เรื่องที่ ๓๔ เรื่อง สุขที่ไม่ตาย
ให้เราตั้งใจนั่งสมาธิกัน สมาธินี้แหละทำให้จิตใจของเราได้พบกับสันติสุข (สุขที่ไม่ตาย,อมตะ) ทุกวันนี้เรามีความสุขเราตายอยู่คือเรายังชีวิตอยู่ เราเดินได้ หายใจได้ ไปไหนมาไหนได้แต่สุขของเรามันก็ยังตายคือมันไม่สามารถอยู่กับเราตลอดเวลาได้ เราต้องแสวงหาความสุขเรื่อย ๆ หามาได้มันก็หมดไปก็คือมันตาย เราเลยรู้สึกว่าชีวิตของเราไม่มีความสุขไม่มีความสบายเพราะว่าเราไปหาผิดวิธี พระพุทธเจ้าบอกว่า “ความสุขความสงบที่แท้จริงอยู่ที่ใจของเรา” แต่ทุกคนคิดว่ามันอยู่ภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ) ก็ไปแสวงหาสิ่งเหล่านั้นมาให้มันพอใจ ยิ่งหาไปก็ยิ่งเร่าร้อนไป ยิ่งทุกข์ไปนึกว่าจะสุขกลับเป็นทุกข์แทน สุขทางโลกพระพุทธเจ้าท่านไม่เคยบอกว่ามันมีเลยนะ ท่านบอกว่าเป็นแค่ความทุกข์เท่านั้น ที่เราเห็นว่าความสุขนี้จริง ๆ แล้วคือเราลดความทุกข์ของตนเองเราเลยคิดว่าอันนั้นมันเป็นความสุขสุขที่แท้จริงแล้วต้องไม่อิงอาศัยอะไรเลยคือไม่อิงอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์นั้น ๆ แต่มันจะเกิดจากจิตที่ปัญญาล้วน ๆ มันจะสงบ เข้าใจสภาวะความเป็นจริงของมนุษย์ว่ามนุษย์ทั้งหลายนี้เกิดขึ้นมาเพื่อจะสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น (พ้นจากความทุกข์) ถ้าเราไปติดกับความโลภ ความโกรธ ความหลงจะสร้างความทุกข์ให้เราไม่รู้จักจบชีวิตเราเลยไม่มีประโยชน์อะไรเลย (โมฆะ)
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “บุคคลใดมีอายุถึง ๑๐๐ ปีก็ตาม แต่ไมเคยทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเลยชีวิตของเขาในชาตินี้เป็นหมัน” ก็คือไม่ได้สร้างคุณงามความดีเลยในชาตินี้คือที่เรียกว่า “กินบุญเก่า” ใช้บุญที่เราทำเอาไว้แล้วบุญไม่เคยทำชีวิตเลยเป็นโมฆะไป บุคคลใดก็ตามมีสติมีความฉลาดมองชีวิตนี้เข้าใจความเป็นจริงว่าชีวิตนี้มันไม่จบแค่ความตาย ความตายนี้เป็นเพียงสภาวะเท่านั้นเพราะจิตใจของเราเป็นนามธรรมนี้มันไม่ตายมันตายเฉพาะรูปธรรมคือสกลร่างกายนี้แตกสลายไปเราจึงสมมติเรียกว่า ตาย จิตก็ไปสร้างใหม่ สร้างภพสร้างชาติใหม่ (เกิดเป็นพรหมบ้าง เกิดเป็นเทวดาบ้างเกิดเป็นมนุษย์บ้างเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เกิดเป็นอสุรกายบ้าง เกิดเป็นเปรตบ้าง เกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง)เกิดเป็นอะไรอีกมากมายนับชาติไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่าการเกิดทุกคราวนี้เป็นทุกข์ร่ำไป เราจะเกิดในภพภูมิใดก็ตามก็จะมีความทุกข์ในภพภูมินั้น ๆ ในสภาวะนั้น ๆ เราดูมนุษย์ในโลกนี้ก็ได้ ถึงจะเกิดในสภาวะอย่างไรก็ตามก็จะมีความทุกข์ในสภาวะนั้น ๆ เช่น ไม่ว่าจะเกิดเป็นพระมหากษัตริย์ก็ทุกข์แบบพระมหากษัตริย์ จะเกิดเป็นพ่อค้าก็ทุกข์แบบพ่อค้า จะเป็นข้าราชการการเมืองข้าราชการประจำก็ทุกข์แบบข้าราชการการเมืองข้าราชการประจำ จะเกิดเป็นคนชั้นกลางก็ทุกข์แบบคนชั้นกลาง จะเกิดเป็นคนชั้นล่างก็ทุกข์แบบคนชั้นล่าง เป็นต้น
สรุปแล้วก็คือ ความทุกข์ ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความเศร้าใจ ความหงุดหงิด ล้วนแล้วแต่เราไม่เข้าใจกับสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราทั้งนั้น ถ้าเราเข้าใจสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราด้วยสติปัญญาของเราที่ฝึกหัดมาดีแล้ว รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ จะมาทำให้จิตใจของเรานี้เร่าร้อนไม่ได้ ทำให้จิตใจของเรานี้เกิดความสงบเพราะกิเลส (คือเครื่องเศร้าหมอง เครื่องร้อยรัด) ดูอย่างเราชอบใจอะไรก็ได้ จิตใจเราจะดิ้นรนอยากจะได้สิ่งเหล่านั้นมาครอบครองเมื่อเราได้มาแล้วก็นึกว่ามันจะสบาย มันก็ไม่สบายอีก เราก็ต้องดูแลรักษาไปอีก มันก็เสื่อมสิ้นไปอีก มันก็ทุกข์ไปอีก ไม่ต้องการให้มันเสื่อมมันสิ้น ไป ๆ มา ๆ การได้มาก็เกิดความทุกข์ การไม่ได้มาก็เกิดความทุกข์เท่ากัน เราจะหาความเป็นอมตะของชีวิตได้ด้วยวิธีใด พระพุทธเจ้าสอนว่า “การประพฤติปฏิบัติกาย วาจา ใจให้ถูกต้อง” เริ่มแรกเราต้องมีศีล ๕ ประการ (ศีล แปลว่า ความปกติ) คือ
๑.กายเราก็อย่าไปเบียดเบียนสรรพสัตว์ทั้งหลาย
๒.ไม่ลักทรัพย์
๓.ไม่ประพฤติผิดในกาม
๔.วาจาไม่พูดคำหยาบ สอดเสียด เพ้อเจ้อ เหลวไหล ไม่พูดโกหก
๕.ไม่เอากายนี้ไปทำให้มันมึนเมา หรือทำให้เราขาดสติ
มีสติรักษากาย วาจา เมื่อกาย วาจาเป็นปกติ ศีลคือความเป็นปกติมันก็เกิดขึ้น เกิดจากการที่เรามีเจตนาที่จะให้มันเกิดนะ ถ้าเราไม่มีเจตนาจะให้มันเกิดมันก็เกิดไม่ได้หรอก เราไม่มีศีล ๕ ประการเป็นฐานแล้วเราก็บอกว่าเรามีทุกข์ (ปัญหา) เพราะอันนั้น อันนี้ แต่หลอกตัวเองเราไม่ชี้ไปว่าเราทุกข์เพราะเรามีความเห็นผิดเราไม่เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง เราไม่สร้างกาย วาจา ให้เป็นปกติเลยแล้วเราจะสงบได้อย่างไร ? มีปัญญาแก้ปัญหาได้อย่างไร ? ไม่ได้เพราะศีลเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ (ความสงบ) สมาธิเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา (พินิจพิจารณาธรรม) เมื่อพื้นฐานเรามันไม่สะอาด (ไม่มีศีล ๕) สิ่งต่าง ๆ มันก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติศีล ๕ ประการ (กายสะอาด วาจาสะอาด) แล้วจิตก็จะเริ่มสะอาดขึ้น ๆ มาทำความสงบก็ง่าย เมื่อเราสงบขึ้นเรามาพินิจพิจารณาเรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ สิ่งต่าง ๆ เป็นตามกฎของกรรม (การกระทำ) จิตใจของเราก็เกิดปีตินะ ไม่ใช่ว่าห่อเหี่ยว แต่กลับกันเราตั้งเป้าก่อนเลยว่าไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บไข้ ไม่อยากตาย ไม่อยากจะพลัดพรากจากของรักของชอบใจ สุดท้ายเราก็ทุกข์เพราะความไม่อยากนี้ก็เป็นเหตุแห่งความทุกข์ ความอยากจะมีชีวิตที่ยืนยาว อยากจะมีทรัพย์ อยากจะมียศ อยากจะมีอำนาจ อยากจะมีสรรเสริญ อยากจะมีสุข
เราอยากจะมีอะไรอีกมากมายหรืออยากที่จะยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกถ้ามันเป็นไปได้นะ ก็เราอยากจะขนาดนั้นก็เป็นเหตุแห่งความทุกข์อีก เราจะหมดความอยากได้อย่างไร ? เราก็ต้องทำจิตของเรานี้ให้เป็นปกติ ทำจิตใจของเรานี้ให้มีสมาธิ (มีความตั้งใจมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว) ทำจิตใจของเราให้เกิดปัญญา จากสัญญาคือความจำได้หมายรู้ ที่เราจำว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรานี้มันจะเป็นปัญญาทันทีเลยมันจะชัดแจ้ง มันจะวางได้ (เราจะวางความโลภ วางความโกรธ วางความหลง อารมณ์ต่าง ๆ ได้) มันจะชัดมันจะวางความไม่สบายกายไม่สบายใจได้ (ถ้ามันวางไม่ได้ก็คือมันยังไม่ชัด) จิตใจของเราไม่มีกำลังมันก็ไม่ชัด มีความเห็นผิดคือเห็นว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราเป็นของ ๆ เรา ถามตัวเองดูซิ ? ถ้าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของ ๆ เราอย่างที่เราคิดมานานแล้ว เราก็ต้องควบคุมสิ่งที่เป็นของเราได้เราความคุมสกลร่างกายนี้มันได้ไหม ? ไม่ได้ ลองคิดดูซิที่ผ่านมาเวลาหิวข้าวเราก็ต้องหาข้าวให้มันนะ เวลาง่วงนอนเราก็ต้องนอนให้มันนะ เวลาเราปวดหัวตัวร้อนก็ต้องหายาให้มันนะ สุดท้ายเวลามันแก่ก็ห้ามมันไม่ได้ มันจะแตกสลายเวลามันตายก็ห้ามไม่ได้ เรารู้คือทุกคนรู้ว่าเราต้องตายแต่ใจของเราลึก ๆ เราไม่อยากตายหรือจะตายก็ต้องอายุเยอะ ๆ (๘๐-๙๐ ปี) ถึงเวลาจริง ๆ เราก็ไม่อยากตายอีกนะเพราะมันไม่อยากตั้งแต่ต้นแล้ว มันก็จะไปหมดอยากตอนปลาย ๆ มันเป็นไปไม่ได้
จนว่าร่างกายมันจะไปแล้วใจก็ไม่อยากให้ไป อย่างไรก็ตามมันก็ไม่เชื่อแล้ว มันจะแตกสลายแล้ว สุดท้ายก็ต้องแตกสลายไป ใจของเราก็ทุกข์ จิตใจที่เศร้าหมองขณะตาย ไปอยู่ในภพภูมิที่ไม่ดี ไปเกิดเป็นสัตว์ก็ไม่ดี เกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ดี เกิดเป็นอะไรก็ไม่ดีหมดเลยเพราะว่าจิตใจมันเศร้าหมอง ถ้าจิตใจเศร้าหมองมองอะไรก็ไม่สวย วันก่อนนี้มีโยมมาหาบอกว่าลูกติดเกมส์มากอายุแค่ ๑๓ -๑๔ ปี (ม. ๒) จะพามาบวช ขับรถมาจากกรุงเทพ ฯ ลูกชายก็ทุกข์มาตลอดเลย แม่ก็บอกว่าที่นี่วิวสวยนะ ลูกก็บอกว่าไม่เห็นสวยเลย มีแต่ความลำบาก ไกล ทุรกันดาร เมื่อมีแต่ความทุกข์อยู่ก็คิดคนละมุมมองเลย เด็กคิดอีกมุมหนึ่งพ่อแม่ก็คิดอีกมุมหนึ่ง พยายามเกลี่ยกล่อมให้ลูกชายคนเดียวมาบวชให้ได้ ทุกข์มาก ไม่สมใจปรารถนา ติดเกมส์ ติดเพื่อน การเรียนเสีย ได้มาคุยกับอาตมาไปซักพักก็เริ่มดีขึ้น เริ่มอยากจะบวชแล้ว คิดว่าพอได้ อาตมาบอกว่า “มาบวชซักระยะหนึ่งมาปฏิบัติให้เราเป็นคนดีให้พ่อแม่ชื่นใจหน่อย เราทำไม่ได้เหรอเราก็โตแล้ว” เขาก็ไม่ตอบนะจะตอบก็แค่ “ครับ” คำเดียว ไม่มีความคิดใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะว่าไม่ค่อยได้สนทนากับใคร เกมส์นี่น่ากลัวมากเป็นโรคติดเกมส์ (ระบาดไปทั่วโลกเลย) ใครเข้าไปในวังวนแล้วก็ออกมายากเหมือนกัน แต่โลกที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือโรคความโลภ ความโกรธ ความหลงในใจของมนุษย์นี้
โรคความโลภ ความโกรธ ความหลงในใจของมนุษย์นี้อันนี้มันรุนแรงกว่ามันตามเรามาหลายภพหลายชาติแล้ว และมันก็จะยังอยู่ การจัดการกับมัน (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) เราก็ต้องรักษาศีล เจริญภาวนา เจริญปัญญาให้เกิดอยู่บ่อย ๆ ไม่อย่างนั้นความโลภ ความโกรธ ความหลงที่อยู่ในใจของเราก็จะมีกำลังไปเรื่อย ๆ ถ้ามันไม่ลดมันก็เพิ่ม เราก็เลือกเอา เรามาพยายามลดมันมารักษาศีล เจริญภาวนาดีกว่า ทำอริยทรัพย์ไว้ในภพหน้าดีกว่า พระพุทธเจ้าก็บอกแล้วว่า เราไม่ได้ตายแล้วก็จบสูญไปเลย ถ้าอย่างนั้นคนเราก็คงจะเกิดมาเท่ากันหมด เช่น อายุเท่ากัน สติปัญญาเท่ากัน ทรัพย์สินสมบัติต่าง ๆ เท่ากัน เป็นต้น เหมือนเราปั๊มกันมาอย่างนั้นแหละ อย่างที่ผลิตมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าเป็นอย่างนั้นตายและสูญก็เป็นไปได้ แต่นี่ไม่ใช่วิบากกรรมของแต่ละคนมาแตกต่างกันมากมายเยอะแยะไปหมด คนเรามนุษย์กี่พันล้านหน้าก็ไม่เหมือนกัน นิสัยใจคอก็ไม่เหมือนกัน ต่างกันมากมาย อะไรเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์สิ่งเหล่านั้น ? เราน่าจะมาคิดนะ พรุ่งนี้ก็ยังมีเลย ชาติหน้าจะไม่มีได้อย่างไร เพียงแต่ต่างกันด้วยระยะเวลาเท่านั้นแหละ หลวงปู่ชาท่านตอบได้ดีมากเลยตอนหนึ่ง มีชาวต่างประเทศมาถามหลวงปู่ว่า “ชาติหน้ามีไหม ? ชาติที่แล้วมีไหม ?” หลวงปู่ถามตอบว่า “พรุ่งนี้มีไหม ? เมื่อวานมีไหม ?” มี ไม่ต้องอธิบายเลย ไม่ต้องคิดมากเลย
เราคิดไปไม่ถึงนะ จะให้จำชาติก่อนได้อย่างไรชาตินี้เรายังจำได้ไม่หมดเลย ใครจำได้บ้างว่าเมื่อวันที่ ๑ เดือนนี้เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วเราใส่เสื้อสีอะไร ? กางเกงสีอะไร ? เราไปเที่ยวไหนมาบ้าง ? กินข้าวกับอะไรมาบ้าง ? ทุกคนก็บอกว่าจำไม่ได้ เราคิดดูซิชาตินี้เรายังจำไม่ได้เลยเราจะจำชาติที่แล้วได้อย่างไรหละ แล้วเราจะมาบอกว่าเราจำไม่ได้แล้วจะมาบอกว่าไม่มีไม่ได้นะ พระพุทธเจ้าบอกว่ามีนะ ระหว่างเรากับพระพุทธเจ้าใครคิดถูก ใครคิดผิด ? เราก็ต้องมาคิดแล้วหละ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “ชาติหน้ามี ชาติที่แล้วมี กรรมคือการกระทำของมนุษย์นี่แหละเป็นตัวกำหนดทุกสรรพสิ่งทั้งหลายให้เราสุข และให้เราทุกข์” ถ้าเราคิดถูก (คิดว่าตายแล้วสูญ) เราคงจะเป็นศาสดาเอกของโลกได้ ความคิดของเราก็จะเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกได้ พระพุทธจ้าท่านประกาศแล้วว่าสิ่งเหล่านี้จริง (พระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมด) กล้าท้าให้เรามาพิสูจน์ว่าคำสอนของท่านถูกต้องไหม ? โดยเราต้องมาทำสมาธิให้เกิดขึ้น ทำความสงบนี้แหละจะเป็นพยานให้กับตัวเราเองว่ามันมีจริง ๆ นะ ความสงบแม้แต่เราจะสัมผัสเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่กี่นาที เราก็เป็นพยานได้ว่ามันมีจริง ถ้าเราทรงความสงบได้ ปีติ อิ่มใจตลอด จากวันเป็นเดือนเป็นปีเป็นหลาย ๆ ปีจิตใจของเราก็จะเบิกบานมาก ชีวิตของเราก็จะไม่เครียด ชีวิตของเราก็จะมีคุณค่าเป็นอมตะแน่นอน บัดนี้ อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.
---------------------------