สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เทศน์วันมาฆบูชา ๒๕๕๒

 

เรื่องที่ ๓๖ เรื่อง เทศน์วันมาฆบูชา ๒๕๕๒

ให้พวกเรานั่งสมาธิกัน รอพระภิกษุสงฆ์ไปพิจารณาอาหาบิณฑบาต โอกาสวาระวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พวกเราก็ได้รับมรดกธรรมมาจากบรรพบุรุษของพวกเรามาหลายพันปีแล้ว ดินแดนในสุวรรณภูมินี้ก็มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่าเป็นดินแดนที่มีประชาชนมีศรัทธาเลื่อมใสในอนาคต พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ศาสนาของท่านจะมาเจริญในสุวรรณภูมิ (ก็คือกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นส่วนใหญ่) แม้แต่ประเทศอินโดนีเซียก็มี พระบรมพุทโธ ที่พระพุทธศาสนาก็เคยเจริญมาแล้ว ตอนนี้ประเทศไทยก็เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท พวกเราก็ถือว่าโชคดีที่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตกทอดมาถึงพวกเราอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็มีจำนวนมากก็ได้วางข้อประพฤติปฏิบัติให้กับพระภิกษุสงฆ์,สามเณรและก็ญาติโยมมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะหลวงปู่ชาที่พวกเราเคารพบูชาอย่างจริงใจนี้ก็เป็นแบบอย่างให้เราได้เห็นในชาตินี้ว่าการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ได้ผลจริง อย่างเช่นวันนี้ทั่วโลกได้มาทำบุญตักบาตรในวันมาฆบูชา (วันเพ็ญเดือน ๓) พวกเราก็รู้อยู่แล้วว่าในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหลัก ๆ นี้มีอยู่ ๓ วันใหญ่ ๆ คือ

๑. วันวิสาขบูชา (วันเพ็ญเดือน ๖) คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ,ตรัสรู้ (๓๕ ปี) ,ปรินิพพาน (๘๐ ปี)

๒. วันอาสาฬหบูชา (วันเพ็ญเดือน ๘) คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นบทแรก (ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร) และได้เริ่มมีพระสงฆ์เป็นต้นมา

๓. ก็คือวันนี้ วันมาฆบูชา (วันเพ็ญเดือน ๓) คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงวางหลักธรรมคำสั่งสอนที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ไปเผยแผ่ในยุคนั้น มีองค์ ๔ คือ

๑.                         พระพุทธเจ้าบอกว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา (โอวาทปาฏิโมกข์) มีอยู่ ๓ ข้อ การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ การทำกุศลให้ถึงพร้อม ๑ การทำจิตของตนให้ขาวรอบ ๑

๒.                       พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาโดยไม่ได้นัดหมายมาประชุมกันที่เวฬุวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ (ทุก ๆ องค์ก็อยากจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อที่จะฟังธรรม)

๓.                        พระภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ รูปล้วนแล้วแต่เป็นพระขีณาสพ (พระอรหันต์)

๔.                        พระภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ รูปล้วนแล้วแต่พระพุทธเจ้าทรงประทานบวชให้ด้วยตนเองทั้งหมด สมัยก่อนบวชง่ายพระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านจงเป็นพระภิกษุเถิดธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงทำให้แจ้งซึ่งความสิ้นแห่งความทุกข์

สงฆ์มี ๒ อย่างคือ สมมติสงฆ์ ๑ อริยสงฆ์หรือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยแท้จริง ๑ สมมติสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบชำระจิตของตนให้สะอาดหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองก็จะเป็นอริยสงฆ์ได้มี ๔ ระดับ คือ พระโสดาบัน ๑ พระสกิทาคามี ๑ พระอนาคามี ๑ พระอรหันต์ ๑ อริยสงฆ์จะไม่ทำเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจหรือไม่ทำปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคมโดยเด็ดขาด จะไม่เกิดไปในอบายภูมิอย่างแน่นอน ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน ให้มีความอดทนนะ (เพราะจะไปประกาศในสิ่งที่ประชาชนในยุคนั้นปฏิเสธสุด ๆ เลยเพราะฉะนั้นจึงยากมาก) อีกทั้งยังต้องรู้จักประมาณในการบริโภคปัจจัย ๔ (จีวร ๑ อาหารบิณฑบาต ๑ เสนาสนะ ๑ เภสัช ๑) จงนอนจงนั่งในที่สงัด (อย่าคบคลีหมู่คณะมากเกินไป) อย่าไปพูดร้าย อย่าไปปองร้าย อย่าไปเบียดเบียน (อย่าไปว่าไปกระทบกระทั่งกับศาสนาอื่น เขาจะศรัทธาในลัทธิไหนก็ช่างเขา เราแค่บอกความเป็นจริงไป เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่เขา ให้เขาพินิจพิจารณาเอาเอง) ท่านเลยไม่ให้พูดร้ายไม่ให้ทำร้าย เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ถ้ายังเบียดเบียนอยู่นี้ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ (อันนี้สำคัญ) เมื่อสงฆ์สาวกได้ไปประกาศพระศาสนาให้บริสุทธิ์สิ้นเชิงทั้งอรรถะและพยัญชนะทั้งนี้ไปประกาศให้ชาวโลกได้รู้เพื่อสอนให้นำไปปฏิบัติให้ออกจากความทุกข์ให้ได้

พระพุทธเจ้าก็ทรงไปประกาศในที่ต่าง ๆ มากมายในชมพูทวีปตลอดอายุท่านจนถึง ๘๐ พรรษา (ใช้เวลาประกาศศาสนา ๔๕ ปีเริ่มตั้งแต่ท่านตรัสรู้เมื่อท่าน ๓๕ พรรษา) ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าธรรมนั้นจะหยั่งลงไปในจิตใจของประชาชน ก็ต้องอาศัยกาลเวลาและก็ต้องอาศัยความจริง ความจริงที่ท่านประกาศไว้เป็นพยานให้พวกเราได้พิสูจน์ว่าจริงไหมจากการประพฤติปฏิบัติ อย่างศีล ๕ โยมลองพิจารณาดูซิว่าถ้าคนในประเทศไทยรักษาศีล ๕ บ้านเมืองเราจะสงบไหม ? สงบ ที่บ้านเมืองมันวุ่นวายก็เพราะคนมีศีล ๕ นี้น้อยในจิตใจของมนุษย์ เราสมาทานศีลกันศีลมันยังไม่เกิดขึ้นหรอก (พระเป็นผู้ประพฤติเป็นแบบและเป็นผู้บอก) เราเพียงแต่รู้แนวทางแล้วโยมก็ต้องนำไปปฏิบัติเปรียบเหมือนกับมีผู้ให้แผนที่มาแต่เราไม่เดินทางตามแผนที่เราก็ไม่ถึงจุดหมายโยมก็ไม่สำเร็จประโยชน์ในแผนที่นั้น ๆ ศีลก็เหมือนกันเราสามาทานกันไปแต่ถ้าโยมไม่รักษาเราก็ไม่สำเร็จประโยชน์เหมือนกัน เป็นต้นเพราะฉะนั้นเมื่อโยมสมาทานศีลแล้วโยมก็ต้องไปรักษาให้มันเกิดมีเกิดเป็นในกาย วาจา ใจของเราเมื่อนั้นแล้วศีลจะรักษาเราหละ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลใดประพฤติธรรม (ประพฤติปฏิบัติตามธรรม) ธรรมย่อมรักษาไม่ให้บุคคลนั้นตกไปในโลกที่ชั่วหรือตกต่ำ (จิตใจ) เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วว่าศีลมีประโยชน์ขนาดนี้แล้วเราจะรักษาศีลไหม ?

ถ้าเราเห็นประโยชน์ของศีลว่ามีคุณค่ามากกว่าทรัพย์ในโลกนี้ซะแล้วโยมก็คงรักษาแน่ ศีลจะนำความสุข ความร่มเย็นมาให้กับเราแน่นอน ผลของศีลนี้ก็จะตามเราไปเมื่อเราละโลกนี้ไปแล้ว (เราต้องตายแน่) ในทุก ๆ ภพทุกชาติทำให้เรามีสติปัญญาไม่พิการ (ถึงพร้อมด้วยรูปธรรมนามธรรมที่สมบูรณ์บริบูรณ์) ในเมื่อโยมกล่าวคำถวายกฐินก็ตาม ถวายสังฆทานก็ตาม ที่ว่า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข (ช่วงสุดท้ายของคำกล่าวถวาย) เมื่อเราเห็นคุณของการมีศีลเราก็จะเห็นโทษของการไม่มีศีลแล้วโยมจะไม่รักษา (ศีล ๕) เชียวเหรอ เราเห็นทั้งคุณและโทษของการไม่มีศีลเราแล้วอาตมาคิดว่าทุกคนรักษาได้ยอมลงทุนที่จะรับศีล ๕ ไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันแน่นอน แต่ทุกวันนี้เราไม่เข้าใจเมื่อความทุกข์ (ปัญหา) เกิดขึ้นเรานึกว่ามันเกิดขึ้นจากภายนอกแต่จริง ๆ แล้วมันเกิดขึ้นภายในของแต่ละคนก่อน เมื่อคนไม่สมบูรณ์ (ไม่มีศีล ๕) ไปอยู่ในชุมชนต่าง ๆ สังคมหรือชุมชนนั้นก็เกิดปัญหาขึ้นมาตามความผิดของศีลของแต่ละคนว่ามีแค่ไหน ถ้าเรามีศีลครบ ๕ ประการก็เป็นมนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ (ประเสริฐเพราะศีล) ไม่ใช่ว่าเราเกิดมาแล้วจะประเสริฐนะ พระภิกษุสงฆ์ก็เหมือนกันบวชมาก็ยังไม่ประเสริฐนะยังเป็นสมมติสงฆ์ (สมมติว่าให้เป็นสงฆ์) ก่อน

พระภิกษุสงฆ์ต้องไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดมีเกิดเป็น (พระภิกษุก็ต้องทำศีลให้บริสุทธิ์ ทำสมาธิให้เกิดขึ้น ทำปัญญาให้เกิดขึ้น ชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำตามนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงที่สุดแห่งกองทุกข์) อันนี้ถึงเป็นสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างแท้จริง (อริยสงฆ์) แต่ถ้าพระภิกษุสงฆ์ยงไม่มีข้อประพฤติปฏิบัติ (ไม่ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน) ก็ยังคงเป็นสมมติสงฆ์เฉย ๆ ที่ทำความเดือนเนื้อร้อนใจ ทำปัญหาอีกมากมายเพราะยังไม่เป็นอริยสงฆ์ (บุคคลใดประพฤติปฏิบัติดีแล้ว ตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรมปฏิบัติออกจากกองทุกข์ สมควรแล้ว) เราก็ต้องมีจิตใจที่กว้างเข้าใจว่าในศาสนาของเราย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีเข้ามา ยิ่งมีผลประโยชน์มากเท่าไรคนชั่วที่จะเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนาก็มาก เราจึงต้องเป็นผู้รักษา ป้องกัน เราไม่ใช่ว่าเราจะเป็นขาวพุทธทำแต่ทานอย่างเดียว เราก็ต้องดูแลด้วย ช่วยกัน อันไหนที่ไม่ดีไม่งาม เราก็อย่าไปส่งเสริม ศาสนาเราก็จะรุ่งเรือง (ไม่ใช่ว่าจะเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์อย่างเดียวในทำนุบำรุงการรักษาพระพุทธศาสนา อุบาสก อุบาสิกาก็ด้วย) ศาสนาใครทำลายไม่ได้หรอก คนที่จะทำลายได้ก็มีแต่คนในศาสนา (พระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา) นี้แหละที่จะทำลายพระพุทธศาสนาได้คนภายนอกทำลายไม่ได้ (ทุกองค์กรก็เหมือนกัน)

พระพุทธเจ้าท่านตรัสมาแล้ว ๒๕๐๐ กว่าปีก็จริง เมื่อเรามาพิจารณาแล้วก็จริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสเพราะศรัทธานี้เกิดจากภายใน เมื่อเราเห็นความไม่ดีไม่งามมาก ๆ เยาวชนก็รู้เท่าไม่ถึงกาลก็บอกว่าพระพุทธศาสนาเสื่อมแล้ว เพราะเราไปมองแต่สิ่งที่มันเสื่อมในส่วนที่ไม่เสื่อมเราก็ไม่เห็นอีกจิตใจเราก็หมดศรัทธาไป ยิ่งเยาวชนชาวไทยหมดศรัทธาไปเยอะ ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสไม่มีเวลาได้มาสัมผัสสิ่งที่ดีงามอย่างสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่ ไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ (ไม่ได้มีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติ) รับแต่ข่าวที่ไม่ดีอย่างเดียว (เพราะนึกว่าไม่มีด้านบวก) ผลก็มีแต่ความวุ่นวายในใจ ไม่มีที่พึ่งในจิตใจ ชีวิตก็ปล่อยไปวัน ๆ หนึ่งโดยไร้จุดหมายปลายทาง (คิดว่าตายแล้วสูญ บาป-บุญไม่มีผล มีความเห็นผิดมาก) ก็นำปัญหามาสู่สังคมอีกสลับซับซ้อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัวก็ตาม ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ตามจนยากที่จะแก้ ถ้าหากเราไม่หันมาสนใจตัวเอง (ฝึกหัดปฏิบัติธรรมให้บริบูรณ์ที่สุด) ปรับปรุงตนเองแล้วเราก็จะแก้ปัญหาสังคมยาก เราต้องเริ่มแก้ตั้งแต่ละคนไปแต่ละครอบครัวไปเรื่อย ๆ นี้สำคัญ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกของพระองค์แล้วว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ (โอวาทปาฏิโมกข์คือหัวใจของพระพุทธศาสนาว่า ละความชั่ว ๑ ท่ำความดีให้ถึงพร้อม ๑ ทำจิตใจให้ผ่องใส สงบ๑)

เรามีหัวใจเต้นตุบตับ ๆ ในกายนี้แต่หัวใจที่เป็นนามธรรมที่จะให้กาย วาจา ใจของเราให้บริสุทธิ์นี้เรามีหรือยัง ? ข้อประพฤติปฏิบัติในโอวาทปาฏิโมกข์นี้เรามีหรือยัง ? ส่วนใหญ่แล้โยมทำบุญแต่ไม่ละบาป (ไม่มีศีล ๕) แต่ถ้าโยมทำทานด้วยถือศีลด้วยแล้วเมื่อเรามาทำจิตใจให้สงบ (ภาวนา) มันก็ง่ายขึ้นมาพิจารณาธรรมมันก็ง่ายขึ้น เปรียบเหมือนผ้าที่ขาวแล้วเราจะนำมาย้อมสีอะไรมันก็สวยหมด (สมปรารถนา) แต่ที่สีไม่สวยก็เพราะผ้านั้นยังไม่สะอาด ยังมีสีเดิมปะปนอยู่ เป็นต้น เราก็ต้องพยายามรักษาศีลให้ได้ เราก็ต้องคอยละสิ่งที่ไม่ดีออกไปทีละข้อละข้อ ข้อไหนที่เราไม่ได้เราก็ต้องตั้งใจไว้ให้มันได้ซักวันหนึ่งไม่ใช่ว่าเราทำไม่ได้ตอนนี้แล้วเราก็ปล่อยชีวิตของเราไปเลยให้เปล่าประโยชน์ไม่ได้ ชีวิตเรายังมีคุณค่ามหาศาล ไม่ใช่ว่าเราตายแล้วเราจะสูญนะมันยังไม่จบเรื่องหรอกนะ เราก็ยังต้องเกิดอีกภพน้อยภพใหญ่มากมายตามแต่เหตุปัจจัย (เกิดมาเป็นพรหม ,เทวดา ,มนุษย์ ,สัตว์เดรัจฉาน ,เปรต ,อสุรกาย ,สัตว์นรก) เพราะจิตใจของเรายังอยู่ในภพภูมิต่าง ๆ อยู่ (เพราะยังมีความโลภ มีความโกรธ มีความหลงอยู่จึงเป็นปัจจัยให้เราเกิดเรื่อย ๆ ไป) คนที่ไม่เกิดอีกต้องหมดความโลภ หมดความโกรธ หมดความหลงนั่นแหละถึงจะไม่เกิดในภพภูมิต่าง ๆ อีก โยมมีไหมหละ ? เรามาดูใจของตัวเองดูว่าเรายังมีความโลภ ยังมีความโกรธ ยังมีความหลงอยู่ไหม ? ถ้าเรายังมีความโลภอยู่ก็ตาม ความโกรธอยู่ก็ตาม ความหลงอยู่ก็ตามถ้าโยมยังมีอยู่เราจะมาบอกว่าเราจะไม่เกิดอีกไม่ได้

ความคิดไม่ใช่ความจริงเพราะความจริงที่ยังปรากฏชัดอยู่มันยังเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ตราบใดยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ยังต้องเกิดอีก พระพุทธเจ้าท่านยืนยันอย่างนี้แต่เราก็ยืนยันว่าตายแล้วสูญเลยอย่างนี้อันไหนถูกอันไหนผิดให้เรามาพินิจพิจารณาให้ดี ? ต้องใช้สติปัญญาอย่างมาก วันนี้เรามีศรัทธา มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์แล้วมาบูชาธรรมประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย ในการแสดงความเคารพบูชาที่ประเทศไทยเรานี้การกราบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง (๕ ส่วนติดพื้น คือหัวเข่าลงไปทั้ง ๒ ข้าง ฝ่ามือถึงศอกทั้ง ๒ ข้าง หน้าผาก ๑)  ที่ประเทศทิเบตเขากราบ ๑๐ ส่วนเลยนะ (นอนกราบ) ที่ประเทศอินเดียตรงพุทธคยา (ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้) บางคนกราบหลายพันครั้ง เป็นหมื่นก็มี แต่การบูชาพระพุทธเจ้าที่ว่าสูงสุด (ชาวบ้านเชื่ออย่างนั้น) คือการเวียนเทียนถือว่าเป็นการแสดงความเคารพที่สูงที่สุด เช่น การเวียนเทียนรอบโบสถ์ รอบมหาเจดีย์ รอบวิหาร รอบพระพุทธรูป ในวันวิสาขาบูชาก็ตาม วันอาสาฬหบูชาก็ตาม วันมาฆบูชาก็ตามเราก็จะมีการเวียนเทียน ในสมัยพุทธกาลก็มีอย่างตอนเข้าพบพระพุทธเจ้าเขาก็จะพนมมือเวียนขวารอบพระพุทธเจ้าแล้วก็นั่งในส่วนที่ควรนั่ง ยืนในส่วนที่ควรยืนเป็นการเคารพในธรรมฟังธรรมที่ท่านจะสอน เป็นต้น

ถ้าเราไม่อาศัยพระพุทธเจ้าเราไม่รู้เลยนะว่า บาปมีจริง บุญมีจริง ผลของการกระทำมีจริง เราก็จะไม่รู้ธรรมต่าง ๆ เลยนะเราก็จะเป็นสัตว์ธรรมดา (ไม่มีศีล ๕) เราจะไม่รู้เรื่องความกตัญญูกตเวที เราก็จะปล่อยไปตามชีวิตของเราแต่นี้เรารู้เพราะเราได้ยินได้ฟังจากธรรมที่ท่านทรงสอนไว้ ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว เป็นคำสั่งสอนที่ดีงามที่สุดนักปราชญ์ทั้งหลายก็ตาม บัณฑิตทั้งหลายก็ตาม (ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม) เมื่อได้ยินคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว ยังยอมรับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเลย จนชาวโลกยังต้องยอมรับวันวิสาขบูชาหรือพระพุทธเจ้าของเรานี้เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในโลกไปแล้ว (สหประชาชาติยอมรับประกาศเป็นวันสำคัญของโลก รับศาสนาพุทธศาสนาเดียวเท่านั้นเอง) เราน่าจะภูมิใจนะเกิดมาใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนานี้ เราทั้งหลายต้องพยายามอย่าพึ่งท้อถอยในการประพฤติปฏิบัติว่าการรักษาศีลมันเป็นของยาก ที่ยากเพราะว่าเป็นของที่มีคุณค่ามหาศาลเมื่อเรารักษาแล้วมันก็จะให้ผลประโยชน์แก่เรามหาศาลมากเหมือนกัน เราก็ต้องพยายามทีละเล็กทีละน้อยทีละข้อ เรายังทำข้อไหนไม่ได้ตอนนี้ก็คิดว่าซักวันหนึ่งเราจะทำให้ได้ ตั้งเจตนาไว้อย่างนี้เราก็จะทำได้ซักวันในอนาคตแน่ แต่ถ้าเราปฏิเสธก่อนทิ้งเลยไม่ทำแล้วเมื่อไหร่เราจะรักษาได้หละ ? เราก็รักษาศีล ๕ ไม่ได้ซักทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นให้พวกเราตั้งเจตนาที่เป็นบุญเป็นกุศลไว้เราให้เราทำไปเรื่อย ๆ ก็จะชนะใจตนเอง ซักวันหนึ่งเราก็จะเป็นอิสระจากความโลภ ความโกรธ ความหลงทีละเล็กทีละน้อยแน่นอน บัดนี้ อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจสมาทานศีลกันและถวายสังฆทานต่อไป.

---------------------------

view