สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

อุปลมณี ตอนที่ี่ 1 (ปฐมวัย - ก่อนอุปสมบท)


ปฐมวัย 


          หลวงพ่อชา สุภทฺโท เป็นลูกอีสานโดยกำเนิด ท่านเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์ ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของอำเภอวารินชำราบ ชื่อบ้านก่อ

เดิมเรียกว่าบ้านก้นถ้วย เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๖๑  (แรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย)


          ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ของนายมา และนางพิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน สมัยที่ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อมีรูปร่างสมบูรณ์ อ้วนกลม พุงพลุ้ย

คางมน ด้วยลักษณะแบบนี้เองทำให้เพื่อน ๆ ขนานนามท่านว่า “อึ่ง” ปากของท่านกว้างและเชิดขึ้นเล็กน้อย อย่างที่คนอีสานเรียกว่า ปากแหว หูของท่านไม่เท่ากัน

พ่อพุฒ ทุมมากรณ์ เพื่อนสนิทที่ชอบพอกับหลวงพ่อมาตั้งแต่วัยเด็ก ได้เล่าถึงอุปนิสัยของเสี่ยวชาว่า เป็นคนช่างพูด และมีลักษณะผู้นำมาตั้งแต่เด็ก ๆ

เมื่ออยู่กับหมู่เพื่อน ไม่ว่าจะเล่นหรือทำอะไรก็ตาม ท่านมักเป็นผู้วางแผนมอบหมายหน้าที่แก่คนอื่นเสมอ โดยปกติท่านเป็นคนอารมณ์ดี ร่าเริง วันไหนขาดท่าน

หมู่เพื่อนจะเงียบเหงา คุยเล่นไม่ค่อยมีรสชาติเหมือนที่เคย


          ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งที่ปรากฏมาตั้งแต่เด็กคือ ความรักสันติ ไม่เคยมีใครเห็นท่านมีเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งเป็นปากเสียงกับใคร โดยเฉพาะ

การชกต่อยข่มเหงรังแกกับผู้อ่อนแอกว่านั้นยิ่งไม่มีเลย ตรงกันข้ามเมื่อเพื่อนฝูงมีปัญหาขัดใจกัน ท่านจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคลี่คลายให้เรียบร้อยได้ด้วยความสามารถ

อันเป็น ลักษณะเฉพาะตัว ประกอบกับปกติท่านเป็นคนมีน้ำใจโอบอ้อมอารี และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนเสมอ เพื่อน ๆ ก็เลยเกรงใจ


หลวงพ่ออึ่ง


          วัยเด็กเป็นวัยที่ชอบเล่นเลียนแบบ โดยเฉพาะเด็กชายชาวบ้าน ชอบการเล่นที่ทะมัดทะแมง แข็งขัน ใช้กำลัง เช่น เล่นเป็นทหาร หรือตำรวจจับผู้ร้าย เป็นต้น

แต่การเล่นเลียนแบบของเด็กชายชาค่อนข้างแปลก หลวงพ่อเคยเล่าถึงตัวท่านเองสมัยเป็นเด็กว่า “ตอนเด็ก ๆ คิดอยากจะเล่นเป็นพระ ก็เลยตั้งตนเป็นสมภาร

ขึ้นมา เอาผ้าขาวม้าห่มเป็นจีวร ถึงเวลาฉันเพล ก็ตีระฆังแก๊ง ๆ ให้เพื่อน ๆ ที่เล่นเป็นโยมอุปัฏฐาก เอาน้ำมาให้ แล้วรับศีล รับพร”


ไฟแรง


          หลวงพ่อเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศอบอุ่นและมั่นคง ครอบครัวของท่านจัดว่ามีฐานะมั่งคั่งครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้าน และมักสงเคราะห์ผู้ยากจนกว่าในยาม

ข้าวยากหมากแพงอยู่เสมอ ตัวท่านเองเป็นเด็กที่มีกำลังวังชา กระฉับกระเฉงว่องไว ธาตุไฟแรง กินจนเป็นนิสัย แต่ความที่ท่านเป็นคนขยัน ไม่อยู่นิ่ง จึงสามารถ

ช่วยงานในครอบครัวได้เป็นอย่างดีตั้งแต่อายุยังน้อย งานหลักที่เด็กชายชาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญมีอยู่ ๒ อย่าง คือ งานเลี้ยงควายและดูแลไร่ยาสูบ


          ตื่นเช้ากินข้าวกินปลาเสร็จแล้ว เด็กชายชาก็เตรียมห่อข้าวแล้วต้อนควายออกจากคอกบ่ายหน้าไปสู่ทุ่งหญ้าป่ารก ยามว่างควายกินหญ้า ก็ออกหาอาหาร

ธรรมชาติ เช่น กบ เขียด ปลา เห็ด หรือหน่อไม้ สำหรับมื้อเย็นของครอบครัว ตามแบบชีวิตของชาวชนบทภาคอีสานโดยทั่วไป


          แต่งานหนักคืองานในไร่ยาสูบ ซึ่งมีถึง ๔-๕ ไร่ ปีหนึ่ง ๆ ต้องช่วยรดน้ำพรวนดิน ดูแลเก็บเกี่ยวจนได้ผลผลิตเป็นยาสูบ ซึ่งใช้แลกเปลี่ยนกับผลิตผลอย่าง

อื่น เช่น อาหารและสิ่งของเครื่องใช้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง อย่างไรก็ดี แม้จะช่วยงานทางบ้านอย่างทะมัดทะแมงแข็งขัน เมื่ออายุได้ ๙ ขวบ เด็กชายชาก็เริ่มสน

ใจในเรื่องของวัด หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จากโรงเรียนบ้านก่อแล้ว ก็คิดอยากไปเป็นเด็กวัด


เป็นศิษย์วัด


          หลายสิบปีต่อมาเมื่อหลวงพ่อเข้าสู่วัย ชราแล้ว มีชาวตะวันตกคณะหนึ่งมาเยี่ยมวัดหนองป่าพงและกราบเรียนถามถึงแรงบันดาลใจที่ ทำให้หลวงพ่อสนใจ

เข้าวัดตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อให้คำตอบว่า “อ๋อ ก่อนเป็นพระนี่เหรอ คือมันมีนิสัยปัจจัยที่กลัวบาป เป็นคนซื่อสัตย์ไม่โกหกใคร นิสัยตรงไปตรงมาอยู่เสมอ ถึงแม้แบ่ง

ของกันนะ ชอบเอาน้อยกว่าเขา เกรงใจเขา เป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ มาตลอด เมื่อธรรมชาติอันนี้มันแก่ขึ้นมา มันเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาว่า ไปวัด เราคิดอย่างนี้ ไป

ถามเพื่อน เขาไม่เคยคิด มันเป็นของมันเอง เรื่องมันเป็นผลการกระทำนะ มันเป็นผลของมันเอง เราก็พิจารณาเรื่อย มันก็โตของมันเรื่อย ๆ มันเป็นเหตุให้ทำอย่างนี้

เป็นเหตุให้คิดอย่างนี้”


          อีก โอกาสหนึ่งท่านเล่าให้โยมฟังทีเล่นทีจริงว่า ท่านเข้าวัดเพราะขี้เกียจรดน้ำต้นยาสูบ และมีความรู้สึกอึดอัดเอือมระอากับงานทางบ้าน ซึ่งซ้ำซากจำเจ

ดูไม่มีจุดจบ “เรา เป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ไม่เคยได้สูบยากับเขาเลย แต่ตื่นเช้าขึ้นมา เขากลับไล่ให้เราไปรดน้ำต้นยาสูบเป็นร้อย ๆ ต้น มันน่าเจ็บใจ...”

มีเหตุการณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเหมือนเป็นการจุดชนวนให้ความรู้สึกของหลวงพ่อระเบิดออกมา และทำให้ท่านเข้าวัดในที่สุด โยมพี่สาวของท่านได้เล่าไว้ “การไปเป็น

ศิษย์วัดก็ไม่ใช่ เพราะทางบ้านจัดการให้ แต่ท่านปรารถนาของท่านเอง โดยวันหนึ่งท่านช่วยพี่ ๆ น้อง ๆ ตำข้าว แต่ไม่ตั้งใจ พอดีสากตำข้าวหลวมต้องเอาไม้ไป

ตอกลิ่น แต่ท่านไม่ยอมตอก คนอื่นไปตอก บังเอิญทำไม้ถูกท่าน ท่านคงเจ็บเลยโกรธ ร้องว่า “กูจะไปบวช”


          หลัง จากนั้นไม่นาน เด็กชายชาได้ขอให้พ่อแม่พาตัวไปฝากเป็นลูกศิษย์วัด พ่อแม่ก็ไม่ขัดข้อง และพาไปอยู่ในความอุปการะของพระอาจารย์ลีที่วัดบ้านก่อ

นอก เด็กชายชาจึงมีโอกาสได้เรียนรู้กฎระเบียบและกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ตามวิสัยเด็กวัดเป็นครั้งแรก และเด็กชายพุฒก็ได้มาเป็นศิษย์ของพระพร เด็กชายชาจึงมี

เสี่ยวฮักมาอยู่เป็นเพื่อนร่วมสำนักด้วย


บรรพชา


          หลังจากเข้าไปเป็นเด็กวัด ได้รับการอบรมพอสมควรและมีอายุถึงเกณฑ์บรรพชา ท่านเจ้าอาวาสเห็นว่าเป็นเด็กเรียบร้อย ทั้งขยันหมั่นเพียร รู้จักอุปัฏฐาก

รับใช้ครูบาอาจารย์ด้วยดีมาตลอด จึงจัดการให้ได้บรรพชาพร้อมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคน ที่วัดบ้านก่อ โดยมีพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม

จ.อุบลราชธานี ในเวลานั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔ ขณะนั้นหลวงพ่อายุได้ ๑๓ ปีพอดี


          เมื่อบรรพชาแล้ว นอกจากการท่องบทสวดมนต์ต่าง ๆ สามเณรชาได้เรียนหลักสูตรนักธรรมตรีและเรียนหนังสือพื้นเมืองที่เรียกว่า หนังสือตัวธรรมอย่าง

เชี่ยวชาญ


ลาสิกขาบท


          ระหว่างที่บรรพชาอยู่นั้น สามเณรชาได้อุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์รูปหนึ่งคือ ท่านอาจารย์ลัง จนได้รับความรักใครเอ็นดูจากท่านเป็นพิเศษ พระอาจารย์ลัง

ได้เป็นธุระในการอบรมสั่งสอน และเอาใจใส่ดูแลการศึกษาเล่าเรียนของสามเณรอย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้ได้รู้จักกับครอบครัวของลูกศิษย์ด้วย เมื่อมีโอกาสว่าง

พระอาจารย์ลังก็มักชวนสามเณรกลับไปเยี่ยมบ้านและไปบ่อยขึ้น ทุกที บางทีก็อยู่จนดึกจึงกลับวัด ในระยะหลัง ๆ พระอาจารย์ก็ปรารภเรื่องทางโลกบ่อย ๆ จนกระทั่ง

วันหนึ่งก็ได้ชักชวนให้ลูกศิษย์ลาสิกขาบทไปด้วยกัน จิตใจของสามเณรน้อยก็หวั่นไหว เพราะศรัทธาในพระศาสนายังไม่หนักแน่นมั่นคงพอที่จะอยู่ต่อได้ถ้าอาจารย์

จาก ไป เมื่อถูกครูบาอาจารย์ชวนบ่อย ๆ ก็เลยลาสิกขาตามไปในที่สุด ตอนนั้นอายุได้ ๑๖ ปี


          ต่อมาไม่นาน ทิดลังก็ได้มาสู่ขอนางสาววสา ช่วงโชติ พี่สาวของเซียงชาไปเป็นภรรยา แต่ก็อยู่กินกันได้ไม่นาน


สองเกลอกลัวผี


          เมื่อลาสิกขาบทกลับมาอยู่บ้านแล้ว เซียงชาก็ได้เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวในกิจการงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัว

ทำให้บิดามารดาได้รับความสุขสบายขึ้นพอสมควร อย่างไรก็ตาม เซียงชาก็รู้สึกอยู่บ่อย ๆ ว่าชีวิตคฤหัสถ์นั้นไร้แก่นสาร ดังที่ท่านเคยเล่าความรู้สึกของตนเองใน

ตอนนั้น ให้ลูกศิษย์ฟังในภายหลังว่า


          “เบื่อ ไม่อยากอยู่กับพ่อแม่ คิดไปก็เบื่อ คิดอยากไปคนเดียวเรื่อย ๆ ไม่รู้จะไปทางไหน มันเป็นอยู่อย่างนั้นหลายปีเหมือนกัน ชอบคิดในใจ

เบื่อ มันเบื่ออะไรก็ไม่รู้ มันอยากจะไปไหน ๆ คนเดียว อันนี้เป็นอยู่ระยะหนึ่งถึงได้มาบวช นี่มันเป็นนิสัย แต่ว่าเราก็ไม่รู้มัน แต่ว่าอาการมันเป็นอยู่อย่าง

นี้ตลอดมา...”


          แต่เมื่อยังไม่เห็นทางออก เซียงชาก็พยายามคิดเรื่องอื่นที่สนุกสนาน เช่นการเที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูง เพื่อกลบเกลื่อนความเบื่อหน่ายนั้นเสีย

          เพื่อนเที่ยวในวัยหนุ่มของเซียงชา ก็คือ เซียงพุฒ ทุมมาภรณ์ เพื่อนเล่นในวัยเด็กนั่นเอง ทั้งสองชวนกันไปเที่ยวสนุกสนานกับเพื่อนตามประสาหนุ่มชาวบ้าน

ทั่ว ๆ ไป บางทีก็ชวนกันไปจีบสาวบ้านใกล้บ้าง บ้านไกลบ้าง ตอนนั้นเพื่อน ๆ ได้เห็นความอดทนของหลวงพ่อแล้ว บางทีไปเที่ยวงานบ้านอื่น เดินไปเดินกลับถึง ๓๐

กิโลเมตร เพื่อนอยากหยุดพักระหว่างทางบ้าน แต่ท่านไม่ยอมหยุดเลย ต้องไปให้ถึงบ้านก่อน


          เซียงชาเป็นคนบ้านก้นถ้วย ส่วนเซียงพุฒอยู่บ้านก่อใน ทั้งสองหมู่บ้านห่างกันประมาณ ๑ กิโลเมตร การไปมาหาสู่กันต้องเดินผ่านป่าดอนเจ้าปู่ ซึ่งเป็นที่

หวาดกลัวของชาวบ้านแถบนั้น ฉะนั้นวันไหนไปเที่ยวด้วยกันแล้วกลับดึก ทั้งสองจะต้องนอนค้างที่บ้านของคนใดคนหนึ่ง เนื่องจากต่างคนต่างก็กลัวผีขนาดหนัก

ไม่มีใครกล้าเดินกลับคนเดียว

พบรัก


          ถึงแม้ว่านายพุฒได้พานายชาไปเที่ยวจีบสาวในหมู่บ้านทั้งใกล้และไกลมาแล้ว หลายแห่ง แต่ในที่สุดนายชาก็มามีความสัมพันธ์รักกับนางสาวจ่าย ซึ่งเป็นลูก

ติดแม่เลี้ยงของนายพุฒ ส่วนนายพุฒเป็นลูกติดทางพ่อและอาศัยอยู่บ้านของตา ซึ่งอยู่ใกล้กันกับบ้านของนางสาวจ่าย เรื่องรักของนายชาและนางสาวจ่ายนี้ ทุกคนใน

ครอบครัวของนายพุฒก็รู้ดี และไม่มีใครรังเกียจ โดยเฉพาะพ่อแม่ของสาวนั้นมีความพอใจรักใครนายชาเสมือนบุตรของตนเอง เพราะเห็นว่าเป็นคนหนุ่มที่มีคุณสมบัติ

เพียบพร้อม ทั้งโดยส่วนตัวและฐานะทางครอบครัว พ่อแม่สาวถึงกับกีดกันหนุ่มอื่นขนาดไม่ยอมให้ขึ้นบันไดบ้านเลยทีเดียว


          สองหนุ่มสาวได้ให้สัญญาต่อกันไว้ว่า จะรอจนกว่านายชาผ่านพ้นการเกณฑ์ทหาร แล้วบวชทดแทนคุณบิดามารดาสัก ๑ พรรษาเสียก่อน หลังจากนั้นเมื่อ

ทุกอย่างพร้อม ก็จะแต่งงานกันทันที เวลานั้นนายชามีอายุได้ ๑๙ ปี ส่วนสาวเจ้ามีอายุเพียง ๑๗ ปี


เสียรักเพราะนา


          ย่างเข้าฤดูฝน ทุกบ้านต่างขมีขมันจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการทำนา นายชาก็เช่นเดียวกัน ได้จัดสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ บรรทุกเกวียน เคลื่อนย้าย

ออกไปสู่กระท่อมกลางนาแล้วก็ง่วนอยู่กับการเตรียมงาน มีการจัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น คราด ไถ แอก จอบไว้ให้พร้อม รอการปักดำ ทำนา


          ส่วนทางบ้านของนายพุฒและนางสาวจ่าย บิดามารดาของคนทั้งสองปรึกษาหารือกันเรื่องการทำนา ซึ่งกำลังเป็นปัญหาเพราะขาดแรงงานสำคัญ ทั้งสามีภรรยา

เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะให้นางสาวจ่ายแต่งงานมีคู่ครองเสีย จะได้มีสามีมาช่วยทำนา แต่ก็มองไม่เห็นว่าจะให้แต่งกับใคคร นายชาที่หมายปองอยู่นั้นเล่าก็ยังไม่

พร้อมสักที คงต้องรออีกหลายปี ในที่สุดฝ่ายสามีจึงโพล่งออกมาว่า “ให้แต่งกับไอ้พุฒลูกชายของเรานี่แหละ” ด้วยเหตุผลและความเหมาะสมคือทั้งสองหนุ่ม

สาว รู้จักสนิทสนมกันดีอยู่แล้วเหมือนพี่น้อง แต่ไม่ใช่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน ประกอบกับเหตุผลทางเศรษฐกิจด้วย เข้าทำนอง “เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน”

ส่วนนายพุฒและนางสาวจ่าย แม้จะรู้สึกกระอักกระอ่วน เพราะมีความรู้สึกต่อกันเหมือนพี่น้องจริง ๆ แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธหรือขัดขืนความประสงค์ของพ่อแม่ได้


ไม่ยอมเสียเพื่อน


          หลายปีต่อมา หลวงพ่อได้พูดถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ขณะที่ได้ทราบข่าว ซึ่งไม่เคยคาดคิดว่าจะมีขึ้นได้ ให้ลูกศิษย์ฟัง


          “เมื่อตอนที่ผมอายุ ๑๘ ผมชอบผู้หญิงคนหนึ่ง เขาก็คงชอบผมเหมือนกัน ชอบกันไปก็ชอบกันมาตามแบบฉบับชาวบ้าน ผมหลงรักเขาจนติด

ลึก ภาษาชาวบ้านก็ว่า จะเอาเป็นเมียนั่นแหละ ผมฝันว่าจะมีเขามาอยู่ข้างเคียง ช่วยกันทำไร่ทำนา หากินกันไปตามประสาโลก อยู่มาวันหนึ่งผมกลับ

จากนา สวนทางกับเพื่อนรัก เขาบอกผมว่า ชา...อีนางเราเอาแล้วนะ ผมฟังแล้วตัวชาไปหมดซึมไปหลายชั่วโมง นึกถึงคำหมอดูว่าผมจะไม่มีเมีย

แต่มีลูกเยอะ ตอนนั้นผมก็สงสัยว่า จะเป็นไปได้อย่างไร”


          แต่ในที่สุดนายชาก็ทำใจได้ไม่โกรธแค้นเพื่อน เพราะรู้ว่าไม่มีเจตนาจะหักหลังท่าน หากจำใจปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ใหญ่ แต่ความผิดหวังครั้งนี้เป็นบทเรียน

เรื่องความไม่แน่นอนที่ถึงใจ กลายเป็นคำที่ท่านใช้บ่อยที่สุดในการอบรมลูกศิษย์ลูกหาของท่านในเวลาต่อมา


          นายชายังรักษาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนที่ดีกับนายพุฒเสมอ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สำหรับแม่จ่ายนั้นตรงกันข้าม หลวงพ่อเล่าว่า ท่านต้องระวังตัวมาก

แม้เมื่อบวชแล้ว ถ้าเห็นแม่จ่ายมาท่านต้องรีบหลบเข้าป่าไป


          เจ็ดปีแรกที่บวช หลวงพ่อยอมรับว่าท่านยังตัดอาลัยในแม่จ่ายไม่ขาดเลย จนออกธุดงค์เจริญกรรมฐานแล้วนั่นแหละ ความรู้สึกจึงค่อยจางหายไป เมื่อท่าน

เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงแล้ว ระหว่างการอบรมพระเณรในเรื่องโทษของกาม หลวงพ่อมักพูดถึงพ่อพุฒในฐานะคนที่มีบุญคุณต่อท่านมาก “ถ้าหากไม่แต่งงาน

กับแม่จ่ายผมคงไม่ได้บวช” ท่านว่าอย่างนั้น แต่เมื่อเราดูบารมีอันเต็มเปี่ยมของหลวงพ่อแล้ก็สันนิษฐานได้ว่า ถ้าอุปสรรคนี้ไม่เกิดขึ้นก็คงจะมีอย่างอื่น เพราะชีวิต

ของท่านค่อย ๆ ก้าวเข้าไปสู่ความร่มเย็นของพระธรรมอย่างไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้


หวุดหวิด


      ในชีวิตแห่งการประพฤติปฏิบัติของหลวงพ่อ มารร้ายที่คุกคามและท้าทายพรหมจรรย์ของท่าน ทำให้ต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกันอยู่หลายปีกว่าจะเอาชนะได้ ก็คือ

กามราคะหรือความต้องการทางเพศ สมัยยังหนุ่มก่อนที่จะได้อุปสมบท ก็เคยมีเหตุการณ์ซึ่งทำให้ท่านต้องต่อสู้ และเอาชนะกามราคะเสมือนเป็นการชิมลาง ก่อน

ที่ท่านจะได้พบกับการต่อสู้อันหนักหน่วง และยืดเยื้อในเพศบรรพชิตภายหลัง เรื่องมีอยู่ว่า


          สมัยที่บวชเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านได้รู้จักคุ้นเคยกับรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งบวชเป็นพระ แม้เมื่อสิกขาลาเพศออกมาแล้ว ก็ยังคงไปมาหาสู่กันด้วยความรักและ

นับถือเสมือนพี่น้องเสมอมา


          ต่อมาเพื่อนรุ่นพี่คนนั้นเกิดป่วยหนักและถึงแก่กรรมลง นายชาก็ไปช่วยงานศพตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งพิธีเผาศพผ่านไป เพื่อน ๆ ที่ไปช่วยงานพากันกลับ

หมด เหลือนายชาที่สนิทสนมคุ้นเคยกับครอบครัวนี้มากมีความเป็นห่วงว่าภรรยาและลูก ๆ ของผู้ตายจะรู้สึกว้าเหว่ จึงได้พักค้างคืนอยู่เป็นเพื่อนก่อน ถึงเวลาเข้า

นอนภรรยาและลูก ๆ ของผู้ตายก็นอนในห้อง ส่วนนายชาเขาจัดให้นอนคนเดียวที่ชานบ้าน คืนแรกผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่คืนที่สอง ตกดึกภรรยาของผู้ตาย

ก็แอบมานอนอยู่ข้าง ๆ พร้อมทั้งจับมือของนายชาไปลูบไล้เรือนร่างของนาง แต่นายชาก็แกล้งทำเป็นนอนหลับเหมือนไม่รับรู้อะไร เมื่อนางเห็นว่าจะไม่ได้รับการ

ตอบสนอง ก็ลุกเดินกลับเข้าไปในห้องนอนอย่างเดิม


          คืนนั้นจิตใจของนายชาคงปั่นป่วนและสับสน แต่อย่างไรก็ตามก็นับเป็นการเอาชนะกามราคะครั้งแรกในชีวิต ชนะด้วยความอดทน เพราะความเคารพเพื่อนที่

เพิ่งสิ้นบุญ เพราะความสำนึกในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมมีพลังมากกว่ากิเลส ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจึงได้ตั้งมั่นเป็นที่พึ่งของนายชาในขณะนั้น


          จากเหตุการณ์ครั้งนี้จะเห็นคุณธรรมคือความอดทนและความละอายต่อบาปของนายชา ซึ่งกลายเป็นคุณธรรมเด่นของท่านในเวลาต่อมาเมื่อครองเพศบรรพชิต

ความรู้สึกสลดสังเวชที่เกิดขึ้นจากการได้สัมผัสความจริงของโลกมายาแห่ง ฆราวาสวิสัยเป็นครั้งแรกนี้ ได้กระตุ้นความคิดบางอย่างที่ก่อตัวอยู่ลึก ๆ ภายในจิตใจของ

ท่านให้ค่อย ๆ เจริญงอกงามขึ้นมา เป็นความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะออกบวชเพื่อหาทางหลุดพ้นให้ได้


view