไม่มีอะไรที่จะขัดข้อง กายก็สบาย ใจก็สบาย ไม่มีอะไร


ท่านอาจารย์วัง : อันนี้มันเป็นบุพกรรมของ เรา มันก็ต้องสู้กันในเวลานี้ เวลาจิตมันรวมนี้มันก็มาแย่งบัลลังก์ที่ตรงนี้ สิ่งที่มันมาแย่งไม่ใช่ของร้ายอย่างเดียวนะ ของดี

ก็มีนะ น่ารักก็มี เป็นอันตรายทั้งนั้นแหละ อย่าไปหมายมั่นมันเลย


          หลังสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อเกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น


          ครั้นพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กันต่อพอสมควร หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วังกลับที่พัก


          ในขณะพักอยู่บนภูลังกา ได้เร่งความเพียรอย่างหนักพักผ่อนเพียงเล็กน้อย ไม่คำนึงถึงเวลาว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน คงยืนหยัดปฏิบัติไปอย่างต่อเนื่อง

จิตพิจารณาเรื่องธาตุและสมมุติบัญญัติอยู่ตลอดเวลา


พักอยู่ที่ภูลังกาได้ ๓ วัน หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วัง


          “ได้เดินลงมาจากภูลังกา มาถึงวัดแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตกจึงได้หลบฝนเข้าไปนั่งที่ใต้ถุนศาลา จิตก็กำลังพิจารณาสิ่งเหล่านี้อยู่

ทันใดขณะจิตก็ตั้งมั่นขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปมีความรู้สึกเหมือนเป็นคนละโลก ดูอะไรก็เปลี่ยนไปหมด กาน้ำตั้งอยู่มองดูแล้วก็มีความรู้สึกว่าไม่ใช่กาน้ำ

กระโถน ตั้งอยู่ก็เปลี่ยน บาตรก็เปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยนสภาพไปหมด เหมือนหน้ามือกับหลังมือ เหมือนแดดจ้าที่มีก้อนเมฆเคลื่อนมาบดบังแสงแดด

ก็วาบหายไป เปลี่ยนขณะจิตไปวาบ ๆ ตั้งขึ้นมาก็เปลี่ยนวาบ เห็นขวดก็ไม่ใช่ขวด ดูแล้วก็ไม่เป็นอะไร เป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น ไม่ใช่ขวดแท้

ไม่ใช่กระโถนแท้ ไม่ใช่แก้วแท้ เปลี่ยนไปหมด เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็น้อมเข้าหาตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายของเราก็ไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่ของสมมุติ”


          ด้วยอาการของจิตที่เกิดเช่นนี้ หลวงพ่อจึงสรุปว่า


          “ผม เห็นว่าพระอริยบุคคลกับคนบ้านี่ดูไม่ออก คล้าย ๆ กัน เพราะมันผิดปกติ อริยจิตนี้ถ้ามันตกกระแสแล้ว ผมเห็นว่ากับคนบ้า แยกกันออก

ไม่ได้ง่าย ๆ คล้ายกัน แต่มีคุณธรรมต่างกัน”


          หลวงพ่อได้กำชับลูกศิษย์ลูกหาให้มีความมั่นใจในผลของการปฏิบัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เองอย่างแจ่มแจ้ง ดังที่ท่านได้ประสบมาแล้ว


          “...เรื่องการปฏิบัตินี่อย่าไป ลังเล ให้ทุ่มเทลงไป ให้จิตใจเข้มแข็ง ให้ปฏิบัติเข้าไป ถึงจะไปฟังเทศน์อยู่ที่ไหนก็ช่าง เรียนรู้ที่ไหนก็ตาม รู้เหล่านี้

นั้นรู้อยู่แต่มันรู้ไม่ถึง ถ้ารู้ไม่ถึงมันก็สงสัยลังเล ถ้ารู้ถึงมันก็จบ ถึงใครจะว่าอะไรมันก็ไม่เป็นอะไร มันเป็นของมันอย่างนั้น แน่นอนอย่างนั้น เมื่อปกติจิต

ของเราเกิดขึ้นมา ใครจะหัวเราะ ใครจะร้องไห้ ใครจะดีใจ เสียใจก็ตามใจจะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวงเลย...”


          นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้ข้อคิดเกี่ยวกับการภาวนาจากประสบการณ์ที่ภูลังกาว่า


          “... คนจะไปภาวนาคนเดียวนี้มันก็ได้หรอก แต่ว่าบางคนมันช้าไปก็มี วนอยู่ตรงนั้น มันได้สัมผัส แต่ทางใจของเรา ถ้ามีใครไปร้องบอกชี้ทาง

มันไปเร็ว มันมีทางที่จะพิจารณา ทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ เวลามันติดหนัก...”


          จากภูลังกา หลวงพ่อมุ่งหน้าสู่วัดป่าหนองฮี เพื่อกราบเยี่ยมหลวงปู่กินรี การพบกันในครั้งนี้หลวงปู่ให้คำแนะนำสั้น ๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า


          “ท่านชา การเที่ยวธุดงค์ของท่านก็พอสมควรแล้ว ควรไปหาที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งในที่ราบ ๆ บ้างนะ”


          หลวงพ่อกราบเรียนหลวงปู่ว่า


          “กระผมตั้งใจจะธุดงค์กลับไปทางบ้านที่อุบลครับ”

          “จะกลับบ้าน เพราะคิดถึงใครหรือเปล่า? ถ้าคิดถึงผู้ใด ผู้นั้นจะให้โทษแก่เรา”


          หลวงปู่ทิ้งท้ายด้วยคำง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งเช่นเคย


บุพนิมิตที่บ้านสวนกล้วย


          จากบ้านหนองฮีหลวงพ่อเดินธุดงค์มุ่งหน้า สู่จังหวัดอุบลราชธานี โดยแวะพักและโปรดญาติโยมที่บ้านป่าตาวอำเภอเลิงนกทาอีกครั้งหนึ่ง และก่อนออกเดิน

ทางต่อ ท่านได้รับเด็กชายชื่อทองดีเป็นศิษย์ติดตามไปด้วย


          เมื่อเดินทางมาถึงบ้านก่อ อำเภอารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงพ่อ ท่านได้พักที่ป่าช้าบ้านก่อนอก เพื่อเยี่ยมเยือนโยมมารดา

และญาติพี่น้อง และได้ฝึกหัดเด็กชายทองดีรวมทั้งเด็กชายเที่ยง (หลวงพ่อเที่ยง โชติธมฺโม ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอรัญญวาสี สาขาที่หนึ่งของวัดหนองป่าพง)

ซึ่งขณะนั้นเด็กชายเที่ยงก็กำลังจะบวชเณรที่วัดก่อนอกอยู่พอดี


          พอฝึกหัดเด็กทั้งสองให้รู้จักการบวชพอสมควรแล้ว หลวงพ่อจึงนำไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดวารินทราราม


          ขณะพักอยู่ในป่าช้าวัดก่อนอก ญาติสนิทมิตรสหายที่ใกล้ชิดคุ้นเคยกับหลวงพ่อตั้งแต่เป็นเด็ก ได้มานมัสการสนทนาด้วยความยินดี เพราะนับตั้งแต่ท่าน

ออกธุดงค์แล้วก็ไม่ได้พบกันบ่อยนัก แต่การพบกันในครั้งนี้ เพื่อนสนิทคนหนึ่งของหลวงพ่อสังเกตเห็นว่า เพื่อน รักของตนกลับมาคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก จาก

คนที่พูดเก่ง ร่าเริง ชอบหัวเราะ กลายเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย ไม่หัวเราะรื่นเริงเหมือนเดิม


          หลวงพ่อพักอยู่อยู่ป่าช้าวัดก่อนอกประมาณ ๑๕ วัน ได้ให้ข้อคิดคำแนะนำแก่มารดาและญาติมิตรพอสมควร โดยมีสามเณรเที่ยงนึกนิยมเลื่อมใสในปฏิปทา

อยู่เงียบ ๆ


          หลังจากนั้นหลวงพ่อกับสามเณรทองดี ได้ออกเดินทางไปยังอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้พักปักกลดอยู่ในป่าใกล้บ้านสวนกล้วย พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนายิ่งนัก เพราะเป็นที่สงบ วิเวก มีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น กระรอก กระแต ไก่ป่า อีเก้ง อีเห็น รวมทั้งเสือด้วย เหมาะแก่การฝึกทรมานตนเป็นอย่างดี ในพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๒ นี้ จึงได้ตกลงใจจำพรรษาที่บริเวณป่าใกล้บ้านสวนกล้วย ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อเล่าว่า ท่านได้เกิดบุพนิมิตซึ่งเป็นความฝันที่ตัวท่านถือเอาว่า เป็นตอนที่สำคัญยิ่งในประวัติของท่าน บุพนิมิตดังกล่าวมีด้วยกัน ๓ ประการ ความหมายอันลึกซึ้งของบุพนิมิตแต่ละประการนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่หลวงพ่อท่านรู้ประจักษ์เฉพาะตัวท่านเอง สำหรับเราท่านทั้งหลาย อย่างน้อยก็เป็นเรื่องแปลก ที่ควรแก่การรับฟังและพิจารณาตามที่หลวงพ่อได้เล่าไว้ดังนี้

   ๑. คืนหนึ่งเมื่อหลวงพ่อได้ เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงพักผ่อนจำกัด ได้เกิดนิมิตฝันไปว่า มีคนเอาไข่มาถวาย ๑ ฟอง พอหลวงพ่อรับแล้วจึงโยนไข่ไปข้างหน้า ไข่แตกเกิดเป็นลูกไก่ ๒ ตัววิ่งเข้ามาหา จึงยื่นมือทั้งสองออกไปรับข้างละตัว พอถูกมือก็กลายเป็นเด็กชาย ๒ คน พร้อมกับได้ยินเสียงบอก่า คนอยู่ข้างขวามือชื่อบุญธรรม คนที่อยู่ทางซ้ายมือชื่อบุญธง หลวงพ่อได้เลี้ยงเด็ก ๒ คนนั้นไว้ กำลังเติบโตน่ารักวิ่งเล่นได้แล้ว ต่อมาเด็กชายบุญธงเป็นโรคบิดอย่างแรง พยายามรักษาจนสุดความสามารถแต่ก็ไม่หาย จนกระทั่งเด็กนั้นได้ตายอยู่ในมือและได้ยินเสียงบอก บุญธงตายแล้ว เหลือแต่บุญธรรมคนเดียว จึงรู้สึกตัวตื่นขึ้น แล้วเกิดคำถามว่านี้คืออะไร? มีคำตอบปรากฏขึ้นว่า นี้คือสภาวธรรมที่เป็นเอง จึงได้หายความสงสัย


   ๒. ในคืนต่อมาก็มีอาการอย่างเดียวกัน พอเคลิ้มจะหลับไปก็เกิดนิมิตฝันว่าตัวท่านเองได้ตั้งครรภ์ รู้สึกว่าไปมาลำบากมาเหมือนคนมีครรภ์จริง ๆ แต่มีความรู้สึกในนิมิตนั้นว่าตัวเองก็ยังเป็นพระอยู่ เมื่อครรภ์แก่เต็มที่จวนจะคลอดก็มีคนมานิมนต์ไปรับบิณฑบาต มองไปรอบ ๆ บริเวณไปลำธาร กระท่อมไม้ไผ่ขัดแตะกลางทุ่งนาและพระอยู่บนเรือน ๓ รูป ไม่ทราบว่ามาจากไหน โยมเขาพากันถวายอาหารบิณฑบาต พระ ๓ รูปนั้นฉันอยู่ข้างบน แต่หลวงพ่อรู้สึกว่าท้องแก่จวนจะคลอด เขาจึงให้ฉันอยู่ข้างล่าง พอพระฉันจังหันหลวงพ่อก็คลอดเด็กพอดี เป็นชายมีขนนุ่มนิ่มบนฝ่ามือและฝ่าเท้า มีอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ท้องปรากฏ่าแฟบลง นึกว่าตัวเองคลอดจริง ๆ จึงเอามือลูบคลำดู แต่ก็ไม่มีสิ่งเปรอะเปื้อนใด ๆ ทำให้นึกถึงที่พระพุทธองค์ทรงประสูติจากครรภ์มารดาคงจะไม่แปดเปื้อนมลทินใด ๆ เช่นกัน และเวลาฉันจังหันพวกโยมพิจารณากันว่าท่านคลอดบุตรใหม่จะเอาอะไรให้ฉัน เขาจึงถวายปลาหมอปิ้ง ๓ ตัว รู้สึกว่าเหนื่อยอ่อนไม่อยากฉัน แต่ก็ฝืนใจฉันไปเพื่อฉลองศรัทธาเขา ก่อนจะฉันได้ส่งเด็กให้โยมอุ้มไว้ ฉันเสร็จเขาก็ส่งเด็กคืนมา พอถึงมือท่าน เด็กก็พลัดตกจากมือ แล้วจึงรู้สึกตัวตื่นขึ้น เกิดคำถามว่านี้คืออะไร มีคำตอบว่า นี่คือสภาวะที่เป็นเองทั้งนั้น เลยหมดความสงสัย


   ๓. คืนที่สามต่อมาก็อยู่ในอาการเดิม พอพักผ่อนเคลิ้มหลับไปก็เกิดนิมิตไปว่า ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นไปบนยอดเขากับสามเณรรูปหนึ่ง ทางขึ้นเขานั้นเป็นทางวนขึ้นไปเหมือนก้นหอย วันนั้นเป็นวันเพ็ญ ภูเขาก็สูงมาก พอขึ้นไปถึงแล้วรู้สึกว่าเป็นที่ร่มรื่นดี มีผ้าปูปื้นและกั้นเพดานสวยงามมาก จนหาที่เปรียบมิได้ แต่พอเวลาฉัน เขาก็นิมนต์ให้ลงมาที่ถ้ำข้างภูเขา มีโยมแม่พิมพ์และโยมน้ามีพร้อมด้วยญาติโยมเป็นจำนวนมากไปถวายอาหาร อาหารที่ถวายนั้นโยมแม่ได้แตงและผลไม้อื่น ๆ ส่วนน้ามีได้ไก่ย่างเป็ดย่างมาถวาย หลวงพ่อจึงทักขึ้นว่า โยมมีอยู่ตลาดเห็นจะมีความสุขนะ ได้ไก่ย่างเป็ดย่างมาถวายพระ โยมมีรู้สึกว่ามีอาการยิ้มแย้มแจ่มใสดี เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วได้แสดงธรรมให้ฟังนานพอสมควร เมื่อเทศน์จบจึงรู้สึกตัวตื่นขึ้น

ต้นปี พ.ศ.๒๔๙๓ หลวงพ่อได้รับจดหมายจากพระมหาบุญมีซึ่งเป็นเพื่อนเคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน ส่งข่าวเรื่องหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ให้ทราบ จึงออกเดินทางจากบ้านสวนกล้วยสู่กรุงเทพฯ ได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติที่วัดปากน้ำ ประมาณ ๗ วัน จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

     ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๔ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๑๒ และ ๑๓ หลวงพ่อได้จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ได้พบกัลยาณมิตร ๒ ท่านคือพระอาจารย์ฉลวย (ปัจจุบันพำนักอยู่ที่วัดเขาต้นเกตุ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และหลวงตาแปลก

     ปี พ.ศ.๒๔๙๔ ขณะปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล หลวงพ่อได้เกิดเจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารมีอาการบวมขึ้นทางด้าน ซ้าย รู้สึกเจ็บปวดมาก ประกอบกับโรคหืดเรื้อรังที่เคยเป็นอยู่ได้กำเริบซ้ำเติมอีก ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานมาก หลวงพ่อจึงพิจารณาว่าตัวท่านอยู่ห่างไกลญาติพี่น้อง ในยามเจ็บป่วยคงไม่สะดวกที่จะไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะจะเป็นภาระแก่คนอื่น หลวงพ่อจึงคิดรักษาโรคของท่านด้วยธรรมโอสถ โดยการอดอาหาร ไม่ยอมฉัน ดื่มเพียงแต่น้ำนิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้น ทอดธุระในสังขารร่างกายของตัวเอง ทั้งไม่ยอมหลับนอน ได้แต่เดินจงกรมและนั่งสมาธิสลับกันไป เอาธรรมเป็นที่พึ่ง ขอตายอยู่กับการปฏิบัติธรรม ความตั้งใจนี้เด็ดเดี่ยวแรงกล้ามาก จนถึงอัศจรรย์ในตัวเองว่า คนเรานี้เมื่อถึงคราวฮึดสู้ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับความตาย รู้สึกว่าจิตใจจมีความหนักแน่นมั่นคง ไม่สะทกสะท้านต่อความตายเลยแม้แต่นิดเดียว รุ่งเช้าเมื่อเพื่อน ๆ ภิกษุไปบิณฑบาต ก็เดินจงกรม พอเพื่อนกลับจากบิณฑบาตก็ขึ้นกุฏิทำสมาธิต่อไป มีอาการอ่อนเพลียทางร่างกายบ้าง แต่กำลังใจรู้สึกดีมาก ไม่กลัวตาย ไม่ย่อท้อต่อสิ่งทั้งปวง

     หลวงพ่ออดอาหารได้ ๘ วัน ท่านอาจารย์ฉลวยจึงขอร้องให้กลับฉันอาหารดังเดิม โรคภัยในกายปรากฏว่าหายไป ทั้งอาการบวมที่ท้อง ทั้งโรคหืด ไม่กำเริบอีก จึงยอมฉันอาหารเป็นปกติ

ในระยะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล นั้น หลวงพ่องดการแสดงธรรมสอนคนอื่นทั้งหมด มุ่งแต่การเจริญสมาธิภาวนาอย่างเดียว เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินทางไปแสวงวิเวกที่เกาะสีชัง ได้รับความสงบทางใจ ตลอดเวลาที่บำเพ็ญธรรมอยู่บนเกาะแห่งนี้เป็นเวลา ๑ เดือน ทำให้ได้คติข้อคิดในทางธรรมว่า

     “ชาวเกาะสีชังได้อาศัยพื้นดินบนเกาะอันมีน้ำทะเลล้อมรอบ พื้นดินบนเกาะที่ตั้งอยู่ได้ต้องอยู่พ้นจากน้ำจริง ๆ เกาะสีชังเป็นที่พึ่งภายนอกของร่างกาย แต่การที่เรามาอาศัยเกาะสีชังก็เพื่อหาเกาะที่พึ่งทางใจ ซึ่งกิเลสตัณหาท่วมไม่ถึง แม้เราจะอยู่บนเกาะสีชัง แต่เราจะต้องค้นหาเกาะภายนใจอยู่ต่อไป เพื่อให้เป็นเกาะที่พึ่งทางใจ เกาะทางใจนี้ล้อมรอบด้วยทะเลแห่งกิเลสตัณหา คนที่ยังไม่พ้นไปจากกิเลส ตัณหา อุปทาน และอกุศลกรรม ก็เปรียบได้กับคนที่ลอยคออยู่ในทะเล ซึ่งมีหวังจมน้ำตาย หรือไม่ก็ต้องผจญกับสัตว์ร้ายในทะเล เช่น ปลาฉลาม เป็นต้น”

     ออกจากเกาะสีชังกลับมาวัดใหญ่ฯ ที่อยุธยาอีกครั้ง พักอยู่นานพอสมควรจึงได้เดินทางขึ้นอีสานกลับไปบ้านเกิดที่อุบลราชธานี พอญาติพี่น้องรู้ข่าว ต่างพากันมานมัสการด้วยความยินดี เพราะจากกันไปนานถึง ๒ ปี โดยไม่ทราบข่าวคราวกันเลย หลวงพ่อกลับมาคราวนี้ก็มีท่าทีน่าศรัทาเลื่อมใสมาก ญาติมิตรจึงให้ความเคารพยำเกรง ท่านแนะนำสิ่งใดทุกคนก็สนใจฟัง ไม่แสดงอาการโต้แย้งใด ๆ ทำให้โยมแม่และญาติพี่น้องหลายคน เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษยิ่งขึ้น คืนหนึ่ง พระเที่ยง โชติธมฺโม ซึ่งเมื่อครั้งเป็นสามเณรเคยได้รับการอบรมสั่งสอนจากหลวงพ่อ ได้เข้ามากราบคารวะขอฟังธรรม และตัดสินใจออกปากฝากตัวเป็นศิษย์ ขอติดตามออกบำเพ็ญกรรมฐาน แต่หลวงพ่อกลับนิ่งเฉยไม่ตอบรับและไม่ปฏิเสธ ทำให้พระเที่ยงเกิดลังเลและรู้สึกผิดหัง เมื่อนั่งนิ่งกันอยู่ชั่วครู่ หลวงพ่อได้เอ่ยขึ้นว่า

“ทำไมถึงอยากไป”
“กระผมเห็นว่าอยู่ที่นี่ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงอยากไปปฏิบัติเหมือนครูบาอาจารย์บ้างครับ”
พระเที่ยงตอบพร้อมกับใจชึ้นขึ้นมาเล็กน้อย
“เอ้า! ถ้าจะไปจริง ๆ ให้ท่านทองดี (สามเณรทองดีบวชเป็นภิกษุแล้ว) เขียนแผนที่บอกทางไปบ้านป่าตาให้นะ แล้วไปรอผมอยู่ที่นั่น”

     เมื่อแนะนำแนวทางปฏิบัติแก่ญาติพี่น้องพอสมควรแล้ว หลวงพ่อก็ออกจาริกปฏิบัติภาวนาตามสถานที่วิเวกต่าง ๆ ต่อไป จนกระทั่งถึงบ้านป่าตา อำเภอเลิงนกทา และได้พำนักจำพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๙๕ (พรรษาที่ ๑๔) อยู่ที่ลานหินแตก ซึ่งต่อมาชาบ้านเรียกกันว่า วัดถ้ำหินแตก

     ในปีนั้นหลวงพ่อจำพรรษาร่วมกับพระภิกษุสามเณรหลายรูป มีพระเที่ยงกับพระทองดีรวมอยู่ด้วย ท่านได้นำหมู่คณะประพฤติปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ บางวันเดินจงกรมนั่งสมาธิกันตลอดวันตลอดคืน โดยให้ข้อคิดแก่ศิษย์ว่า

     “อย่าพากันติดในสมมุติบัญญัติจนเกินไป ที่ว่าเป็นกลางวันกลางคืนนั้น มันเป็นการสมมุติของชาวโลกเท่านั้นเอง เมื่อกล่าวโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่มีข้างขึ้นข้างแรม ฉะนั้นเรามาสมมุติกันใหม่ ให้กลางวันเป็นกลางคืน ให้กลางคืนเป็นกลางวันก็ได้ ถ้าเราคิดได้ว่ากลางวันหรือกลางคืนก็ไม่แตกต่างอะไรกัน เราก็จะทำความเพียรโดยไม่อ้างเวลา”

     วันหนึ่ง หลวงพ่อสังเกตเห็นพระเที่ยงฉันยาบางอย่างอยู่เป็นประจำ จึงถามว่า
“ท่านเที่ยง ฉันยาพวกนี้มานานแล้หรือ?”
“กระผมฉันมาหลายปีแล้วครับ”
“แล้วมันดีขึ้นไหม?”
“พอทุเลาลงบ้างครับ”
หลวงพ่อนิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วพูดขึ้นว่า
“เออ! ฉันยาพวกนี้ก็นานแล้ว ยังไม่เห็นว่ามันจะหายสักที เอามันโยนทิ้งไปเสีย แล้วมาฉันมาขนานใหม่กัน คือฉันอาหารให้น้อย นอนให้น้อย และพูดให้น้อย แล้วทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิให้มาก ลองทำดูนะ ถ้ามันไม่หาย เราก็ยอมตายไปเสีย”

     ชาวบ้านป่าตาวในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ค่อนข้างยากจน แม้จะมีจิตศรัทธาต่อการทำบุญกุศล แต่ก็ขัดสนเรื่องความเป็นอยู่ จึงอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามมีตามได้แบบชาวบ้านอีสานในสมัยนั้น คือมีข้าวเหนียว พริก เกลือหรือแจ่ว ผักสด ๆ และกล้วยบ้างบางวัน

เมื่อจะอดอยากขาดแคลนสักปานใดหลวงพ่อกับ ศิษย์ก็คงบากบั่นหมั่นเพียรเจริญภาวนาอย่างไม่ย่อท้อ กลับน้อมเอาความอดอยากขัดสนมาเป็นครูผู้สอนให้มีความอดทน ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง แต่วันหนึ่งก็มีสิ่งมาทดสอบความมุ่งมั่นของท่าน บริเวณสำนักที่หลวงพ่อพำนักอยู่นั้น ด้านทิศเหนือเป็นแอ่งน้ำใหญ่มีปลาชุกชุมมาก เวลาฝนตกหนักน้ำล้นฝั่ง ปลาก็ตะเกียกตะกายตามน้ำมา เพื่อจะเข้าไปในแอ่งน้ำใหญ่ บางตัวเรี่ยวแรงดี ก็ข้ามคันหินธรรมชาติที่กั้นเป็นขอบแอ่งน้ำขึ้นไปได้ แต่บางตัวหมดกำลังเสียก่อน ก็นอนดิ้นกระเสือกกระสนหายใจพะงาบ ๆ อยู่บนคันหินนั้น หลวงพ่อสังเกตเห็น ก็ได้ช่วยจับมันปล่อยลงไปในแอ่งน้ำอยู่บ่อย ๆ

     เช้าวันหนึ่งก่อนออกบิณฑบาต หลวงพ่อได้เดินไปดูปลาที่คันหินเช่นทุกเช้า พบว่าเช้าวันนั้นมีคนเอาเบ็ดตกมาตกปลาไว้ตามริมแอ่งน้ำเป็นระนาว เห็นมีปลาติดเบ็ดอยู่ ท่านก็ช่วยมันไม่ได้เพราะเบ็ดมีเจ้าของ ได้แต่มองด้วยความสลดใจ รำพึงว่า “เพราะปลากินเหยื่อเข้าไป เหยื่อนั้นมีเบ็ดด้วยปลาจึงติดเบ็ด เห็นปลาติดเบ็ดแล้วก็สงสาร เพราะความหิวแท้ ๆ ปลาจึงกินเหยื่อที่เขาล่อเอาไว้ ดิ้นเท่าไร ๆ ก็ไม่หลุด เป็นกรรมของปลาเองที่ไม่พิจารณา คนเราก็เช่นเดียวกัน หากกินอาหารมูมมามไม่เลือกพิจารณา ย่อมเป็นเหมือนปลาหลงกินเหยื่อแล้วติดเบ็ด เป็นอันตรายแก่ตนเองได้ง่าย ๆ”

     หลังจากไปบิณฑบาตกลับมาเช้าวันนั้น หลวงพ่อได้พบว่า ชาวบ้านได้เอาอาหารพิเศษมาถวาย คือ ต้มปลาตัวโต ๆ ทั้งนั้น ทำให้หลวงพ่อนึกรู้ได้ทันทีว่า ต้องเป็นปลาติดเบ็ดที่ท่านเห็นเมื่อรุ่งเช้านั้นแน่ ๆ บางทีอาจเป็นปลาที่ได้เคยช่วยชีวิตเอามันปล่อยลงน้ำมาแล้วก็ได้ ความรู้สึกรังเกียจไม่อยากฉันทันที เมื่อโยมถวายจึงเพียงแต่รับไว้ตรงหน้าแต่ไม่ยอมฉัน ถึงแม้อาหารไม่ค่อยมี มีแต่ปลาร้าแจ่วบองกับผัก อด ๆ อยาก ๆ ก็ตาม แต่ท่านก็ไม่ยอมฉันต้มปลาของชาวบ้าน เพราะกลัวว่าถ้าฉันไปแล้วโยมอาจดีใจถือว่าคงได้บุญใหญ่ จะไปตกเบ็ดเอาปลาในแอ่งมาต้มแกงถวายอีกในวันต่อ ๆ ไป ในที่สุดปลาก็คงหมดแอ่ง หลวงพ่อจึงหยิบถ้วยต้มปลาส่งให้พระทองดีซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ พระทองดีสังเกตเห็นหลวงพ่อไม่ฉัน ก็ไม่ยอมฉันเหมือนกัน ชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงถามขึ้นมา

“ท่านอาจารย์ บ่ฉันต้มปลาบ้อ ขะหน่อย?”
(ท่านอาจารย์ไม่ฉันต้มหรือครับ?)
“บ่ดอก ซิโตนมัน” หลวงพ่อตอบ
(ไม่หรอก สงสารมัน)
โยมคนนั้นถึงกับอึ้งไปชั่วครู่ แล้วจึงรำพึงว่า
“ถ้าแมนผม คือสิอดบ่ได้ดอก”
(ถ้าเป็นผม คงจะอดไม่ได้หรอก)


นับตั้งแต่นั้น ชาวบ้านก็ไม่มารบกวนปลาในแอ่งน้ำนั้นเลย และพวกเขายังถือกันว่ามันเป็นปลาของวัดที่ควรช่วยกันรักษาอีกด้วย

ปี พ.ศ.๒๔๙๖ (พรรษาที่ ๑๕) หลวงพ่อกับลูกศิษย์ยังคงพำนักอยู่ที่บ้านป่าตาวต่อเป็นปีที่สอง แต่ในพรรษาหลวงพ่อได้ปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังบนภูกอย ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำหินแตกประมาณ ๓ กิโลเมตร และได้มอบหมายให้พระอาจารย์อวน ปคุโณ เป็นผู้ดูแลภิกษุสามเณรในที่พักสงฆ์ถ้ำหินแตกแทนชั่วคราว ตอนเช้าหลวงพ่อออกบิณฑบาตแล้วกลับมาฉันภัตตาหารร่วมกับภิกษุสามเณร ฉันเสร็จก็กลับขึ้นไปบำเพ็ญธรรมที่ภูกอยตามเดิม

     สำหรับกติกาที่ท่านได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ภิกษุสามเณรทุกรูปที่จำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ถ้ำหินแตก ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดพรรษาก็คือ ไม่ให้จำวัด (นอน) ในเวลากลางคืน ให้ทำความเพียร เป็นต้นว่า เดินจงกรม นั่งสมาธิ สลับกันไปจนตลอดคืน พอสว่างได้เวลาก็ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ระยะทางบิณฑบาตบางหมู่บ้านก็ ๓ กิโลเมตร บางหมู่บ้านก็ ๕-๖ กิโลเมตร กว่าจะกลับมาฉันก็เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ฉันเสร็จล้างบาตรกลับกุฏิเวลา ๑๐.๐๐ น. กลับถึงกุฏิทำความเพียร ได้เวลาพอสมควรจึงพักผ่อนจำวัด จนถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. ตีระฆังเป็นสัญญาณให้ลุกขึ้นกวาดลานวัดหรือกระทำกิจอื่น ๆ ถ้าหากมี เวลา ๑๘.๐๐ น. ให้เสียงสัญญาณระฆัง ทำวัตรเย็น หลังจากนั้นก็ทำคามเพียรต่อไปจนตลอดคืน ๒ เดือนแรก ให้ภิกษุสามเณรทุกรูปถือปฏิบัติตามอัธยาศัย แล้วแต่ใครจะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมกี่ชั่วโมงก็ได้สลับกันไปเรื่อย ๆ พอเดือนสุดท้ายให้ทำอย่างเดียวก็คือ คืนไหนใครอยากจะเดินจงกรมตลอดคืนจนสว่างก็ได้ หรือจะนั่งสมาธิอย่างเดียวจนสว่างก็ได้ ไม่ให้สลับกัน ภายในคืนนั้น ส่วนหลวงพ่อท่านก็เร่งปฏิบัติของท่านอย่างหนักเช่นเดียวกัน เมื่อถึงันอุโบสถท่านจึงจะให้โอวาทแก่ภิกษุสามเณรและญาติโยมครั้งหนึ่ง วันธรรมดาก็ให้ทุกคนถือปฏิบัติตามระเบียบข้อกติกาที่ได้ตกลงกันไว้ทุกประการ ตลอดพรรษา

ในระหว่างที่พำนักอยู่โดดเดี่ยวบนภูกอย หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคเหงือกบวมทั้งข้างบนข้างล่างเจ็บปดทุกข์เหลือจะพรรณนา ได้รักษาด้วยอำนาจตบะธรรม มีขันติความอดทนเป็นที่ตั้งทำจิตให้สงบ แล้วพิจารณาว่าความจริง เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ หลวงพ่ออดทนอดกลั้น ฝึกให้รู้เท่าทันสภาวธรรมที่ปรากฏ สู้ด้วยอำนาจสมาธิและปัญญา จนแยกโรคปวดฟันซึ่งเป็นอาการทางกายให้ขาดออกจากใจ ไม่ยอมให้ใจป่วยพร้อมกับกายด้วยเป็นโรค ๒ ชั้น โรคปวดฟันได้ทรมานสังขารของหลวงพ่อ ๗ วัน จึงได้หายไปด้วยอำนาจธรรมโอสถ

     พอออกพรรษาหลวงพ่อลงมมาพักที่วัดถ้ำหินแตก แล้วให้พระเณรแยกย้ายกันไปภาวนาในป่าตามลำพัง กำหนดให้ ๗ วันมารวมกันที่ลานหินแตกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อพาลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น จนกระทั่งถึงปลายเดือน ๓ ของปี พ.ศ.๒๔๙๗ โยมแม่พิมพ์ (โยมมารดาของหลวงพ่อ) พร้อมกับผู้ใหญ่ลา (พี่ชาย) และญาติมิตรชาวบ้านก่ออีก ๕ คน ได้เดินทางมานิมนต์หลวงพ่อ ให้กลับไปโปรดญาติโยมทางบ้านก่อบ้าง

     หลวงพ่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้วที่จะได้ให้ธรรมานุเคราะห์แก่ผู้มีพระคุณ จึงรับนิมนต์ และให้โยมแม่พิมพ์กับญาติมิตรขึ้นรถกลับไปก่อน จากนั้นหลวงพ่อได้เรียกลูกศิษย์มาประชุมกัน แล้วมอบให้พระเที่ยง พระทองดีกับพระเณรบางส่วน อยู่ดูแลสำนัก (ต่อมาพระเที่ยงได้ติดตามไปอยู่กับหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง ส่วนพระทองดีไปเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ) เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อกับพระภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่ง ก็อำลาชาวบ้านป่าตาว ออกเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ

view