สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

สติเป็นพ่อแม่แห่งธรรม

 

เรื่องที่ ๓๕ เรื่อง สติเป็นพ่อแม่แห่งธรรม

ธรรมะเราก็ฟังมาเยอะ อ่านมาก็มาก ปฏิบัติธรรมกันมา รักษาศีลเจริญภาวนากันมาอยู่ตลอดเวลา แต่ทำไมเวลาเรามีความทุกข์ (ปัญหา) เราแก้ไม่ทันเพราะเราไม่สามารถที่ระลึกรู้คำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ที่เราเคยศึกษามาแล้วมันลืมไปหมดเลย (มันมืดแปดด้าน) เราไม่สามารถที่จะดึงธรรมะจากความจำมาใช้ได้ทันเพราะธรรมะนั้นที่เราฟังมา ที่เราอ่านมานั้นยังไม่เป็นของเรายังเป็นของพระพุทธเจ้ายังเป็นของครูบาอาจารย์อยู่ที่ท่านรู้ที่ท่านเห็นแล้ว เราต้องสร้างความรู้ของเราทางด้านธรรมะให้เกิดขึ้นมันถึงจะทันกับปัญหาที่เราจะแก้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติเป็นพ่อแม่แห่งธรรม ถ้าเรามีสติระลึกรู้ไว้ ยืน เดิน นั่ง นอน เราต้องมีสติ ทุกทีเราใจลอยไปเรื่องราวต่าง ๆ เยอะมาก วันหนึ่งไม่รู้เท่าไหร่นับไม่ได้ ตรงนี้แหละที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันที่มันลึกซึ้ง เราต้องตั้งสติใหม่ กำหนดรู้ใหม่ ระลึกรู้ใหม่ถึงคำสั่งสอนของพระผู้มีพรภาคเจ้า เมื่อเราจะเดินไปไหนทำงานอะไรเราก็สามารถฝึกสติได้ อย่างเราทำคอมพิวเตอร์อยู่นี้ ไม่ว่าในการอ่าน การดู เราต้องมีสติว่าตอนนี้เรากำลังคิดเรื่องนี้อยู่ กำลังจับเมาส์อยู่นะ กำลังเคลื่อนในหน้าจอต่าง ๆ เราก็ต้องระลึกรู้ตาม การฝึกสตินี้ไม่ใช่ว่าเราจะฝึกเฉพาะตอนนั่งสมาธิ ตอนเดินจงกรม แค่นี้มันน้อย

ไปครูบาอาจารย์บอกว่ามันต้องฝึกทุกอิริยาบถ เรายืนทำอะไรเราก็รู้ เรานั่ง เราเดิน เราก็รู้หมด เมื่อเราทำอย่างนี้บ่อย ๆ ความรู้มันจะรวมตัวมาเรื่อย ๆ เพราะผู้รู้ของเรามันกระจายไป เมื่อเรารู้ตัวมาก ๆ ขึ้น ตาเรามองดูรูปเราก็เข้าใจตามความเป็นจริง เพราะความจริงมันอยู่ในใจเราเราเลยเข้าใจสิ่งเหล่านั้น แต่เมื่อความจริงมันไม่อยู่ในใจเรา เราไม่เข้าใจเพราะใจเราไปคิดเรื่องโน้น เรื่องนี้ เมื่อเรามองดูรูปเราก็มองด้วยสัญชาตญาณ เมื่อเราฟังเสียงก็ตาม ดมกลิ่นก็ตาม ลิ้มรสก็ตาม สัมผัสต่าง ๆ รับรู้ธรรมารมณ์ต่าง ๆ เราก็ทำด้วยสัญชาตญาณของเรา มีอุปาทานหมายมั่นไป ยึดถือไป แต่ถ้าเรามีสติ เราจะเห็นความไม่เที่ยงของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ ธรรมารมณ์ต่าง ๆ เพราะว่าเราพิจารณาอยู่แล้วความไม่เที่ยงนี้มันประทับอยู่กับผู้รู้ของเราอยู่แล้ว เมื่อสิ่งอะไรมันผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเราเลยเข้าใจชัดว่าไม่เที่ยงจริง ๆ เมื่อความไม่เที่ยงเกิดขึ้นความรู้สึกของเราอะไรมันจะเกิดตามมา ? คือความปล่อยวางหรืออุปทานมันโดนทำลายไปทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อย ๆ ทีละความรู้สึกไปเรื่อย ๆ ทำลายไปครั้งหนึ่งจิตเราก็สว่างครั้งหนึ่ง จิตเราก็มีปัญญาครั้งหนึ่ง จิตเราก็สงบครั้งหนึ่ง เมื่อเราฝึกอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้มาก ๆ ซึ่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ (กาย เวทนา จิต ธรรม) เราก็ทำงานได้

ถ้าการตรัสรู้หรือเข้าใจธรรมะเฉพาะการนั่งสมาธิแล้วละก็มันจะไม่ยุติธรรมกับมนุษย์เราจะรู้เฉพาะเมื่อเรามีโอกาสนั่งอย่างเดียวไม่ได้ ยืนเราก็รู้ได้ เดินก็ได้ นอนก็ได้ ดูอย่างพระอานนท์ท่านสำเร็จพระอรหันต์ด้วยอิริยาบถนอน ครูบาอาจารย์บางองค์ก็สำเร็จพระอรหันต์ด้วยอิริยาบถการเดินจงกรมบ้าง บางองค์สำเร็จพระอรหันต์ด้วยอิริยาบถนั่งสมาธิบ้าง บางองค์สำเร็จพระอรหันต์ด้วยอิริยาบถยืนบ้างก็มี เพราะฉะนั้นอิริยาบถทั้ง ๔ (ยืน เดิน นั่ง นอน) สามารถที่จะเข้าใจธรรมะคือความเป็นจริงที่ปรากฏชัดอยู่ได้ ไม่ว่าจะอีกกี่ปีก็ตาม พันปีก็ตามมักก็ปรากฏชัดอยู่ เรียนรู้แทนกันไม่ได้ ดูอย่างทางโลกก็ไม่สามารถเรียนรู้แทนกันได้ เราไปเรียนอะไรมาเราก็ได้ความรู้ในศาสตร์นั้น ๆ เราจะไปเรียนรู้แทนลูกแทนหลานเราได้ไหม ? ไม่ได้ เช่นกันความทุกข์นี้เราจะบอกให้เขาวาง ถึงจะบอกอุบายเท่าไหร่เราก็ไม่สามารถแก้ความทุกข์ให้เขาได้ถ้าเขาไม่นำธรรมะไปปฏิบัติ เขาต้องแก้ด้วยตนเองเหมือนกับเขาหิวข้าวอยู่ เราก็บอกว่าข้าวอยู่ตรงนั้นกับข้าวอยู่ตรงนั้น เขามีหน้าที่ต้องทานเองความหิวเขาก็จะหายไป เราไม่สามรถทานอาหารแทนเขาได้ฉันใดก็ฉันนั้นธรรมะก็เหมือนกันทำแทนกันไม่ได้ เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติเองให้เกิดผลเองที่ใจของเรา ๆ ถึงจะได้เข้าใจธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ได้

เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีที่แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนเรื่องกาย สอนเรื่องความทุกข์นี่แหละ (ใบไม้กำมือเดียว) ท่านทรงสอนเรื่อง อริยสัจ ๔ (ทุกข์ ๑ เหตุของความทุกข์ ๑ ความดับทุกข์ ๑ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๑) ท่านสอนตรงนี้แหละ ย้ำตรงนี้ ไม่ได้ไปย้ำตรงไหน ตอนที่เราสวดมนต์ตอนเช้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่า อุปทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ (ความยึดมั่นในสกลร่างกาย) มีส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม รูปธรรมก็คือสกลร่างกายที่เรามองเห็นมีอวัยวะน้อยใหญ่ที่เรามองเห็นนี้ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ที่หมอเขาศึกษาในส่วนของร่างกาย ๓๒ ส่วนนี้ ผ่าเข้าไปก็หัวใจ มีม้าม มีตับ มีปอด มีลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ มีเยอะแยะไปหมดนี้คือส่วนของกายเรียกว่า รูปธาตุ ย่นย่อก็เหลือเพียง ๔ ส่วน คือ ของแข็งเรียกว่า ดิน ๑ ของเหลวเรียกว่า น้ำ ๑ ลมหายใจเป็นธาตุอาศัยเรียกว่า ลม ๑ ความร้อนเป็นธาตุอาศัยให้ความอบอุ่นและก็ย่อยอาหารก็เรียกว่า ไฟ ๑ เหล่านี้เป็นส่วนของรูปธรรม ในส่วนของนามธรรมนี้มี ๔ ส่วน (เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑) เวทนา มี ๓ อาการคือ

๑.                        เวทนา มีสุขเวทนา เช่น สุขจากการฟังเพลลง สุขจากการดูหนัง สุขจากการที่เราได้อะไรมาก็ตามที่สมปรารถนา เป็นต้น

๒.                      ทุกขเวทนา  เช่น ทุกข์จากการที่เราไม่สมปรารถนา เป็นต้น

๓.                       ไม่สุขไม่ทุกขเวทนา หรือที่เราเรียกว่าเป็นกลางไม่สุขไม่ทุกข์

ในส่วนของ สัญญา คือความจำ ที่เราได้เรียนรู้ในโลกสมมติที่เขาสมมติกัน เราอยู่ในโลกสมมติส่วนหนึ่งนะเราต้องเข้าใจ เราอย่าไปติดอะไรมากมาย เช่น เขาสมมติว่าชื่อนั้นชื่นนี้แล้วแต่วัตถุสิ่งของ ก็สมมติไปตามภาษาของประเทศนั้น ๆ มากมาย เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจกันในโลกมนุษย์ในโลกแห่งสมมติ เป็นต้น อย่างเราคุยกันก็มีกล่าวบางครั้งว่า สมมติว่า... ถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะแก้อย่างไร ? ถ้าไม่สมมติเราก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เราก็ต้องใช้สัญญาคือความจำได้หมายรู้ สัญญาจะหมดไปตอนนอนหลับ ,ในส่วนของ สังขาร คือการปรุงแต่ง เราก็คิดไปเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง คิดเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ปัจจุบันบ้าง สังขารนี้เป็นตัวร้าย คิดไปคิดมาคิดที่จะเบียดเบียนตนเองก็ได้ คิดที่จะเบียดเบียนคนอื่นก็ได้ ,ตัวสุดท้ายคือในส่วนของ วิญญาณ คือการรับรู้เราเรียกว่าตัวจิตก็ได้จิตเราจะรับรู้เรื่องรูปก็ต้องอาศัยตา (อาศัยประตูเข้า) จิตเราจะรับรู้เรื่องเสียงก็ต้องอาศัยหู จิตเราจะรับรู้เรื่องกลิ่นก็ต้องอาศัยจมูก จิตเราจะรับรู้เรื่องรสก็ต้องอาศัยลิ้น จิตเราจะรับรู้เรื่องความร้อนความหนาว ความนุ่มก็ต้องอาศัยอาศัยสัมผัสจากผิวหนัง

กระบวนการคือ ร่างกายนี้เมื่อวิญญาณรับรู้ในส่วนใดก็ตามก็จะส่งไปให้วิญญาณคือจิตนี้รับรู้ เมื่อเรารับรู้มันจะเกิดสัญญาว่าเรารับรู้เรื่องอะไร แล้วมันจะเกิดสังขารความปรุงแต่งในสัญญานั้น ๆ ในเรื่องราวนั้น ๆ มันก็จะเกิดเวทนาว่าเราชอบ เราไม่ชอบ เราเฉย ๆ มันจะส่งกันไปเป็นช่วง ๆ อย่างนี้ เมื่อเกิดเวทนาแล้วมันก็จะเกิดตัณหาคือความทะยานอยาก ตรงนี้แหละที่ทำให้เราวุ่นวาย หลังจากนั้นก็เกิดอุปาทาน เกิดการกระทำต่าง ๆ มากมายเกิดความสุขความทุกข์เยอะแยะ พระพุทธเจ้าถึงบอกให้เราว่า ให้รู้ทันเวทนา เมื่อเกิดสุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม ไม่สุขไม่ทุกขเวทนาก็ตาม ก็ให้เรารู้ทัน แล้วเราจะเอาอะไรให้มันรู้ทันหละ ? เราก็ต้องเอาสติที่รักษาใจของเรานี้ ผู้รู้ของเรานี้ให้ทันว่าตอนนี้จิตของเรามีเวทนาแล้วนะ มีความสุข มีความทุกข์ มีความเฉย ๆ แล้วนะ เราต้องทำให้มันมีความสงบ พิจารณาความไม่เที่ยงของเวทนา ของความสุขหรือความทุกข์ ความยินดีหรือความยินร้าย พิจารณาว่าความสุข ทุกข์นี้มันก็ไม่แน่นอนอะไร เราจะไปดีใจอะไรกับมันมากมาย เราจะไปทุกข์ใจอะไรกับมันมากมาย ปล่อยให้มันเป็นแค่เวทนาไป เราก็จะไม่ไปหมายมั่นในสิ่งเหล่านั้น ใหม่ ๆ เราก็หมายมั่นเพราะเราไม่เข้าใจ เราไปเอาเวทนาว่าเป็นเรา เอาความสุขเป็นเรา เอาความทุกข์เป็นเรา

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรา (ในบททำวัตรเช้า) ตรง ๆ นะว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่บังคับมันไม่ได้มันไม่ใช่ตัวตนเราหรอก เราคิดดูซิว่าเราบังคับมันได้ไหมหละ ? ความสุขเหลือเกินให้มันอยู่นาน ๆ มันก็หายไปเราก็หาใหม่ ส่วนความทุกข์มันก็อยู่นานเหลือเกินไม่ยอมหายไปเร็ว ๆ เหตุปัจจัยมันจะหายจะดับมันก็ดับ เหตุปัจจัยมันจะอยู่มันก็อยู่ มันอยู่ที่สติปัญญาของเราว่าเราจะทันเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไหม ? สิ่งเหล่านี้มันจะส่งกันเป็นทอด ๆ มันไม่เป็นอิสระ เมื่อเราเข้าอย่างนี้แล้วเราก็พยายามมีสติรักษาที่ใจของเราไว้ เมื่อเรารักษาใจของเรานี้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสผ่านเข้ามาเราจะรู้ทัน ทุกวันนี้เรารู้แต่ไม่ทัน ไม่ถึงพร้อม เราก็หมายมั่นยึดไว้ รูปที่เราเห็นอย่างที่เราเห็น อันนี้เป็นกระบวนการเห็นของเซลล์ประสาทตาเฉย ๆ ถ้าเราหลับตาเราจะเห็นไหมหละ ? เราก็ไม่เห็น เหมือนคนนินทาเรานี้ตอนเราไม่ได้ยินทำไมเราไม่ทุกข์หละ เรามาได้ยินตอนที่เราได้รับรู้เรื่องราวแล้วเราก็มาปรุงแต่งเป็นตัวเราเป็นของ ๆ เราเป็นเขานี้แหละ มันทุกข์ตรงนี้ ไม่ใช่ทุกข์ตรงเสียงที่เขานินทาเรา มีการสนทนาเกิดขึ้นแล้วแต่เสียงนั้นยังไม่มากระทบที่หูเรา ความรู้สึกยังไม่เกิดที่ใจเรา ๆ เลยไม่เกิดความทุกข์ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ก็เหมือนกันหมด)

ถ้าเราเรียนรู้ในใจของเราว่าโลกคืออารมณ์แล้วเราก็จะรู้เรื่องราวในโลกทั้งหมด แต่ถ้าเราจะเรียนรู้วัตถุธาตุในโลกนี้ ศาสตร์ในโลกนี้ทั้งหมด ไม่ได้ ทุกศาสตร์มารวมแล้วที่ความรู้สึกนึกคิดเรื่องอารมณ์ ถ้าเรามาเรียนรู้เรื่องอารมณ์เรื่องเดียวแล้วเราก็จะเรียนรู้ทุกศาสตร์ในโลกนี้ทั้งหมด รู้หมดว่าศาสตร์ต่าง ๆ มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป อารมณ์ในโลกนี้ก็เป็นอย่างนี้แหละคือเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป วัน ๆ หนึ่งอารมณ์ในความรู้สึกในใจของเรามันก็เยอะเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป แต่ถ้าจิตใจของเราสงบมันจะเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไปมากมายอย่างไรก็ตามมันก็น้อย เพราะว่าเราไม่ให้คุณค่ามันมันเลยน้อย ดูอย่างของในโลกนี้ถ้าเราให้คุณค่ามันก็เยอะแต่ถ้าเราไม่ให้คุณค่ามันเลยมันก็ไม่มีค่าอะไร (ความรู้สึกของเรามันก็น้อย) เราไม่ให้คุณค่ากับความสุขและความทุกข์แล้วมันก็ไม่มีอะไรมากมายแต่ทุกวันนี้เราทำไม่ได้ เราจะทำอย่างไร ? เราก็ต้องฝึก ใครจะทำได้ตั้งแต่เกิด แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องฝึกทำบารมีมาตั้งแต่น้อย เป็นเวลา ๖ ปี พวกเราก็ต้องฝึกเท่าท่านก่อนเป็นเวลา ๖ ปี มีการรักษาศีล ๕ ให้เป็นปกติให้ได้ ให้มั่นคงให้ได้ สวดมนต์ทุกวัน วันละ ๕-๑๕ นาที นั่งสมาธิ ๕-๑๕ นาที

อันนี้เป็นอริยทรัพย์เป็นทรัพย์ภายใน (การทำทาน ถือศีล ฝึกสมาธิ พินิจพิจารณาธรรม) ของเรานะ เราทำมาแล้วหลายภพหลายชาติ เราเลยมีสติปัญญาเรียนรู้ได้มาก แต่ถ้าชาตินี้เราไม่ทำต่อไปเราก็โง่นะ ไม่ฉลาดนะ เกิดมาเป็นคนพิการเพราะเราไม่รักษาศีล (ข้อ ๑) ไม่ทำทานเราก็เป็นคนไม่มีทรัพย์ด้วยนะ เราก็เลือกเอา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลใดทำกรรมอะไรไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตามจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ธรรมนี้พระพุทธเจ้าท่านไปรู้เฉย ๆ ไม่ได้ทรงสร้างธรรมนี้มา ท่านทำอันนี้มาท่านก็ได้อันนี้เพราะท่านระลึกชาติได้ไม่มีประมาณ ท่านก็เลยรู้ว่าทำอย่างนี้ได้อย่างนี้ ทำอย่างนั้นได้อย่างนั้น ท่านเลยนำความรู้นั้นมาสอนให้พวกเราทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนานี้แหละ ถึงจะไปชนะซึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ ตัวอื่นชนะมันไม่ได้หรอก หนทางนี้ทางเดียวที่จะสามารถนำความสุขและนำความสงบที่ปราศจากความเร่าร้อนหรือปราศจากโทษมาสู่ในชีวิตเราแน่นอน ให้พวกเราพยายาม เราเกิดมาแล้วชาติหนึ่งอย่าเสียให้มันสูญเปล่าประโยชน์ ทำคุณค่าชีวิตของเรานี้ให้สมบูรณ์ที่สุดปฏิบัติจิตใจของเรานี้ให้มีปัญญารู้เท่าทันสังขาร (ร่างกายและจิตใจ)

ถึงแม้เสียงจะดังอย่างไรก็สงบ ที่มันไม่สงบเพราะเราไม่ชอบเสียงดัง เราชอบสิ่งที่ไม่มีเสียง เราก็ไม่ติดอีกฝั่งหนึ่ง ถ้ามีเสียงดังเท่าไหร่เราก็ทุกข์ หรือบางคนอยู่กับเสียงเพลง เสียงต่าง ๆ มากมาย พอมาอยู่ความสงบ ความเงียบก็กลัวอย่างนี้ก็มี บุคคลใดพอใจในความสงบคนนั้นก็ใกล้พระนิพพาน ใกล้ความจริงของชีวิต ใกล้พระพุทธเจ้า ใกล้พระธรรม ใกล้พระสงฆ์ มีจากการฝึกหัดปฏิบัติเท่านั้น ให้เราตั้งใจตั้งเจตนาของเราให้ดีว่าชาตินี้ต้องพยายามสร้างคุณงามความดีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พยายามจะละ พยายามจะวางความรู้สึกที่หมายมั่นยึดถือเป็นตัวเราเป็นของเรา ทำลายตรงนี้แหละไม่ใช่ทำลายจากภายนอก (ภายในใจของเราทีละเล็กทีละน้อย) แล้วจิตใจของเราก็จะผ่องใส จิตใจของเราก็จะปราโมทย์ หรือปีติ อิ่มใจมีความสุข มีความสบาย มีความเบา โลกนี้มันก็อยู่ของมันอย่างนี้แหละให้มันอยู่ของมันไป (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) เรามาเรียนรู้โลกนี้ เราไม่ได้เอามันไปด้วย มีแต่เราที่ติดตามเราไป ให้เราพยายามสร้างความดีต่อไป บัดนี้ อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.

---------------------------

view