สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ธรรมเท่ากัน

 

เรื่องที่ ๓๑ เรื่อง ธรรมเท่ากัน

วันนี้ก็เป็นวันพระใหญ่ พระภิกษุสงฆ์วันนี้ก็ลงพระปาฏิโมกข์ (การสาธยายหรือสวดเกี่ยวกับพระธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์) เมื่อเช้าก็ได้ลงปาฏิโมกข์เรียบร้อยแล้ว ครบ ๑๕ วันก็มาตรวจข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่ามีอะไรบ้าง อันนี้ถือว่าเป็นกิจของสงฆ์ที่ต้องทำถ้าไม่ทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าปรับเป็นอาบัติ (สิ่งที่ไม่ดีงาม) พวกเราก็เหมือนกัน พวกเราก็ต้องมีข้อประพฤติปฏิบัติประจำใจของเรา ถ้าเราไม่ตั้งไว้มันก็ไม่ได้ เช่นว่าเราตั้งใจว่าจะใส่บาตรตอนเช้า เราจะตื่นขึ้นมาตี ๕ ไปเสียบข้าวก่อนแล้วสวดมนต์ ๑๐ นาที หลังจากนั้นเราก็จะไปเตรียมกับข้าวให้เรียบร้อย ทานข้าวเสร็จก็เจริญเมตตา วันนี้เราจะเจริญเมตตาไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย บุคคลใดทำกรรมใดไว้ดีก็ตามชั่วก็ตามจะต้องเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น ๆ เรามีความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกนี้ เราก็มีความเชื่อในพระธรรม ในพระสงฆ์ เรามีความเชื่อเรื่องของกรรม (เราทำกรรมอะไรไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น)

เมื่อเรามีความเชื่อที่ถูกต้อง เราก็มีกำลังใจที่จะปฏิบัติตามความเชื่อที่ถูกต้องนั่นไป ชีวิตของเราก็จะค่อย ๆ มีความสงบขึ้นมีปัญญาขึ้น จากที่เราไม่เคยสวดมนต์ตอนเช้าเราก็มาสวดมนต์เราก็รู้สึกว่ามันมีความสุขชนิดใหม่มันเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา ชีวิตของเราก็รู้สึกว่ามันมีคุณค่ามากขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะว่าเช้ามาเราได้ทำทานได้สวดมนต์ได้เจริญเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เมื่อเราทำกรรมที่เรียกว่ากรรมดีอยู่เป็นประจำ ขออุปัทวะทั้งหลาย (ความชั่ว) อย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าเลย ความชั่วก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เพราะเราตั้งความปรารถนาแห่งความดีไว้ ข้อประพฤติปฏิบัติที่เราตั้งไว้จะเป็นสิ่งจำเป็นหรือสำคัญต่อชีวิตของเราก็ว่าได้ เพราะทำให้ชีวิตของเรามีสติ มีปัญญา มีศรัทธา มีความเพียร มีความบากบั่นที่จะเดินทางไปให้ถึงจุดหมายปลายทางตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงเดินทางมาแล้วแล้ว ทรงถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ครูบาอาจารย์ก็ได้เดินทางมาแล้วก็ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เรากำลังเดินทางอยู่เราก็ต้องพยายามเดินไม่หยุด การทำความเพียร ท่านบอกว่าทำไม่หยุด (ทำทุกขณะจิตใจของเราที่ตื่นอยู่) เป็นอย่างไร ?

หลวงปู่ชาท่านเปรียบไว้การรักษาจิตใจของเราเหมือนว่าเราอยู่ในห้อง ๆ หนึ่งหรืออยู่ในศาลาคนเดียว มีงูเห่า หรืองูจงอางอยู่ตัวหนึ่งมันก็เลื้อยไปเลื้อยมานี่แหละ เราจะทำอย่างไรให้เรามีชีวิตรอดจากภัยอันตรายที่อยู่ในศาลานี้ ? เราก็ต้องคอยระวัง งูมันมาทางไหน ? มันเลื้อยอยู่ทางไหน ? ตาของเราก็ต้องจ้องดูมันว่ามันจะมาทางไหน มาทางนี้เราก็หลบ มันมาใกล้เรา ๆ ก็หลบ ไม่ให้มันชก ไม่ให้มันกัด มีสติรักษาร่างกายจิตใจของเรานี้คอยระวังอย่างนี้ไม่หลับ ไม่นอน ตื่นด้วยความเพียร เราจะต้องคอยเตือนอยู่ เพียรระวังรักษา ในชีวิตประจำวันของเราก็เหมือนกัน เราต้องรักษาใจรักษาอารมณ์ของเราไว้ วันนี้อารมณ์ของเราเศร้าหมอง อารมณ์เราดีไหม ? ไม่ดีไหม ? อารมณ์ทำให้เราเกิดความสุข เกิดความทุกข์อะไรมากมายสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นทำให้เราวุ่นวายหรือสงบ เราก็ต้องรักษา สิ่งไหนที่เป็นสิ่งที่ดีทำให้จิตใจของเราสงบ มีปัญญา ฉลาด เราก็พยายามรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ สิ่งไหนที่ทำให้จิตใจของเรานี้วุ่นวาย เคียดแค้น พยาบาท โกรธ เกลียดต่าง ๆ (เศร้าหมอง) เราก็ต้องพยายามกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกให้ได้ด้วยสติปัญญาของเราโดยพินิจพิจารณาเห็นโทษของสิ่งที่ทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองให้ได้

พินิจพิจารณาแล้วพินิจพิจารณาอีก ใคร่ครวญแล้วใคร่ครวญอีก เพราะอะไร ? เพราะธรรมะนี้เป็นของเก่าไม่ใช่ของใหม่ (เป็นของดั้งเดิม) จิตเดิมแท้ของมนุษย์นี้จริง ๆ แล้วคือจิตที่มีความสงบ จะคนไม่ว่าชาติไหนประเทศไหนไม่ว่าผู้หญิง,ผู้ชาย,เด็กหรือใครก็ตาม จะอ่านหนังสือได้หรืออ่านหนังสือไม่ได้ มีความรู้ไม่มีความรู้ แต่ถ้าทำจิตใจนี้ให้เป็นหนึ่งนะมีความสงบให้เป็นหนึ่งได้ก็เท่ากัน หมายถึงความสงบเท่า ๆ กันไม่มีอะไรต่างกันเลย ท่านถึงว่าธรรมะสามารถทำให้มนุษย์เท่ากันได้ แต่ถ้าเรื่องโลกธรรมนี้ไม่เท่ากัน ในโลกนี้มีอะไรไม่เท่ากันเยอะแยะไปหมด แต่ธรรมนี้วัดจากความรู้สึกที่เป็นนามธรรม (เรื่องจิตใจไม่ใช่เรื่อร่างกายหรือเรื่องรูปธรรมอย่างเดียว) จะเน้นทางด้านจิตใจ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว (ถ้าจิตใจของเรามันมีความสงบมีความสุขแล้ว ภายนอกก็ไม่เท่าไหร่) มีน้อยก็เหมือนมีมาก เพราะใจของเรานี้พอใจแล้วต่อคุณงามความดีที่พวกเราพยายามทำ ตัวเองเราทำก็เป็นพยานให้ตัวเองได้ มองไปไม่เห็นมีข้อบกพร่องเลยในการกระทำของเรา จิตใจของเราก็มีกำลังมหาศาล (กำลังของจิต) จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน สติเราต้องตั้งมั่นคอยระวังไม่ให้ความชั่วมันเกิดขึ้น คอยระวังรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้ทรงอยู่ให้ได้

ในชีวิตประจำวันของเรานี้ก็จะมีทั้งสุขและทุกข์สลับสับเปลี่ยนไปวัน ๆ หนึ่งมากมายนับไม่ได้ เราก็ต้องใช้ความพยายามที่ทำให้จิตใจของเรานี้อยู่เหนืออารมณ์สงบ อารมณ์กุศล อารมณ์สบายให้มากที่สุดที่จะมากได้ เราทำงานไปเราก็ทำไปละ (ความชั่ว) ไปวางไป ต้องฉลาด แต่ถ้าเราไม่ฉลาดเมื่อเจ้านายว่าเราก็ทุกข์เมื่อเจ้านายชมเราก็ดีใจ เมื่อเพื่อนร่วมงานว่าเราก็ทุกข์เมื่อเพื่อนร่วมงานชมเราก็สบายใจ วันนี้เราขายของได้มาเราก็สบายใจวันนี้เราขายของได้น้อยเราก็ไม่สบายใจ วันนี้ลูกน้องไม่ช่วยก็ไม่สบายใจลูกน้องขี้เกียจเราก็ไม่สบายใจลูกน้องขยันเราก็สบายใจ วัน ๆ หนึ่งเราก็ตกนรก (ทุกข์) บ้างขึ้นสวรรค์ (สุข) บ้างไปกับอารมณ์ที่มากระทบจนหาความสงบไม่ได้เพราะเราไม่ฉลาด ถ้าเราฉลาดเราก็รู้ว่าอันนี้มันเป็นอย่างนี้ อย่างหลวงปู่พุทธทาสท่านเคยสอนไว้บ่อย ๆ ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง คือคนอย่างนี้ สภาพอย่างนี้ เหตุการณ์อย่างนี้ มันเป็นเช่นนั้นเอง มันจะไม่เป็นไปอย่างอื่นคือมันเกิดขึ้นตั้งอยู่และก็แปรเปลี่ยน อย่างลมพัดมาตลอดไม่หยุดเลยไม่มีหรอก ก็หยุดบ้าง พัดบ้าง ร้อนบ้าง หนาวบ้าง เขาบอกว่ามีความร้อนเราจะได้เห็นคุณค่าของความหนาว เมื่อมีความหนาวเกิดขึ้นเราจะได้เห็นคุณค่าของความร้อนเพราะอะไร ?

เพราะว่ามันหนาวมาก ๆ มันก็ทุกข์นะไม่ใช่ว่าหนาวมาก ๆ ดีนะมันนอนไม่หลับ ขยับไปตรงไหนมันก็หนาวยิ่งติดลบด้วยก็ยิ่งหนาวเข้าไปใหญ่ (ไม่ต้องพูดเลย) สุดท้ายก็ต้องหาเครื่องทำน้ำอุ่นแล้วมาช่วยบำบัดทุกขเวทนาทางกาย เพราฉะนั้นอุณหภูมิหรืออุตุก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายมนุษย์นี้เกิดความทุกข์ ร้อนเกินไป หนาวเกินไป มีความชื้นเกินไป ทำให้ร่างกายของเรานี้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ หรือว่าร่างกาบต้องการอาหารที่มาบำบัดความหิว มนุษย์ทั้งหลายมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคหิว โรคกระหายน้ำ เป็นต้น เช้ามาเราก็ต้องบำบัดมันแล้ว การบริหารอะไรก็ไม่ยากกว่าการบริหากายของเราเอง กายนี้เราต้องบริหารทุกวัน ๆ ยิ่งถ้ามีการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วการบริหารกายก็ยิ่งยากขึ้น ต้องเอายาให้ทาน ต้องทายา ต้องนวด ต้องออกกำลังกาย ต้องไปหาหมอต้องอะไรอีกมากมายที่เราต้องดูแลถ้าเราไม่ดูแลร่างกายนี้ก็จะทรุดโทรมไป (ก็ไม่ฉลาดอีก) การปล่อยวางนี้ไม่ใช่ว่ามันจะเสื่อมสิ้นเราจะไม่ดูแลมันไม่ได้ ต้องดูแลมันถึงที่สุดด้วยสติปัญญา ด้วยความฉลาด แต่ดูแลไปก็ปล่อยไป วางไป ดูแลไปก็สอนไปว่า มันก็เสื่อมมันก็สิ้น ดูแลเท่าที่ดูแลได้ ถึงสุดท้ายแล้วมันก็ต้องเสื่อมมันก็ต้องสิ้นเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นการดูแลของเราก็มีประโยชน์มีคุณค่าเราจะไม่เกิดความทุกข์

แต่ถ้าเราดูแลอย่างเดียวจะหายอย่างเดียวตายไม่เอา มันไม่ได้ หายก็เอาตายก็เอาแต่เราต้องดูแลเต็มความสามารถตามสติปัญญาที่เราสามารถดูแลมันได้ อันนี้ก็ถือว่าเราเป็นผู้มีความฉลาดมาก เข้าใจธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ให้เป็นผู้ไม่ประมาท ถ้าเราประมาทก็คือเราตาย ถ้าเราไม่ประมาทเราก็ไม่ตาย ตายเฉพาะร่างกายแต่จิตใจของเราก็ยังเบิกบานอยู่ เราจะเกิดชาติหน้าเมื่อไหร่เราก็สบาย มีความสบายเป็นเบื้องหน้าแล้ว เพราะเหตุปัจจัยของเราทำความสบายไว้ ทำความสะอาดไว้ ปล่อยไว้ วางไว้ ละไว้ในสิ่งที่เป็นโลก เรามาเรียนรู้เรื่องโลกเท่านั้นนะเราไม่ได้มายึดโลกเป็นของเราให้เรามาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้และก็ให้โลกเป็นอยู่อย่างนี้ให้มันเป็นไปอย่างนี้เราก็จะไม่ขวางโลก ไม่แบกโลก เราก็จะไม่หนักใจ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจโลก ไม่เข้าใจอารมณ์ (อารมณ์คือโลก) เราก็แบกมันไว้ขวางมันไว้ ยึดมันไว้หมายมั่นมันไว้เราก็เกิดความทุกข์ เราก็ไม่เป็นผู้ประเสริฐซะที ถ้าเราต้องการเป็นผู้ประเสริฐเราก็ต้องมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่องไว้ บริกรรมภาวนาไว้สิ่งเหล่านี้ให้มันเกิดขึ้นในความรู้สึกของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้จะทำให้ชีวิตของเราค่อย ๆ สงบลงสงบไปเรื่อย ๆ ยิ่งสงบมากเท่าไหร่ปัญญาก็เกิดมากเท่านั้นเกิดพร้อมกับความสงบนี้แหละเพราะว่าสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี

ทุกวันนี้มันไม่สงบมันไม่ระงับ เพราะมันคิดเยอะคิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานามากมายวัน ๆ หนึ่งไม่รู้คิดกี่แสนกี่ล้านเรื่อง (เยอะไปหมดมากมาย) จะหยุดคิดซัก ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาทีก็ยากมาก เพราะจิตใจของเรานี้ไม่เคยชิน (ไม่เคยฝึกปฏิบัติเรื่องความสงบนี้) มันก็เลยทำยาก แต่เราก็ต้องพยายาม ๕ นาทีก็เอา พุทโธได้วันละเท่าไหร่ก็เอา นึกได้เมื่อไหร่ก็พุทโธตอนนั้น ทำไปเรื่อย ๆ ทำไม่หยุดความสงสัยจะหมดไป พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ดูก่อนอานนท์ ความสงสัยจะหมดไปโดยสิ้นเชิงด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมที่ใจของเรามีความเห็นที่ถูกต้องทุกเรื่องเท่านั้น จะไม่หมดไปด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง อันนี้แหละเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องพยายามทำเมื่อเราได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ ที่ครูบาอาจารย์ได้ประกาศไว้ มาบอกเราให้เราทำ เราก็พยายาม อย่าว่ามันยากและก็ทอดธุระหรือไม่ทำเลยไม่ได้ ยิ่งยากมากเท่าไหร่เราก็ต้องทำให้ต้องทำให้มากเท่านั้น เพิ่มความสามารถเข้าไปอีก ไปทำง่าย ๆ ก็ไม่ได้ จะทำเล่น ๆ ก็ไม่ได้ เราต้องทำจริง ๆ จัง ๆ ให้เราตั้งใจทำความดีกันไป เราก็จะมีที่พึ่งแน่นอนในจิตใจของเรานี้แหละ บัดนี้ อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.

---------------------------

view