สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ทรัพย์ภายใน - อริยทรัพย์

 

เรื่องที่ ๔๐ เรื่อง ทรัพย์ภายใน - อริยทรัพย์

มานั่งสมาธิกันโยม โอกาสนั่งสมาธิก็นาน ๆ ครั้ง (บางคนนาน ๆ มาวัดถึงจะได้นั่งซักทีหนึ่ง) สายวัดป่าเราหรือสายวัดกรรมฐานส่วนใหญ่แล้วญาติโยมก็มาทำบุญถวายทาน นั่งสมาธิ ฟังธรรมเพราะการนั่งสมาธินี้จะทำให้จิตใจของเรานี้มีความเคยชินกับความสงบ นั่งด้วยท่าสบาย ๆ (จะนั่งพับเพียบก็ได้ จะนั่งขัดสมาดก็ได้หรือจะเอาขาขวาทับขาซ้ายตั้งกายให้ตรงก็ได้) มีสติอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะฟังสิ่งที่อาตมากำลังปรารภธรรมอยู่ พยายามจดจ่อจดจ้องอยู่ในเสียง เอาเสียงนี้เป็นความรู้ของจิต เป็นที่ระลึกรู้ของจิต (เป็นการเจริญสติ) เพราะสตินี้แหละจะสำเร็จประโยชน์ได้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย (ก็เพราะสติเท่านั้น) บุคคลใดพยายามเพิ่มสติให้กับตัวเองมาก ๆ กิเลสมันจะลดเองไม่ต้องไปหาทางลดด้วยวิธีอื่น (ทางอื่นมันลดไม่ได้ ต้องลดด้วยการเจริญสติ เจริญปัญญาเท่านั้น) พระพุทธเจ้าท่านทรงเตือนให้พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาททรงตรัสไว้ว่า วันเวลาล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรกันอยู่ เห็นไหม ? แป๊ปเดียว ๑ ปีอีกแล้วยังไม่เท่าไหร่เลย การหมดไป ๑ ปีของเราในช่วงอายุนี้เราได้ทำอะไรไว้เป็นแก่นสารแก่ตัวเราเองบ้าง เราก็มาตรวจสอบดูซิ ? ตลอด ๑ ปีเราก็แสวงหาแต่ทรัพย์ ถ้าเราเอาเวลาซักส่วนหนึ่ง (แบ่งส่วนจากการแสวงหาทรัพย์) มาแสวงหาธรรมแล้วจิตใจของเราคงจะสงบ จิตใจของเราคงจะมีปัญญา (ความทุกข์มันก็จะน้อยลง)

แต่ทุกวันนี้เราก็แสวงหาภายนอกกันมากแต่แสวงหาภายในใจของเราจริง ๆ แล้วเราบอกว่าไม่ค่อยมีเวลา แต่ถ้าเรารู้ เราเข้าใจชัดว่าการแสวงหาภายในที่เรียกว่า อริยทรัพย์ นี้มันมีคุณค่ามหาศาลที่สุด จะเป็นที่พึ่งให้เราได้จริง ๆ อาตมาคิดว่าทุกคนคงจะแสวงหาภายในกัน (แต่เรายังไม่เห็นประโยชน์ของทรัพย์ภายใน เราเห็นประโยชน์แต่ทรัพย์ภายนอกพวกเราเลยแสวงหาแต่ทรัพย์ภายนอก) ยิ่งเราแสวงหาทรัพย์ภายนอกไปเรื่อย ๆ เราก็ยิ่งไม่ได้ (อริยทรัพย์) เราก็นึกว่าเราได้แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้ (มีความเห็นผิด) เพราะมันไม่คงทนถาวร (ทรัพย์ที่เราได้มานี้มันก็ต้องเสียไป) มันไม่สามารถคงทนอยู่ได้ เพราะเป็นทรัพย์ที่เป็น รูปธรรม แต่ทรัพย์อีกชนิดหนึ่งที่เป็น นามธรรม เป็นความรู้สึกนึกคิดที่ดี ๆ เป็นความสบาย มีความฉลาดมีความสงบในเรื่องราวต่าง ๆ ในความรู้สึกนึกคิดของเราเองในตอนเป็นอยู่ของเรานี้เรามีความฉลาดมาก เรื่องราวอะไรเข้ามาเราก็พินิจพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำเราก็จะวางได้แต่ถ้าเราเห็นความเที่ยงอยู่เป็นประจำเราก็วางไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ให้เราเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ เช่นสกลร่างกายของเรานี้มันก็ไม่เที่ยง เห็นไหม ? ผ่านไปเป็นชั่วโมงไป เป็นเดือนไป เป็นปีไป

ดูอย่างร่างกายเราตอนนี้กับร่างกายวันที่ ๑ มกราคม ของปีนี้ (๒๕๕๒) มันก็คนละส่วนกันแล้ว มันก็คนละเรื่องกันแล้ว เซลล์ต่าง ๆ ตายไป-สร้างใหม่ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา มีความเสื่อมไปแล้ว ความสามารถของเซลล์ต่าง ๆ ก็ลดลง (ผู้สูงอายุ) นี้เรียกว่า ความเสื่อม บางคนบอกว่าเด็กก็มีความเจริญเติบโตขึ้น แต่จริง ๆ แล้วก็มีความเสื่อม เสื่อมขึ้นไปเรื่อย ๆ อันนี้แหละคือความเป็นจริงที่มนุษย์ควรจะศึกษา (ไม่เที่ยง) พอเราศึกษาเรื่องนี้เราจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทวันคืนที่ล่วงไป ๆ ก็มีประโยชน์แก่เราอย่างมหาศาลแต่ถ้าเราไม่ศึกษาตัวเองเราจะไปศึกษาอะไร ? เราเกิดมาเราต้องการความสุขที่แท้จริงเราก็ต้องศึกษาตัวเอง อย่างที่พระพุทธเจ้าของเราทรงศึกษาตัวเองทรงแสวงหาธรรมแล้วก็มาประกาศให้พวกเรานี้รู้ว่า ทาน (การให้) นี้มีอานิสงส์ (บางคนไม่เข้าใจนึกว่า ทาน นี้ไม่มีอานิสงส์) ถ้าทานนี้ไม่มีอานิสงส์ก็คงไม่มีเศรษฐี มหาเศรษฐี คนจนหรอก เพราะอำนาจของทานนี้แหละที่ทำให้คนเราแตกต่างไปด้วยอำนาจวาสนาบารมีที่ตัวเองทำไว้นี้แหละอำนาจของศีลหละ ? ก็ทำให้คนเราสมบูรณ์บริบูรณ์ เช่น ไม่เป็นคนพิการ เป็นต้น เห็นไหม ? บางคนเกิดมาเป็นลูกมหาเศรษฐีแต่ก็ปัญญาอ่อนก็มี แสดงว่าเขาทำทานมาแต่ไม่รักษาศีล ถ้าพวกเรามีอวัยวะครบเกิดมาไม่พิการแสดงว่าเรารักษาศีล ๕ มาแล้วเราถึงเกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยร่างกายสมบูรณ์

แต่มนุษย์จะสมบูรณ์ด้วยจิตใจก็ต้องมีศีลภายในอีก มีความรู้สึกนึกคิดที่ดี เช่น มีเจตนาละเว้นไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดโกหก ไม่ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น อันนี้เป็นศีลที่เรามีเจตนาตั้งใจไว้ในความรู้สึกของเราก่อนและก็แสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย วาจา ใจที่สมบูรณ์ ขึ้นชื่อว่าความตกต่ำ ความขัดข้อง ความวุ่นวายก็จะไม่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีศีล เมื่อเราทำสิ่งนี้ (มีศีล ๕) ให้สะอาดแล้วกายเราก็สะอาด วาจาก็สะอาด เพราะมีความเป็นปกติ โอกาสจิตใจของเราจะสงบก็เป็นไปได้ (ศีลเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ) แต่ถ้ากายไม่สะอาด วาจาไม่สะอาด (ไม่มีศีล) แต่เราจะมาทำจิตให้สงบนี้มันก็เป็นไปได้ยากเพราะว่าพื้นฐานมันไม่มั่นคง เปรียบเหมือนว่าผ้าของเรามันยังไม่สะอาด มันจะย้อมสีให้สดสวยมันก็ยาก แต่พวกเรานี้ก็มีศีลกันแล้ว บางคนข้อไหนยังไม่ได้ ยังไม่มั่นคง ก็ให้พยายามไม่ใช่ว่าไม่ได้ตอนนี้ก็คิดว่าจะไม่ได้ไปเลยอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องพยายาม (มนุษย์มีความพยายามสูงกว่าสัตว์ทั้งหลาย) อย่างเช่น ความสงบเรายังทำไม่ได้ เราก็ต้องพยายามไต่เต้า เป็นต้น เราพยายามทำความดีก็คือการทำทานเป็นประจำ รักษาศีลเป็นประจำนี้เป็นการละความชั่ว ก็เหลืออยู่ตัวสุดท้ายเท่านั้นเองคือทำใจให้สงบ ให้ผ่องใส (หัวใจของพระพุทธศาสนามี ๓ อย่างคือ ๑. การละความชั่วบาป ๒.การทำความดี ๓. การทำจิตใจให้สงบ ให้ผ่องใส)

การทำใจให้สงบ ให้ผ่องใสนี้จะทำให้มนุษย์ทั้งหลายมีความร่มเย็น จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน (เพราะว่าความเห็นแตกต่างกันก็จะไม่เกิดขึ้น) จะเข้าใจความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหมดโดยการเข้าใจตัวเราเองคนเดียวนี้ (คนอื่นก็เหมือนเราคือมีความโลภ มีความโกรธ มีความหลงเหมือนเรา) ให้พยายามควบคุมความโลภ ความโกรธ ความหลงของตัวเองไว้ ใช้อะไรควบคุม ? สติปัญญา เป็นตัวควบคุม ดูอย่างทานนี้ก็เป็นตัวควบคุมความโลภ ถ้าเรารักษาศีล เจริญภาวนาทำจิตใจของเราให้สงบก็เป็นการควบคุมความโกรธเราไว้ ถ้าจิตใจของเราผ่านความสงบมาแล้วนำมาพินิจพิจารณาบริกรรมคำว่า ไม่เที่ยง อะไรที่เกิดขึ้นมาเราก็สอนใจของเราไว้ว่า ไม่เที่ยง นี้เป็นการควบคุมความหลงเพราะได้ปัญญา การสอนใจว่า ไม่เที่ยง เราก็ทำไปนะ ไม่ใช่ว่าสอนใจว่า ไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ทำ (เราก็ทำเหมือนเดิม ความเป็นอยู่ก็เหมือนเดิม) ปัญญาก็เกิด ทำอย่างไร ? เช่น เวลาเราโกรธอยู่ ให้เราบอกสอนใจตัวเองว่า ไม่เที่ยง หรือเมื่อเรากำลังชอบใจสิ่งเหล่านี้อยู่เราบอกสอนใจตัวเองว่า สิ่งนี้ที่เราชอบใจนี้มันไม่เที่ยง เป็นต้น เราก็ทำไปสอนใจตัวเองไป ชอบหรือไม่ชอบเราก็รู้ไปแต่ก็มี ความไม่เที่ยง อยู่ด้วยในความรู้สึกของเรานี้ (ตอนที่เราระลึกรู้ว่า ไม่เที่ยง นี้สติเราเกิด สัมปชัญญะเราเกิด ปัญญาเราเกิด)

แต่ถ้าเรามีความเห็นผิดสอนใจตัวเองว่า มันต้องเที่ยง มันต้องเป็นไปตามใจเราปรารถนา ต้องเป็นอย่างนี้จะไม่เป็นไปอย่างอื่นเลยอย่างนี้แล้ว อันไหนมันจะสุข ? อันไหนมันจะทุกข์ ? อันไหนมันจะเบาใจกว่ากัน ให้พินิจพิจารณาดูเถิด ถ้าเราหมายมั่นอย่างนั้นเราก็ทุกข์แน่นอนเพราะเราไม่สามารถที่จะวางมันได้ (คือไม่สามารถถอนความยึดมั่น หมายมั่น ถือมั่นในใจของเรานี้) แต่ถ้าเราสอนใจตัวเราเองว่า ไม่เที่ยง ใจก็วางเลย บางคนเข้าใจผิดบอกว่าถ้าสอนใจตัวเองว่า ไม่เที่ยง ก็วาง ก็ไม่สนใจ ไม่ทำ (อันนี้ทำผิด) ไม่ใช่ว่าเราจะไปทอดทิ้งหรือว่าไม่สนใจในสิ่งเหล่านั้นแล้วก็เกิด ความไม่เที่ยง ในใจ ไม่ใช่ แต่กลับกันยิ่งเราสอนใจตัวเราเองว่า ไม่เที่ยง บ่อยเท่าไหร่เราจะสนใจยิ่งขึ้น เราจะมีความบากบั่นยิ่งขึ้น มีการกระทำงานที่ดีมากขึ้นทั้งนี้เพราะว่าการกระทำของเรานี้วางได้ จิตใจของเรานี้มีสติ ยอมรับเหตุการณ์ในการกระทำของเราได้ตลอดเวลา (อาจจะสมบูรณ์ก็ได้ ปานกลางก็ได้ หรือไม่สมบูรณ์ก็ได้หรืออาจจะผิดพลาดก็ได้) ยอมรับทั้งตัวเราและคนอื่น อันนี้คือ การวาง (แต่ไม่ใช่ว่าไม่ทำ การอยู่นิ่ง ๆ ก็คือการปล่อยวางอันนี้ไม่ใช่) การปล่อยวางที่ถูกต้องก็คือ การกระทำที่สมบูรณ์แบบในตัวของมันเองโดยไม่นำความทุกข์มาให้กับจิตใจของเรานี้ (อันนี้สำคัญ)

ให้พวกเราพยายามศึกษาใจของเราว่าตอนนี้เราเป็นอย่างไร ? ใจของเราไม่สบายหรือ ? ทุกข์หรือ ? นี้แหละเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก ตั้งแต่เราตื่นนอนมาเราก็ต้องเรียนรู้เรื่องนี้ เราทำงานไปเราก็รู้ไปพินิจพิจารณาไป มีสติไป แต่ถ้าเราทำงานปล่อยให้ใจของเราล่องลอยไปคิดไปต่าง ๆนานา งานก็ทำไปใจก็ลอยไปอย่างนี้เหนื่อยแน่นอน (เหนื่อยใจ) เราทำงานเราต้องจดจ่อจดจ้องในหน้าที่การงานนั้น ๆ ให้เป็นอารมณ์เดียว เช่น เรากำลังเขียนอยู่นะ กำลังคิดเรื่องนี้อยู่ก็ให้เป็นอารมณ์เดียว (อย่างนี้จิตสงบ) เป็นต้น แต่ทุกวันนี้เราคิดหลายอารมณ์ คิดเรื่องนี้ก็ไปคิดเรื่องโน้นอีกคือมันอยากจะทำหลาย ๆ หน้าที่หลาย ๆ เรื่องราวเพราะงานเรามีหลายด้าน เยอะ ก็พยายามจะทำให้มันหลาย ๆ เรื่องพร้อม ๆ กันอย่างนี้เละหมด ให้เราจดจ่อจดจ้องอยู่เรื่องเดียวทีละเรื่องไปเรื่อย ๆ อย่างทำเรื่องนี้ให้จบก่อนแล้วค่อยไปเรื่องนั้น แล้วไปเรื่องนั้นให้จบ จบไปเป็นเรื่อง ๆ ไม่ใช่ว่าอันนั้นก็อยากจะทำอันนี้ก็อยากจะทำอันโน้นก็อยากจะทำ สุดท้ายแล้วไม่ได้อะไรซักอย่างหนึ่ง วุ่นวายไปหมด งานก็ไม่สำเร็จประโยชน์เลย เห็นไหม ? แสดงว่าเราทำงานไม่จดจ่อไม่จดจ้องไม่เป็นสมาธิ ถ้าจิตใจเราไม่เป็นสมาธิเรายิ่งทำงานยากขึ้น ทำงานวุ่นวายมาก เพราะฉะนั้นการทำงานเราต้องให้จิตใจเราจดจ่อ

อย่างตอนนี้เรามาจดจ่ออยู่กับเสียงที่อาตมาพูด (เรากำลังจดจ่อจดจ้อง ระวัง) แต่มันก็คิดไปเรื่องอื่นไหม ? คิด มันก็จะแว็บ ๆ มันก็น้อยแต่การจดจ่อของเราก็มากขึ้นด้วยแต่ถ้ามัน (การจดจ่อจดจ้อง) มากขึ้น ๆ มันก็จะแว็บ ๆ ไปในเรื่องภายนอกมันก็จะน้อยลง ๆ จิตใจของเราก็จะสงบขึ้น ๆ การพินิจพิจารณาความเป็นจริงของร่างกายนี้ว่ากายนี้มันไม่เที่ยง (เราก็ยอมรับ) กายนี้มันเป็นทุกข์ เห็นไหมเรานั่งนาน ๆ เราก็ทุกข์ (เราก็ยอมรับ) กายนี้ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา (เราก็ยอมรับ) เราไม่ต้องการแก่ เจ็บ ตาย มันก็ต้องเกิดขึ้นกับเราแน่นอน (เราก็ยอมรับ) กายนี้มันไม่งามเลยเราต้องอาบน้ำมันทุกวัน (เราก็ยอมรับ) พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องความเป็นจริงแต่เราก็พยายามปกปิดตัวเราเอง (คือรู้อยู่ ยอมรับอยู่แต่ไม่ชัด) เราก็ปกปิดว่าร่างกายของเรานี้มันสะอาด ๑ ร่างกายเราเที่ยง ๑ ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ๑ ร่างกายนี้เป็นของ ๆ เรา ๑ การที่เราคิดอย่างนี้ (ความเห็นวิปลาสจากความเป็นจริง ๔) มันหลอกตัวเอง เราหลอกตัวเองมานานแล้วหลายภพหลายชาติ เมื่ออาศัยพระพุทธเจ้าเกิดมามาบอกความจริงเราก็ต้องฟัง เรากำหนดพินิจพิจารณาว่าท่านบอกความจริงเรื่องอะไร ? มันจริงอย่างที่ท่านบอกไหม ? (อันนี้สำคัญมาก)

อย่างการทำทาน (การให้) นี้พระพุทธเจ้าบอกว่า การทำทานเป็นการทำที่ยากถ้าบุคคลนั้นไม่มีปัญญานำก็ทำไม่ได้ บุคคลนั้นต้องเห็นอานิสงส์ (ผล) เห็นประโยชน์ เห็นโทษ เห็นการตระหนี่ถี่เหนียวว่าการทำทานนี้มีผล คนที่ไม่เข้าใจเรื่องการทำทานก็จะไม่รู้ก็จะคิดว่า การทำทานไม่มีอะไรหรอกไม่เห็นจะได้อะไรเลย (มีความเห็นผิด) จริง ๆ แล้วการทำทาน (การให้) นี้เมื่อเราทำแล้วได้ทันทีเลยคือเราจะได้ความเบาใจ ความเสียสละ ทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความตระหนี่ถี่เหนียว ถ้าเราไม่เคยทำทาน (สังฆทาน) เลยนี้เราจะเราจะสามารถระลึกถึงการถวายสังฆทานได้ไหม ? ไม่ได้ ระลึกถึงว่าเราไปวัดนั้นถวายนั้น ถวายนี้ได้ไหม ? ไม่ได้เพราะว่าเราไม่เคย คนที่ไม่เคยก็จะระลึกรู้ไม่ได้ก็จะไม่เห็นความเบาใจแต่ถ้าบุคคลใดเคยทำก็จะสามารถระลึกรู้เมื่อใดก็ได้ เคยไปวัดโน้นวัดนี้ ทำงานโน้นทำงานนี้ ได้เสียสละอย่างโน้นอย่างนี้ เมื่อเราระลึกไปเราก็สบาย แต่ถ้ากลับกันถ้าเราระลึกถึงความโลภ (ความอยากจะได้ อยากจะเพ่งโทษ อยากจะได้สิ่งเหล่านั้น อยากจะแสวงหาสิ่งเหล่านี้) ของเราหละ ? เมื่อเราระลึกไปเราก็ปวดหัว เราก็หนักใจ เราก็ทุกข์ เราจะเห็นผลตรงข้ามกับการระลึกทาน (การให้) ของเราเลยที่ยิ่งเราระลึกไปเราก็สบาย นี้เป็นกรรมฐาน (กรรมฐาน คือเป็นฐานที่ตั้งแห่งการงานของจิตใจที่ทำให้จิตใจของเราสงบ) เลย

เราจะเห็นได้ว่าแค่เราระลึกรู้ก็เห็นผลของการระลึกรู้แตกต่างกันแล้วยิ่งผลทั้งหมดของมันแล้วยิ่งแตกต่างกันมากเลย พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่า บุคคลใดทำอะไรไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม บุคคลนั้นจะได้รับผลของกรรมนั้น ไม่มีใครมาได้รับกับเรา ๆ จะได้รับเอง เปรียบเหมือนเราทานข้าวจะให้คนอื่นอิ่มเป็นไปไม่ได้ เราต้องอิ่มเอง เมื่อเรารู้อย่างนี้เราก็พอใจ ภูมิใจในการการกระทำของเราอยู่ตลอดเวลาว่าเรากระทำดีแล้ว เราพยายามละความชั่ว เราพยายามทำความดี เราพยายามทำจิตใจของเราให้ผ่องใส สงบอยู่ทีละเล็กทีละน้อยถึงแม้ว่าเราจะไม่ชนะมันเต็มที่ในการละความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็รู้อยู่แต่เราก็พยายามที่จะลดมันทีละเล็กทีละน้อยให้ได้ (อันนี้สิ่งสำคัญมาก) ให้เราพยายามตั้งใจสร้างความดีกันต่อไป บัดนี้ อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.

---------------------------

view