สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ความสงบโดยธรรมชาติ

 

เรื่องที่ ๓๓ เรื่อง ความสงบโดยธรรมชาติ

ปีนี้อาตมาก็ไปปฏิบัติธรรมในงานอาจาริยบูชาของหลวงปู่ชาปีนี้ก็ครบรอบ ๑๗ ปีแล้ว (๒๕๕๒) ที่หลวงปู่ได้ละสังขาร ท่านได้ละสังขารไปตอนนั้นท่านอายุประมาณ ๗๔ ปี (๑๖ ม.ค. ๒๕๓๕) แม้แต่ท่านได้ละจากโลกนี้ไปแล้วแต่คุณงามความดีที่ท่านประกาศไว้ให้แก่มหาชนทั้งหลายก็ยังอยู่เหมือนเดิม ข้อประพฤติปฏิบัติที่ทำให้พวกเราประสบกับความสุขที่แท้จริงของชีวิตก็ยังอยู่เหมือนเดิม ท่านไม่ได้เอาไปด้วยเพราะธรรมะที่ท่านรู้เห็นก็ยังอยู่ในโลกนี้เหมือนเดิม เมื่อรู้อย่างนี้ก็ต้องพยายามแสวงหาสิ่งที่ท่านรู้สิ่งที่ท่านเห็นว่าท่านรู้เห็นอะไร ? ท่านรู้เห็นความเป็นจริง ภายในวัดหนองป่าพงก็จะมีสุภาสิตคำสอนสั้น ๆ ของหลวงปู่ติดไว้ตามต้นไม้ (ต้นไม้พูดได้) เมื่อได้ไปอ่านก็ไม่เบื่อเพราะพอใจในคำสั่งสอน ท่านบอกว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะไม่พังทำลายทั้งในส่วนของร่างกายและจิตใจก็ตาม(สังขารและมิใช่สังขาร) ล้วนแล้วจะต้องพังทลายไปหมด เรามาดูเมืองที่เจริญสมัยพุทธกาลไม่ว่าจะเป็นเมืองสาวัตถี เมืองโกสัมพี เมืองราชคฤถ์ เขาคิชกูฏ เมืองเหล่านี้แต่ก่อนยิ่งใหญ่มากมีประชากรอยู่มากมายแต่ตอนนี้ก็เป็นป่าเป็นเขาไปหมดหรือว่าเมืองที่สร้างเสร็จใหม่ ๆ ก็ร้างที่เราไปดูไปเห็นกันเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เตือนใจเรา แม้แต่เมืองไทยเองก็เหมือนกันใครเคยไปสุโขทัยไปดูเมืองโบราณเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มาก ผังเมืองใหญ่มากเจริญในสมัยก่อน ตอนนี้ก็เหลือแต่อิฐหินดินทรายกองไว้ บูรณะไว้

ให้เรามาย้อนดูหลักความเป็นจริงที่ว่าจิตใจของรามีความวุ่นวายไม่มีความสงบตอนนี้ เมื่อมันมีความวุ่นวายความสงบย่อมมีจิตใจที่สงบย่อมมีย่อมเกิดขึ้นได้แต่จะเกิดขึ้นด้วยวิธีใดนั้นให้พบ ถ้าเราแสวงหาวิธีทำความสงบไม่พบมันก็ไม่สงบถึงเราอยากจะให้มันสงบมันก็ไม่สงบเพราะความอยากนั้นไม่สามารถที่จะสร้างความสงบได้ เราต้องหมดความทะยานอยากจิตใจของเราถึงจะสงบลงโดยการที่เราต้องเห็นโทษของความทะยานอยาก เห็นโทษของความยินดีทำให้เกิดความโลภให้ต้องการสิ่งเหล่านั้นให้มาก ๆ ขึ้น ความยินร้ายที่ทำให้เกิดความขัดเคืองใจ ความโกรธ เราก็พยายามผลักไสสิ่งเหล่านั้นอีก การที่เราไม่เข้าใจความยินดียินร้ายเรียกว่าความหลงที่เรายึดหมายมั่นว่าเป็นเราเป็นเขาอย่างจริงจัง ถ้าเป็นเราเป็นของ ๆ เราความโลภ ความโกรธ ความหลงก็เกิดกับเรามาเยอะ ความยินดียินร้ายก็เกิดกับเรามามาก มันเกิดแล้วมันก็ดับ เมื่อมีเหตุปัจจัยให้มันเกิดมันก็เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยที่มันจะดับมันก็ดับ อยู่ที่เหตุอยู่ที่ปัจจัยอยู่ที่การกระทำ (กรรม) ของเราแต่ละอย่างในชีวิตประจำวันของเรานี่แหละ ถ้าเรากระทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามเราไม่ต้องไปแสวงหาความสงบนี้หรอก ไม่ต้องแสวงหาปัญญาหรอก ความสงบมันเกิดเลย ปัญญามันเกิดเลย มันเกิดที่ใจของเรานี้แหละไม่ได้เกิดที่ดินฟ้าอากาศ

เราจะมีความฉลาดมีความรอบรู้ในความรู้สึกนึกคิดของเราชัด สามารถที่จะวางความทุกข์ในจิตใจของเราได้ ทุกวันนี้ชีวิตของเรานี้หาความสุขในจิตใจได้น้อยมีความทุกข์บีบคั้นจิตใจมวลมนุษย์นี้มาก ยิ่งโลกนี้เจริญด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์มากเท่าไหร่มนุษย์ก็จะเร่าร้อนมากเท่านั้นเพิ่มขึ้นตามปริมาณของสิ่งเหล่านั้นเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติ ธรรมชาติมองไปแล้วไม่เร่าร้อน เราดูซิเมื่อเรามองต้นไม้ มองป่าไม้ มองภูเขา มองน้ำตก มองทะเล มองอะไรที่เป็นธรรมชาตินี้จิตใจของเราสบาย (หรืออยู่กับธรรมชาติ) แต่เมื่อใดที่เรามองที่มันปรุงแต่งเราจะเกิดความชอบ-ไม่ชอบด้วยอุปทาน (อยากไปครอบครอง) แต่ธรรมชาติถึงเราไปชอบก็ไม่มีอุปทานอยากไปครอบครองพระจันทร์ ภูเขา แม่น้ำใหญ่ ๆ ทะเล ไม่ได้ มันเป็นของโลกนี้เป็นของกลาง จิตใจเราเลยสบาย แต่ถ้าเรามองแล้วเราต้องการครอบครองสิ่งเหล่านั้น (มีความทะยานอยาก มีอุปทาน) หรือว่าเรามองไปเราได้ยินเสียงมีความไม่ชอบสิ่งเหล่านั้นมันจะเกิดความรู้สึกแล้ว ความรู้สึกเหล่านี้แหละที่พระพุทธองค์สอนให้เราเรียนรู้ความรู้สึกของเราเองนี้แหละ(การไปเรียนรู้ความรู้สึกของผู้อื่นเป็นความเห็นที่ผิด) ที่มันสร้างความสุข สร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายมาตลอดชีวิตเรานี้แหละให้มาเรียนรู้เรื่องนี้ เมื่อเราเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้เราก็จะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของเราได้

หลวงปู่ชาท่านเคยบอกแล้วว่าปัญหาทุกปัญหามีเฉลยอันนี้ของจริง (ของทุกอย่างเป็นของคู่กัน) ตัณหาอุปทาน (ตัณหาคือความทะยานอยาก อุปทานคือความยึดมั่นถือมัน) นี้แหละเป็นตัวต้นเหตุของปัญหาของมวลมนุษย์ทั้งหลายที่ทำให้มนุษย์ทั้งหลายเกิดความทุกข์ เกิดความเร่าร้อน เกิดความกระวนกระวาย ในการประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นการทำทาน (ละความโลภ ละความตระหนี่ ละความเห็นแก่ตัว) การรักษาศีล (ควบคุมกาย วาจา ใจให้เป็นปกติ) การภาวนา (ทำให้จิตใจของเราสงบ บ่อเกิดแห่งปัญญาทั้งหลาย) ล้วนแต่เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่เราจะต้องทำให้เกิดมีเกิดเป็นขึ้นทั้งนั้น ถ้าเราเห็นว่าเป็นประโยชน์ว่าการทำอย่างนี้มีประโยชน์มหาศาลแล้วมนุษย์ทุกคนต้องแสวงหาแน่นอนแต่ทุกวันนี้เราไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิต เรานึกว่าเรามีเงินทองเยอะแยะเราก็ใช้จ่ายแสวงหาซื้อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ แล้วเราจะได้ความสุข เหล่านี้พระพุทธองค์บอกว่า ความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ เป็นกามสุข สุขนิดหนึ่งแต่มันไม่ถาวร เพราะว่าเป็นความสุขแบบโลก เราต้องดิ้นรนแสวงหาทรัพย์มาก่อน ช่วงที่เราดิ้นรนแสวงหานี้มันทุกข์ มันต้องอดทนต่อสู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเราได้ทรัพย์มาแล้วเราก็นำมาจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่เราปรารถนา เราก็แสวงหาทรัพย์อีกแล้วก็จับจ่ายใช้สอยไปอีก มันก็วนไปวนมาไปเรื่อย ๆ เป็นการแสวงหาที่ไม่จบ (มันไม่เกิดความสงบในใจ)

แต่ถ้าบุคคลใดมีสติมีปัญญาดีมีการระลึกรู้อยู่ที่ใจของเราไว้ รู้ว่าใจของเราเป็นอย่างไร ? ใจของเราสุข-ทุกข์ ยินดี-ยินร้าย พอใจ-ไม่พอใจ อะไรก็ตามเถอะที่ทำให้ใจของเราเสียความสมดุลจิตใจของเราก็ไม่สงบแล้ว จิตใจของเราเกิดความเร่าร้อนแล้ว แต่เมื่อเรามาพินิจพิจารณาความเป็นจริงของจิตใจของเรา (ถ้าเราต้องการแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระที่สุดพระพุทธเจ้าบอกให้แสวงหาตัวเราเอง) ให้เรามาแสวงหาจิตใจเราเองให้มีความฉลาดให้ได้โดยการตั้งสติระลึกรู้ในคำบริกรรมภาวนาไว้ พินิจพิจารณาธรรมไว้ โดยเฉพาะการพินิจพิจารณาเรามีความแก่ความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกอย่างไปไปตามกฎของการกระทำ (กรรม) ที่เราได้ยินกันมานับไม่ได้นี่แหละ (หรือเราคิดว่าเรารู้แล้วนี่) ถ้าเรารู้ตามความเป็นจริงแล้วเราจะไม่ทุกข์ เราต้องวางได้ โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นเราต้องปล่อยต้องวางรู้รักษาไปตามเหตุตามเหตุการณ์ให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อะไรจะเกิดขึ้นเราก็รู้เราก็วางไว้ให้มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เราทำตัวของเรานี้ให้สมบูรณ์ที่สุด เราทำกาย วาจา ใจของเราให้สมบูรณ์ที่สุดแล้วจิตใจของเราก็ยิ่งจะสงบ ทำอย่างไร ? เอากาย วาจา ใจนี้ทำกับอะไร ? ทำกับสิ่งที่มันผ่านเข้ามาทางหู จมูก ลิ้น กาย แล้วส่งไปที่ใจ (ก็คือทำกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ)

เพราะว่าทุกวันเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้เมื่อเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้เราก็ต้องมาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความสุข-ความทุกข์ สิ่งเหล่านี้ก็ต้องสร้างความสงบด้วย (ถ้าเราฉลาด) ถ้าเราไม่ฉลาดมันก็สร้างแค่ความสุข-ความทุกข์ เพราะความสงบจะอยู่เหนือความสุข-ความทุกข์ จะทำอะไรก็ตามให้เรามีสติรักษาจิตใจของเราไว้ไม่ปล่อยจิตปล่อยใจของเราให้มันล่อยลอยให้เราทำไปเรื่อย ๆ ถ้าเรารู้วิธีที่จะรักษาจิตใจของเรานี้ให้มีสติผลจาการภาวนาก็จะเกิดขึ้น (เราทำถูกวิธี) แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าการที่เรารักษาสตินี้จะรักษาอย่างไร ? จะทำให้เกิดมีเกิดเป็นได้อย่างไร ? ผลจากการภาวนาก็ไม่เกิด (เราทำไม่ถูกวิธี) เราก็มาว่าเราทำมานานแล้วเราทำมาเยอะแล้วทำไมมันไม่ได้ผลทั้งนี้เพราะว่าเรายังทำไม่ถูกวิธี ถ้าเราทำถูกวิธีแล้วเราต้องได้ผล เราอย่าลืมว่าเพราะการขาดสติมันมีการที่ตั้งสติได้ก็ต้องมี เช่นกันเมื่อความโลภ ความโกรธ ความหลงมี ความที่หมดจากความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ย่อมมีได้เช่นกัน โยมคิดดูซิถ้าเราหมดจากความโลภ หมดจากความโกรธ หมดจากความหลงเราจะสบายไหม ? ลองเปรียบกันง่าย ๆ โยมพิจารณาดูระหว่างที่เรามีความโลภก็ตาม (มีความทะยานอยากไม่มีที่สิ้นสุด) มีความโกรธก็ตาม (ร้อนใจไปหมด) หรือมีความหลงก็ตาม เปรียบกันการที่เราไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง (ลองทำดูชั่วคราว)

ใน ๒ อย่างนี้อันไหนมีความสุขกว่ากัน ? เราก็ตอบได้ว่าเมื่อเราไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลงมีความสุขกว่า (หลังลองทำดูแล้ว) เราต้องพินิจพิจารณาก่อน ให้เราวางนะ เมื่อเราตายเราก็ต้องทิ้งไว้เหมือนกัน ต้องวางเหมือนกันนะ (มันบังคับให้เราวางหละ) เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วเราก็ต้องฉลาดแล้ว เราก็ต้องแสวงหาที่พึ่งที่พิงให้กับจิตใจของเราเองแล้วไม่ปล่อยจิตปล่อยใจให้ล่วงเลยเปล่าประโยชน์เหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้ว แต่ถ้าชีวิตของเรานี้มีธรรมมีความถูกต้องทั้งทางกาย วาจา ใจของเราแล้วจิตใจของเราก็สงบ ความสงบไม่ใช่ว่าเราไม่คิดปรุงแต่งนะมันก็คิดปรงแต่งเหมือนเดิมแต่เราฉลาดขึ้น เรารู้เร็วขึ้น วางได้มากขึ้นเหมือนคนเงียบ ใครว่าความเงียบไม่มีเสียงอะไรเลยคือความสงบอันนี้ไม่ใช่ (คิดผิด) เพราะว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ทำงานอยู่ตลอดเวลาสิ่งเหล่านี้ก็ต้องกระทบอยู่ เช่นหูของเรานี้ถึงแม้จะไม่ได้ยินเสียงพูด ร้องอยู่แต่ก็ยังได้ยินเสียงของธรรมชาติ (เสียงแมลงต่าง ๆ เสียงลม) เหมือนกับตอนนี้นอกจากเสียงอาตมาปรารภธรรมก็มีเสียงธรรมชาติ มีเสียงสัตว์ร้องไปเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้น อันนี้คือความสงบโดยธรรมชาติ ถ้าจิตใจของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ เข้าใจรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ จริง เข้าใจธรรมชาติชัดจริง ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับ

เราจะไปหมายมั่นว่าเป็นเราเป็นเขาเป็นตัวเป็นตนไม่ได้เลย มันเป็นไปตามธรรมชาติตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ท่องไว้ มีสติท่องไว้ บริกรรมไว้ เวลามีความโลภก็ท่องมันไว้ ไม่แน่ ไม่เที่ยง ความโลภนี้ไม่ดี (มีสติ) เมื่อมีความโกรธ ก็รู้ว่าความโกรธนี้ไม่ดีนะ เร่าร้อนไม่ดีมีความทุกข์ พินิจพิจารณามีสติ ถ้าเรามีสติเราก็แก้ได้ ปัญญาก็เกิดขึ้น แต่ถ้าสติของเราไม่ตั้งมั่นปัญญาก็ไม่เกิด ยิ่งทุกวันนี้การทำลายสติก็มีมากขึ้นทำให้เราเพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ อารมณ์นี้แหละที่ทำให้เราเพลิน (เวลาก็เร็ว ๒ ๓ ๔ ชั่วโมงหมดไปเร็วมาก) ส่วนที่เป็นความทุกข์นี้มนุษย์ไม่ต้องการเลย (มันทุกข์ มันนาน) แต่ทำไงได้ความสุขกับความทุกข์เป็นของคู่กันถ้าเราจะออกจากสุข-ทุกข์ได้เราก็ต้องมีปัญญามีสติมีความฉลาดถึงจะออกจากสิ่งเหล่านั้นได้จิตก็จะสงบ ความสงบนี้แหละเอามาพินิจพิจารณาตามความเป็นจริงให้จิตใจเรายอมรับ ให้เรามาพินิจพิจารณากายนี้ว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร ? มันเสื่อมสิ้นอย่างไร ? มันจะแตกสลายอย่างไร ? พินิจพิจารณาไปพิจารณาธรรมบ่อย ๆ พินิจพิจารณาให้มันยอมรับความเป็นจริงเลยแล้วเราก็จะสบาย เราจะทำหน้าที่การงานก็สบาย เราจะอยู่ในโลกนี้ก็สบายเพราะว่าเราเข้าใจชีวิตแล้วว่าสุดท้ายของชีวิตก็คือต้องแตกสลาย ก่อนจะแตกสลายก็มีคุณงามความดีและความไม่ดีเท่านั้นที่จะติดตามเราไปในภพหน้า

สมดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลใดทำกรรมใดไว้ดีก็ตามชั่วก็ตาม บุคคลจะได้รับผลเป็นทายาทแห่งกรรมนั้น ๆ เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วพวกเราก็พยายามสร้างความดีกันดีกว่าเพราะเป็นเหตุแห่งความสุข ความไม่ดีก็อย่าไปทำมันเพราะเป็นเหตุแห่งความทุกข์ เราก็ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาของเราไปใครจะว่าอย่างไรก็ตามเราต้องมีความมั่น มีความเชื่อ มีความศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราดูซิสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้นท่านไม่เคยสอนให้เราไปเบียดเบียนใครเลย ธรรมแต่ละบทแต่ละตอนแต่ละสุภาสิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนล้วนแล้วแต่สอนให้เราละความโลภ ความโกรธ ความหลงเท่านั้น สอนให้เราชนะใจตัวเองสอนให้เราทำลายความเห็นที่ผิดเท่านั้น เมื่อเรารู้อย่างนี้พวกเราก็ต้องพยายามแล้วทั้งชีวิตของเราที่จะสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้น ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาให้เกิดขึ้นให้ได้ อันนี้แหละจะทำให้เราประสบความสุขในภพนี้และภพหน้าแน่นอน บัดนี้ อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.

---------------------------

view