สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ทะเลาะกันผิดทั้งคู่

 

เรื่องที่ ๓๐ เรื่อง ทะเลาะกันผิดทั้งคู่

วันนี้พวกเราได้มีโอกาสได้มาทำบุญถวายสังฆทาน การทำบุญถวายสังฆทานนี้จะมีได้ก็ต้องอาศัยบารมีของพระพุทธเจ้าที่ท่านได้บัญญัติ (บอก) ไว้ และก็มีสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านี้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนามาถึงพวกเราเราจึงได้มีโอกาสทำบุญถวายสังฆทานไว้ในพระพุทธศาสนา เพราะการทำทาน (การให้) ไว้ในบุคคลแห่งทักษิณาทานนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่านั้นคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ (เพื่อออกจากความโลภ ความโกรธ ความหลง โดยมีจิตใจที่บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง) พวกเราก็ได้มีโอกาสมาถวายทักษิณาทานแก่สงฆ์หมู่เหล่านั้นเพื่อให้ท่านนี้ได้ประกาศธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้แก่ประชาชนทั้งหลายนี้ได้รู้ ได้เข้าใจ ธรรมที่สามารถจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน (แก้ความทุกข์ให้แก่พวกเราได้) ยิ่งทุกวันนี้ความทุกข์มันก็มีมากขึ้นตามความสามารถของมนุษย์ที่ผลิตสินค้ามากมายมาสนองความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความทุกข์มันก็เลยเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือน ๆ กัน ยิ่งมนุษย์มีความสะดวกสบายมากเท่าไหร่ความทุกข์ของมนุษย์ก็จะมากเท่านั้น เรานึกว่าการที่พวกเรามีอะไรมาก ๆ เราจะสบาย สะดวกสบาย แต่กลับกันกับคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ทุกอย่างถ้ามันเกินพอดีมันจะเกิดความทุกข์อย่างเช่นพวกเรานี้บริโภคอาหารอร่อย ๆ ร้านต่าง ๆ มากมายในเมืองไทยเรานี้ยิ่งเราได้สัมผัสอาหารที่อร่อย ๆ มาก ๆ เมื่อเราไปทานอาหารที่ไม่อร่อยมันก็จะทานข้าวไม่ลง รู้สึกว่าทานอร่อยก็ไม่อร่อยไปหมด ร้านอร่อย ๆ มันก็มีไม่มากยิ่งเราสัมผัสรสที่ประณีตขึ้นก็ทำให้การเป็นอยู่ของเรานี้มันแคบลง ตัวอื่นก็เหมือนกันเราอยู่กับเครื่องใช้ไม้สอยที่ประณีตมาก ๆ (เราอยู่ไม่พินิจพิจารณาหรือพิจารณาไม่เป็นมันก็เกิดโทษ ถ้าเราพินิจพิจารณามันก็จะไม่มีโทษ) เราก็แสวงหารูปสวย ๆ เสียงเพราะ ๆ กลิ่นหอม ๆ รสอร่อย ๆ สัมผัสที่นุ่มนวลต่าง ๆ ยิ่งหาไปมันก็น้อยลง ๆ ทำอะไรก็ไม่ถูกใจไปหมด มันไม่สบาย จิตใจของเรานี้มันอึดอัดคับแคบไปหมด (มีแต่ความทุกข์ไปหมดเลย) ไอ้นี่ก็ไม่ถูกใจ ไอ้โน้นก็ไม่ถูกใจ มองไปทางซ้าย-ขวาก็ไม่ถูกใจหมด ทำงานที่ทำงานก็ไม่ถูกใจ เพื่อนก็ไม่ถูกใจ สุดท้ายก็ไม่ถูกใจกับตัวเอง จิตใจจะว้าวุ่นมาก คนในยุคปัจจุบันคิดเยอะมากคิดมากมายนึกว่าเราทำอยู่นี้มันไม่ดี (ที่ทำงานไม่ดี เพื่อนไม่ดี อะไรก็ไม่ดี มีแต่ความทุกข์ เบื่อ) แต่ถ้าพวกเราเข้าใจว่าชีวิตของเราคือการปฏิบัติธรรม (ทำหน้าที่นั้น ๆ ให้มันถูกต้อง ให้มันสมบูรณ์ในการกระทำของเรา)

แต่ถ้าเราทำเพราะความจำเป็นที่เราต้องทำเพื่อให้เราได้เงินมาเพื่อซื้อปัจจัย ๔ การทำงานของเราก็จะตกนรกทันที (ด้วยความทุกข์) ขณะทำงานอยู่ก็มีความทุกข์เพราะว่าเราทำเพื่อที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมาดำรงชีวิตแต่อีกคนหนึ่งทำงานเพื่อปฏิบัติธรรม (ทำหน้าที่นั้น ๆ ให้มันถูกต้อง ให้มันสมบูรณ์ในการกระทำของเรา) เมื่อมีคนว่ากล่าวติเตียนเราก็ยอกมรับได้ เมื่อมีคนกล่าวสรรเสริญเราก็ยอมรับได้ แต่ทุกวันนี้เราทำงานกันเพื่อต้องการให้คนสรรเสริญอย่างเดียว มันเป็นไปไม่ได้แต่ทุกคนก็ไม่เข้าใจก็มีความรู้สึกว่าเรารับผิดชอบอยู่คนเดียว เราทำงานหนักอยู่คนเดียว คนอื่นไม่เห็นทำเลย (เรามองไปในทางให้มันเกิดทุกข์บ่อย ๆ) มันก็เลยเบื่อเมื่อเบื่อก็เกิดความอึดอัดเกิดความทุกข์อย่างมหาศาลก็เลยจะหนีความทุกข์ชนิดนั้นไป หนีไปก็เจออีกไม่ว่าเราจะไปอยู่ในองค์กรไหน ๆ ก็ตามเราก็ต้องเจอในสภาพอย่างนี้เพราะว่าใจของเรานี้มันไม่ฉลาดเพียงพอที่จะแก้ปัญหาให้กับตัวเราเองได้ ปัญหานี้เกิดจากตัวเราทั้งนั้นแหละไม่ได้ไปเกิดจากที่อื่นถ้าตัวเราฉลาดเสียอย่างเดียวเราก็เมื่อมีปัญหาอะไรเราก็แก้ได้ ทุกวันนี้เราฉลาดไม่พอคือฉลาดด้านเดียว (ด้านวิชาความรู้) แต่เราไมฉลาดในการประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง

เมื่อเราเกิดมานี้เราต้องการความสุขแต่ความสุขที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็มีนะถ้าเราประพฤติกายของเราให้บริสุทธิ์ วาจาของเราให้บริสุทธิ์ จิตใจก็จะบริสุทธิ์ด้วย อย่างศีล ๕ ประการนี้เราฟัง ๆ แล้วก็ว่ามันไม่ยากแต่เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วมันก็ยาก ฉะนั้นถ้าบุคคลใดมีศีล ๕ ประการตลอดชีวิตได้บุคคลนั้นก็ประเสริฐ บางคนมาว่าเราเป็นสัตว์เราก็เครียดนะ จริง ๆ แล้วให้เรามาพินิจพิจารณาเราเป็นจริงไหม ? ถ้าเราไม่เป็นจริงเราก็สงบ ถ้าเรามีเครื่องกั้นของความเป็นสัตว์ได้คือศีล ๕ ประการนี้แหละเป็นเครื่องกั้นได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะตกเป็นสัตว์ก็ได้ไม่ใช่ว่าไม่ได้ เวลาเรามีความโลภ มีความโกรธ มีความหลงอยู่จิตใจของเราก็เปลี่ยนสภาวะเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง ไม่ใช่ว่าเราจะทรงสภาพความเป็นมนุษย์ได้ตลอดถ้าเราไม่มีเครื่องกั้น (ศีล ๕ ประการ) หรือว่าเราร่างกายเราเป็นมนุษย์สภาวะจิตใจของเราเป็นพรหมบ้างก็ได้ เป็นเทวดาบ้างก็ได้ เป็นผู้ประเสริฐเป็นพระก็ได้เป็นได้ตั้งหลายอย่าง จิตใจนี้มันแปรสภาพได้ทางความรู้สึกที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายแล้วก็ส่งมาที่ใจ มันเปลี่ยนสภาพได้ แต่ถ้าเรามีสติรักษาใจของเราไว้ไม่ให้มันเปลี่ยนสภาพไปในทางที่ตกต่ำนี้ได้มันก็ดี มันจะไม่ร้อน

แต่ถ้าเราเปลี่ยนภูมิไปในทางที่ตกต่ำกว่ามนุษย์ (สัตว์เดรัจฉาน ,อสุรกาย ,เปรต ,สัตว์นรก) เมื่อไหร่เราร้อนเลยก็วุ่นวายแล้ว เป็นเปรตก็วุ่นวายมากขึ้น เป็นสัตว์นรกก็วุ่นวายใหญ่ ถ้าจิตใจของเราเป็นมนุษย์เราก็สงบ เป็นเทวดาก็เยือกเย็น (คุณธรรมของเทวดา ๒ คือ มีหิริ-ความละอายต่อบาป ๑ มีโอตตัปปะ-ความเกรงกลัวผลของบาป ๑) เป็นพรหมก็สงบมากขึ้น (คุณธรรมของพรหมคือพรหมวิหาร ๔ มี ๑. เมตตา ๒. กรุณา ๓. มุทิตา ๔. อุเบกขา) ถ้าจิตใจของเราเป็นพระผู้ประเสริฐก็สงบมากขึ้นไปอีก (พระก็พินิจพิจารณาสรรพสิ่งทั้งหลาย เห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ เห็นสภาวะที่เป็นทุกข์ทนยากอยู่เป็นประจำ เห็นสภาวะที่ไม่ใช่ตัวตนของเรา ๆ บังคับบัญชามันไม่ได้อยู่เป็นประจำ พินิจพิจารณาที่ร่างกายของเรานี้แหละทั้งรูปและนามของเรานี้แหละมันเกิดขึ้นตั้งอยู่และก็ดับไป เห็นความแปรเปลี่ยนและก็ดับไป เสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา) เราจะได้ปล่อย จะได้วาง เราจะได้ละความรู้สึกที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงได้จากการประพฤติปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมที่ไม่ถูกต้องเราก็แก้ความทุกข์ไม่ได้

เพราะฉะนั้นความทุกข์จะลดน้อยไปได้ด้วยการที่พวกเรามีสติปัญญาพินิจพิจารณาธรรมอยู่เป็นประจำซึ่งความเป็นจริงที่ปรากฏชัด เช่น เรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกสิ่งเป็นไปตามกฎของกรรม (กระทำสิ่งใดไว้ไม่ว่าดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว) อันนี้แหละที่จะทำให้จิตใจของเรานี้ค่อย ๆ ละ ค่อย ๆ วางได้ แต่ถ้าเราไม่พินิจพิจารณาเรากลับปฏิบัติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม (อธรรม) เช่น เพิ่มความอยากมี อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากเด่น อยากดัง อยากจะอะไรอีกมากมายไปหมดเลย เป็นต้น มันก็เพิ่มความร้อน ความหนักใจ ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจให้กับตัวเราโดยไม่รู้ตัว เราจะเอาอะไร ? ทุกคนบอกต้องการความสุข แต่เราไม่ทำเหตุของความสุขแล้วเราจะได้ไหม ? (ให้เราถามตัวเราเอง) ไม่ได้ เราต้องหาเหตุแห่งความสุข การทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ทำใจให้สงบนี้แหละจะเป็นเหตุแห่งความสุข แต่ถ้าเราทำตามความรู้สึกของเราเหมือนเดิม (มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นตัวเร้า) ก็เป็นเหตุของความทุกข์ แล้วเราจะไปโทษใครหละ ? ก็ต้องโทษที่เราตั้งจิตใจของเราไว้ผิด มีความดำริ (คิด) ในใจของเราผิด การะทำของเราเลยผิดไปด้วย

เพราะฉะนั้นเราต้องดำริออกจากความทุกข์ ดำริออกจากการเบียดเบียน ดำริออกจากการพยาบาท ดำริออกจากการปองร้ายกัน ให้เราดำริสิ่งเหล่านี้ถึงจะถูกต้องแต่ทุกวันนี้เราดำริสิ่งที่ตรงข้าม (ดำริเบียดเบียนกัน ปองร้ายกัน พยาบาทกัน อิจฉาริษยากัน) ทำให้จิตใจของเรานี้ไม่สงบซะที เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วว่าพระพุทธเจ้าสอนอย่างไร ? สอนให้เราเจริญพรหมวิหาร ๔ (ให้เราเจริญเมตตา-ความรักตนเองและผู้อื่น ,เจริญกรุณา-ปรารถนาดีกับผู้อื่น ,เจริญมุทิตา-ยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี ,เจริญอุเบกขา-วางเฉยเมื่อประทบสิ่งที่สมปรารถนาและสิ่งที่ไม่สมปรารถนา ยอมรับกฎของกรรม) ถ้าเราไม่เจริญมันไม่เกิดหรอก เมื่อเห็นคนอื่นผิดพลาดก็คิดว่าเราก็เคยผิดพลาดมาแล้ว คนนี้ทำอย่างนี้ไม่ดีชาติใดชาติหนึ่งที่ผ่านมาเราก็เคยทำมาแล้ว เราก็จะไม่ทำอีก เราก็จะไม่โกรธตอบคนที่ทำให้เราโกรธ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดโกรธตอบผู้นั้นเลวกว่าผู้ที่ทำให้เราโกรธ พระพุทธเจ้าสอนอีกว่า คนที่ทะเลาะกันนั้นผิดทั้งคู่เพราะที่ถูกก็คือคนที่ไม่ทะเลาะกัน เมื่อเรารู้แล้วอย่างนี้เราก็จะไม่ทะเลาะกับใครด้วยกาย วาจา ใจ เราก็จะต้องพยายามทำจิตของเรานี้ ให้มีความฉลาด ปล่อย วาง ละอารมณ์ที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงให้ได้ ละอารมณ์ที่สร้างอัตตา (ตัวตน) ของเรานี้ให้ได้ (อันนี้สำคัญ)

หลวงปู่ชาบอกว่า อะไรก็ตามในโลกนี้ไม่สำคัญ ใจของเราสำคัญที่สุด เราต้องทำใจของเรานี้ให้ฉลาดให้ได้ ให้มีปัญญาให้ได้แก้ความทุกข์ของเรานี้ให้ได้ เราคิดว่าสิ่งสำคัญกว่าใจเรานั้นไม่ใช่เพราะว่าสิ่งอื่นต้องมาเกี่ยวข้องกับใจเราทั้งนั้นแหละ เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องกับใจของเรา เราก็ต้องทำใจของเรานี้ให้ฉลาด ให้มีปัญญา โดยมีสติรักษาใจของเรามีสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เราคิดอะไร ? คิดอย่างไร ? เราจะแก้ไขความคิดที่ไม่ดีอย่างไร ? เราจะรักษาความคิดดีอย่างไร ? ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่อยู่ที่ความตั้งใจมั่นของเราทั้งนั้น ทุกวันนี้จิตใจของเรามันไม่ตั้งใจมั่น มันไหวไปตามความรู้สึก ตามความคิดนึกปรุงแต่งเลยทำให้จิตใจของเรานี้เสียสมดุล ไม่สงบ วุ่นวาย เห็นรูปก็วุ่นวาย ฟังเสียงก็วุ่นวาย ได้รับกลิ่นก็วุ่นวาย ได้รับรสก็วุ่นวาย ได้สัมผัสต่าง ๆ ก็วุ่นวาย ได้ธรรมารมณ์ต่าง ๆ ก็วุ่นวายไปหมด เพราะเราไม่เข้าใจว่ารูปไม่เที่ยง เวทนา (ความรู้สึกทางอารมณ์ต่าง ๆ -ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่เที่ยง โยมลองคิดดูซิ ? ถ้าเวทนาเที่ยงมันคงจะแช่อยู่นาน เราบอกความสุขว่าเจ้าอย่าหายไปนะอยู่ในใจของเราอันนี้เราชอบความสุขนะ มันอยู่ไหม ? ไม่อยู่ ความทุกข์ก็เหมือนกัน ความทุกข์เราไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้นให้ออกไปเดี๋ยวนี้ มันออกไหม ? มันก็ไม่ออก (เหตึปัจจัยมันยังไม่ออกมันก็ไม่ออกเมื่อเหตุปัจจัยมันจะออกมันจะหมดมันก็จะหมด-ล้วนแล้วอยู่ที่เหตุปัจจัยมันจะเกิดมันก็จะเกิด มันจะดับมันก็จะดับ) ความสุขผ่านมามาก ความทุกข์ผ่านมามาก แล้วเราก็จะผ่านความสุขอีก ผ่านความทุกข์อีก แต่ความสงบไม่เกิดซะที

พระพุทธเจ้าบอกว่า ความสงบนี้เป็นความสุขของมวลมนุษย์ทั้งหลาย สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบจากความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่มี เมื่อเรารู้อย่างนี้เราก็ต้องมาสร้างความสงบจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็ต้องเดินตามทางอริยมรรค (หนทางอันประเสริฐคือ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา) บุคคลใดเอาใจเดินไปทางนี้แล้วกิเลสมาร (ความทุกข์) ตามไม่ทัน เพราะว่าความทุกข์มันไม่เดินทางนี้ (ความทุกข์มันจะเดินตามทางความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัว อุปทานหมายมั่นต่าง ๆ มากมาย ทิฐิมานะ) แต่ถ้าเราเดินตามทางของทาน ศีล สมาธิ ปัญญาแล้วมันก็จะค่อย ๆ ละ ค่อย ๆ วางความโลภไป ความโกรธไป ความหลงไป ความเห็นผิดไปทีละเล็กทีละน้อย จิตใจของเราก็สงบไปเรื่อย ก็ละไปเรื่อย สลัดคืนความรู้สึกที่ไม่ดีออกไปเรื่อย ๆ ทั้งหมดอยู่ที่การกระทำของพวกเรานะ ความสุขมันจะเกิดขึ้นมาจากการกราบไหว้ อ้อนวอนขอความสุขจงมีแก่ข้าพเจ้านั้นไม่ได้ มันไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ เพราะมันต้องเกิดจากการฝึกปฏิบัติจากกาย วาจา ใจให้ถูกต้องเท่านั้น ให้เราพยายามกัน พยายามรักษาใจของเราไว้ให้มั่นคงไว้ คุณงามความดีนี้ใครไม่ทำเราก็ไม่ว่าแต่เราต้องทำเพราะเราต้องการความสงบที่แท้จริงของชีวิต เราก็ต้องพยายามหาเหตุแล้ว เรารู้แล้วว่าพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้เราก็ต้องพยายามหละ พยายามละความชั่ว พยายามสร้างความดี พยายามทำจิตใจของเราให้ผ่องใส

ให้เราพยายามทุกลมหายใจเข้า-ออกนั่นแหละ ถ้าเราไม่พยายามจิตใจของเราก็จะไหลไปสู่ความโลภ ความโกรธ ความหลง (ไหลลงไปฝ่ายต่ำ) ธรรมะเป็นของสูงนะ ทวนกระแสความรู้สึก ทวนอารมณ์ต่าง ๆ มันถึงจะไปสู่ธรรมได้ แต่ถ้าเราไม่ทวนเราก็ตกไปตามกระแสของโลก ให้เราเข้าใจว่าชีวิตของเรานี้เกิดมาเพื่อแสวงหาความสงบ แสวงหาปัญญาเท่านั้น แก้ความทุกข์เท่านั้น ไม่ได้มาจากการเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นของมายา เป็นของไม่ยั่งยืน สิ่งเหล่านั้น (รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสประณีต ธรรมารมณ์ที่ชอบใจ) เสพไปมากเท่าไหร่ยิ่งร้อน เราต้องเสพสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญาคือพินิจพิจารณาว่า รูปไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง กลิ่นไม่เที่ยง รสไม่เที่ยง สัมผัสไม่เที่ยง ธรรมารมณ์ต่าง ๆ ไม่เที่ยง อาศัยการแปรเปลี่ยน อาศัยการสืบต่อทำให้เราหลงได้ สิ่งนี้ทำให้เราหลงสิ่งนี้ก็ทำให้เรารู้ (ความหลงกับความรู้อยู่ด้วยกัน อยู่ที่ใจของเรา) ถ้าใจของเรามันฉลาดมีสติปัญญาแล้วสิ่งที่เราหลงเราก็รู้ได้ด้วยการที่เรารักษาใจของเรา แต่ถ้าเราไม่รักษาใจของเรา ๆ ก็หลง หลวงปู่ชาบอกว่า คนหลงโลกก็คือหลงอารมณ์ ถ้าเราไม่อยากไปหลงโลกเราก็อย่าไปหลงอารมณ์ รู้อารมณ์ตามความเป็นจริงว่ามันเกิดขึ้นตั้งอยู่และก็ดับไป เอาอารมณ์เอาความคิดเป็นเราไม่ได้เลย (อันนี้สำคัญ) บัดนี้ อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.

---------------------------

view