สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

อุปลมณี ตอนที่ 3 (พบหลวงปู่มั่น - ธรรมะจากเด็กพิการ)


พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


          ในระหว่างจำพรรษาอยู่ที่เขาวงกตนั้น หลวงพ่อได้ยินเรื่องราวของ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ผู้มีคุณธรรมสูง ชำนาญด้านวิปัสสนาธุระ มีประชาชนเคารพ

เลื่อมใสมาก และเล่าลือกันว่าเป็นพระอรหันต์ ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยโยมอินทร์มรรคทายกวัดเขาวงกต

เล่าให้ฟังและแนะนำให้ไปนมัสการ เพราะเคยอยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่มั่นมาแล้ว และซาบซึ้งในปฏิปทาของท่านเป็นอันมาก เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อพิจารณา

เห็นว่า พระถวัลย์กำลังสนใจในการท่องบ่นตำรับตำรา ควรอนุญาตให้ท่านลงไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จึงได้ตกลงแยกทางกับเพื่อนสหธรรมิกซึ่งได้ติดตามมาจาก

วัดบ้านก่อ ส่วนตัวหลวงพ่อจะเดินธุดงค์ไปนมัสการหลวงปู่มั่น ในการเดินธุดงค์ครั้งนี้มีพระไปด้วยกัน ๔ รูป ซึ่งรวมทั้ง พระชาวภาคกลาง ๒ รูป พากันเดินทางย้อน

กลับมาที่จังหวัด อุบลราชธานี พักที่วัดก่อนอกชั่วคราว แล้วจึงเดินทางต่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดสกลนคร


          คืนที่สิบคณะธุดงค์เดินทางถึงพระธาตุพนม นมันการพระธาตุและพักที่นั่น ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม แวะนมันการพระอาจารย์

สอนที่ภูค้อเพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของท่าน พักอยู่ที่นั่น ๒ คืนจึงเดินทางต่อไป แต่ได้แยกทางกันเป็น ๒ พวก เพราะตัวท่านเองตั้งใจว่า ก่อนไปถึงสำนักหลวงปู่มั่น

ควรแวะสนทนาธรรมและศึกษาข้อปฏิบัติจากพระอาจารย์องค์อื่น ๆ ไปด้วยในระหว่างทาง เพื่อจะได้เทียบเคียงกันดู


          จากภูค้อคณะที่ไปด้วยกันได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อยมาก สามเณร ๑ รูปกับอุบาสก ๒ คน เห็นว่าตัวเองคงไปไม่ไหวจึงลากลับบ้านเดิม แต่หลวงพ่อกับ

พระอีก ๒ รูป เดินทางต่อไป โดยไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจ และในที่สุดคณะของท่านก็ได้เดินทางถึงสำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วัดหนองผือนาใน อำเภอ

พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร


          พอย่างเข้าสำนัก หลวงพ่อรู้สึกประทับใจทันทีในบรรยากาศอันสงบวิเวกและร่มรื่นด้วยหมู่แมกไม้ ธรรมชาติ ได้เห็นลานวัดสะอาดสะอ้าน เห็นกิริยามารยาท

ของพระภิกษุสามเณรเป็นที่น่าเลื่อมใส จึงเกิดความพอใจมากกว่าสำนักใด ๆ ที่เคยสัมผัสมา พอถึงตอนเย็น ได้เข้ากราบนมัสการหลวงปู่พร้อมด้วยศิษย์ของท่าน

เพื่อฟังธรรมร่วมกัน หลวงปู่มั่นได้ซักถามเรื่องราวต่าง ๆ เช่น อายุพรรษา และสำนักที่เคยปฏิบัติมาแล้ว เมื่อหลวงพ่อกราบเรียนว่า มาจากสำนักพระอาจารย์เภา

วัดเขาวงกต จังหวัดลพบุรี พร้อมกับเอาจดหมายของโยมอินทร์ที่ฝากถวายหลวงปู่มั่น ท่านก็ปรารภว่า “ท่านเภาก็เป็น พระแท้ องค์หนึ่งในประเทศไทย”


          ต่อจากนั้นท่านก็ให้โอวาท ปรารภถึงเรื่องนิกายทั้งสองคือ ธรรมยุติและมหานิกายซึ่งเป็นเรื่องที่ติดข้องอยู่ในใจของหลวงพ่อมาก่อนหน้า นั้นแล้ว โดยหลวง

ปู่มั่นได้ชี้แจงว่า การประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าถือพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่หลวงพ่อจะต้องญัตติเข้าธรรมยุติ

นิกายตามครูบา อาจารย์ เช่น ที่ลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่มั่นนิยมทำกัน อีกประการหนึ่ง ทางมหานิกายก็จำเป็นต้องมีพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นเดียวกัน หลวงปู่มั่น

ได้ให้เหตุผลกับหลวงพ่อเช่นนี้


          ต่อไปท่านก็ได้พูดถึงเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ฟังจนเป็นที่พอใจและหายสงสัย และได้อธิบายเรื่อง พละ ๕ อิทธิบาท ๔ ให้ฟังอีกด้วย ศิษย์ทุกคนต่างก็ตั้ง

อกตั้งใจฟังด้วยความสนใจมีอาการอันสงบเสงี่ยม หลวงพ่อได้เล่าว่า ทั้ง ๆ ที่ท่านเดินทางมาด้วยความเหน็ดเหสื่อยตลอดทั้งวัน พอได้ฟังโอวาทหลวงปู่มั่นแล้ว รู้สึก

ว่าความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้หายไปจนหมดสิ้น จิตหยั่งลงสู่สมาธิด้วยอาการสงบ มีความรู้สึกว่าตัวลอยอยู่บนอาสนะ นั่งฟังอยู่จนกระทั่งเที่ยงคืนจึงเลิกประชุม


          คืนที่สอง หลวงปู่มั่นได้แสดงปกิณธรรมต่าง ๆ ให้ฟัง จนหลวงพ่อหมดสงสัยในหนทางประพฤติปฏิบัติ มีความปลาบปลื้มปีติในธรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ได้กำลังใจและความอาจหาญที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้ คำสอนที่ท่านหลวงปู่มั่นเน้นที่สุดในครั้งนั้นก็คือ สกฺขีภูโต คือ การเอาตัวเป็นพยานของตัว และอีก

เรื่องหนึ่งที่ประทับใจท่านมากคือ ความแตกต่างระหว่างตัวจิตและอาการต่าง ๆ ของจิต


          “พูดถึงอาการทั้งหลาย เหล่านี้ ท่านอาจารย์มั่นท่านบอกว่า เป็นอาการ เราไม่รู้อาการทั้งหลายก็นึกว่าเป็นความจริงทั้งหมด นึกว่าจิตเราทั้ง

หมด แต่มันเป็นอาการทั้งนั้นน่ะ พอท่านบอกว่าเป็นอาการ เราสว่างเลยทีเดียว อย่างความดีใจอย่างนี้มันก็มีอยู่ในใจ แต่ว่ามันเป็นอาการ มันคนละ

อย่างคนละชั้นกันอยู่กับตัวจิต ถ้าความเป็นจริงรู้แล้ว มันก็เลิก มันก็วาง เป็นสมมุติแล้วมันก็เป็นวิมุตติ มันเป็นอยู่อย่างนี้ คนบางคนก็เอามารวมทั้ง

หมดเป็นตัวจิตเสีย ความเป็นจริงมันเป็น อาการกับผู้รู้ ติดต่อกันอยู่ ถ้าเรารู้จักอันนี้แล้ว ก็เรียกว่ามันไม่มีอะไรมาก”


          ในวันที่สาม หลวงพ่อได้กราบลาหลวงปู่มั่น แล้วเดินธุดงค์ลงมาทางอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม หลวงพ่อเล่าถึงบรรยากาศที่ได้สัมผัสกับ

หลวงปู่มั่นที่สำนักป่าหนองผือนาใน แก่พระเณรในเวลาต่อมาว่า


          “...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวา

อารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็สะอาดมาก พระเณรตั้ง ๕๐-๖๐ เงียบ! ขนาดจะถากแก่นขนุนซักผ้าก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้นไกล ๆ โน้น! เพราะ

กลัวจะก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรมของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียงอะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้น

แหละ ประมาณ ๑ ทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอสมควร ประมาณ ๔ ทุ่ม หรือ ๕ ทุ่มก็กลับกุฏิ เอาธรรมะที่ได้ฟังไปวิจัยไปพิจารณา

เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่ มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ! บางครั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน เพื่อน

เขาเดินจงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใคร ท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดินไม่หยุดไม่พักนั่นเพราะจิตใจมันมีกำลัง...”


          หลังจากออกจากสำนักหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงพ่อกับคณะก็เดินธุดงค์รอนแรม พักภาวนาตามป่าเขามาเรื่อย ๆ ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ที่

ใดก็ตาม มีความรู้สึกราวกับว่าหลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา หลาย ๆ คนเคยคิดสงสัยว่า เพราะเหตุใดหลวงพ่อจึงพักอยู่ที่สำนักหลวงปู่มั่น

เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่อยู่ในขณะเสาะแสวงหาครูอาจารย์ หลวงพ่อเคยให้คำตอบเปรียบเทียบทำนองนี้ว่า “คนตาดี พบดวงไฟก็มองเห็นแสงสว่าง ส่วนคน

ตาบอด ถึงจะนั่งเฝ้าดวงไฟก็ไม่เห็นอะไร”


          อย่างไรก็ตาม หลังจากกราบนมัสการหลวงปู่มั่นแล้ว ศรัทธาของหลวงพ่อแกร่งกล้าขึ้น พร้อมที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความเพียร เพราะแนวทาง

ปฏิบัติที่ต้องดำเนินก็ชัดเจนแล้ว เมื่อถึงอำเภอนาแก พระบุญมีได้แยกทางกับคณะธุดงค์ เหลือแต่หลวงพ่อ พระเลื่อมและปะขาวแก้ว


ผจญฝูงหมาป่า


          วันนหนึ่งหลวงพ่อและคณะได้เดินทางมาถึงป่าชาย เขาแห่งหนึ่ง เวลานั้นใกล้จะมืดเต็มทีแล้วก็เลยหาที่ปักกลด เวลาล่วงไปประมาณสามทุ่มเศษ ๆ ไม่ได้

หมาป่าฝูงหนึ่งวิ่งผ่านมา เมื่อพวกมันเหลือบมาเห็นท่านเข้า ต่างก็วิ่งกรูกันเข้ามาจะทำอันตราย หลวงพ่อรู้สึกตกใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยเอาผ้ามุ้งกลดลง ตั้งสติ

กำหนดจิต อธิฐานว่า


          “ข้า มาที่นี่ไม่ได้มาเพื่อเบียดเบียนใคร มาเพื่อต้องการบำเพ็ญคุณความดี มุ่งต่อความพ้นทุกข์ ถ้าหากว่าเราเคยได้กระทำกรรมต่อกันมา ก็ขอ

ให้กัดข้าให้ตายไปเสียเถิด เพื่อเป็นการชดใช้หนี้กรรมเก่า แต่ถ้าไม่เคยมีเวรมีภัยต่อกันแล้ว ก็ขอให้หลีกไป”


          นั่งหลับตาภาวนาปลงสังขาร ยอมสละชีวิต หมาป่าเหล่านั้นก็วิ่งวนไปวนมาอ้อมกลดอยู่ทั้งเห่าทั้งขู่คำราม ทำท่าจะบุกเข้ามาในกลด จิตเกิดความรู้สึกกลัวมาก

นั่งไปได้สักพักหนึ่ง ก็ปรากฏเห็นหลวงปู่มั่น ฉายไฟแวบ ๆ มา พอมาถึงท่าน ก็ตวาดขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า


          “ไป๊! พวกสูจะมาทำอะไรเขาอยู่ที่นี่เล่า” ท่านเงื้อท่อนไม้ขึ้นคล้ายจะตี หมาป่าเหล่านั้นก็แตกตื่นวิ่งหนีไป หลวงพ่อคิดว่าท่านหลวงปู่มั่นมาช่วยจริง ๆ ก็เลย

ลืมตาขึ้น ก็ไม่เห็นอะไรฝูงหมาป่าก็หายไปด้วย ไม่มีเหลืออยู่เลยแม้แต่ตัวเดียว


อยู่ป่าช้าครั้งแรก



          รุ่งเช้าหลวงพ่อกับคณะเดินทางถึงวัดโปร่งคลอง ซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์คำดี ได้ขอเข้าพำนักบำเพ็ญภาวนาด้วย ขณะนั้นเป็นฤดูแล้งพื้นดินแห้ง เหมาะ

แก่การพักตามโคนไม้ พระบางรูปในสำนักจึงไปอยู่ป่าช้า เพื่อหาความวิเวก หลวงพ่อเกิดความสนใจ อยากจะไปทดลองดู เพราะไม่ลองก็คงไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร และ

จะมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติอย่างใดบ้าง แต่ขณะเดียวกันอีกใจหนึ่งก็ไม่ยอมไป ความกลัวผียังฝังอยู่ในจิต แต่ในที่สุดท่านก็บังคับตัวเองให้ไปจนได้


          “ตอนบ่าย ๆ กลัวมากไม่อยากจะไป จะทำยังไงก็ไม่ได้ บอกให้ไปมันก็ไม่ไป ชวนเอาตาปะขาวแก้วไปด้วย ไปให้มันตายเสีย ถ้าหากจะถึงที่ตาย

ก็ให้มันตายเสีย มันลำบากนัก โง่นักก็ให้มันตายเสีย พูดอยู่ในใจอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่ใจก็ไม่อยากจะไปนั่นแหละ แต่ก็บังคับมัน จะรอให้พร้อมหมดทุกอย่าง

นั้น มันไม่พร้อมหรอก ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ได้ทรมานมัน ต้องพามันไป โอ๊ย! พอไปถึงป่าช้าแล้วไม่เคยเลย ในชีวิตไม่เคยอยู่ป่าช้า ตาปะขาวจะมาอยู่ใกล้

ๆ ไม่ยอมให้อยู่ ให้หนีไปอยู่นู้นไกล ๆ โน่น ความจริงแล้วก็อยากให้เขามาอยู่ใกล้ ๆ เหมือนกัน แต่ก็กลัวจิตจะไปยึด คิดว่ามีเพื่อนอยู่ใกล้ ๆ มันจะไม่

กลัวก็เลยไม่เอา ให้หนีไปไกล ๆ เดี๋ยวตัวเองจไปคิดอาศัยเขา กลัวนักก็ให้มันตายเสีย คืนนี้ มันจะเป็นยังไง ทั้งกลัว ทั้งทำนะ ไม่ใช่ว่าไม่กลัว แต่ก็กล้า

อย่างมากก็ถึงที่ตายเท่านั้นแหละ


          พลบค่ำลงสักนิด ก็พอดีเลย โชคดี เขาหามศพโตงเตง ๆ มาที่นี่ ฮือ! ทำไมถึงเหมาะกันอย่างนี้ โอ๊ย! เดินไปก็แทบจะไม่รู้สึกว่าเท้าแตะพื้นดินเลย

ทีนี้ หนี! เขานิมนต์ให้ไปมาติกา ไม่ไปมาติกาให้ใครทั้งนั้นแหละ หนี! ไปได้สักพักหนึ่งก็กลับมา เขาก็ยิ่งเอาศพมาฝังไว้ใกล้ ๆ ที่ปักกลด ไม้ไผ่ที่หามศพ

เขาเอามาสับฟากทำเป็นแคร่ให้นั่ง ฮือ! จะทำยังดีละทีนี้ หมู่บ้านกับป่าช้าก็ห่างกันประมาณ ๒-๓ กิโลโน่นแหละ มีแต่ตายเท่านั้นแหละ ทีนี้จะทำยังไง ก็

ยอมตายเท่านั้นแหละ ตาปะขาจะเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ ก็ไล่ให้ไป ให้มันตายเสีย ทำไมมันกลัวเอานักหนา ทีนี้จะได้สนุกันแหละ ไม่กล้าทำก็ไม่รู้จักหรอกว่า

เป็นอย่างไร โอ๊ย! ช่างมีรสมีชาติจริง ๆ เดินก็แทบจะไม่รู้สึกว่าเท้าแตะดิน มืดลง ๆ จะไปที่ไหนล่ะทีนี้ อยู่กลางป่าช้าโน่น เอ้า! ให้มึงตาย มึงเกิดมาตาย

มิใช่หรือ ต่อสู้กันอยู่อย่างนั้นแหละ


          พอตะวันลับของฟ้าไป ความรู้สึกก็บอกให้เข้าไปอยู่ในกลด เดินก็ก้าวขาไม่ออก ความรู้สึกก็เร้าให้เข้าไปอยู่ในกลด เดินจงกรมอยู่ด้านหน้ากลด

ที่ปักไว้ ตรงกันข้ามกับที่ฝังศพ ตอนเดินหันหน้าไปทางที่ปักกลดไว้ ค่อยยังชั่ว แต่พอหันหลังกลับ เดินไปไม่รู้เป็นยังไง เหมือนกับมีอะไรมาดึงทางด้าน

หลัง เย็นวูบ ๆ วาบ ๆ อย่างนี้แหละฝึกหัด กลัวมากเดินไม่ได้ก้าวขาไม่ออกก็หยุด หายแล้วก็เดินต่อไป เมื่อมืดลงพอสมควรก็เข้าไปอยู่ในกลด รู้สึกโล่ง

อกไปเป็นกอง สบายใจเหมือนกับอยู่ภายในกำแพง ๗ ชั้น เห็นบาตรตัวเองใบเดียว ก็เป็นเหมือนกับเพื่อน จิตมันไม่มีที่พึ่ง เลยไปพึ่งบาตร นี่แหละเราจะ

ได้ดูจิตของเรา นั่งอยู่ในกลด เฝ้าสังเกตดูผีหลอกอยู่ตลอดคืสจนสว่าง ไม่ได้นอนแม้แต่สักนิดเลย มันกลัว ทั้งกลัวทั้งกล้าฝึกกล้าทำ นั่งจ้องอยู่ตลอด

คืน ไม่ง่วงนอนเลย ความง่วงมันก็กลัวผีหลอกเหมือนกัน นั่งอยู่ตลอดคืนอย่างนั้นแหละ ใครล่ะจะกล้าทำ เรื่องของการปฏิบัตินี้ ถ้าจะเอาตามใจของตัว

เองแล้วใครล่ะจะทำ มันกลัวถึงขนาดนี้น่ะ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเราไม่ทำ มันไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่ได้ปฏิบัติ นี่แหละเราได้ปฏิบัติ


          พอรุ่งเช้าขึ้นมา โอ๊ย! รู้สึกดีใจมาก ไม่ตายแล้วเราทีนี้ รู้สึกสบายใจจริง ๆ อยากให้มีแต่กลางวันทั้งหมดไม่อยากให้มีกลางคืน ความรู้สึกภายใน

ใจอยากฆ่ากลางคืนทิ้ง อยากให้มีแต่กลางวัน สบายใจ ฮือ! ไม่ตายแล้วเราครั้งนี้ ตอนกลางวันก็ได้พักบ้างนิดหน่อย ใจดีไปได้ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์

คิดว่าไม่มีอะไร มีแต่ความกลัวเฉย ๆ คืนที่สองคิดว่าคงจะได้ภาวนาสบายเพราะมันผ่านมาแล้ว คืนนี้ก็ไม่เห็นมีอะไร


          ได้ทดลองกระทั่งสุนัข ไปบิณฑบาตคนเดียว สุนัขวิ่งตามหลังมันจะกัด เอ้า! ไม่ไล่มันแหละให้มันกัดเสีย มีแต่เรื่องจะตายทั้งนั้นแหละ มันงับแล้ว

งับอีก โดนมั่งไม่โดนมั่ง รู้สึกแปลบ ๆ ปลาบ ๆ บางทีก็นึกว่าปลีแข้งขาดไปอย่างนั้นแหละ แม่ออกชาวภูไทก็ไม่ช่วยจับสุนัข เพราะคิดว่าผีไปกับพระมัน

จึงเห่าและไล่กัดผี ก็เลยปล่อย ไม่ไล่มันแหละ ให้มันกัดเสีย เมื่อคืนก็กลัวจนเกือบจะตายอยู่แล้ พอตอนเช้าสุนัขก็ยังจะมาไล่กัดอีก ก็ให้มันกัดเสีย ถ้า

แต่ก่อนเราเคยได้กัดมัน แต่มันก็งับผิดงับถูกไปอย่างนั้นเอง นี้แหละเราฝึกหัดตัวของเรา


          บิณฑบาตได้มาก็ฉัน พอฉันจังหันเสร็จก็ดีใจ แดดออกมาบ้างรู้สึกอบอุ่น ได้พักผ่อนพอสมควรแล้วก็เดินจงกรม ตอนเย็นก็คงจะภาวนาดีแหละที

นี้ ได้ทดลองมาแล้วคืนหนึ่ง คงจะไม่เป็นอะไร


          พอตกตอนบ่าย ๆ เอาอีกแล้ว หามมาอีกแล้ว ตอนนี้เป็นผู้ใหญ่เสียด้วยี ทีนี้ยิ่งหนักเข้าไปอีก เอามาเผาอยู่ใกล้ ๆ ข้างหน้าที่ปักกลดเสียด้วยซ้ำที

นี้ โอย! ยิ่งร้ายกว่าเมื่อคืนวานนี้เสียอีก ดีเหมือนกันเขามาเผาเขาช่วยกัน แต่เขาให้ไปพิจารณาศพไม่ไป พอเขากลับหมดแล้วจึงไป โอ๊ย! เขากลับไป

หมดแล้ว เผาผีให้เราดูอยู่คนเดียว ไม่รู้จะทำยังไงละ โอย! ไม่รู้จะเอาอะไรมาเปรียบมาเทียบให้ฟังได้ เรื่องความกลัวนี่ ยิ่งกลางคืนด้วยสิ ไฟที่กองฟอน

เผาศพเขียว ๆ แดง ๆ พึ่บพั่บ ๆลุกบ้างไม่ลุกบ้าง จะเดินจงกรมไปข้างหน้าด้านกองฟอนก็ไปไม่ได้ พอมืดสนิท ก็เข้าไปในกลดเหมือนเดิม อยู่ในป่าช้า

รก ๆ เหม็นกลิ่นควันไฟเผาศพทั้งคืนเลย ยิ่งร้ายกว่าเมื่อวานนี้อีก ไฟลุกพรึบ ๆ พรึบ ๆ นั่งหันหลังให้กับกองไฟจนลืมนอนไม่รู้จักว่าจะนอนยังไง และก็

ไม่เคยคิดเลย่าจะนอนมันตื่นเต้นตาในอยู่ตลอดคืน มันกลัว กลัวก็ไม่รู้จะไปอาศัยใคร มีแต่เราคนเดียวเท่านั้น ก็ต้องอาศัยเราเท่านั้นแหละ ไม่มีที่ไป คิด

จะไปที่ไหนก็ไม่มีที่จะไป เพราะกลางคืนมันมืดอย่างสนิท ก็นั่งตายอยู่ตรงนั้นแหละ จะไปที่ไหนล่ะ ถ้าพูดถึงใจ ถามมันดูว่า มันอยากจะมาทำอย่างนี้

ไหม โอย! ถ้าไปทำตามมัน มันจะอยากไปทำไม แล้วใครล่ะเคยคิดอยากจะมาทรมานตัวเองอย่างนี้ ถ้าไม่เชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในด้าน

ผลของการประพฤติปฏิบัติ



          นั่งหันหลังให้กองไฟ จะบังเอิญอะไรไม่รู้ ตอนนั้นดึกประมาณ ๔ ทุ่ม มีเสียงอยู่ข้างหลังในกองไฟดังทึ่งทั่ง ๆ สงสัยว่าศพกลิ้งตกลงมานอกกอง

ฟอน สุนัขจิ้งจอกมาแย่งกันกัดกินซากศพหรือยังไงหนอ แต่ก็ไม่ใช่ นั่งฟังอยู่ ฟังไปอีกคล้าย ๆ เสียงดังครืดคราด ๆ อยู่อย่างนั้นเอ้า ! ช่างหัวมันเถอะ

อีกสักครูก็เดินเข้ามาหา เหมือนเสียงคนเดิมเข้ามาทางด้านหลัง เดินหนัก ๆ เหมือนควายแต่ไม่ใช่ ตอนนั้นประมาณเดือนสาม ใบไม้กำลังร่วง บริเวณ

นั้น ใบกุงร่วงกองกันอยู่เกลื่อนกล่นฟังดูได้ยินเสียงเหยียบใบกุงใบใหญ่ เสียงหนัก ๆ ดับโคบ ๆ


          บริเวณข้างที่ปักกลดมีจอมปลวกอยู่ลูกหนึ่ง ได้ยินเสียงเดินอ้อมจอมปลวกเข้ามาหา ก็เลยนึกว่า มันจะเข้ามาทำอะไรก็สุดแล้วแต่ เพราะเรายอม

ตายแล้วนี่ จะคิดหนีไปไหน แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่เข้ามา เดินโครม ๆ ออกไปข้างหน้าโน้น ตรงไปหาตาปะขาวแก้วโน่น จนเงียบเสียงเพราะอยู่ไกลกัน

ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นอะไร เพราะมีแต่ความกลัว จึงทำให้คิดไปหลายอย่าง



          นานประมาณครึ่งชั่วโมงเห็นจะได้ ได้ยินเสียงเดินกลับมาอีกแล้ว เดินกลับมาจากตาปะขาวแก้ว เหมือนเสียงคนจริง ๆ เดินตรงเข้ามาเหมือนจะ

เดินเข้ามาเหยียบพระเข้าอย่างนั้นแหละ จะนั่งหลับตาอยู่อย่างนี้แหละ จะไม่ยอมลืมดูมันละ จะตายก็ให้มันตายอยู่อย่างนี้แหละ พอเดินมาถึงก็หยุด

กึ๊ก! ยืนยิ่งเงียบอยู่ข้างหน้ากลด รู้สึกเหมือนกับว่า มันเอามือที่ถูกไฟไหม้มาคว้าไปคว้ามาอยู่ตรงหน้าอย่างนั้นแหละ โอ๊ย! ตายคราวนี้แหละ แข็งกระ

ด้างไปหมดทั้งตัว ลืมพุทโธ ธัมโม สังโฆ หมดทุกสิ่งทุกอย่าง มีแต่ความกลัวอย่างเดียวเต็มตื้นอยู่ในความรู้สึกอัดแน่นตรึงอยู่เหมือนกลอง คิดไปไหน

ก็ไม่ไป มีแต่ความกลัว คิดไป คิดไปถึงครั้งวันเกิดมาไม่เคยมีเลยที่จะกลัวเอามากมายถึงขนาดนี้ ไม่รู้จักพุทโธ ธัมโม สังโฆอะไรเลย แน่นตรึงเหมือน

กลองเพล เอ้า! มึงอยู่อย่างนี้ กูก็จะอยู่อย่างนี้ ความคิดมันไม่ออกไม่เข้า ไม่รู้ว่าที่นั่งนี่ นั่งอยู่บนอาสนะหรือลอยอยู่บนอาสนะก็ไม่รู้เหมือนกัน มีแต่

กำหนดผู้รู้ไว้อย่างเดียวเท่านั้น


          มันกลัวมาก ๆ ก็คงเหมือนกับเราตักน้ำใส่ตุ่ม ตักใส่มาก ๆ มันเลยล้นปากตุ่มออกมา คงจะเป็นอย่างนั้น มันกลัวมาก กลัวมาก ๆ ก็เลยออกมา

เลยถามตัวเองว่า ที่มึงกลัว ๆ นี่มึงกลัวอะไร ทำไมถึงกลัวเอานักหนา ไม่ได้พูดดอก ใจมันพูดของมันเอง ก็มีคำตอบสวนขึ้นมาว่า กลัวตาย มันว่า

อย่างนั้น ก็เลยถามต่อไปอีกว่า ตายมันอยู่ที่ไหน ทำไมถึงกลัวเกินชาวบ้านชาวเมืองเขาเอานักหนา ถามหาความตาย ถามไปถามมา ได้คำตอบว่า

ตายมันอยู่กับเรา เมื่อมันอยู่กับเราแล้วจะหนีไปที่ไหนจึงจะพ้น จะวิ่งหนี มันก็วิ่งไปด้วย จะนั่งอยู่ มันก็นั่งอยู่ด้วย ลุกขึ้นเดินหนี มันก็เดินไปด้วย เพราะ

ความตายมันอยู่กับเรา มันไม่มีที่จะไปดอก ความตายนี้ ถึงกลัวไม่กลัมันก็ต้องตายเพราะความตายอยู่ที่เรานี้เอง หนีมันไม่ได้ดอก พูดตัดบทขึ้นมา

อย่างนี้


          เมื่อคำถามและคำตอบจบลง อาการความรู้สึกที่เป็นสัญญาแบบเก่า ๆ พลิกขึ้นมา เปลี่ยนขึ้นมาใหม่ ความกลัวที่มีอยู่มาก ๆ หายออกไป เหมือน

หน้ามือกับหลังมือ เมื่อเราพลิกกลับ รู้สึกอัศจรรย์มาก ที่ความกลัวมาก ๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวขึ้นมาแทนที่แห่งเดียวกันนี้ โอ๊ย! ใจของเราทีนี้สูง

ขึ้นจดฟ้านู้นแหละ เมื่อชนะความกลัวนั้นแล้ว ฝนก็เทลงมา ฝนโบกขรพรรษหรือยังไงก็ไม่ทราบ ทั้งเสียงฟ้าเสียงลมเสียงฝน ดังสนั่นหวั่นไหว จนไม่รู้

จักกลัวตาย ต้นไม้ล้มลงมาก็ไม่ได้สนใจ ฝนลงหนักมาก ผ้าผ่อนเปียกหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนตัวเราก็นั่งนิ่งอยู่อย่างนั้น ต่อมาก็ร้องไห้ มันร้องไห้เอง

ของมัน น้ำตาไหลพรั่งพรูลงมาอาบแก้ม ก่อนจะร้องไห้ ก็เพราะคิดไปว่าเราเปรียบเสมือนลูกไม่มีพ่อมีแม่แท้ ๆ มานั่งตากฝนอยู่จนตัวสั่นเหมือนคนไม่มี

อะไร คิดต่อไปอีกว่า คนที่เขานอนอยู่บ้านอยู่เรือนดี ๆ คืนนี้เขาคงไม่คิดเลยว่า พระนั่งตากฝนอยู่ตลอดคืนก็มีอยู่ เขาคงจะไม่คิด เขาคงจะนอนคลุมผ้า

ห่มสบายอยู่ที่บ้าน ส่วนตัวเรานี้มานั่งตากฝนอยู่ตลอดคืน มันเรื่องอะไรหนอ คิดไปอย่างนี้แหละ มันวิตกไป แล้วสังเวชชีวิตตัวเองเลยร้องไห้ น้ำตา

ไหลพราก ๆ เอ้า! น้ำไม่ดีนี่ให้มันไหลออกให้หมด อย่าไปเหลืออยู่ นี้แหละปฏิบัติ มันเอาของมันอยู่อย่างนั้น ที่นี้ไม่รู้จะบอกยังไง เรื่องที่มันเป็นต่อ ๆ ไป

ไม่รู้จะบอกยังไง เรามีแต่นั่งอยู่เฉย ๆ เมื่อชนะแล้วมันก็เอาของมันอยู่อย่างนั้น สารพัดจะรู้จะเห็น จะเป็นต่าง ๆ นานาสุดที่จะพรรณนาให้จบลงได้ คิดถึง

ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนย่อมรู้เฉพาะตนเอง ช่างจริงเหลือเกินหนอ เราทุกข์ เราตากฝนอยู่อย่างนี้ แล้วใครจะรู้

ด้วยกับเรา ก็รู้แต่ตัวเราเท่านั้น มันก็เป็นปัจจัตตังอย่างนี้แหละ กลัวมาก ๆ แล้วมันหายกลัว จะไปเล่ากับใครหนอมันเป็นปัจจัตตัง ยิ่งพิจารณา ๆ เข้าไป

ยิ่งแน่นอนเข้าไป ใจก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้นศรัทธาก็มากขึ้น พิจารณาจนสว่าง


          พอสว่างลืมตาขึ้น มองไปทางไหนเหลืองไปหมดทั้งโลกเลย อันตรายหาย ตอนกลางคืนอยู่ในกลดรู้สึกปวดปัสสาวะ แต่เพราะความกลัวไม่

กล้าลุก ก็เลยอดกลั้นเอาไว้ นาน ๆ ไปก็เลยหายปวด ตอนเช้าลุกขึ้นมา มองไปทางไหนก็เหลืองไปหมด เหมือนแสงอาทิตย์ยามเช้า ลองปัสสาวะดู

เพราะ ปวดตั้งแต่ตอนกลางคืนปัสสาวะออกมาก็มีแต่เลือด สงสัยว่าข้างในฉีดหรือขาด ตกใจคิดว่าข้างใจคงจะขาดแน่ ๆ ก็มีตอบสวนขึ้นมาทันทีว่า

ขาดใครทำให้ขาด มันขาดของมันเอง มันพูดแก้ความสงสัยเองขึ้นมาทันทีอย่างฉับไว ขาดก็ขาด ตายก็ตายเสียซิ เราก็นั่งเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรนี่

อยากจะขาดก็ขาดเสียซิ มันว่าของมันอย่างนั้น เหมือนกับคนแย่งอะไรกันนี้แหละคนหนึ่งดึงไป อีกคนหนึ่งดึงกลับมา


          ใจหนึ่งเบียดเข้ามาว่าเป็นอันตราย ใจหนึ่งก็กลับสู้ทันที ปัสสาวะเลือดออกเป็นแท่ง ๆ คิดขึ้นมาว่า จะไปหายาที่ไหนหนอ ไม่ไปหามันล่ะ จะไปหา

ที่ไหน เป็นพระจะไปขุดรากไม้ได้หรือ ถ้าสมควรจะตายก็ให้มันตายเท่านั้นแหละ จะทำยังไงได้ล่ะ ตายก็ดี ตายเพราะการบำเพ็ญภาวนานี่ตายก็เต็มใจที่

จะตาย ตายเพราะการทำชั่วนั้นไม่คุ้มค่า ตายอย่างนี้สมควรแล้ว เอ้า ! ตายก็ตาย มันว่าของมันอย่างนั้น


          ฝนตกตลอดคืน พอรุ่งเช้าขึ้นมาก็เป็นไข้ สั่นสะท้านไปทั้งตัว ทีนี้ก็ไปรับบิณฑบาตในหมู่บ้านไม่ได้กับข้าวอะไรเลย บิณฑบาตแล้วก็กลับมาที่พัก

เห็นโยมผู้เฒ่าคนหนึ่งถือถั่งสองสามฝักกับขวดน้ำปลาเดินตามหลังมา ก็เลยคิดปรารภกับตัวเองว่า โยมเขาจะเอาทั่วมาตำส้มถวายเราจะฉันไหมหนอ

ก็คิดอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ จนโยมเขาลงมือทำ เราเองก็ไม่รู้ว่าจะฉันหรือไม่ฉัน เพราะคิดว่าตำส้มมันแสลงไข้ จะแพ้ เขาก็กำลังทำของเขาอยู่ เราก็คิดของ

เราอยู่อย่างนั้น จะฉันไหมหนอ ๆเพราะไม่มีกับข้าวอะไรเลย อยู่ในป่า มีแต่ข้าวเปล่า ๆ ไม่มีอาหาร เขาก็ทำของเขาอยู่อย่างนั้น เราก็พิจารณาของเรา

อยู่อย่างนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะถวายเราหรือไม่ แต่ก็พิจาณาอยู่อย่างนั้น เสร็จแล้วเขาก็เอามาถวาย ก็รับไว้ รับแล้วก็ตักลงในบาตรแต่ก็ยังไม่กล้า

ฉัน พิจารณาอยู่อย่างนั้น ก็เลยนึกได้ว่า ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้อยู่ว่ามันแสลงไข้ ถ้าเราฉันก็เพราะตัณหาเท่านั้นแหละ หรือมันจะเป็นอะไรพิจารณาไม่ออก คิด

กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ฉันข้าวเปล่า ๆ ดูมันไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็เลยคิดตกลงใจว่า เป็นตัณหาก็เป็ฯเท่านั้นแหละ ถ้ามีอาหารอย่างอื่นอยู่แล้วเรายังดื้น

ฉัน ก็อาจจะเป็น นี่มันมีอย่างเดียว ก็ฉันจะเป็นอะไร เมื่อมันแสลงไข้จะทำอย่างไร แสลงไข้ก็ไม่ถึงกับตายดอก หนึ่ง ต้องมีคนมาช่วย สอง มันต้องอา

เจียนออกมา ไม่เป็นไรดอกถ้าไม่ถึงที่ตาย ถ้าถึงที่ตายแล้วคนที่จะมาช่วยแก้ไขก็ไม่มีหรอก มันตายเลยแหละ เมื่อตกลงใจได้ความแล้วก็เลยฉัน เพราะ

ได้พิจารณาจนหายสงสัยแล้วจึงฉัน ฉันเสร็จก็ให้พอแก่โยมแล้วเขาก็กลับไป


          ตกตอนเที่ยงนึกถึงส้มตำถั่วขึ้นมารู้สึกมึนงงวิงเวียนศรีษะ ขนหัวลุกซู่ ซู่ มีอาการคล้ายจะเป็นไข้ ไม่ถูกกับส้มตำถั่วจริง ๆ เอ้า! เป็นอะไรก็เป็นกัน

ถ้าไม่มีคนมาแก้ไขมันก็อ้วกออกมาเองดอก ถ้าไม่ถึงที่ตาย เอ้า! ดันไปดันมา ประมาณบ่ายโมง เลยอ้วกออกมาจริง ๆ ไม่ถึงคราวมันก็ต้องอาเจียนออก

ถ้าไม่อาเจียนออกต้องมีคนมาช่วยแก้ไข พิจารณาไปอย่างนั้น ที่ไหนจะไปตามใจมัน”


          เมื่อท่านได้พักบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ป่าช้าแห่งนี้ได้ ๗ วัน ก็มีอาการไข้หนัก จึงได้ย้ายลงมาพักรักษาตัวอยู่กับท่านอาจารย์คำดี พักอยู่ได้ ประมาณ ๑๐ วัน

อาการไข้ทุเลาลง จึงได้กราบลาท่านอาจารย์คำดี เดินทางไปถึงบริเวณป่าละเมาใกล้บ้านต้อง จึงพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายวัน หลังจากนั้นจึงได้เดินทาง

ต่อไปจถึงวัดป่าเมธาวิเวก บ้านหนองฮี ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมีพระอาจารย์ กินรี จนฺทิโย เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั่น ได้พักปฏิบัติธรรมอยู่

กับท่านหลายวัน หลังจากนั้นจึงกราบลาท่านเดินธุดงค์ต่อไปเรื่อย ๆ


ทุกข์เพราะบริขาร


          เมื่อเลิกเป็นพระธุดงค์เคลื่อนที่ ที่รอนแรมไปตามป่าเขาลำเนาไพร มาเป็นพระธุดงค์อยู่กับที่ ในฐานะเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ทำหน้าที่อบรมสั่ง

สอนสานุศิษย์เป็นประจำแล้ว หลวงพ่อมักแทรกประสบการณ์จากชีวิตธุดงค์แต่หนหลังเข้ามาในคำสอน เพื่อเป็นคติธรรมเตือนศิษยานุศิษย์เสมอ และ

ครั้งใดปรารภเรื่องส่วนตัว ท่านก็มักเล่าด้วยอารมณ์ขัน เปิดเผยกิเลสของตัวเองและปัญหาต่าง ๆ ที่ท่านเคยผ่านพบ ซึ่งทำให้ลูกศิษย์ได้กำลังใจว่า แม้

ครูบาอาจารย์เองออกปฏิบัติใหม่ ๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน ครั้งหนึ่งท่านเล่าถึงนิสัยเดิมของท่านว่าเป็นประเภทโลภจริต ปีแรกที่ออกธุดงค์ท่านก็มีความ

อยากในเรื่องของบริขารมาก


          “...พอไปปฏิบัติเข้าหมู่ครูบาอาจารย์ ไปเห็นบริขารของท่านล้วนแต่สวย ๆ งาม ๆ บาตรของท่านก็สะอาด จีวรของท่านก็สีสันวรรณะดี ของตัวเอง

ไม่มีอะไรสวยสักอย่าง โอย ! อยากได้จีวร สังฆาฏิ ๒ ชั้นก็ยังไม่ได้ นั่งที่ไหนก็ไม่เป็นสุข


          ขึ้นไปกิ่งอำเภอศรีสงครามหลวงพ่อพุฒท่านให้จีวรมาผืนหนึ่งท่านใช้มา ๔ ปีแล้ว ดีใจมาก ชายผ้าขาดหมดแล้ว ก็อุตส่าห์หาผ้าอาบน้ำฝนมา

เย็บแล้วย้อมสีใหม่ สีย้อมใหม่กับสีย้อมเก่าตัดกันมองดูเหมือนลายผ้าซิ่งของภูไท ไปบิณฑบาตคนมองกันใหญ่ เขามองมาก ๆ จนท้อใจ แล้เลยมี

ปัญหามันอายเขาน่ะ เดี๋ยวก็เอามาย้อมสีใหม่ ย้อมเท่าไร ๆ ก็ไม่สวย เพราะผ้ามันเก่า พระครูจันทร์ ท่านแนะนำว่า อยากได้ก็ให้ขอท่าน แต่ก็ไม่ยอม

ขอ อยู่มาอย่างนั้นแหละ


          จนกระทั่งอาจารย์ไสวท่านเห็นความอดทน เห็นปฏิปทา ท่านก็เลยตัดถวาย ทีนี้เลยสบาย ถ้าไปขอท่านเสียแต่แรกคงไม่สบาย เพราะมันมาด้วย

ความอยาก ทีนี้ความเห็นมันเลยสลับกัน ถ้าเป็นของที่ซื้อมา สั่งมา หรือขอเขามา จะดียังไงก็เห็นเป็นของไม่ดีไปหมด แต่ถ้าเป็นของที่ได้มาเอง แม้ไม่

ค่อยดี แตกหักพอซ่อมแซมใช้ได้ ก็ดูเป็นของดียิ่งนัก



          ตอนขึ้นไปศรีสงครามนั้นมีผ้าอังสะผืนเล็ก ๆ ผืนเดียว ขอก็ไม่ได้ จะเป็นอาบัติ ไม่รู้จะทำยังไง มันอยากได้ จิตมันดิ้นรนกระวนกระวาย ห่วงอยู่

จนกระทั่งตัดจีวรเป็น คิดอยู่นั่นแหละว่าได้ผ้ามาจะทำอย่างไร ทั้ง ๆ ไม่รู้หรอกว่าใครจะเอามาถวาย เดินจงกรมก็นึกขีดตารางจีวร ได้ผ้ามาเมื่อไรละ

ก็จะจัดการเลย กังวลอยู่นั่นแล้ว


          เดินไปบิณฑบาตก็เห็นแต่รอยขีดตารางจีวร ขีดจนเข้าใจ กำหนดจิตเป็นตัวหมัดตัวเล็น ยิ่งตัดผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ไม่เคยเห็นใครตัดมาก่อนเลย

มาคิดเอาเอง มันสนใจมาก อยากได้มาก เลยคิดใหญ่ คิดวิธีเย็บตัว เย็บตะเข็บ คิดทุกแง่ทุกมุม จนเป็น เห็นทุกอย่างชัดแจ้งใจ เป็น ! พอเป็นแล้วได้

ผ้ามาก็เอาเลยทีนี้ ก็มันเป็นแล้วนี่ ใจเห็นมันเป็น มาตัดก็เป็นเลย ทั้งตัดจีวร ทั้งตัดสังฆาฏิ ยิ่งตัดสังฆาฏิ ๒ ชั้นยิ่งเก่ง จะไม่เป็นได้ยังไง มันลูบคลำอยู่

อย่างนั้น


          นี่แหละท่านว่า สนใจที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น การภานาเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าสนใจจริง ๆ นะ มันไม่ค่อยหลับ มันไม่ค่อยนอน มันตื่น มันเพ่ง

มันมอง ไอ้นั่นเป็นนั่น ไอ้นี่เป็นนี่ จนมันเป็นละ สมัยนั้นก็เรียกว่า ฟังครูบาอาจารย์เทศน์ให้ฟัง ปล่อยวาง ปล่อยวาง ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ท่านอาจารย์กินรี

ให้เย็บผ้าไตรจีวร เย็บไม่หยุด อยากจะให้มันเสร็จเร็ว ๆ เดี๋ยวนั้น คิดว่าให้มันเสร็จจะได้หมดเรื่องหมดราวไป จะได้ภาวนากัน วันหนึ่งท่านอาจารย์เดิน

มา เย็บผ้าตากแดดอยู่ไม่รู้ตัวเลย อยากให้มันเสร็จ จะได้ทำความเพียรอย่างเดียว


          ท่านถามว่า  ท่านจะรีบไปไหนเล่า?   ผมจะรีบทำให้มันเสร็จ

          เสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร?  จะไปทำอันนั้นอีก

          เมื่ออันนี้เสร็จจะไปทำอะไรอีกเล่า? ผมจะไปทำอันนั้นอีก

          อันนั้นเสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร?

          เลยไม่จบสักที ท่านอาจารย์จึงอบรมว่า


          ท่านรู้ไหมว่าทำอย่างนี้แหละคือภาวนา ท่านจะรีบไปไหนเล่า ทำอย่างนี้มันเสียแล้วนี่มันเสียแล้ว ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านไม่รู้เรื่องของตัวเอง


          เอ้อ ! สว่างไปอีกแล้ว นึกว่าเราทำบุญ เราทำแน่นอน รีบทำเพื่ออยากจะให้มันเสร็จ คิดว่ามันดีแล้ว ท่านก็ยังมาติเราอีกว่าอันนี้ไม่ใช่ ๆ ท่าน

จะรีบไปไหนเล่า...”


ไม่เป็นผู้ขอ


          “ผ้าสบงที่เราใช้ไปสองปีแล้วจนจะ ขาดหมด จะนั่งแต่ละครั้งต้องถลกผ้าขึ้นมานิดหนึ่งเสียก่อน เพราะผ้าที่เก่าจนขาดมันจะติดตัว ไม่ลื่นเหมือน

ผ้าใหม่ ตอนนั้นอยู่บ้านป่าตาวกำลังกวาดลานวัด เหงื่ออก เผลอนั่งลงเลย ไม่ได้ถลกผ้าขึ้น ขาดแควกตรงก้นพอดี ต้องเอาผ้าขาวม้ามาเปลี่ยน แต่หา

ผ้ามาปะสบงไม่ได้ ต้องเอาผ้าเช็ดเท้าไปซักให้สะอาดแล้วเอามาปะข้างใน


          เลยมานั่งคิดว่า เอ! พระพุทธเจ้านี้ทำไมทำให้คนต้องทนทุกข์จังเลย ขอคนก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ นึกท้อใจ เพราะจีวรก็ขาด สบงก็ขาด มานั่งภาวนา

ก็ตั้งใจได้ใหม่ คิดว่าเอาเถอะ จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ถอยละ ไม่มีผ้าก็ไม่ต้องนุ่ง จะเปลือยมันเลยทีนี้ ใจมันฮึดถึงขนาดนั้นทีเดียว คิดว่าทำให้ถึงที่สุดแล้ว ดูซิมันจะ

เป็นยังไง จากนั้นมาก็นุ่งผ้าปะหน้าปะหลังมาเรื่อย ไปถึงไหนก็นุ่งมันอย่างนั้นแหละ


          ปีนั้นเป็นปีที่มีเดือนแปด ๒ หน ไปกราบอาจารย์กินรีอีกครั้ง ไปอยู่กับท่านก็ไม่เหมือนคนอื่น เพราะธรรมเนียมของท่านไม่เหมือนใคร ท่านก็มอง ๆ อยู่ เราก็

ไม่ขอ ถ้ามันขาดอีกก็หาผ้ามาปะเข้าไปอีก ท่านก็ไม่ได้เอ่ยปากให้อยู่ด้วย เราก็ไม่ได้ขออยู่เหมือนกัน แต่ก็อยู่กับท่านน่ะแหละปฏิบัติไปทำไป ต่างคนต่างไม่พูด

ใครจะเก่งกว่ากันว่างั้นเถอะ จวนเข้าพรรษาท่านคงไปบอกญาติของท่านว่า มีพระมารูปหนึ่ง จีวรขาดหมดแล้ว ให้ตัดผ้าไตรไปถวายด้วยเถอะ เพราะมีคนเอาผ้ามา

ถวาย เป็นผ้าทอเอง หนาทีเดียว ย้อมแก่นขนุน ก็เอาด้านจูงผีน่ะแหละมาเย็บ เย็บด้วยมือทั้งผืนเลย พวกโยมชีเขาช่วยกันเย็บให้ ดีใจที่สุด ใช้อยู่ ๔-๕ ปีก็ไม่ขาด

ใช้ครั้งแรกก็ดูกระปุกกระปุย เพราะผ้าใหม่มันกระด้าง ยังไม่กระชับตัว เวลาเดินเสียงดังสวบสาบ ยิ่งใส่สังฆาฏิ ๒ ชั้นเข้าไปยิ่งดูอ้วนใหญ่ แต่เราก็ไม่เคยบ่น ใส่ไปได้

สักปีสองปีน่ะแหละผ้าจึงอ่อนตัวลง ก็ได้อาศัยผ้าผืนนั้นมาเรื่อย ยังนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ เพราะท่านให้มาโดยที่เราไม่ได้ขอ เป็นบุญมาก ตั้งแต่ได้ผ้าผืนนั้น

มาก็รู้สึกสบายกายสบายใจ


          มองดูการกระทำของตัวเอง ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน จนถึงอนาคต ทำให้นึกได้ว่ากรรมใดทำไปแล้วไม่ผิด ไม่ทำให้เดือดร้อน มีแต่ความสบายใจ กรรมนั้นดี

มีความเห็นอยู่อย่างนั้น เห็นจริงตามนั้น ก็รู้สึกว่าชักเข้าท่า เลยเร่งการภาวนาเป็นการใหญ่ ไม่หยุดเลย ผ้าผืนนั้นนะ ใส่ขึ้นภูเจอเสือเหลืองผมว่ามันไม่กล้ากัดแน่ พอ

มันโฮกมาเจอก็จะงักจังงังไปเลย


          แต่ปัญหาใหญ่ในการปฏิบัติของหลวงพ่อในช่วงนี้ ก็ยังคงเป็นตัวกามราคะนั่นเอง เมื่อธุดงค์ไปพักที่วัดบ้านต้อง จังหวัดนครพนมนั้น ท่านก็ต้องผจญมารคู่

ปรับเก่าตัวนี้จนเกือบเสียท่า ต้องตัดสินใจเผ่นหนีกลางดึก เหตุก็เกิดเพราะแม่ม่ายสาสวยแถมรวยทรัพย์คนหนึ่ง มาถวายจังหันทุกวัน ไม่ช้าไม่นานหลวงพ่อก็รู้สึก

ได้ว่า สีกาม่ายคนนี้คิดมิดีมิร้ายกับท่านเข้าเสียแล้ว ตัวท่านเองจิตใจก็ชักจะหวั่นไหว มารกับธรรมะสู้รบกันอยู่อย่างหนักหน่งภายในจิตใจ กระทั่งคืนวันหนึ่งเมื่อจิต

ของท่านคิดปรุงแต่งเรื่องของแม่ม่าย จนรู้สึกว่าจะไว้ใจตัวเองไม่ได้แล้ว ท่านก็เลยตัดสินใจเก็บบริขารในกลางดึกคืนนั้น แล้วก็เดินอย่างกระกวีกระวาดไปปลุกพ่อ

แก้ว


           “ไปมื่ออื่นบ่ได้บ่ขะน่อย” (ไปพรุ่งนี้ไม่ได้หรือครับ) พ่อแก้วกราบเรียนถามอย่างงัวเงีย

           “บ่ ฟ่าวไปเดี๋ยวนี้โลด” (ไม่ รีบไปเดี๋ยวนี้เลย) หลวงพ่อตอบหนักแน่นและเด็ดขาด



          หลังจากที่มาอยู่วัดหนองป่าพงและสยบมารร้ายตัวนี้ได้อย่างราบคาบแล้ว ครั้งหนึ่งเมื่อหลวงพ่อมีโอกาสได้ไปโปรดญาติโยมที่วัดบ้านต้อง ระหว่างปรารภ

ถึงความหลัง ท่านก็เล่าถึงการปฏิบัติของตัวเองในสมัยก่อนให้ชาวบ้านฟังอย่างขำ ๆ ว่า


          “โอย! ยากหลายแนว แต่แนวที่มันยากนำอีหลีก็เรื่องแม่ออกนี่แหละ”

            (ยากหลายอย่าง แต่ที่ยากจริง ๆ ก็เรื่องผู้หญิงนี่แหละ)


          เรื่องมันคงยากจริง ๆ อย่างที่ท่านเล่าไว้ เพราะเมื่อไปจำพรรษากับท่านอาจารย์กินรีในปีเดียวกันนั้น กามราคะก็หวนกลับมาเล่นงานท่านใหม่ และยิ่งร้าย

กว่าครั้งก่อนด้วยซ้ำ ขณะที่มีความเพียรปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ในวาระหนึ่งกามราคะก็เข้ามารุมเร้าอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรืออยู่ในอิริยาบถ

ใดก็ตาม ปรากฏว่ามีอวัยวะเพศของผู้หญิงลอยปรากฏเต็มไปหมด เกิดความรู้สึกรุนแรงจนแทบคำความเพียรไม่ได้ ต้องอดทนต่อสู้กับความรู้สึกและนิมิตเหล่านั้น

อย่างลำบากยากเย็น หลวงพ่อเล่าว่า ความรู้สึกต่อกามราคะในครั้งนั้นย่ำยีจิตใจรุนแรงพอ ๆ กับความกลัวที่เกิดขึ้นในคราวที่ไปอยู่ป่าช้าครั้งแรกนั่นเอง เดินจงกรม

ก็ไม่ได้ เพราะองค์กำเนิดถูกผ้าเข้าก็มีอาการไหวตัว ต้องให้เขาทำที่จงกรมในป่าทึบเพื่อเดินเฉพาะในเวลาค่ำมืดและเวลาเดินต้องถลก สบงพันเอวไว้ การต่อสู้กับ

กามราคะเป็นไปอย่างทรหดอดทน ขับเคี่ยวกันอยู่นานถึง ๑๐ วัน ความรู้สึกนิมิตเหล่านั้นจึงสงบและขาดหายไป


          เรื่องนี้หลวงพ่อได้เปิดเผยให้สานุศิษย์ทราบในภายหลัง ด้วยเห็นว่าเป็นคติธรรมที่ดี โดยเฉพาะแก่พระหนุ่มวัยฉกรรจ์ เพราะท่านเป็นพยานพิสูจน์ว่า กาม

ราคะจะฮึกเหิมเท่าไร ผู้มีศรัทธายิ่งก็เอาชนะได้


          ฉะนั้นในปี พ.ศ.๒๕๑๑ เมื่อท่านพระอาจารย์มหาอมร เขมจิตฺโต ได้บันทึกชีวประวัติของหลวงพ่อตามคำบอกเล่าของท่านมาถึงตอนนี้ ก็รู้สึกไม่แน่ใจว่า

สมควรจะเผยแผ่ต่อสาธารณชนหรือไม่ แต่หลวงพ่อก็ได้กำชับว่า


           “ต้องเอาลง ถ้าไม่เอาตอนนี้ลงในหนังสือด้วย ก็ไม่ต้องพิมพ์ประวัติเลย”


          ปีที่หลวงพ่อจำพรรษาที่วัดป่าหนองฮีนั้น ไม่ใช่ว่าแต่เรื่องดุเดือดวุ่นวายอย่างเดียว ตรงกันข้าม... คืนวันหนึ่งหลังจากทำความเพียรแล้ว หลวงพ่อคิดจะพัก

ผ่อนบนกุฏิเล็ก ๆ เอนกายลงศรีษะถึงหมอนกำหนดสติ พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตขึ้นว่าหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้มาอยู่ใกล้ ๆ นำแก้วลูกหนึ่งมายื่นให้แล้วพูดว่า


          “ชา เราจะให้แก้วลูกนี้แก่ท่าน มั่นมีรัศมีสว่างไสวมาก”


          หลวงพ่อได้ยื่นมือขวาออกไป รับแก้วลูกนั้นกับมือของท่าน พร้อมกับลุกขึ้นนั่ง พอรู้สึกตัวก็เห็นตัวเองยังกำมือและอยู่ในท่านั่งตามปกติ มีอาการคิดค้น

ธรรมะเพื่อความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติมีสติปลื้มใจตลอดพรรษา


ผู้เรียบง่าย


          ในพรรษานั้น เมื่อหลวงพ่อได้อยู่ศึกษากับหลวงปู่กินรีอย่างใกล้ชิด จึงได้พบเห็นปฏิปทาต่าง ๆ ทำให้...รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่กินรีมาก หลวงปู่กินรี

ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักท่าน เพราะท่านชอบอยู่เงียบ ๆ


          ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่ายน่าเคารพบูชา ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ บริขารเครื่องใช้ของท่านล้วนแต่เป็นของ

ปอน ๆ เศร้าหมองและของใช้สอยส่วนใหญ่ก็เกิดจากฝีมือของท่านเอง แม้ไม่สวยแต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนกระทั่งผุพังลง


          อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่คือ ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้ ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนา แม้ในวัยชรา

หลวงปู่ก็ยังรักษาปาฏิปทานี้ไว้อย่างมั่นคง


          หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านเองทำความเพียรอย่างหนัก เดินจงกรมทั้งฝันฝนตกแดดออกอย่างไรก็เดิน

จนทางจงกรมเป็นร่อง แต่หลวงปู่กลับไม่ค่อยเดิน บางครั้งเดินเพียง ๒-๓ เที่ยวก็หยุด แล้วไปเอาผ้ามาปะมาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่



          “เราประมาทคิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินาน ๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติ

ไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้เห็นอะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไรเล่า”


          หลวงพ่อเล่าในตอนท้ายว่า “เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่ง

ที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหน ๆ ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือความพากเพียร

กำจัดอาสวะกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์”


          หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติและอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา จนกระทั่งถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ.๒๔๙๑ จึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป ก่อน

จากหลวงปู่กล่าวตักเตือนสั้น ๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า


          “ท่านชา อะไร ๆ ในการปฏิบัติท่านก็พอสมควรแล้ว แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ”


ธรรมะจากเด็กพิการ


          การจาริกธุดงค์ของหลวงพ่อในช่วงนั้น พระเลื่อมยังคงติดตามตลอดมา วันหนึ่งท่านทั้งสองหยุดพักอยู่ในป่าช้าข้างหมู่บ้าน ได้มีเด็กชาย ๒ คนมาช่วย

อุปัฏฐากรับใช้ ต่อมาเด็กเกิดสนใจการผจญภัยในชีวิตพระธุดงค์ จึงขอร่วมเดินทางติดตามไปด้วย ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ขัดข้อง


          เมื่อเด็กได้รับความยินยอมจากพ่อแม่แล้ว ก็เก็บข้าวของส่วนตัวออกเดินทางร่วมกับพระธุดงค์


          หลวงพ่อปรารภว่า “เด็กสอง คนนี้ทั้งที่พิการ แต่เขาก็มีศรัทธาในพระศาสนา อุตส่าห์ร่วมเดินทางผจญความยากลำบากมาด้วย ทำให้ได้ข้อคิด

อันเป็นธรรมะสอนใจอยู่หลายอย่าง คนหนึ่งนั้นขาดี ตาดี แต่หูหนวก อีกคนหูดี ตาดี แต่ขาเป๋ เวลาเดินทางคนเขาเป๋เดินไป บางครั้งขาข้างที่เป๋ก็ไป

เกี่ยวข้องที่ดี ทำให้หกล้มหกลุกบ่อย ๆ คนที่หูหนวกนั้นเล่า เวลาเราจะพูดด้วยต้องใช้มือใช้ไม้ประกอบ แต่พอเขาหันหลังให้ก็อย่าเรียกให้เสียเวลา

เพราะไม่มีทางได้ยินอะไร ความพอใจแท้ ๆ ทำให้คนพิการทั้งสองเดินทางติดตามมา แต่ความพิการไม่มีทางขัดขวางความตั้งใจได้เลย คนเราขอให้

มีความตั้งใจจริงย่อมทำอะไรได้สำเร็จ ความพิการของเด็กทั้งสองนี้ตัวเขาเองก็ไม่ต้องการที่จะพิการ พ่อ แม่ ก็ไม่ต้องการให้ลูกของตนพิการ แต่ก็

หนีกฏแห่งกรรมไม่พ้น จริงดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นแดนเกิด เมื่อพิจารณาความ

พิการของเด็กที่เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง กลับเป็นเรื่องมาสอนใจตนเองว่า เด็กทั้งสองพิการกายเดินทางได้จะเข้ารกเข้าป่าก็รู้ แต่เราเองพิการทางใจ คือ

ใจมีกิเลส กิเลสจะพาเข้ารกเข้าป่าหรือเปล่า คนพิการทางกายอย่างเด็ก ๒ คนนี้ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่ถ้าคนเราพิการทางใจมาก ๆ ย่อมสร้าง

ความวุ่นวายยุ่งยากให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนมากทีเดียว"


          หลวงพ่อและพระเลื่อม ได้สอนวิธีนั่งสมาธิ และเดินจงกรมให้เด็กพิการได้ฝึกปฏิบัติพอสมควร ปรากฏว่าเด็กทั้งสองมีความตั้งใจเพียรพยายามดี

view