สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

(เทศน์วันงานกฐินวัดป่าเฉลิมพระเกียรติ ฯ)

 

เรื่องที่ ๑ เทศน์ (๒๕-๑๐-๕๑)

(เทศน์วันงานกฐินวัดป่าเฉลิมพระเกียรติ ฯ)

เมื่อก่อน (บวชปฏิบัติใหม่ ๆ เมื่อ ๒๓ ปีที่แล้ว) อาตมาเวลาป่วยจะเข้าห้องน้ำก็ลำบากมากก็จำเป็นที่จะต้องมีห้องน้ำที่กุฏิ ห้องน้ำเป็นปูนขัดมันนี่แหละสร้างแค่พอใช้ได้ เวลาจะเข้า-ออกก็ต้องคลานเข้าคลานออก (ป่วยหนักเป็นไข้มาลาเลียไข้ขึ้นสูง) ทุกข์มาก เราอยู่ในกลางป่าไม่มีใครมาอยู่กับเราเวลาเที่ยงคืน ตี ๑ ตี  ๒ แล้วจะไปเรียกใครหละ ถึงจะมีคนอยู่ด้วยจะลงมาก็ลงมาไม่ได้หรอกเพราะมันมืด ก็ต้องยอมตายถ้ายอมตายก็จบ ถ้าไม่ยอมตายอยู่ที่ไหนก็ไม่จบ อันนี้สำคัญ (อยู่ในเมืองมีความสะดวกสบายก็ไม่จบ อยู่ในป่าก็ไม่จบ) ทำไมเขาถึงว่าชาวน่านนี้มีศรัทธามาก ? เขาบอกว่าเวลาหน้าหนาวชาวน่านก็จะต้มน้ำอุ่น ๆ ใส่ถังไว้เอาไว้ล้างเท้า (พระที่อื่นได้ยินก็ โอ้โห ขนาดนั้นเชียวหรือ ?) เห็นไหม มันไม่มากหรอกแต่มันทำด้วยน้ำใจที่เปี่ยมด้วยความศรัทธาความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ความรู้สึกว่าการกระทำของญาติโยมมันยิ่งใหญ่มากสำหรับพระภิกษุสงฆ์นะ โยมก็เห็นว่ามันง่าย ๆ มันง่ายสำหรับบุคคลที่สร้างความดีบ่อย ๆ แต่ไม่ง่ายสำหรับบุคคลที่ทำความชั่วบ่อย ๆ ทำแล้วได้อะไรโยม ? สิ่งที่ได้รับคือจะเป็นคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน จะเป็นคนมีความเคารพทำลายทิฐิมานะของตนเองนี้แหละ เราต้องการสิ่งที่พึ่งอันสูงสุดคืออยากได้พระสายพระกรรมฐานอยู่ในภาคเรา อยู่ในจังหวัดเรา (เราก็ได้แล้ว) แต่ก่อนอาตมาก็ไม่ได้เคยคิดว่าจะมาภาวนาที่น่านหรือจะส่งพระมาก็ไม่ได้เคยมีความคิดเลยหละ

แต่ว่าภายหลังอาตมาอยากจะหาที่ในจังหวัดน่าน อาจารย์นเรศก็พามาดูเยอะ ที่แรกก็หาได้ที่บ่อเกลือพอไปแล้วชาวบ้านก็ไม่ผ่านคือโยมยังล่าสัตว์อยู่ ถนนผ่ากลางวัดก็ไม่ยอมปิดให้คือเขาแบกปืนเดินผ่านพระก็มอง มันทำใจไม่ได้โยม มันเดินอย่างนี้และก็ไม่ทำอย่างนั้น (เดินผ่านกลางวัดไปล่าสัตว์) ก็เลยคิดว่าอยู่ชั่วคราวก็แล้วกันแล้วก็ค่อย ๆ ปรึกษาหลวงพ่อนเรศต่อ หลวงพ่อนเรศก็ถามว่าเอาวัดป่าเฉลิมพระเกียรติ ฯ ไหม ? (เพราะว่าอาจารย์ปรีชาท่านจะไม่อยู่แล้ว) อาตมาบอกว่าไม่ต้องคิดเลยตัดสินใจเลยว่า เอา อาตมาย้ายพลตอนนั้นเลย ตอนนั้นพาพระจากนิสิตจุฬา ฯ มาธุดงค์ (ปลายเดือนเมษายน) พอดีเลยที่บ่อเกลือ ในการธุดงค์พระนิสิตจุฬา ฯ (คณะแพทย์) มาบอกกับอาตมาว่า หลวงพ่อจะพาผมมาตายหรืออย่างไร ? อาตมาก็บอกว่าไม่ถึงขนาดนั้นหรอกน่า (แต่เพื่อความปลอดภัยของอาตมา ๆ ให้เซ็นชื่อยอมตายทุกคนคือถ้าตายอาตมาไม่รับผิดชอบ) เซ็นไหม ? เซ็น เอารอดไว้ก่อนแล้วกันเพราะอาตมาใช้เขาไม่หมดแน่โยม อาตมาเลยให้เซ็นหมดเลยให้ผู้ปกครองรับรู้ด้วย (ไม่เซ็นไม่ได้มาธุดงค์) แต่ในการพามาธุดงค์ทางเรา (พระพี่เลี้ยง) ก็ต้องป้องกันทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะเขาคือทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศเรา นิสิตพวกนี้เมื่อเขามีศรัทธามหาศาลเขาจะเป็นกำลังให้พระพุทธศาสนาต่อไป เมื่อเขาพูด เขาสอนใคร เขาแนะนำไปแล้วคนในสังคมจะฟังเขาทันที

เพราะฉะนั้นแล้วต้องลงทุนฝึกพวกนี้แหละให้มีกำลังไว้ให้ช่วยพระพุทธศาสนาต่อไป พระภิกษุสงฆ์ก็แก่ไปแก่ไป ปีนี้อาตมาก็ ๕๑ แล้วจะมีกำลังเทศน์อบรมญาติโยมได้อีกปีก็ยังไม่รู้ เสียงก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ใจนี้ก็อยากจะอบรมสั่งสอนญาติโยมแต่ลมมันก็น้อยไป ๆ (ตรงกับที่หลวงปู่ชาบอกเลย) บางคนก็บอกว่า หลวงพ่อรู้สึกว่าญาติโยมแต่เข้าวัดทีไรโยมก็ไม่เคยนำความสุขมาให้พระเลยนะ มีแต่เครียด (ทุกข์เพราะความเห็นผิด) มาให้พระแก้ พระก็แก้ไป คือสอนปฏิบัติให้เอาวางอารมณ์ (กุศล) อย่างนี้นะโยม โยมบางคนบอกว่า หลวงพ่อก็พูดง่าย ท่านก็บอกว่าปล่อยวาง ๆ ผมก็ปล่อยวางไม่ได้ซะที อาตมาก็บอกว่า ต้องฝึกซิอยู่ดี ๆ มันจะปล่อยวางได้เลยมันก็ดีนะซิ ฝึกไปทีละเล็กทีละน้อย ตอนนี้เราอยู่ในศาลาของวัดป่าเฉลิมพระเกียรติ ฯ เราจะมารวบรวมจิตใจทำบุญอันยิ่งใหญ่ได้มีโอกาสมาร่วมงานทอดกฐินสามัคคี (๒๕๕๑) ใน ๑ วัดจะสามารถรับกฐินได้ครั้งเดียวต่อปี (ถ้าวัดนั้นทอดกฐินไปแล้ว คนอื่นจะมาทอดพรุ่งนี้ก็ไม่ได้จะมาทอดอาทิตย์หน้าก็ไม่ได้) และต้องมีปัจจัยพร้อมด้วยคือมีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาครบ ๕ รูปด้วย ภายใน ๑ เดือนหลังออกพรรษาด้วย มีญาติโยมที่มีศรัทธาน้อมนำผ้ามาด้วย พระจะมีการทำจีวร (พระช่วยกัน ,ญาติโยมช่วยด้วย) เหตุที่พระต้องมาทำจีวรเองเพราะว่า ไซด์มันก็ไม่ได้ พระแต่ละองค์ก็สูงต่ำอ้วนผอมไม่เท่ากัน การเย็บก็ไม่เรียบร้อย สีก็ไม่ได้ มันไม่เหมาะกับพระแต่ละองค์ก็เลยต้องมาเย็บเอง

ฉะนั้นเริ่มวันนี้เราก็ได้มีโอกาสมา ทำทาน ถือศีล นั่งสมาธิกัน ในการนั่งสมาธินั่งง่ายแต่สงบยาก เราจะนั่งท่าไหนก็ได้ (ขัดสมาธิ, พับเพียบ) นั่งหลับตาสบาย ๆ เหมือนเรานอนหลับคืออย่าไปบีบดวงตาของเรา เมื่อเราหายใจเข้าก็รู้ว่าตอนนี้เราหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าตอนนี้เราหายใจออก ก็รู้แค่นี้ไม่ต้องไปรู้มากกว่านี้หรอก ลองดูซิว่า ๓๐ วินาทีมันจะอยู่ไหม ? (ให้รู้แค่หายใจเข้ากับหายใจออก) ประคองความรู้ไว้ (มีสติสัมปชัญญะ) ถ้ามันจะคิดเรื่องอื่นก็บอกใจไว้ว่า ตอนนี้เราจะมาทำจิตให้สงบนะเรื่องอื่นไม่เอา ๆ เลิก ๆ เราจะมารู้ลมหายใจเข้า ออก ดูไปเรื่อย ๆ การรู้ลมหายใจนี้อย่าไปบีบมัน อย่าไปกลั้นมัน (ให้ทำเหมือนกับเราหายใจธรรมดา) แต่เมื่อเรามากำหนดรู้จิตใจมันก็ดิ้นเพราะว่ามันไม่เคยชิน ถ้าเรากำหนดรู้ไม่อยู่ (ฟุ้งซ่าน) ก็ให้กลั้นลมหายใจซะนิดหนึ่งแล้วเราก็สูดลมหายใจเข้า - ออกลึก ๆ ๒ - ๓ ครั้งแล้วค่อย ๆ คลายลมหายใจออกมา ให้เรามีสติสัมปชัญญะประคองรู้ลมหายใจเข้า ออกไว้ รู้ไปเรื่อย ๆ ความคิดมันก็จะน้อยลง ถ้าเราทรงความรู้สึกอย่างนี้ได้ ๒๐ นาทีโดยคิดน้อยหรือไม่มีความคิดเลยยิ่งดี (ไม่ได้บังคับว่าห้ามคิดนะ ถ้าเราไปกดจิตให้ไม่คิดมันจะเครียด เป็นการสะกดจิตตัวเอง ไม่มีประโยชน์ เราต้องทำให้พอดีจริง ๆ)

พระภิกษุสงฆ์ในสายวัดป่านี้กว่าจะได้ธรรมะที่เกิดขึ้นในใจแล้วมาบอกญาติโยมนี้ต้องแลกมาด้วยชีวิตก็ว่าได้ การที่อาตมาได้มาเทศน์ให้โยมฟังถึงประสบการณ์ที่ประพฤติปฏิบัติให้ฟังนี้ การพูดนี้มันง่ายนะแต่ตอนทำนี้มันยากนะต้องแลกมาด้วยชีวิตนะ เพราะฉะนั้นโยมต้องตั้งใจนะอาตมาตั้งใจสอนให้โยมเป็นคนดีนะ ถ้าโยมไม่ทำตามอาตมาก็จะไม่พูดนะเพราะว่าพูดไปแล้วเพราะไม่มีประโยชน์ (ตอนนี้ให้เราตั้งใจมีสติประคองไว้ดูลมหายใจเข้า ออก ตั้งใจฟังว่าท่านจะสอนอะไรให้เราเกิดปัญญา) พระพุทธเจ้าของเราก่อนจะออกบวชท่านมีแนวคิดว่า อะไรเป็นกุศลของมนุษย์ที่จะทำให้ถึงให้ได้ (กุศลก็คือความฉลาด) ถ้าเราฉลาดแล้วทุกข์ก็เกิดไม่ได้เพราะได้ทำลายอวิชชาคือความไม่รู้ที่ทำให้เราหลงยึดหมายมั่นเป็นตัวเป็นตน ตัวตนเรามีจริงไหม ? อันนี้เป็นสิ่งที่น่าศึกษาเหมือนกัน พระพุทธเจ้าบอกว่า ตัวตนของเราไม่มี, นรก-สวรรค์มี, ตายไม่สูญ แต่ในใจเราบอกว่า ตัวตนของเรามี, นรก-สวรรค์ไม่มี, ตายแล้วสูญ ถ้าเราคิดอย่างนี้ (ตรงข้ามกับพระพุทธเจ้าบอก) กิเลส คือเครื่องเศร้าหมองของจิตใจมี ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อเรามีความเห็นผิดกิเลสมันก็นำ มันก็ครอบคลุมจิตใจของเรา ซึ่งจริง ๆ แล้วจิตใจของเรานี้เป็นกลาง ๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายนะแต่สิ่งที่ทำให้เราเกิดความยินดียินร้ายที่ทำให้เราเกิดความทุกข์คือ อารมณ์

จิตใจของเราเหมือนกับน้ำที่ใสสะอาด อารมณ์ก็เปรียบเหมือนสีที่มาใส่ในน้ำ อย่างนี้แล้วเราจึงมาบอกว่าน้ำสีแดง สีดำ สีอะไรก็ว่าไป แต่น้ำจริง ๆ ใส ใจของเราก็เหมือนกันเมื่อไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ใจของเราก็สบาย (น้ำใส) แต่เมื่อใจของเราเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ใจของเราก็ไม่สบาย (น้ำสีต่าง ๆ) ศาสนาพุทธนี้สอนเรื่องความทุกข์ มีคนถามว่า ทำไมไม่แสวงหาความสุข ? ก็ต้องตอบว่า ความสุขมันไม่มี ความสุขอย่างที่เราแสวงหากันอยู่ทุก ๆ วันนี้มันไม่ใช่ ความสุขเหล่านี้เป็นความสุขทางโลกเท่านั้น เป็นความสุขที่อิงอามิสคืออิงวัตถุธาตุเป็นสิ่งเร้าในใจของเรา มันก็แว็บเดียว มันก็ชั่วคราวเหมือนไม้กีดลงไปในน้ำรอยก็หายไปเร็วมาก แต่ความสุขที่เกิดจากธรรมนี้เป็นคนละเรื่องเลยความสุขนี้จะอยู่นานเพราะว่ามันเป็นปัญญาแล้ว (เป็นกุศลอันเลิศไปแล้ว เป็นความฉลาดแล้ว) จิตใจของเราก็สบาย ไม่คิดเรื่องอนาคต- อดีต สิ่งสำคัญคือ การปล่อยวาง (ไม่ใช่การปล่อยวางวัตถุในมือ ปล่อยหน้าที่การงานทิ้ง ไม่ใช่การปล่อยจิตปล่อยใจ) เมื่อเราเผชิญกับปัญหาเราต้องวิ่งเข้าหาปัญหา (วิ่งเข้าหาความทุกข์) เราถึงจะชนะมันได้แต่ทุกวันนี้เมื่อเรามีปัญหาเราก็พยายามกลบเกลื่อนหรือว่าหลอกตัวเอง ไปเที่ยวเตร่เฮฮากินเหล้าเมายาไปวัน ๆ เมื่อหายเมาความทุกข์ก็โผล่มาอีกแล้ว แต่เราจะต้องเข้าไปดูปัญหาเหล่านั้นและแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ได้ด้วยสติปัญญา

เราอย่าลืมว่าการสูญเสียอะไรก็ไม่เท่ากับการสูญเสียจิตใจถ้าเราสูญเสียจิตใจเราก็จะสูญเสียทุกอย่าง วันนี้เราจะมายกกำลังใจของเรากลับให้ได้ (มีความเห็นถูก) สติปัญญาเรามีมากเพียงพอแล้ว โบราณกล่าวไว้ว่า คนล้มนี้ห้ามข้ามแต่ถ้าไม้ล้มนี้ข้ามได้ คนที่จะประสบความสำเร็จก็จะต้องล้มแล้วล้มอีก อย่างนักวิทยาศาสตร์ก็ทดลองแล้วทดลองอีก ดูอย่างพระพุทธเจ้าของเราตอนก่อนที่ท่านจะเป็นพระพุทธเจ้า (แสวงหาทางพ้นทุกข์) ท่านก็ล้มแล้วล้มอีกตอนท่านทรมานร่างกายมากท่านก็สลบไปแล้วหลายครั้งโชคดีที่เด็กเลี้ยงแกะเอานมแกะมาหยอดที่ปากท่านนะท่านถึงรอด ท่านก็คิดว่า เราไม่ฉลาดเลยเกือบจะสูญเสียการใหญ่ (หาวิธีพ้นทุกข์) ท่านยอมสละทุกอย่างมาบำเพ็ญอยู่ตั้ง ๖ ปี ท่านก็มาพิจารณาแล้วก็เปลี่ยนแนวทางใหม่เพราะว่าเชื่อว่าการทรมานร่างกายนี้ไม่ใช่แน่นอนทุกอย่างอยู่ที่จิตใจ เรื่องนี้โยมจะเห็นได้ว่าจิตใจนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดแต่เราก็ไม่รักษาไว้และก็ไม่หาวิธีรักษามันด้วยแล้วเราก็บ่นว่าทุกข์แล้วก็บอกว่าพระพุทธศาสนานี้ช่วยอะไรเราไม่ได้ โยมจะให้ช่วยจากการอ้อนวอน ช่วยจากอิทธิฤทธิ์อย่างนั้นหรือ ? การช่วยอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยสอนเลยนะ พระพุทธเจ้าสอนว่า การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้นถึงจะช่วยแก้ความทุกข์ที่เกิดในจิตใจได้

โยมลองถามตัวเองซิ เรามีศีลไหม ? บางคนก็บอกว่า ศีลนี้รักษายาก อาตมาก็ถามว่า โยมอยากได้เงินไหมโยมก็บอกว่า อยาก อาตมาก็บอกว่า อานิสงส์ของศีลจะได้สิ่งที่สูงกว่าเงิน คือเป็นปัจจัยที่จะละความโลภ ละความโกรธ ละความหลงได้เลยแต่สิ่งที่โยมต้องการมันเป็นของโลกนะ (เงิน สิ่งของต่าง ๆ ยศ สรรเสริญ) มันเป็นการเพิ่มความโลภ ความโกรธ ความหลงนะ แล้วเราจะรักษาศีลเพื่อสิ่งเหล่านั้นนี้นะ (เงิน สิ่งของต่าง ๆ ยศ สรรเสริญ) พระพุทธเจ้าไม่สอนหรอก พระพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติเพื่อให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง วันนี้เราก็ได้มีโอกาสมาสละความตระหนี่ถี่เหนียว (ทำทาน) ช่วยกันคนละนิดคนละน้อยเพื่อให้วัดป่าเฉลิมพระเกียรติ ฯ นี้อยู่ได้ โยมอย่าลืมนะว่า วัดนี้จะอยู่ได้ก็ต้องอาศัยญาติโยมเป็นสำคัญนะ ส่วนพระภิกษุมาใช้เพื่อประพฤติปฏิบัติภาวนาเท่านั้นนะ พระภิกษุสงฆ์ไม่มีเงิน ไม่มีทอง ไม่มีอาชีพการงานนะ ฉันมื้อเดียวอยู่ในป่า รักษาศีลเจริญภาวนาเท่านั้น ส่วนปัจจัย ๔ มีจีวร อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ และยาต่าง ๆ เหล่านี้โยมถวายมานะ เหตุที่ถวายเพราะว่าโยมชอบใจในความตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชอบใจในธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ชอบใจในสงฆ์สาวกที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

มีคราวหนึ่งโยมคนหนึ่งเป็นครูสอนพิเศษ  ๖ ช.ม. ได้ ๒,๕๐๐ บาท บอกว่า เหนื่อย ต้องพูดทั้งวัน ต้องเตรียมตัวก่อนอีกหลาย ช.ม. เดินทางไปกลับอีก แต่เขาทำบุญเก่งอาตมายังสะเทือนเลย ได้มาสนทนากับอาตมามีใจความว่า

โยม            เขาเหนื่อยมาก เขาจะทำบุญ ๑๐,๐๐๐ บาทจากเงินเดือนประมาณ ๑๒,๐๐๐ บาท

อาตมา        ทำไมโยมทำเยอะจัง ?

โยม            โยมศรัทธา

อาตมา        โยมพอใช้ไหม ?

โยม            พอหมุนได้ เดี๋ยวก็ได้มาจากทางนี้บ้าง ทางโน้นบ้าง

อาตมา        แล้วแต่โยมนะ

โยม        เขาทำบุญแล้วเขาสบายใจสิ่งที่ไม่คาดคิดคือตัวปัญญามันเกิดอยู่เรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าผู้ทำคือผู้ได้นะ บางคนคิดว่าทำบุญนี้เราเสีย ทำไปเงินในกระเป๋าเงินโยมลด (อันนี้คิดแบบโลก) อย่างนี้เขาเรียกว่าทำบุญแบบยึดหมายมั่นมีอุปทานมีกิเลสตัณหาอยากจะได้บุญกุศลที่มากขึ้น หรือโยมทำเงินกระเป๋าซ้ายเพื่อให้เงินในกระเป๋าขวามันขึ้นอย่างนี้ (มีความเห็นผิด) แต่ถ้าโยมทำบุญเพื่ออนุเคราะห์บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำลายความตระหนี่ถี่เหนียวของตนเอง (ละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง) อันนี้ได้ความรู้สึกที่สมบูรณ์ที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ มนุษย์นี้ไม่ทำทานไม่ได้เลย ใครมีน้อยเสียสละน้อยมีมากเสียสละมาก ทุกอย่างพอดีหมดไม่มีใครทำมากกว่ากันอยู่ที่ความศรัทธา (ความเชื่อ) ปสาทะ (ความเลื่อมใส) การกระทำของเรานี้จะมีผลไม่ว่าจะเป็นการทำทาน การรักษาศีล การฝึกสมาธิ การเจริญปัญญาก็ตามล้วนแล้วแต่นำความสุขมาให้แก่เราทั้งนั้น อย่างเราเดินทางมานี้ก็ไม่ใช่ใกล้ ๆ นะ ก่อนจะมาอาตมาก็บอกไว้ก่อนนะว่า มาวัดป่าเฉลิมพระเกียรติ ฯ ลำบากนะโยม ไกลนะ แต่โยมก็ยินดีมา เมื่อมาแล้วอาตมาก็บอกต่อไปว่า มาแล้วเลิกมาไม่ได้นะ ต้องมาต่อทุกปีนะเพราะเรารู้แล้วว่าลำบากขนาดนี้ต้องสู้ ห้ามมีข้ออ้างหมด

เมื่อเรามาแล้วก็ต้องสู้กันต่อไป เราจะได้มีที่ให้พระภิกษุสงฆ์ภาวนา ถ้าไม่อย่างนั้นกำลังใจก็ไม่เข้มแข็งเพราะฉะนั้นให้เราตั้งใจกันทุก ๆ คน ในการที่เราได้มาร่วมทอดกฐินสามัคคีนี้ทำคนละเล็กคนละน้อย ตั้งใจกันให้เราพยายามน้อมจิตน้อมใจว่าการทอดกฐินในครั้งนี้บูชาเป็นพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (ละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง) สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากนะ เราลองคิดดูว่าถ้าไม่มีพระภิกษุสงฆ์เราจะมีโอกาสได้มาทอดกฐินอย่างนี้ไหม ? ไม่มีหรอก แม้แต่พระสารีบุตรเองตอนทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เปรตนางหนึ่ง (แม่ในอดีตชาติ) ท่านทำผ้าให้สงฆ์แค่ฝ่ามือเดียว นางเปรตก็เปลี่ยนเป็นเทวดาได้เสื้อผ้าเป็นทิพย์ (เพราะพระสารีบุตรทำทานด้วยปัจจัย ๓ ครบคือ ผู้ให้บริสุทธิ์ ๑ ผู้รับบริสุทธิ์ ๑ ของที่ให้บริสุทธิ์ ๑) เป็นต้น บางคนอานิสงส์ทำทานดีให้แต่ของใหม่ ๆ ชาตินี้เลยไม่เคยใส่เสื้อมือ ๒ เลย ในบางประเทศขาดแคลน อาหารขาดแคลนบ้าง เสื้อผ้าขาดแคลนบ้าง น้ำก็ไม่สะอาด ที่อยู่ก็อยู่อย่างลำบาก ยาก็ขาดแคลน (ปัจจัย ๔ ขาดแคลน) เป็นต้น เรานี้โชคดีเพราะเราอยู่ประเทศไทยที่มีปัจจัย ๔ สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นแล้วขอให้เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติกัน วันนี้อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้.

--------------------

view