สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

รู้ทุกอิริยาบถ

 

เรื่องที่ ๒๒ เรื่อง รู้ทุกอิริยาบถ

สมัยหลวงปู่ชามีชีวิตอยู่ อีสานก็ยังลำบากอยู่ ตอนอาตมาบวชพรรษาแรก ไปวัดหนองป่าพงตอนนั้นเสนาสนะก็ไม่ได้มีเหมือนที่เราเห็นกัน (มีศาลาที่มุงด้วยสังกะสี ก็ไม่กว้างเท่าไหร่) หลวงปู่ก็จะนั่งตรงกลาง พระภิกษุสงฆ์ก็จะนั่งซ้าย - ขวา (พระก็จะนั่งเรียงตามลำดับพรรษากัน) ญาติโยมก็ไม่ได้เข้ามาในศาลาเท่าไหร่ (จะอยู่ที่ระเบียงที่ศาลามากกว่า) อาหารก็จะถวายรวมไว้ ก็จะมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้แจกแบ่ง มีหน้าที่ประมาณ ๓ - ๔ รูปผลัดกัน ก็จะยกหม้อที่แม่ชีทำมาแล้วก็จะตักเรียงไปเรื่อย ๆ องค์ไหนเอาก็บอก จะแบ่งกัน กับข้าวก็ไม่มีอะไรมาก ส้มตำก็เป็นอาหารหลัก น้ำพริก ผัก เป็นต้น เริ่มแรกประชาชนก็ไม่ค่อยรู้จักพระป่าเท่าไหร่ จนหลวงปู่ชาท่านก็อบรมไปเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย จนชื่อเสียงของท่านก็เป็นที่รู้จัก ชาวกรุงเทพ ฯ กลุ่มหนึ่งสนใจประพฤติปฏิบัติก็จะไปปฏิบัติตามป่าตามเขาที่ครูบาอาจารย์อยู่ สมัยที่อาตมาเป็นพระบวชใหม่ได้ไปตามที่ครูบาอาจารย์อยู่เช่นกัน เช่น ถ้ำผาป่องบ้าง (สมัยที่หลวงปู่สิมยังมีชีวิตอยู่) หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว ไปหลายหลวงปู่มาก ได้ไปกราบท่านและก็ได้ไปปฏิบัติธรรม เราเป็นผู้มาใหม่เรายังไม่รู้เรื่องธรรมะ (แต่มีความสนใจอย่างมากในการที่ทำจิตให้หลุดพ้นจากความทุกข์) เมื่อจิตมีความพอใจเราก็จะสามารถไปที่ไหนก็ได้ ถ้าสถานที่นั้นมีธรรม (มีประโยชน์ต่อเราที่เราจะได้รับ)

สมัยก่อนเคยไปกราบหลวงปู่องค์หนึ่งในป่า ไฟฟ้าก็ไม่มี ทุรกันดารมาก (มีชาวเขาประมาณ ๕๐๐ ครอบครัวอุปัฏฐากท่านอยู่) ทั้งหมดทานมังสวิรัติหมด (เพราะว่ามันไม่มีอะไร ต้นทุนในการปลูกผักน้อย) ชาวบ้านก็พอใจนั่งสมาธิสวดมนต์ ก็ศึกษาตามสติปัญญาของตัวเอง เมื่อไปเห็นแล้วก็ชื่นใจ ขนาดอยู่ป่าอยู่เขายังมีครูบาอาจารย์ที่ดี ที่สามารถชี้ทางถูกให้พวกเขาได้ มาย้อนดูหลวงปู่ชาของเราท่านเผยแผ่พระพุทธศาสนามานานมาก ตั้งแต่ไม่มีอะไร จนมีคนรู้จักมากมาย (โดยเฉพาะธรรมะที่ท่านสอน ท่านอุปมาอุปมัยได้ชัดแจ้งเข้าใจง่าย) ท่านบอกว่า สมาธิ คือความตั้งใจมั่น เรามั่นคงในความรู้สึก เมื่อเรายืนเราก็มั่นคง เราเดินไปเราก็มั่นคง ทุกฝีก้าวก็มั่นคง กำหนดรู้ในการเดินของเราให้มั่นคง จิตของเราก็จะไม่สอดส่าย เหมือนกับพวกเรานั่งฟังอาตมาปรารภธรรม เราก็จะต้องทำจิตของเราให้มั่นคงโดยการที่เราจะไม่พยายามไปคิดเรื่องอื่น จะฟังเฉพาะเสียงของอาตมาอยู่ตรงนี้ (อันนี้ความมั่นคงก็เกิดขึ้น ความตั้งใจมั่นก็เกิดขึ้น) เป็นต้น ถ้าความตั้งใจมั่นมันเกิดต่อเนื่อง จิตใจของเราก็จะค่อย ๆ ห่างจากสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ มากมายไปทีละเล็กทีละน้อย จิตก็เริ่มมีความสงบ แล้วเรามาพินิจพิจารณาหรือคิดเรื่องความเป็นจริงของกายเรานี้ ว่ากายนี้มันเป็นอย่างไร ? มันจะตั้งอยู่นานไหม ? มันเป็นของที่คงทนถาวรหรือเปล่า ? เป็นของที่สวยสดงดงามไหม ? และมันมีความแตกสลายหรือเปล่า ?

อย่างหลวงปู่ชาท่านยกตัวอย่างไว้ชัดว่า ตอนนี้เรามีชีวิตอยู่นี้การสืบต่อของเซลล์ต่าง ๆ มันบังความตายเอาไว้ (ก็คือเรามีความตายเป็นเบื้องหน้าแน่นอน) แต่ตอนนี้มันบังอยู่ เหมือนเด็กน้อยหรือวัยรุ่น ความเป็นเด็กน้อยหรือวัยรุ่นมันก็บังความแก่ไว้ (มันยังไม่ปรากฏ) แต่เมื่อเหตุการณ์มันถึงเวลาที่มันจะเกิด ความแก่ชรามันก็จะปรากฏ อย่างเราผ่านอายุมาเยอะแล้วเราก็เข้าใจว่าความแก่ชราเป็นอย่างไร ความถดถอยของร่างกายมันเป็นอย่างไร (แต่จริง ๆ ใจของเราก็ยังสู้เหมือนเดิมแต่ร่างกายมันไม่เอื้ออำนวยแล้ว) เราก็เข้าใจ แต่เด็กวัยรุ่นไม่เข้าใจอย่างเราเพราะว่าสภาวะความเป็นจริงยังไม่ปรากฏชัดแก่เขา ถึงแม้เราจะอธิบายอย่างไรก็ตามเขาก็ยังไม่เข้าใจเหมือนเรา พระพุทธเจ้าทรงสอนพวกเราว่า ให้เราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ให้เราปล่อยวางในความโลภ ความโกรธ ความหลง ในความยึดหมายมั่นต่าง ๆ ถ้าเรายังไม่เข้าใจชัด (จิตของเรายังไม่ตั้งมั่น) ปัญญา คือ ญาณ (ความหยั่งรู้) มันเกิดไม่ได้ ญาณจะเกิดได้ก็เมื่อจิตของเรามีความสงบ แล้วเอาความสงบมาพิจารณากายนี้ เห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ เห็นว่ากายนี้มีความทุกข์ เรานั่ง ยืน เดิน เราก็ทุกข์ (เราต้องเปลี่ยนอิริยาบถอยู่บ่อย ๆ) หิวข้าวเราก็ทุกข์ ตัวร้อนไม่สบายก็เป็นความทุกข์ ความหนาวมาก ๆ ก็ทุกข์

ความร้อนก็ดีเหมือนกันนะ เมื่อเราร้อนมาก ๆ เราก็คิดถึงความเย็น เมื่อมันแห้งแล้งมาก ๆ เราก็คิดถึงฝนว่ามันน่าจะตกนะ (เลยไม่มีความพอดีสำหรับมนุษย์) มนุษย์มีความทุกข์จากฤดูกาล ความร้อน ความหนาว ความชื่น อุณหภูมิต่าง ๆ ทำให้ร่างกายของเรานี้ไม่สบายก็ได้ (ถ้าร่างกายไม่มีภูมิต้านทาน) จิตใจของเราก็เหมือนกันถ้าเราไม่ตั้งใจมั่น (ไม่มีภูมิต้านทานในอารมณ์ของความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายแล้วส่งมาที่ใจนี้) จิตใจของเราก็จะหวั่นไหว เกิดความรัก ความชัง ความชอบ ความเกลียด ความโกรธ เป็นต้น (เกิดอารมณ์อีกมากมายที่ทำให้จิตใจของเรานี้วุ่นวายและเศร้าหมอง) เราเลยต้องมาฝึกให้จิตใจของเรานี้ให้มันตั้งใจมั่น ให้อารมณ์มันผ่านมาก็สักแต่ว่าอารมณ์ให้ได้ทีละเล็กทีละน้อย (เริ่มแรกมันสักแต่ว่าทั้งหมดไม่ได้หรอกแต่ค่อย ๆ สักแต่ว่า) ๑ อารมณ์ ๑ ความรู้สึก ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ ทีละอารมณ์เล็กอารมณ์น้อยจนเราชำนาญ การฝึกก็ต้องใช้เวลา การอบรมจิตใจเป็นการอบรมที่มันละเอียดอ่อน เป็นนามธรรม ทำของยากให้มันชำนาญให้เป็นปกติได้เราถึงจะเข้าใจว่าจิตที่ฝึกดีแล้วมันจะนำความสุขมาให้เราจริง ๆ ความดำริ (ความคิด) ของเราก็จะถูกต้องไปหมด การดำรงชีวิตของเราก็มีคุณค่าขึ้น รู้สึกว่าจิตใจของเรานี้วางได้ (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลูก เรื่องหลาน เรื่องสามีภรรยา เรื่องธุรกิจการค้า เรื่องอะไรต่าง ๆ เราก็สามารถดำรงอยู่ได้ในทุกสภาวะต่าง ๆ)

เขาบอกว่าปีหน้า (๒๕๕๒) เผาจริง อาตมาก็ไม่อยากได้ยินคำนี้ ไม่รู้ใครเป็นคนรู้คนแรก เศรษฐกิจของเราจะเผาจริง (หนักกว่าปี ๔๐ อีกเยอะ) เราก็ตั้งปัจจุบันให้มันดี เป็นผู้ไม่ประมาท เมื่ออะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิด แต่สิ่งที่เกิดแล้วเราจะต่อสู้กับสิ่งที่เกิดแล้วให้มันสงบนี้อันนี้เป็นความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะมีสติปัญญาแตกต่างกัน ถ้าเรามีสติปัญญาที่ดี มีความฉลาด มีความตั้งใจมั่น ทุกอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามา ถึงจะหวั่นไหวไปบ้างเราก็พยายามตั้งความตั้งใจมั่นให้ได้ โดยกำหนดระลึกรู้ในทุกอิริยาบถของเรา เช่น เรานั่งคิดเรื่องความทุกข์เราก็รู้ว่าตอนนี้เรากำลงนั่งนะ กำลังคิดเรื่องความทุกข์ หรืออารมณ์ความทุกข์มันกำลังเกิดในอิริยาบถที่เรากำลังนั่งอยู่นะ เป็นต้น อันนี้แหละที่จะทำให้สติของเรานี้เร็ว เราไม่ได้ไปกับอารมณ์อย่างเดียวมันจะมารู้กับอิริยาบถด้วย เรากำลังคิดอยู่เรากำลังคิดกำลังทุกข์อยู่ในอิริยาบถอะไร อันนี้สำคัญ สำคัญอย่างไร ? มันจะทำให้จิตใจของเรานี้มีความสงบบางส่วนที่เกิดขึ้นจากความทุกข์นั้น ๆ การกำหนดรู้ความทุกข์มันก็จะเริ่มชัดขึ้นเห็นความทุกข์เกิดขึ้น(เราไปหมายมั่นมันนี้ เราไปยึดถือ ไปพอใจ ไปไม่พอใจในสิ่งต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดความทุกข์)

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เราถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เรามีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์จะพึงปรากฏชัด (ก็คือความไม่มีทุกข์จะปรากฏชัด) เราก็กำหนดรู้ทุกข์ รู้เหตุของทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ (อริยสัจ ๔) พระพุทธเจ้าบอกว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ต้องพยายามทำให้เกิดมีเกิดเป็นในกาย วาจา ใจของเรา เมื่อเราเดินทางถูกมันก็ดับทุกข์ได้ (แต่ถ้าเราเดินทางผิดมันก็ดับทุกข์ไม่ได้) โดยเฉพาะความทุกข์ไม่มากก็น้อยเราก็ต้องมีกันบ้างหละ แต่ละวัน แต่ละอารมณ์ แต่ละความรู้สึกนึกคิด สุข ทุกข์ เฉย ๆ เราก็ต้องแก้ไขไปตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ยิ่งเราเกี่ยวข้องกับคนมากเท่าไหร่ ปัญหาก็จะยิ่งวุ่นวายมาก เราก็ต้องมีสติให้มาก มันไม่ได้ดั่งใจปรารถนาไปทุกเรื่องเราก็ต้องค่อย ๆ แก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ จนเราชำนาญไปเรื่อย ๆ ความสามารถของแต่ละคนไม่เท่ากัน ความตั้งใจมั่นของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้เราก็จะสบายใจ เช่น ในการทำการงานคนหนึ่งทำงานด้วยความหมายมั่นว่าอันนี้เป็นของเรา เป็นผลงานของเรา แต่อีกคนหนึ่งเป็นลูกจ้างถ้าเขาไม่มีความรับผิดชอบสูง ไม่รักในงาน ไม่รักในนายจ้าง ไม่พยายามเสียสละ เขาก็ทำงานไปวัน ๆ หนึ่ง ผลของงานก็ออกมาแตกต่างกัน เป็นต้น

เราก็ต้องเข้าใจ เราจะไปหาคนที่มีส่วนดีเพียงส่วนเดียวมันก็ไม่มีหรอก มีก็น้อย คนนั้นต้องมีความรับผิดชอบหรือมีคุณธรรมสูงมาก เห็นงานของคนอื่นก็เหมือนว่าเป็นงานของเรา เห็นของ ๆ คนอื่นก็เหมือนว่าเป็นของ ๆ เรา ที่รักษาดูแลไม่ให้เสียผลประโยชน์ คนนั้นก็ต้องปฏิบัติธรรมจริง ๆ (ถ้าเป็นคนปฏิบัติธรรมจริง ๆ จะเห็นคุณค่าของการงานแต่ละการงานชัด ยอมรับความเป็นจริงของทุกอย่าง) ก็จะทำให้เขาทำงานด้วยความไม่เครียด มีความขยันหมั่นเพียร มีความเสียสละ ทุ่มเททั้งกายและใจอย่างเต็มที่ ถึงจะมีน้อยแต่ก็มีอยู่ แต่เราจะเจอเมื่อไหร่นั้นก็แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่สำคัญที่เราต้องพยายามเป็นตัวแบบที่ดีก่อน ขยันหมั่นเพียร เรียนรู้เรื่องอารมณ์ของเรานี้แหละ ว่าทำไมมันสุข ? ทำไมมันทุกข์เพราะอะไร ? จะจัดการอารมณ์ของเราอย่างไร ? เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้ว และจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก เราก็จะต้องเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ให้มากที่สุดที่จะมากได้ จิตใจของเราก็จะค่อย ๆ ฉลาดขึ้น มีปัญญาขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้น (ความทุกข์มันก็จะน้อยลง ความสุขมันก็จะเพิ่มขึ้นเองโดยธรรมชาติของมัน) บัดนี้อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.

---------------------------

view