เรื่องที่ ๑๗ เรื่อง กาลามสูตร ๑๐
(หลวงพ่อมิตรเทศน์ส่วนตัว)
*** ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า
*** ขอนอบน้อมต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าใครนำธรรมนั้นไปปฏิบัติแล้วย่อมพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้
*** ขอนอบน้อมต่อพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร ปฏิบัติออกจากความทุกข์เป็นธรรมทายาท
วันนี้พวกเราก็มีโอกาสได้มาสร้างคุณงามความดี เพราะความดีนี้คนดีนี้ทำได้ง่าย ส่วนคนที่อกุศลจิตมากมาย ที่เรียกว่าคนไม่ดี คนชั่วทำความดีได้ยาก แต่ทำความชั่วได้ง่าย คนดีส่วนใหญ่แล้วก็จะมีพื้นฐานความรู้สึกนึกคิดไปในสิ่งที่ถูกต้องพระพุทธเจ้าของเราทรงตรัสสอนให้พระพุทธบริษัททั้งหลายมีความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่ออย่างไร พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ๑๐ ข้อ(ในหลักกาลามสูตร) ทรงตรัสสอนไว้ดังนี้
ข้อที่ ๑ อย่าพึ่งปลงใจเชื่อตาม ๆ กันมา สิ่งที่บอกเล่าต่อกันมานมนานแล้ว
สมัยปู่ ย่า ตา ยาย สมัยประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่นมนาน บอกเล่ากันมาบอกล่าวกันมา เช่น สมัยก่อนก็มีความเชื่อว่าโลกนี้แบน หรืออย่างคนโบราณได้บอกกับอาตมาตอนเด็ก ๆ ว่ามีปลารองรับพื้นโลกไว้ มีกระต่ายอยู่ในพระจันทร์ หรือบอกว่ามีสิ่งอะไรที่แปลกประหลาดเกิดขึ้นเราก็จะแตกตื่นกันไปเชื่อ เวลาเขาบอกเขาเล่ามาเราก็เชื่อได้ง่าย อันนี้อย่าพึ่ง ให้เราฟังอย่างคนมีปัญญาคือฟังหูไว้หู อย่าพึ่งยอมรับ หรือปฏิเสธในสิ่งเหล่านั้นให้เราหาเหตุผลมาประกอบการพิจารณาของเราก่อน
ข้อที่ ๒ อย่าพึ่งปลงใจเชื่อโดยเหตุสักแต่ว่าตามสืบ ๆ กันมา
คนนี้ก็เชื่อคนนั้นก็เชื่อโดยไม่คำนึงเหตุผลเลย เช่น พ่อแม่อาตมามีความเชื่อเรื่องการถวายอาหารพระพุทธรูป ตอนเด็ก ๆ โยมแม่จะใส่สำรับข้าวเล็ก ๆ บนหิ้งพระ มดก็ขึ้น ตอนเย็นก็ต้องเก็บก็ต้องล้าง โยมแม่ก็ทำอย่างนี้ทุกวัน อาตมาก็ไม่เข้าใจ โยมแม่ก็ทำตามสืบ ๆ กันมา นึกว่าจะให้ข้าวนี้ถึงพระพุทธเจ้า ถวายท่านอยู่บนพระนิพพาน อันนี้เป็นความเห็นผิดไม่มีเหตุผล พระพุทธเจ้าบอกว่า “ต้องมีปัญญาพินิจพิจารณาสิ่งเหล่านี้ก่อน” คือให้พิจารณาก่อนการกระทำงานต่าง ๆ
ข้อที่ ๓ อย่าพึ่งปลงใจเชื่อมงคลตื่นข่าว ที่กำลังลือมาก ๆ
เช่น ตอนนี้กำลังลือกันมากว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพ ฯ บอกว่าน้ำจะท่วมแล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน จะไปอยู่ที่เขา ที่วังน้ำเขียวนี้น้ำไม่ท่วมประชาชนก็พยายามอยากจะมาอยู่วังน้ำเขียว อาตมาก็ว่าถ้าทุกคนหลายล้านคนมาอยู่ที่นี่ จะทำอย่างไรกัน จะอยู่กินอย่างไร อย่างพึ่งตื่นข่าว ค่อย ๆ พินิจพิจารณาไป แต่เป็นคนไม่ประมาท ค่อยพินิจพิจารณาดูดี ๆ ถ้าตื่นข่าวแล้วส่วนใหญ่แล้วก็จะผิดพลาดเพราะว่าข่าวนี้ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นข่าวที่กำลังเสนออกไป เราก็หาเหตุผลดูข่าวนั้น ๆ ให้ชัด
ข้อที่ 4 อย่าพึ่งปลงใจเชื่อ โดยอ้างตำราหรือคัมภีร์
บางทีสมัยก่อนนักวิชาการอ้างตำรานั้นตำรานี้มาอ้างอิงกัน แม้แต่ในพระไตรปิฎกของเรา(พระธรรมคำสั่งสอน) นี้พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงบอกว่าอย่าพึ่งเชื่อ ขนาดท่านสอนไว้นะท่านยังบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อเลย เพราะการเชื่ออย่างนั้นไม่สามารถที่จะแก้ความทุกข์ในใจได้ ท่านบอกว่าตำราเป็นเหมือนแผนที่ ถ้าเราจะเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางเราต้องเอากาย วาจา ใจนี้เดินไปไม่ใช่นั่งโต๊ะอ่านตำราแล้วเราจะถึงจุดหมายปลายทาง เมื่อเราทำอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ ในการประพฤติปฏิบัติตามตำรานั้น ๆ ให้เกิดเหตุผลประจักษ์ชัดแก่เราเองก็ทำให้เราเข้าใจชัด มีหลักฐานจากการประพฤติปฏิบัติของเราเอง ตำรานั้นก็จะเป็นตำราที่เกิดขึ้นในใจเราด้วยอันนี้สำคัญ
ข้อที่ 5 อย่าพึ่งปลงใจเชื่อโดยนึกเดาเอาเอง
หมายความถึงการใช้เหตุผลชั่วคราวหรือชั่วขณะหนึ่งตามวิสัยของคนธรรมดาทั่วไป อย่างเราเดาว่าสวรรค์เป็นอย่างนั้น นรกเป็นอย่างนั้น พระนิพพานเป็นอย่างนั้น ความสงบเป็นอย่างนั้น สมัยนี้ชอบเดากันมากเพราะว่ามันง่ายมีเหตุการณ์อะไรก็เดาไปเรื่อย ๆ ท่านบอกอย่าใช้ ใช้วิธีนี้แล้วไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราได้
ข้อที่ 6 อย่าพึ่งปลงใจเชื่อโดยการคาดคะเน
ส่วนใหญ่เราชอบคาดคะเนว่าเป็นอย่างนั้น มีการเทียบเคียงกัน เอาโน้นมายกคาดคะเนกันต่าง ๆ มามากมาย สุดท้ายก็เจอแต่ปัญหาในภายภาคหน้า ฉะนั้นการคาดคะเนจะเอาเป็นบรรทัดฐานในการผูกใจเชื่อไม่ได้ แต่คนส่วนใหญ่ก็จะชอบหรือนิยม ทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะว่าการคาดคะเน คนนั้นคาดคะเนไปในทิศทางนั้น คนนี้คาดคะเนไปในทิศทางนี้ เถียงกันทะเลาะวุ่นวายกันเพราะมีความเห็นในเรื่อการคาดคะเนนี้ไม่ตรงกัน ให้เราอย่าพึ่งคาดคะเนแต่ให้เราวางใจให้เป็นกลางไว้ก่อน
ข้อที่ 7 อย่าพึ่งปลงใจโดยการตรึกตรองตามอาการ
คือการใช้เหตุผลหรือการใช้สิ่งแวดล้อมเชื่อตามหลักการตามที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้านั้นๆ ขณะมีเหตุผลปรากฏชัดนะพระพุทธเจ้าท่านยังไม่ให้เชื่อเลย โอ้แล้วเราจะเชื่ออะไรหนอ เราต้องเจอผลจากการประพฤติปฏิบัติก่อนบางทีมันก็สิ่งที่เราเห็นนี้เป็นผลที่หลอกก็ได้เป็นการปรุงแต่ง เป็นการสร้างภาพอีกมากมายทำให้เราหลงผิดก็ได้ ต้องใช้กาลเวลาพิสูจน์นี้ก็สำคัญ ตรงนี้แหละข้อนี้ส่วนใหญ่แล้วเราจะผิดพลาดกันมากเพราะเราคิดว่าหลักฐานปรากฏชัดแล้วสิ่งนี้ปรากฏชัดแล้ว มีเหตุมีผลรองรับปรากฏการณ์นั้น ๆ เราก็เชื่อไว้แล้ว แย่เลย อย่างนี้ทำให้เราไม่เกิดปัญญาในอนาคตแน่นอน
ข้อที่ ๘ อย่าพึ่งปลงใจเชื่อโดยเห็นว่าทำตามความคิดของตนหรือว่าความเชื่อนั้นเป็นของตนหรือเข้ากันได้กับความคิดเห็นของตนเอง
ถ้ามีความคิดเห็นตรงกันส่วนใหญ่แล้วเราจะเชื่อ ไม่ว่าความคิดเห็นทางด้านการเมืองก็ตาม ทางสังคมก็ตาม ทางด้านเศรษฐกิจก็ตาม ด้านศาสนาก็ตาม เราก็จะมีความเข้าใจกันรักกัน ชอบกันเหมือนมีนิสัยเดียวกัน อันนั้นก็เชื่อยังไม่ได้
ข้อที่ 9 อย่าพึ่งปลงใจเชื่อเพราะเห็นว่าผู้พูดนี้ควรเชื่อถือได้
หมายถึงว่าผู้พูดนี้เป็นคนที่น่าเชื่อถือมาก เช่น เป็นด๊อกเตอร์ก็ตาม เป็นนักวิชาการ เป็นบัณฑิต เป็นคนเฒ่าคนแก่ เป็นพระภิกษุสงฆ์ก็ตามที เป็นอะไรก็ตามที่เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือในสังคมนั้น ๆ เมื่อเขาพูดออกมาเราก็ควรจะฟังไว้อย่าพึ่งเชื่อ แล้วเราจะเชื่อใครหละ ? ใจเย็น ๆ เราฟังไว้ก่อน แล้วพินิจพิจารณาดู เขามีเหตุมีผลในการกระทำของเขา ๆ กระทำแล้วได้ผลสิ่งเหล่านั้นเราก็พอที่จะเชื่อได้แต่ถ้าเขาพูดเฉย ๆ ก็ยังเชื่อถือไม่ได้
ข้อที่ 10 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเป็นสมณะ เป็นครูบาอาจารย์ของเรา
แม้แต่เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเองพระพุทธเจ้าก็ยังไม่ให้เชื่อเลย มีหลักฐานอ้างอิงว่าสมัยพุทธกาลมีคราวหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเทศน์ประกาศธรรมในท่ามกลางมีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมเป็นจำนวนมาก พอพระพุทธเจ้าเทศน์จบก็ตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า “ท่านเชื่อเรื่อที่ข้าพเจ้าเทศน์ไหม” พระสารีบุตรบอกว่า “ข้าพเจ้ายังไม่เชื่อพระเจ้าข้า” พระภิกษุสงฆ์ก็ตาม ประชาชนก็ตามก็คิดว่าพระสารีบุตรนี้ไม่เคารพพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกกับพระภิกษุกับประชาชนทั้งหลายว่า “หยุดก่อน ฟังเหตุผลของพระสารีบุตรก่อน” พระสารีบุตรก็ชี้แจงว่า “เหตุที่ข้าพระพุทธเจ้าไม่เชื่อไม่ใช่ว่าไม่เคารพพระพุทธองค์แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนมานี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงพิสูจน์แล้วแต่ยังไม่ปรากฏชัดแก่ข้าพเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอนำคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลอย่างที่พระพุทธองค์ทรงเกิดแล้วเป็นพยานกับตัวเราเองได้ เมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะเชื่อ” พระพุทธเจ้าทรงเปล่ง สาธุการขึ้น “ถูกแล้ว ๆ ท่านพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาไม่เชื่อในสิ่งที่ยังไม่ปรากฏชัดแก่ตนเองและก็ไม่ปฏิเสธในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฏชัดแก่คนอื่น”
คำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนมาแล้ว ๒,๕00 กว่าปีนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนชาวชนบทเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า กาลามะ หมู่บ้านกาลามะนี้เป็นนิคมเล็ก ๆ อยู่ในแคว้นโกศล ท่านสอนประชาชนเหล่านั้นไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล เนื่องจากสมัยนั้นมีเจ้าลัทธิคณาจารย์ต่าง ๆ สอนอยู่มากมายแต่ละอาจารย์ก็สั่งสอนกันไปคนละอย่าง ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงสอนว่าอย่าพึ่งปฏิเสธ อย่าพึ่งปลงใจเชื่อจนกว่าจะต้องพิสูจน์ด้วยปัญญาไตร่ตรองให้เห็นชัดด้วยตนเองว่าธรรมทั้งหลายนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มีโทษ หรือไม่มีโทษ ๔ อย่างนี้ เป็นตัวตัดสินความเชื่อ ถ้าเป็นกุศลควรปฏิบัติตาม ถ้ามีประโยชน์ไม่มีโทษควรปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นอกุศลมีโทษ ไม่มีประโยชน์ก็อย่าปฏิบัติตาม นี้แหละเป็นหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ คำว่า “ความเชื่อ”มันก็ตรงกับคำว่า “ศรัทธา” ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผลที่ชาวพุทธเรานี้ควรจะมี ไม่มีก็พยายามสร้างให้มันเกิด เมื่อก่อนนี้อาตมาตอนเป็นคฤหัสถ์ก่อนจะมาศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอาตมาก็ไม่เชื่อ เช่น เรื่องกรรมอาตมานึกว่าตายแล้วก็สูญไป ต่อมาเมื่อได้มาศึกษาแล้วก็มีความเชื่อเรื่องของกรรมคือเชื่อว่าการกระทำด้วยเจตนาแล้วไม่ว่าดีหรือชั่วนี้มีผล ฉะนั้นถ้าเราต้องการผลดี เราก็ต้องกระทำแต่สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนี้เราทำแล้วจิตใจของเราจะสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่เกิดความทุกข์ขณะทำ และหลังทำด้วย
เพราะฉะนั้นการด้านกายกรรม (การกระทำทางกาย) โดยสุจริตไม่ว่าจะเป็นการไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักขโมย การไม่ประพฤติผิดในกาม การไม่ดื่มสุราเมรัย (สิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องเรียกว่า “กายสุจริต ๔”) ส่วนวจีกรรม (การกระทำทางวาจา) คือการไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ (สิ่งเหล่านี้เป็นกรรมที่ดีทางวาจาเรียกว่า “วจีสุจริต ๔”) ส่วนมโนกรรม (การกระทำทางใจ) คือไม่โลภอยากได้มาโดยไม่ชอบธรรม (หาทรัพย์ได้เต็มความสามารถไม่เบียดเบียนผู้อื่นภายในกรอบของศีล ๕) ไม่จองล้างจองผลาญผู้อื่นไม่อิจฉาริษยาใคร ไม่ลุ่มหลงลืมตัวว่าเราจะไม่ตาย (สิ่งเหล่านี้เป็นการคิดชอบเรียกว่า “มโนสุจริต”) กรรมทั้ง ๓ (กายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม) นี้แหละจำแนกสัตว์ให้เกิดมาแตกต่างกันไปตามอำนาจของการกระทำของสัตว์เหล่านั้น ฉะนั้นถ้าเราเชื่อเรื่องของกรรมแล้วก็เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เมื่อเราเชื่อเรื่องกรรมแล้วยังไม่พอเราก็ต้องเชื่อผลของกรรมด้วยนี้ ผลนี้จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุว่าทำไว้อย่างไร ทำดีก็ได้ผลดี ทำชั่วก็ได้ผลชั่ว ความดีความชั่วไม่ได้เกิดมาลอย ๆ มีเหตุมีปัจจัยให้เกิดขึ้นคือการกระทำของเรามีเจตนา เป็นต้น ต่อจากนั้นเราทุกคนก็ต้องมีความเชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของ ๆ ตนคือใครทำอะไรไว้บุคคลนั้นจะได้รับผลของการกระทำด้วยตนเอง
เราจะเห็นได้ว่าผลของกรรมนั้นยิ่งใหญ่มาก เราไม่สามารถจะปกปิดใด ๆ ทั้งสิ้นได้มันจะปรากฏชัดในความรู้สึกของแต่ละคน ถ้าเรามีสติปัญญาพินิจพิจารณาเรื่องของกรรมดี ๆ เราจะเห็นเรื่องของกรรมนี้ชัดมาก ต่อมาท่านให้เชื่อพระปัญญาความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พวกเราเชื่อกันไหม ? ส่วนใหญ่แล้วพวกเราเป็นชาวพุทธมีศรัทธามีความมั่นคงในความสามารถของพระพุทธเจ้า เคารพบูชาท่านสูงสุดไม่มีสรณะ (ที่พึ่ง) ที่สูงไปกว่านี้อีกแล้ว เราก็เคยเปล่งวาจาว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง” เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยสติปัญญาด้วยความเพียรของพระองค์เอง เมื่อเราเชื่อว่าท่านตรัสรู้ด้วยตนเอง การตรัสรู้เองนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ เหมือนเราเรียนรู้ศาสตร์ใดก็ต้องมีครูสอนความรู้เหล่านั้นยังมีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์เลย แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นี้คือธรรม เป็นเรื่องของจิตใจที่ถ้านำมาประพฤติปฏิบัติแล้วก็จะสามารถแก้ความทุกข์ได้ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรมนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วนำความรู้มาสอนเรานี้คือความจริงเป็น ๑ไม่มี ๒ แน่นอน พระพุทธเจ้าท่านสอนตรง เมื่อเราได้นำพระธรรมไปประพฤติปฏิบัติแล้วก็จะไม่ตกไปในสิ่งที่ชั่ว เรามาดูอย่างศีล ๕ ประการ ถ้าเราสมาทานศีล ๕ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเราจะตกไปในสิ่งที่ชั่วได้ไหม ? เราก็ตกไปสู่สิ่งที่ชั่วไม่ได้เพราะว่ามีเครื่องกั้นทั้งทางกาย วาจา ใจ เราจะเห็นได้ว่าธรรมะนี้มีคุณค่ามหาศาลมาก
มีพระสงฆ์สาวกที่รู้ธรรมตามท่านก็มากมาย พระสงฆ์ท่านปฏิบัติตามธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็สั่งสอนให้ผู้อื่นกระทำตามด้วย ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนานี้แหละที่ให้เราทำตาม ถ้าไม่มีพระสงฆ์สาวกสืบทอดกันมา ๒,๕๐๐ กว่าปีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีหลวงปู่ชาที่พวกเรารู้จักนี้เป็นพยานหลักฐานเห็นกันชัด ๆ อยู่ ที่ท่านทั้งบอกทั้งสอน ทำให้เป็นตัวอย่างให้เราดูอีก ไม่อย่างนั้นธรรมะคงไม่มาถึงเราหรอก เมื่อเรามีความปลงใจเชื่อบารมีธรรมของท่านที่ท่านสอนไว้ ที่เราพยายามสร้างคุณงามความดีกันไม่หยุด การที่เรามีเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง ที่เราเรียกว่า “พระรัตนตรัย คือ สิ่งล้ำค่า ๓ ประการ” ไม่มีสิ่งล้ำค่าใดสูงไปกว่านี้แล้ว เพราะว่าพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่นำความสุข นำความสำเร็จมาสู่เรา ทำให้เรามีข้อปฏิบัติฝึกกาย วาจา ใจของเราให้สูงให้ยิ่งให้บรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือพระนิพพาน ก็ให้เราพยายามทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนานี้แหละ ตรงกันข้ามถ้าบุคคลใดไม่ได้ทำตามธรรมเขาก็จะทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง จิตใจของเขาก็จะขึ้นสวรรค์บ้างตกนรกบ้าง เพราะฉะนั้นการศึกษานี้เราก็ต้องศึกษาไม่หยุด ในพระพุทธศาสนานี้ให้ศึกษาเรื่องใกล้ตัวเรา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ) นี้แหละที่เรียกว่าธรรมของผู้เจริญ คือศึกษาเรื่องศีลทำอย่างไรให้เกิดขึ้นที่กายของเรา เราก็ต้องฝึกอบรมแล้ว
ถ้าเราไม่ฝึกไม่อบไม่รมไม่บ่มนิสัยนี้ศีลจะเกิดไม่ได้ เมื่อเราปฏิบัติแล้วจิตใจของเราก็จะสูงขึ้นไปเรื่อย ส่วนการฝึกสมาธิก็คือการฝึกจิตให้มันยิ่งอบรมจิตให้มันสงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็จะทำเกิดคุณธรรมอันสูงขึ้น ส่วนการฝึกปัญญาอันยิ่งก็เพื่อให้กำหนดรู้แจ้งอย่างสูงสุด รู้ในเรื่องของไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) บ้าง รู้เรื่องของอริยสัจทั้ง ๔ (ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค) บ้างอันนี้สำคัญมาก ในส่วนของวิมุตติคือความหลุดพ้นจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองมีความโลภ ความโกรธ ความหลง (สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องกำจัดไปให้ได้) เป็นต้น บัดนี้อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลา ให้เรานำหลักของความเชื่อที่พระพุทธเจ้าสอนนี้เรื่องกาลามสูตร ๑๐ ข้อนี้ให้เอาไปพินิจพิจารณาทำให้เกิดความเชื่อที่ถูกต้อง สิ่งที่อาตมาได้อธิบายไปนี้ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้นแหละถ้าใครนำไปประพฤติปฏิบัติก็จะนำความสุขมาให้แน่นอน พระพุทธเจ้าทรงรับรอง ให้เราพยายามทำแล้วเราก็จะประสบความสำเร็จใจชีวิตของเราแน่นอน อาตมาก็ขอยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.
--------------------