สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ความฉลาดทางธรรม

 

เรื่องที่ ๓๒ เรื่อง ความฉลาดทางธรรม

โอกาสที่ดี ๆ ในชีวิตของเรานี้ที่จะได้มาทำทาน นั่งสมาธิ ฟังธรรมนี้ก็ยากเพราะว่าพวกเราก็มีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบแต่ละคน แต่ละครอบครัว เราเลยหาโอกาสที่จะเพิ่มสติปัญญาแก้ปัญหาชีวิตโดยธรรมะนี้ก็มีโอกาสน้อยเพราะความรู้นี้มันมี ๒ ด้าน ที่เราใช้ประกอบสัมมาอาชีพ ที่เราเรียนรู้กันทางโลก อีกส่วนหนึ่งคือรู้เรื่องตัวของตัวเองหรือเรื่องใจของเราว่าใจของเราสุข ใจของเราทุกข์ ใจของเราวุ่นวาย ใจของเราไม่สงบ ใจของเราโกรธ เกลียด พยาบาท รัก-ชังต่าง ๆ ๑๐๘ พันประการ มีอารมณ์มากมายเราจะจัดการอย่างไรให้เกิดความสงบ ? มีในพระพุทธศาสตร์ทั้งนั้นเพราะว่าศาสตร์ต่าง ๆ ในโลกนี้เป็นศาสตร์ที่เราแสวงหาส่วนพุทธศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เราปล่อยวางหรือเอาออก เอาสิ่งที่ไม่ดีมันออกไปในใจจิตใจของพวกเรา เราจะเอาออกได้อย่างไร ? เราก็ต้องมีความฉลาด อันดับแรกเราจะต้องรู้ว่าความทุกข์นี้มันเข้ามาได้อย่างไร ? มัน (ความทุกข์) เข้ามาทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้างและก็ส่งไปที่ใจ (ใจเป็นหน้าที่ตัดสินทุกเรื่องราว) เราจะเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ของการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ มาบ้าง สิ่งเหล่านั้นเป็นธรรมชาติของกาย ตานี้เป็นธรรมชาติที่จะมองดูรูป แต่รูปนี้ธรรมชาติของมันก็คือเป็นกลาง เสียงก็เหมือนกัน กลิ่นก็เหมือนกัน รสก็เหมือนกัน สัมผัสก็เหมือนกัน ธรรมารมณ์ต่าง ๆ ก็เหมือนกันคือมันเป็นกลาง ๆ มันจะไม่ทำให้เราสุขหรือว่าทำให้เราทุกข์ได้ถ้าเรามีปัญญา

แต่ที่ไม่เป็นกลางเพราะเราไม่เข้าใจเรื่องของรูป เรื่องของเสียง เรื่องของกลิ่น เรื่องของรส เรื่องของสัมผัส เรื่องของอารมณ์ต่าง ๆ เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้เราจะต้องมีสติมีปัญญาเฝ้ารักษาใจของเราอยู่ตลอดเวลา เราทำงานทำการต่าง ๆ ให้เรามีสติให้มาก ๆ ถ้าสติของเรามากเราจะแก้ปัญญาหาได้หมดทุกเรื่องก็ว่าได้ แต่ถ้าสติของเราไม่มากพอ ไม่เข้มข้นพอ ไม่ต่อเนื่องพอก็ทำให้จิตใจของเรานี้ว้าวุ่น อันนี้เราไม่ชอบ อันนี้เราชอบ สิ่งที่เราชอบนี้มันก็ทรมานจิตใจของเราเหมือนกันนะไม่ใช่ว่าสิ่งที่เราชอบมันจะไม่ทรมานจิตใจของเรานะ ทรมาน ทำให้จิตใจของเรานี้สั่นสะเทือนเหมือนกัน เกิดความทะยานอยากเหมือนกัน อยากให้สิ่งเหล่านั้นในให้มันอยู่อยากจะครอบครองสิ่งเหล่านั้นให้อยู่ในอำนาจของเรา (เกิดการทรมานทางด้านจิตใจเหมือนกัน) สิ่งที่ไม่ชอบหละ ? ก็ทำให้จิตใจของเรานี้สั่นสะเทือนเกิดการทรมานเหมือนกัน เราต้องพยายามกำจัดหรือละมันหรือพยายามดันมันออกไม่ให้มันเกิดขึ้นแต่มันก็ยังเกิด ทุกอย่างเกิดที่เหตุปัจจัยเมื่อมีเหตุมีปัจจัยมันจะเกิดมันก็เกิด อย่างความทุกข์นี้มันก็มีเหตุมีปัจจัย เพราะความเห็นผิดในเรื่องนั้น เราไม่เข้าใจในเรื่องนั้นชัดตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น (เกิดเพราะตัณหาอุปทาน) เกิดความทะยานอยาก ความอยากมีอยากเป็น ความไม่อยากให้มีให้เป็นในสิ่งเหล่านั้น (ตัณหา) เกิดความหมายมั่นยึดถือไว้ (อุปทาน)

เรามาสืบดูสาวดูว่าที่ความทุกข์ของเราเกิด ยกตัวอย่างความทุกข์ของเราที่เราเคยมีมาแล้ว ว่ามันเกิดมาจากความทะยานอยากของเรา ความอยากมีอยากเป็น ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น และความยึดหมายมั่นที่ต้องการให้มันเป็นอย่างนี้ไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้นไหม ? สุดท้ายแล้วมันก็ใช่ เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้นี้ท่านพิสูจน์มาแล้ว ท่านทำมาแล้ว ท่านถึงกล้าประกาศว่าท่านเป็นสยัมภู (เป็นผู้รู้เอง เป็นผู้รู้แจ้งโลก) ท่านไม่ได้สอนให้ไปรู้เรื่องศาสตร์ต่าง ๆ มี ๑๐๘ พันศาสตร์อยู่ในโลกนี้ (ศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ทำให้เราพ้นทุกข์ได้จริง เป็นความรู้ในโลก) พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้เรื่องอริยสัจ ๔ ประการคือให้เรารู้เรื่องความทุกข์ ๑ เหตุของทุกข์ ๑ ความดับทุกข์ ๑ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๑ ท่านสอนให้เรารู้แค่นี้แหละพอแล้ว (นำไปประพฤติปฏิบัติด้วยนะ) เราก็ท่องกันอยู่ได้ยินกันอยู่แต่เวลามันเกิดทุกข์ทำไมเราแก้มันไม่ได้ ? เพราะเราแค่ท่อง แค่ได้ยิน มันต้องลงมือปฏิบัติมันถึงจะแก้ทุกข์ได้ หนทางอันประเสริฐคือมรรคหนทางเดิน บอกให้เราเดินตามทาง ศีล สมาธิ ปัญญา เรามีหรือยังตรงนี้ ? เรามีสมบูรณ์บริบูรณ์หรือยัง ทานเราอาจจะมี การทำความดีเราอาจจะมี แต่ศีลนี้เป็นการละความชั่วทางกาย วาจา เรามีหรือยัง ? ถ้าเรายังไม่มี มรรคของเราก็ยังไม่กล้าหนทางของเราก็ยังไม่สดใส ความทุกข์มันก็ยังต้องมีอยู่กับชีวิตประจำวันของเรา

บุคคลใดก็ตามถ้ามีศีล ๕ สมบูรณ์บริบูรณ์บุคคลนั้นก็เป็นมนุษย์ทั้งกาย และใจ ถ้าไม่สมบูรณ์ก็เป็นแค่คนเท่านั้นยังไม่เป็นมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ สภาวะที่เป็นมนุษย์นี้เกิดยาก พระพุทธเจ้าไม่ได้หมายความว่าเราเกิดมาเป็นคนที่เกิดกันเยอะแยะ อันนั้นยังไม่สมบูรณ์ ต้องมีข้อประพฤติปฏิบัติของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยอันนั้นถึงสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ถ้าเรามีตรงนี้ความทุกข์มันก็จะลดไปตามส่วนที่เรามี ยิ่งเรามีสมาธิเพราะจิตใจของเราไม่ว้าวุ่นแล้ว เพราะศีลนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้กาย วาจาของเรามันเริ่มสงบลง ความคิดที่จะเบียดเบียน พยาบาท จ้องล้างจองพลาญมันก็น้อย มันก็หมดไปด้วยศีล ความตั้งใจมั่นค่อย ๆ เกิดทีละเล็กทีละน้อยเพราะศีลมันเริ่มดีขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา นี้แหละความสงบ ความสงบไม่ใช่ว่าไม่คิดมัน อยู่นิ่ง ๆ ไม่รู้เรื่องไม่รับรู้อะไรทั้งหมด ไม่ใช่ (อย่างนี้คนตาบอด คนหูหนวก คนเป็นอัมพฤติอัมพาตก็สงบซิ) มีความรู้สึกเหมือนเดิมเหมือนที่เรามีนี้แหละ แต่ตัวปัญญา ความฉลาดเขาเรียกว่ากุศล ถ้าจะแก้ไขความรู้สึกของเราที่จะไปหมายมั่นให้ยึดถือให้มันคลายออก วางได้ ละได้ ปลงได้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราได้ เราดูซิเราเกิดกันมาหน้าตาก็ไม่เหมือนกัน เรียนห้องเดียวกันก็ไม่ได้ที่ ๑ เหมือนกันเลย กี่พันล้านคนก็ไม่เหมือนกัน ขนาดแฝดก็ยังไม่เหมือนกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุญและกรรมตกแต่งสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เกิดมาประณีตบ้าง ปานกลางบ้าง หยาบบ้างแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้ามนุษย์คนใดมีคุณธรรมมีศีลธรรมประจำใจ จิตใจจะสงบสบาย หน้าตาก็ผ่องใสไม่เครียด ทุกวันนี้เราเครียดกันเพราะเราทำงานเพื่อหวังเงินกัน หวังตำแหน่งหน้าที่ หวังโน้นหวังนี้เราเลยเครียด การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันของเราที่ทำให้ชีวิตของเรานี้ประเสริฐขึ้นเจริญขึ้นแต่ทุกวันนี้เราทำงานกันต้องการได้เงินเดือนขึ้น ๒-๓ ขั้น ถ้าเราเอาความรู้สึกของเราไปไว้อย่างนั้นก็ไม่เป็นสัมมาอาชีพที่ถูกต้องไม่เป็นการงานที่ถูกต้องเพราะว่าเราทำด้วยความทะยานอยาก มันก็เป็นเหตุของความทุกข์ รายได้เป็นผลพลอยได้จากงานเท่านั้นไม่ใช่ตัวของงานไม่ใช่ความดีที่สุดของการทำงาน (เป็นส่วนหนึ่ง) แต่ถ้าเราทำงานด้วยสติที่มั่นคงในการกระทำของเราด้วยความไม่ยึดหมายมั่น (ไม่ใช่ว่าให้เราทำงานโดยจับจด ทำงานโดยไม่รับผิดชอบ) ยิ่งเราทำงานด้วยความปล่อยวางด้วยความรู้สึกเป็นตัวตนความรับผิดชอบจะสูงมากเพราะเอาธรรมเป็นตัวตั้ง เราขยันด้วยธรรมไม่ได้ขยันด้วยตัณหาอุปาทานแต่เราขยันด้วยสติปัญญา ด้วยความเพียรที่ถูกต้องที่จะละความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นหลักในการกระทำนั้น ๆ

ไม่ใช่ทำเพื่อเพิ่มความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือเพิ่มความเห็นแก่ตัวหรือเพิ่มอะไรที่มันหนักใจมากขึ้น เพราะเราทำงานเราก็ต้องการให้จบ ๆ ไปเมื่อไหร่จะหมดเวลาซะที ? การทำงานของเราเลยตกนรกทั้งวัน แต่ถ้าเราทำงานด้วยสติปัญญา ด้วยความเพียร เพื่อการเสียสละเพื่อความสุขแก่มหาชนทั้งหลายในการกระทำของเรา เราจะไม่เปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นทั้งหมดว่ามีการทำมาก มีการทำน้อย มีการได้ มีการเสียนั้นคือทางโลกเราไม่เอาเราเอาทางธรรมเป็นหลัก ชีวิตของเราจะประเสริฐขึ้นนะ ชีวิตเราจะมีคุณค่าในตัวของเราเองไม่ต้องให้ใครมาประเมินคุณค่าในตัวเรา เราประเมินคุณค่าของตัวเราเองได้ (อันนี้ประเสริฐที่สุด เราสบายเลย) เราจะทำอะไรทุกอย่างจะเกี่ยวข้องอะไรเข้ามาเราจะไม่มีอุปาทานหมายมั่นในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นทีละเล็กทีละน้อย อีกคนหนึ่งทำด้วยความหมายมั่นยึดถือไว้เป็นตัวตน เป็นเราเป็นเขา ต้องดี ต้องเนียบ ต้องประเสริฐ ต้องได้รับคำชม เราก็ทำแบบแบกโลกไว้ แบกอารมณ์ไว้ เมื่อไม่ได้สิ่งที่เราต้องการปรารถนาเราก็เกิดความทุกข์ เราก็เบื่อ (เบื่อที่ทำงาน เบื่อเพื่อนร่วมงาน เบื่อลูกน้อง เบื่อทุกอย่าง) แต่เบื่อไม่เป็นสัมมาทิฐิ (เบื่อเป็นมิจฉาทิฐิ) มีความเห็นผิดมันเลยเกิดความทุกข์

แต่ถ้าเราเบื่อตามทางพระพุทธศาสนาให้เห็นตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้นและก็อยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้สมบูรณ์แบบที่สุด เขาเรียกว่านิพพิทาคือหน่าย ๆ จากความโลภ หน่ายจากความโกรธ หน่ายจากความหลง หน่ายจากความเห็นแก่ตัวต่าง ๆ (อันนี้มันถึงจะถูกต้อง จิตเราถึงมีความสงบ) แต่ทุกวันนี้เราเบื่อเราเซ็ง ซ้ำซาก จิตใจของเราก็จะว้าวุ่นไปใหญ่ เราคิดว่าการฟังเพลง การดูหนัง การเที่ยวเตร่เฮฮามันจะช่วยเราได้ มันช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้นแต่มันช่วยที่สุดไม่ได้เพราะเราไม่ได้ละความคิดเห็นของเรา เราต้องเปลี่ยนความคิดเห็นของเราให้ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) ความดำริในใจ (ความคิดความปรุงต่างในใจของเราให้ถูกต้องด้วย) ทุกวันนี้ความคิดของเรามันไม่ถูกต้องเห็นแต่ความความโลภ ความโกรธ ความหลงคนอื่นไปหมดเลย เห็นความเห็นแก่ตัวไปหมด ไม่เห็นความโลภ ความโกรธ ความหลงของตัวเราเองเลย เมื่อไรเราจะแก้ความทุกข์เราได้ ? เราก็แก้ความทุกข์ของเราไม่ได้ซะทีหนึ่ง เราก็นึกว่าเมื่อเป็นอย่างนี้เราจะสบาย เมื่อเป็นอย่างนั้นเราจะสงบ มันก็ไม่เป็นอย่างใจปรารถนา ชีวิตของเราก็เลยดิ้นรนไปเรื่อย ๆ หาที่พึ่งให้ตนเองไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องเท่านั้นแหละจะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ทั้งกายและใจ

ทางกายอาตมาว่าโยมก็พอมีกันหมดแล้ว มีบ้านช่อง มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายแต่ทางใจของเรายังไม่มีธรรม ไม่มีข้อประพฤติปฏิบัติธรรมที่เราตั้งไว้ในใจของเรานี้ จิตใจของเราก็เป็นอนาถาอยู่ ดีไหมหละ ? เหมือนคนอนาถาดีไหม ? ไม่ดี ใจของเราก็เป็นอนาถามีแต่ความทะยานอยากไม่มีที่สิ้นสุดแล้วเมื่อไหร่เราจะสบายซะที เราจะสงบซะที อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า มหาเศรษฐีในทางธรรมคือคนรู้จักพอประมาณในการบริโภค แต่ถ้าเรามีทุกอย่างพร้อมแต่เราก็ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค มีความทะยานอยากอยู่อย่างนี้ยังเป็นยาจกเห็นใจอยู่ (ทางธรรม) เพราะจิตใจของเราก็จะดิ้นรนกระเสื่อกระสนไปเรื่อย ๆ ไม่สงบ ไม่พอดีซะที ชีวิตเราเลยไม่พอดีซะที เราต้องปรับความรู้สึกนึกคิดของเราให้พอดีก่อนความเป็นอยู่ของเราถึงจะพอดีด้วย แต่ถ้าใจของเรายังไม่พอดีแล้วต่อให้เรามีสิ่งภายนอกมากเท่าไรก็ยังไม่พอดี มีน้อยก็ยังไม่พอดี ถ้าใจของเราเริ่มปรับสู่ความเป็นจริงของชีวิต (ชีวิตเป็นของไม่แน่นอนนะ ความตายเป็นของแน่นอน เราจะต้องตายแน่ ที่สุดของชีวิตก็คือความตาย) อย่าลืมว่าเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้มาทุกวัน ๆ เราก็ต้องเอาสิ่งเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเราด้วย เราจะต้องพินิจพิจารณาว่าสักวันหนึ่งเราจะเป็นอย่างนี้ (ตายแน่) อันนี้แหละจะทำให้เราเป็นผู้ไม่ประมาท เราจะแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระให้กับชีวิตเรา

แต่ถ้าเราไม่พินิจพิจารณาความเป็นจริงของชีวิตเราก็จะเป็นผู้ประมาท เพลิดเพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ต่าง ๆ ที่ไม่มีที่สิ้นสุดแล้วเราก็บ่นว่าเราทุกข์ ก็เราทำเหตุแห่งทุกข์แล้วเราจะไปโทษใครหละ เราก็ต้องโทษที่ตัวเราของเราไม่มีปัญญาไม่มีความฉลาด ทุกวันนี้เราใช้แต่สัญญาคือความจำได้หมายรู้ในการดำรงชีวิต เราไม่ได้ใช้ความรู้ตามความเป็นจริงของชีวิตเราเลยทุกข์ เราต้องหาความรู้ใหม่ วิชาคือความรู้แจ้ง ความรู้ชัดในกองสังขาร สังขารคือร่ายกายและจิตใจ (มี ๒ ส่วน) ส่วนที่เป็นร่างกาย ๑ ส่วนที่เป็นจิตใจ ความรู้สึกของเรานี้แหละในส่วนจิตใจไม่มีรูปธรรมเป็นแต่นามธรรมเป็นความรู้สึกเฉย ๆ นามธรรมนี้แหละถ้าเราฝึกอบรมบ่มนิสัยนามธรรมของเรานี้ให้เป็นคนดีที่สุด ชีวิตของเราก็จะประสบความสุขไม่ยาก อยู่ที่ตัวของเราเองไม่มีดินฟ้าอากาศ ไม่มีเทพเจ้าองค์ไหน ไม่มีพระพุทธเจ้าองค์ไหนจะมาดลบันดานความสุขและความทุกข์ให้กับตัวเรานอกจากตัวของเราเอง (เราต้องเข้าใจตรงนี้เป็นพื้นฐานก่อน) ด้วยตัวของเราเท่านั้นเองแหละจะบันดานความสุขหรือความทุกข์ คนอื่นไม่มีความสำคัญจะมาก็ทำให้เราสุขเราทุกข์ได้ ตัวเราเอง

เช่น คนอื่นมาด่าเราถ้าเราฉลาดเราจะทุกข์ไหม ? เราไมทุกข์หรอกถ้าเราฉลาด เราเข้าใจคนด่าเขามีความเห็นผิดเอง เขามีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง เขากำลังโมโหอยู่อย่างนี้เราจะรับอารมณ์เขาไหมหละ ? เขาพูดจริงไหม ? ถ้าจริงเราก็ยอมรับแล้วเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติปรับปรุงตัวใหม่ ถ้าไม่จริงเราก็ปล่อยวาง ให้คืนเขาไปเท่านั้นเอง เขากำลังยื่นไฟมาให้เรา ๆ ไม่รับไฟนั้นจะอยู่ที่ไหน ? ก็อยู่ที่เขา ถ้าเขาด่าเรา ๆ ไม่รับเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น การไม่รับของเราคือวางซะ และก็สงบ ไม่ดิ้นไปตามที่เขาพูดไป ไม่ต่อล้อต่อเถียง สงบ เห็นไหมว่าสบายกว่ากันเยอะเลย ทำได้ไหม ? ทำไม่ได้ก็ต้องพยายามเพราะว่านี้เป็นเหตุของความสงบ เหตุของความสุข ครูบาอาจารย์บอกว่า คนทะเลาะกันผิดทั้งคู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้นใครชวนเราทะเลาะเราก็อย่าไปทะเลาะด้วย อันนี้แหละเป็นสิ่งที่เราจะต้องฝึกทีละเล็กทีละน้อยแล้วความสุขก็จะเกิดขึ้น เป็นต้น ธรรมะมีคุณค่ามาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลใดพอใจในธรรม บุคคลนั้นก็เป็นคนที่ประเสริฐแล้ว เจริญแล้ว บุคคลใดชังธรรมบุคคลนั้นก็เป็นคนเสื่อม จิตใจตกต่ำ ทุกคนคอยหาแต่คนดี บุคคลที่มีศีลธรรม ( ศีล ๕) ในสังคมซึ่งเดี๋ยวนี้ขาดแคลนกันมาก หายากขึ้นไปเรื่อย ๆ เราต้องบ่มเพาะตัวเราเองแล้ว ใครไม่มีไม่เป็นไรเรามีดีกว่า ถ้าเราต้องการความสงบที่แท้จริงเราก็หาความดีใส่ตัวเราเองทีละเล็กทีละน้อย ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่สน เราจะสร้างความดีของเรา ใครจะว่าเราไม่ฉลาดก็ไม่เอา เพราะว่าเราเห็นแล้วว่าความฉลาดทางโลกก็ไม่เห็นว่าสงบ มีแต่ความวุ่นวาย มีปัจจัย ๔ ต่าง ๆ พร้อมเราก็ยังเห็นว่ายังทุกข์ เราจะมาฉลาดทางธรรมบ้างดีกว่า จะได้เป็นที่พึ่งเราได้ทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า บัดนี้ อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.

---------------------------

view