สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

วางได้ขณะจิตหนึ่งก็ยังดี

 

เรื่องที่ ๑๙ เรื่อง วางได้ขณะจิตหนึ่งก็ยังดี

วันนี้ก็เป็นวันพระพวกเราก็มีโอกาสที่มาทำทาน นั่งสมาธิ มาเจริญภาวนา ปกติแล้วพวกเราก็ถือว่าเป็นบุคคลที่มีปัญญาดีแล้ว รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เช่น ศีล ๕ ประการทำไมเราไม่ค่อยจะสมาทานกันหรือว่าพระภิกษุสงฆ์ไม่ค่อยจะได้กล่าวบอก เพราะว่าพวกเรามีปัญญาเพียงพอก็สามารถที่จะรักษาศีล ๕ ประการได้โดยไม่ต้องไปกล่าวตามพระก็ได้ คือไม่ต้องไปขอศีลจากพระได้แล้ว เพราะเราฉลาดเพียงพอแล้วเราก็สามารถจะงดเว้นในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามได้ดี โดยเรารับเพียงครั้งเดียวเราก็สามารถที่จะทรงรักษาศีล ๕ ประการได้เป็นปกติทุก ๆ วัน เพราะประโยชน์ในการรักษาศีลก็เกิดขึ้นในใจของเราแล้ว ถัดมาก็คือการทำจิตให้สงบนี้แหละเป็นสิ่งที่มันยากต้องอาศัยความเพียรทางด้านจิตใจอย่างมากมายมันถึงจะประสบความสำเร็จ เมื่อจิตใจของเราได้สัมผัสรสของสมาธิที่ทำให้จิตใจของเรานี้เกิดปีติ ปราโมทย์ เกิดความสงบได้ เราก็ไม่สามารถที่จะไปอธิบายบอกกล่าวให้บุคคลอื่นรู้ได้เหมือนเรา จะอธิบายอย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถที่จะให้บุคคลนั้นเข้าใจลึกซึ้งเพราะว่ามันเป็นนามธรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดด้วยคำพูดไม่ได้แต่จะบอกวิธีการหรืออุบายที่จะให้ไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้ พวกเราก็เหมือนกันเมื่อเรารู้จุดหมายปลายทางของชีวิตว่า ความสงบจากความโลภ ความโกรธ ความหลงด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยมที่มนุษย์สามารถทำได้มันมีอยู่

พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกในโลกนี้ที่สามารถทำได้ก่อนท่านตรัสรู้เองไม่มีใครมาบอกกล่าว ท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้ไกลจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหมด ชนะแล้วซึ่งความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นที่พึ่งของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ท่านก็ประกาศคำสั่งสอนอาศัยความเมตตาของท่าน ความกรุณาของท่าน พวกเราก็เลยได้รับรสแห่งพระธรรม บุคคลใดประพฤติธรรมทำให้บุคคลนั้นไม่ตกไปสู่โลกที่ชั่วร้ายหรือความทุกข์ สิ่งที่ไม่ดีไม่งามที่จะทำให้จิตใจของเรานี้เกิดความวุ่นวายไม่สงบ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ธรรมแหละรักษาผู้ประพฤติธรรมอยู่เป็นนิจ อันนี้ก็เป็นสัจจะความเป็นจริงอยู่ตลอดกาลก็ว่าได้ เรามาดูชีวิตของเราซิ ถ้าเราไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่ได้มาประพฤติปฏิบัติ ไม่ได้มาทำทาน ไม่ได้รักษาศีล ไม่ได้มาเจริญภาวนา เราจะไม่รู้เลยว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เราจะไม่เข้าใจกิเลสในใจของเราเลยว่าความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้นั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของ ๆ เรา เป็นตัวมารร้ายกลั่นแกล้งคุณงามความดีที่จะเกิดขึ้นในจิตใจของเรา เมื่อเราได้รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำแล้ว เราก็กระทำทางกาย วาจา ใจตามนั้น เมื่อเหตุดี (เราทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา) มากเท่าไหร่ ผลก็ดี (ความโลภ ความโกรธ ความหลงลดน้อยลง) มากเท่านั้น เปรียบเหมือนไฟกับน้ำ เมื่อมีไฟมากน้ำก็สู้ไม่ได้ ไม่สามารถดับเพลิงไฟมากมายได้ สาดไปก็เหือดแห้งไปเพราะกำลังไฟมันสูง เป็นต้น

ความโลภ ความโกรธ ความหลงของมวลมนุษย์ถ้ามันมากมันก็จะเผาพลาญมนุษย์แต่ละคนให้เกิดความวุ่นวาย เกิดความร้อนไปทุกหย่อมหญ้า และเราดูสังคมในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ ประเทศไทยก็เจริญขึ้นมากมาย (ภายใน ๕๐ ปีที่อาตามาโตมา) อย่างลาดพร้าว บางซื่อสมัยก่อนบ้านนอกมากส่วนใหญ่จะเจริญอยู่กลางเมือง เดี๋ยวนี้เจริญไปถึงอยุธยา นครนายก นครปฐม ฯลฯ  4 ทิศของกรุงเทพ ฯ เต็มไปด้วยตึกลานบ้านช่อง รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ฯลฯ เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยสะดวกแต่คนไทยก็ยิ่งมีความสุขน้อยลงไปเรื่อย ๆ เพราะไม่ได้แสวงหาความสุขที่แท้จริงให้แก่ชีวิต เราก็นึกว่าความสุขนี้อยู่ภายนอกกันหาได้จากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เราได้รับกันว่าเป็นความสุข ถ้าเราคิดอย่างนี้เราก็ต้องแสวงหายิ่งแสวงหาไปก็ร้อนไป เพราะคนเราก็ต้องไปเสียดสีกับความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาอยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ สติของเราก็ไม่มั่นซะที เมื่อสติไม่มั่นสมาธิก็ไม่เกิดเพราะ สติเป็นพ่อแม่แห่งธรรมทั้งหลายอยู่แล้ว ธรรมจะเกิดได้ก็ต้องอาศัยสติที่มีอยู่ในใจของเรา สติเป็นตัวกั้นกระแสในโลกนี้ด้วย รวม ๆ แล้วสตินี้แหละจะเป็นบ่อเกิดแห่งทุก ๆ สิ่งก็ว่าได้ เราต้องพยายามแสวงหาสติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในวัน ๆ หนึ่ง ไม่อย่างนั้นจิตใจของเราก็จะคับแคบไปเรื่อย ๆ อารมณ์เราก็จะรุนแรงไปเรื่อย ๆ ความเห็นแก่ตัว ความพยาบาท ความโกรธ ความเกลียดก็จะรุนแรงไปเรื่อย ๆ

และก็จะพอใจในโลกธรรม ๘ (ความยินดี  ๔ ความยินร้าย ๔ ไม่เป็นกลาง) ที่มากระทบในจิตใจของเรา เราว่าจิตเราเฉย ๆ จะว่าเป็นกลางก็ไม่ใช่เพราะสติเราไม่อยู่ในปัจจุบัน จิตเราไม่กระทบอะไร เมื่อกระทบเราก็รู้สึกว่าเฉย ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้เฉยด้วยสติปัญญามันเฉยด้วยความหลง พร้อมที่จะไปยินดียินร้ายเมื่อไหร่ก็ได้ (จิตไม่เป็นกลาง) ถ้าจิตเราเป็นกลางความยินดี ยินร้ายมันจะน้อย มันเกิดอยู่แต่มันน้อยเพราะมันดับเร็วด้วยสติของเรามันคอยกั้นไว้ สติกับผู้รู้ของเราก็แนบแน่นกันเพราะเรากำหนดระลึกรู้ไม่หยุด  ความเพียรของเราก็ไม่ห่างไปไหนจากจิตใจทุกฝีก้าวเราเป็นการเดินจงกรมหมดเลย ใหม่ ๆ เราก็เดินจงกรมเป็นรูปธรรมเป็น ๑ ช.ม. ๒ ช.ม. ก็ว่าไปจิตใจก็ลอยบ้างอยู่กับเนื้อกับตัวบ้าง ได้เฉพาะรูปธรรมระยะเวลาแต่ผลจากการเดินไม่ค่อยได้จนว่ามันทำมากขึ้นหลาย ๆ ปีก็จะค่อยเริ่มรู้เคล็ดลับในการที่จะทำให้จิตใจนี้มันอยู่กับสิ่งที่เราตั้งใจให้มันอยู่ ผลจากการกระทำก็เจริญทีละเล็กทีละน้อย ขออย่างเดียวให้เราตั้งใจมั่นไม่ทอดทิ้งความเพียร พยายามประคองจิตใจของเรานี้ เราจะทำหน้าที่การงานอะไรจะอยู่อย่างไรจะพูดจะทำจะคิดให้มีสติระลึกรู้ว่าการพูดอย่างนี้เป็นการเบียดเบียนไหม  ? เป็นการเสียบไหม ? เป็นการกระแนะกระแน๋หรือเปล่า ? พูดไปแล้วบุคคลนั้นจะเกิดความทุกข์หรือเปล่า ? พูดใส่กันไหม ? ล้วนแล้วแต่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติทั้งนั้น

แต่ถ้าจิตใจของเราเจริญพรหมวิหาร ๔ อยู่ตลอดเวลา (มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) จากพรหมวิหาร ๔ ที่เป็นโลกียะ มันก็จะเป็นโลกุตตระ ได้โดยอาศัยสติปัญญาของเราทั้งนั้น ใหม่ ๆ ก็ต้องใช้ความจำได้หมายรู้ (สัญญา) นี้แหละมันยังไม่เป็นปัญญาไปชนะความโลภ ความโกรธ ความหลงได้โดยสิ้นเชิงแต่เมื่อจิตของเรามีความสงบ สัญญา (ความจำได้หมายรู้) จะเกิดขึ้นเป็นญาณโดยอัตโนมัตินั่นเอง เราอยากให้มันเกิดมันก็ไม่เกิดแต่ถ้ามันจะเกิดมันก็จะเกิดเพราะเหตุปัจจัยมันพร้อม (เราจะเร่งผลไม่ได้ เราไปทำที่เหตุให้ดีแล้วผลก็ดี อย่าไปทวง) อย่างโยมทานข้าวก็ถามว่าเมื่อไหร่จะอิ่ม ? ถามไปมันก็ไม่อิ่ม มันอิ่มเมื่อมากพอ เมื่อเรารู้แล้วเราก็ควรแสวงหาจิตใจให้สงบให้มากเท่าที่จะมากได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงรับรองแล้วว่า สุขอื่นที่ยิ่งกว่าความสงบไม่มีแล้ว ครูบาอาจารย์ทรงกระทำมาแล้วและเห็นผลแล้วก็มาบอกพวกเรา พวกเราก็ถือว่าเป็นผู้มีศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหวหรือมีศีล ๕ ประการเป็นปกติ มีความเห็นที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าสอนให้เรา พินิจพิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นปกติ เช้า สาย บ่าย เย็น เราทำไปเถอะมันจะได้อะไรไม่รู้ (ทำไปก่อน) พิจารณาเช้า สาย บ่าย เย็น ถึงเราจะมีทรัพย์สมบัติมากมายแค่ไหนสุดท้ายก็ทิ้งไว้ในโลกนี้ทั้งนั้นที่จะไปกับเราก็ไปเฉพาะคุณงามความดีเท่านั้น

เมื่อเราหมั่นพินิจพิจารณาแล้วจิตใจเราก็จะสบาย ความโลภก็วางได้ ความโกรธก็วางได้ ความหลงก็วางได้ (ถึงจะวางได้ขณะจิตหนึ่ง เสี้ยวของวินาทีก็ยังดีกว่าไม่วางซะเลยหรือไม่รู้ซะเลย) เราอาศัยการใคร่ครวญในธรรมอยู่เป็นปกติจะทำให้จิตใจของเราฉลาดขึ้น ความฉลาดมันไม่ได้เกิดมาลอย ๆ แต่ต้องอาศัยการกระทำที่ถูกต้อง ถ้าจิตใจของเรามีความเห็นที่ถูกต้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ และก็ดับไป เราลองถามตัวเองดูซิว่าเรามีความโลภไหม ? เรามีความโกรธไหม ? เรามีความหลงไหม ? เราเกิดมาแล้วกี่ครั้ง ? สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาก็ตั้งอยู่และก็ดับไปแล้ว เราก็โลภมามาก โกรธมามาก หลงมามากมายมันเกิดและมันก็ดับไปอีก เดี๋ยวมันก็เกิดและก็ดับไปอีก มันเกิดมาในอดีตมันก็ดับไปในอดีต มันเกิดในปัจจุบันมันก็ดับในปัจจุบัน และมันก็จะเกิดในอนาคตอีกและมันก็จะดับในอนาคต (มันเป็นอย่างนี้แน่นอน) ให้เราหมั่นสอนใจของเรา คนอื่นสอนเราอาจจะเข้าใจไม่ชัด แต่เมื่อความทุกข์มันแผดเผ่าอยู่ในจิตใจของเราด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ครูบาอาจารย์บอกว่า เรากำลังเปิดพระไตรปิฎกของแท้ ของจริงที่พระพุทธเจ้าเคยเปิดมาแล้ว ครูบาอาจารย์ก็เคยเปิดมาแล้วด้วย เราก็กำลังจะเปิดตามท่านทั้งหลาย อันนั้นแหละเป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้แล้ว

ความทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์ท่านบอกให้กำหนดรู้ ละไม่ได้ มันเป็นผลมันไม่ใช่เป็นเหตุ เหตุของทุกข์เราก็รู้กันอยู่ ฟังกันมาก็มาก เราลองสาวปัญหาของเราหรือความทุกข์มันเกิดขึ้น มันเกิดมาจากอะไร ? ความทุกข์เกิดมาจากตัณหา (ความทะยานอยาก) อุปทาน (ความหมายมั่นในใจของเรา) สาวไป ๆ ก็เจอต้นตอแต่เราก็จัดการกับตัณหาอุปทานไม่ได้ซักที มันเกิดขึ้นเร็วมาก เกิดขึ้นมาแล้วมันก็สร้างอัตตาตัวตนในความรู้สึกของเรา ทำอะไรมันไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ขันติคือความอดทนเป็นเครื่องเผากิเลส เรามีขันติศีลก็เกิด เมื่อเรามีขันติมากขึ้นสมาธิก็เกิด ปัญญาก็เกิด ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำตามธรรมทั้งนั้น แต่ถ้าเราทำตามความรู้สึก กระทำตามใจหรือทำตามอารมณ์หรือทำตามโลกไม่จบ และก็สร้างปัญหาสะสม หาทางออกไม่ได้เพราะเราพอใจในกิเลสซะแล้วที่มันสอนเราให้เราทำอย่างนี้ แล้วเราก็ไม่ขัดอกขัดใจเลยแต่กลับไปปล่อยจิตปล่อยใจตามอำนาจของมัน แล้วเราก็ว่าเราเข้าวัดมานานไม่เห็นมันดีขึ้นเลย ก็เพราะเรายังทำไม่ถูกวิธีความเพียรของเรายังทำไม่ติดต่อ ปัญญาของเราก็ยังไม่ฉลาดพอก็อย่าท้อถอย (ขออย่างเดียวว่า อย่าท้อถอย) ต้องอดทนอดกลั้นต่อความรู้สึกที่ไม่ดีไม่งามให้ได้ทีละเล็กที่ละน้อยอาศัยการฝึกไปเรื่อย ๆ

เราเคยได้ยินครูบาอาจารย์โบราณบอกไว้ว่า เวลาความโกรธเกิดให้นับ ๑ ๑๐ แต่เมื่อเวลาเราโกรธเรากลับไม่นับแล้ว ลุยเป็นลุย แล้วเมื่อไหร่เราจะดีขึ้นซะทีหละ เราก็ไม่ทำตามครูบาอาจารย์ จริง ๆ เราต้องนับไปก่อน นับ ๑ , ๒ ...  นับไม่ได้ก็พยายามหลบหลีกไปก่อน ความโกรธนี้ไม่ใช่ของทำลายกันได้ง่าย ๆ นะถ้าจิตไม่มั่นคงไม่สงบนี้ชนะมันยากมากนะ มันเป็นตัวกิเลสตัวที่ ๒ ที่เข้มข้นขึ้น ยิ่งความหลง (กิเลสตัวที่ ๓ ละเอียดเข้าไปอีก) นี้ยิ่งไม่ต้องพูดเลยยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะเรายังไม่สามารถควบคุมความโลภ ความโกรธ ได้อย่างเต็มที่เลย เรายังกำจัดมันได้อย่างไม่เต็มที่นี้แหละความหลงก็เลยทวีคูณไปอีกหลายเท่า ยังแยกยากเลย เรามีความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็แทรกอยู่ในนั้นแหละ ตัวไหนมันจะเด่นกว่ากันเท่านั้นแหละ เหมือนศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อพูดก็เหมือนกับว่า ๓ ลักษณะหรือ ๓ อาการหรือ ๓ ชนิด แต่ถ้ามันรวมลงไปแล้วนี้มันก็แยกไม่ได้หรอก ก็เหมือนกับมีด สันมีด คมมีด ด้ามมีดแหละมันต้องใช้ ๓ อย่างนี้แหละมันจะใช้อย่างเดียวไม่ได้หรอกเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ อย่างโยมยกมีดมามันก็ติดมาด้วยกัน โยมจะแยกได้ไหมหละ โยมจะใช้สันมีดอย่างเดียดตัดเนื้อได้ไหมหละ หรือจะใช้คมมันอย่างเดียว หรือจะใช้ด้ามอย่างเดียวก็ไม่ได้อีก มันอยู่ด้วยกันแต่เมื่อเวลาเราพูดแยก ๓ อย่างคือ คมมีด สันมีด ด้ามมีด แต่เมื่อเวลาเราจะใช้ก็คือ มีด เรียกรวมเลย

เช่นกันศีล สมาธิ ปัญญารวมลงเป็นญาณ (คือความหยั่งรู้ ๆ ตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น) ถ้าเรารู้ความเป็นจริงเราก็วาง แต่ถ้าเรามันเห็นไม่ชัดมันก็ยึดเป็นธรรมดา เมื่อมีความโลภ ความไม่โลภย่อมมี เมื่อมีความโกรธความไม่โกรธย่อมมี ใครโกรธตลอดวันตลอดเดือนตลอดปีมีไหม ? ไม่มี ความหลงก็เหมือนกันใครจะหลงไปตลอดมีไหม ? ไม่มี มันก็ต้องมีความรู้มีความฉลาดบ้าง (ช่วงที่จิตใจของเราห่างจากกิเลส) แต่มันอยู่ไม่นาน มันไม่สามารถทรงความรู้สึกของความหมดจดได้เพราะกิเลสมันจรมาได้ทางอายตนะภายใน (จรมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เสมือนประตูที่จะรับสิ่งเหล่านี้ เราก็จะต้องเฝ้าประตูไว้ให้ดีด้วยสติของเราระลึกรู้ในกรรมฐาน (40 กอง) แต่อุปัชฌาย์อาจารย์ที่ท่านให้เริ่มแรกนี้เรียกว่า มูลกรรมฐาน (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลา ชำนาญได้ง่าย เพราะฉะนั้นบุคคลใดนิยมพินิจพิจารณาในธาตุ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) กรรมฐานก็จะหนักไปในทางพุทธจริต (หนักไปในทางปัญญา) บุคคลใดหนักไปในทางรักสวยรักงามก็ต้องใช้อสุภกรรมฐาน หรือบุคคลใดหนักไปในทางหงุดหงิดง่าย เคืองใจง่ายก็ต้องเจริญพรหมวิหาร 4 มีเมตตา กรุณา เป็นต้น

อารมณ์ต่าง ๆ มันมีของให้ปรับกันอยู่แล้วถ้าเราใช้เป็นมันก็จะล้างชำระอารมณ์ที่เป็นข้าสึกของใจของเราได้ เราก็ต้องเรียนรู้อารมณ์ของเราหนักไปทางไหน จิตใจของเราเป็นอย่างไร มัวเมาอะไร ลุ่มหลงเพลิดเพลินอะไร ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีกรรมฐานที่ทำให้เราเกิดปัญญาทั้งนั้นเลย เมื่อเรารู้อย่างนี้ เราเข้าใจอย่างนี้เราก็ต้องพยายามศึกษาหาความรู้จากหนังสือ CD ฯลฯ ของครูบาอาจารย์ต่าง ๆ เอาไว้ก่อน มีข้อมูลไว้ก่อนก็ดีนะ อย่างบางคนอาตมาแจกหนังสือ หรือ CD ไปก็บอกว่าให้พยายามอ่านนะ พยายามฟังนะตอนนี้อาจะไม่มีประโยชน์แต่เมื่อโยมมีความทุกข์เราจะสามารถดึงข้อมูลนี้มาใช้ได้แต่ถ้าเราไม่ศึกษาเลย มันไม่มีข้อมูลเลย ไม่มีความจำได้หมายรู้ (สัญญา) เราจะดึงอะไรมาใช้หละ ดึงไปก็มีแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง อัตตาตัวตน (ความถือตัวถือตน) ยิ่งดึงมาใช้ก็ยิ่งทวีคูณ ความทุกข์ก็ยิ่งมากขึ้น ๆ เราก็สงสัยว่าเมื่อเราทำทานแล้วแก้ทุกข์ไม่ได้ จริง  ๆ แล้วเราก็ต้องทำกุศลคือความฉลาดด้วย เราก็ต้องทำไปพร้อม ๆ กันมันถึงจะช่วยให้จิตใจของเรามีกุศลได้ มีปัญญาได้ บัดนี้อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.

---------------------------

view