เรื่องที่ ๕ เรื่อง รู้จักหน้าที่
สมัยก่อนตอนอาตมาเป็นลูกเสือการสอบหุงข้าวต้องใช้ไม้ขีดไม่เกิน ๓ ก้านเพื่อจุดไฟให้ติด เมื่อเรามีกฎเกณฑ์ข้อบังคับและระเบียบปฏิบัติในการจุดไฟเราก็ต้องเคารพกฎระเบียบ ถ้าเราไม่เคารพกฎระเบียบนี้เราก็สอบไม่ผ่าน เราก็ต้องเตรียมหาเชื้อฟืนที่มันติดง่ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นเศษฟางก็ตาม เศษกระดาษก็ตาม แม้แต่ฟืนคือไม้ก็ต้องพยายามทำให้ชิ้นไม่ใหญ่ก็ต้องเลือกชนิดของไม้ด้วยว่าชนิดไหนไม้ติดรวดเร็วเราก็เอามาวางไว้ก่อน ส่วนชิ้นไหนที่มันติดช้าก็วางไว้ข้างบนหน่อยหนึ่ง ก็ต้องทำให้มันมีโพลงด้วย ให้อากาศนั้นมันถ่ายเท ก็ต้องบังลมอีกไม่ให้ลมมันพัดขณะที่ไฟมันกำลังลุกไม่มาก ล้วนแล้วแต่ก็ต้องใช้สติปัญญาในการติดไฟนั้น ในการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันถ้าเราปฏิบัติหน้าที่ของเราถูกต้องก็ คือการกระทำทางกาย วาจา ใจให้ถูกต้องในหน้าที่นั้น ๆ หน้าที่นั้น ๆ ก็จะสร้างความสงบให้กับจิตใจของเรา เมื่อเราตื่นนอนมาเราก็มีหน้าที่ ๆ เราจะต้องพับผ้าห่มของเรา จัดที่นอนของเราให้เรียบร้อยแล้วคลุมผ้าคลุมเตียงให้เรียบร้อยและก็ปิดไฟที่หัวเตียงนอนให้เรียบร้อย เสร็จแล้วก็เข้าห้องน้ำ แม้แต่เราเดินไปถ้าเราเผอเรอเราอาจหกล้มหรือเดินเลยก็ได้ ฉะนั้นการเดินของเราก็ต้องมีสติสัมปชัญญะในการเดินไปด้วย เดินไปเราก็รู้ในการเดินอยู่ รู้ว่าเรากำลังเดินเข้าประตูห้องน้ำเปิดประตูห้องน้ำก็รู้ ยืนต่อหน้าห้องน้ำเราก็รู้ หยิบแปรงสีฟันยาสีฟันเราก็รู้ รู้หน้าที่การงานของเราไม่บกพร่องเราก็จะสร้างความสบายใจได้ง่าย ๆ
แต่ถ้าเราเปิดประตูห้องน้ำเกิดความไม่พอใจ หยิบยาสีฟันก็ไม่พอใจในยี่ห้อของมัน มองแปรงสีฟันก็รู้สึกว่ามันไม่ชอบใจ มองไปในกระจกก็รู้สึกว่าเบื่อกระจกบานนี้เหลือเกิน เปิดน้ำ ๆ ไม่ไหลก็เกิดอารมณ์ไม่พอใจ เดี๋ยวไฟดับก็เกิดอารมณ์ไม่พอใจ แปลว่าหน้าที่การงานของเรามันบกพร่อง เราไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรักษาการเคลื่อนไหวของกายและของใจให้มันสมส่วนกัน ทุกวันนี้เราเคลื่อนไหวด้วยความเคยชินด้วยสัญชาตญาณ เดินไปเดินมาขณะหยิบนั้นหยิบนี้ก็คิดไปล่องไป ไม่ได้พินิจพิจารณาสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงบอกให้เราพินิจพิจารณาสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะสิ่งเหล่านี้จะสร้างความสุขหรือความทุกข์หรือความสงบให้กับตัวเรา เราจึงควรที่จะพินิจพิจารณาสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกายและใจนี้ อย่างท่านสอนพระภิกษุสงฆ์เมื่อขึ้นไปกุฏิก็ตาม ขึ้นไปศาลาก็ตาม นั่งลงกราบพระก็ตาม ท่านให้พิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พิจารณาเสนาสนะที่อยู่อาศัยว่าเราอยู่อาศัยเพื่ออะไร เพื่อกันความร้อนบ้าง กันความหนาวบ้าง เพื่อกันสัมผัสเหลือบยุกลมแดดและสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ บ้างนี้คือในส่วนของเสนาสนะ ในส่วนของเสื้อผ้าหรือจีวรนี้หยิบจีวรก็ให้พิจารณาว่าเราห่มเพื่ออะไร ประโยชน์ใช้สอยของมัน หยิบผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดหน้าก็พิจารณาอยู่ หยิบอะไรก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกายนี้
พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “ให้เราพินิจพิจารณาทำหน้าที่ของสิ่งเหล่านั้นให้สมบูรณ์ การจะทำหน้าที่ของสิ่งเหล่านั้นให้สมบูรณ์เราก็ต้องตั้งสติให้มั่นไว้” ตั้งสติให้มั่นในเรื่องนั้น ๆ เมื่อเราตั้งสติให้มั่นในเรื่องนั้น ๆ บ่อย ๆ ยืนไปเดินไป นั่งไปรู้หมด ทุกทีจิตเราก็คิดไปรู้เหมือนกันคิดโน้นคิดนี้คิดนั้นจะรู้เฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ ที่เราสะเทือนใจหรือเรื่องที่เราต้องการให้มันรู้ให้มันจดจ้องจดจ่อนี่เราก็จะรู้เพียงขณะหนึ่งเท่านั้นแหละ เสร็จแล้วก็ปล่อยจิตให้ลอยไปอีกวัน ๆ หนึ่งเราทำงานอยู่ปล่อยจิตให้ลอยไปซะนานหรือเราจดจ้องจดจ่อกับการกระทำของเราไม่ต่อเนื่องทำให้เรารู้สึกว่ามันเกิดความเครียดเกิดความอยาก เกิดความไม่อยาก เกิดความพอใจ เกิดความไม่พอใจในการกระทำของเราอยู่ตลอดเวลาในหน้าที่การงานนั้น ๆ อันนี้แสดงว่าเราปฏิบัติหน้าที่การงานนั้น ๆ บกพร่อง เมื่อสติปัญญาไม่เข้าไปควบคุม ไม่เข้าไปกำหนดรู้ ไม่เข้าไประลึกรู้ในการกระทำนั้น ๆ ผลการกระทำนั้น ๆ เลยสร้างอัตตาตัวตนเกิดขึ้น สร้างเราสร้างเขา เมื่อตัวตนเกิดขึ้นความโลภมันก็เกิดได้ ความโกรธ ความหลงมันก็เกิดได้เพราะมันมีตัวตนนี้มันเกิด แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะการเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กันเป็นการเจริญสติปัฏฐาน(ฐานที่ตั้งแห่งการระลึกรู้) พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “การเจริญสติปัฏฐานนี้ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น”
ที่เราเรียกกันว่าวิปัสสนา ๆ ก็คือ ปัญญารู้เห็นความเป็นจริงของสังขาร สังขารคือร่างกายและจิตใจนี้มันอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของร่างกาย ในส่วนของจิตใจก็เหมือนกัน เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ ก็มีหน้าที่แล้วที่ทำให้เกิดความรู้สึก ความรู้สึกตรงนี้แหละที่ทำให้เราเกิดปัญญาหรือเกิดความหลง ถ้าเรามีสติตั้งมั่นมันก็เกิดปัญญาแต่ถ้าสติเราไม่ตั้งมั่นในการดู การได้ยิน ในการสัมผัสต่าง ๆ มันก็เกิดความหลงยึดหมายมั่นพอใจไม่พอใจ แต่ถ้าสติเราตั้งมั่นมันก็เป็นกลางเป็นมัชฌิมาปฏิปทาเป็นทางสายกลาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์มันเป็นกลาง จิตใจของเรามันเป็นกลางซะแล้วนี่ มันเข้าใจสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้มันไม่ใช่มันไม่ใช่ของจริง มันผ่านไปเฉย ๆ ผ่านไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และส่งมาที่ใจของเราเฉย ถ้าใจของเราไม่เข้าใจเราก็ไปติดในภาพมายา ภาพรวม ว่ามันเป็นจริงเป็นจังเป็นเราเป็นเขา มันเป็นสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ เลยทำให้เราเกิดความสุข เกิดความทุกข์ ไม่เกิดความสงบ อันนี้แหละที่มนุษย์ทั้งหลายไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านทรงเกิดขึ้นมาท่านก็พยายามสอนทุกคน เพราะฉะนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นธรรมะที่ไม่แบ่งแยกหรือเกิดความขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกับศาสนาใด ๆ ในยุคนั้นในการประกาศพระศาสนา ใครจะมีความเชื่ออย่างไรก็ตามท่านก็จะไม่หักล้างความเชื่อของคน ๆ นั้นแต่ท่านจะประกาศความเชื่อของท่าน
พระพุทธองค์ท่านจะประกาศธรรมที่ท่านเห็นแล้วในธรรมะของท่านที่ท่านรู้ท่านเห็น ว่าท่านเห็นอย่างนี้ท่านรู้อย่างนี้ท่านก็ประกาศออกไปว่าธรรมะมันเป็นอย่างนี้หน้าที่การงานที่ถูกต้องของมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าคนใดมีความรู้มีความเข้าใจในธรรมได้มากเท่าไหร่ได้สูงเท่าไรก็สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานนั้น ๆ ได้สูงไปด้วย อย่างพวกเรานี้เรามีความรู้ว่า ทานก็ตาม ศีล 5 ประการก็ตามเป็นหน้าที่การงานของมนุษย์ที่ประเสริฐ ใครจะทำก็ตามใครจะไม่ทำก็ตามเราก็ไม่สนใจในสิ่งเหล่านั้นเท่าไหร่ เพราะว่าไม่สามารถทำให้เกิดความสงบหรือเกิดสติปัญญากับตัวเราเท่าไหร่ เราต้องทำก่อนทำเป็นแบบอย่างเมื่อคนอื่นเห็น ลูกหลานเห็นพี่น้องเห็นใครเห็นก็ตามก็จะเกิดความแปลกใจ เอ๊ เมื่อก่อนคนนี้เป็นอย่างนั้นแต่ทำไมตอนนี้เป็นอย่างนี้ เขาก็มีความคิดที่อยากจะรู้เมื่อมาถามเราก็ตอบข้อสงสัยของเขาว่าเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้เพราะเห็นประโยชน์ในการกระทำสิ่งเหล่านี้ เพราะเห็นโทษในการกระทำของสิ่งที่แล้วมาเลยเป็นพฤติกรรมใหม่ เขาก็ฟัง ฟังแล้วก็มาพินิจพิจารณาสิ่งที่เขาได้เห็นที่เขาได้ยินด้วย เมื่อพินิจพิจารณาเขามีปัญญาเขาก็จะยอมรับแต่ถ้าเหตุปัจจัยเขายังยอมรับไม่ได้ก็ต้องปล่อย คือปล่อยให้เป็นไปตามวิบากกรรมของเขาเหมือนกับอาตมาสนทนากับคน ๆ หนึ่ง เขาบอกว่าเขามีความรู้มีความสามารถมากเลย เขาก็อยากจะสอนความรู้ความสามารถนี้ให้คนอื่นทำตามเขาด้วย ได้สนทนามีใจความว่า
อาตมา “มันก็ได้อยู่มันก็อยู่ที่เครื่องรับของเขาด้วยว่าคนที่จะรับความรู้ความสามารถของโยมนี้เขาจะรับได้ขนาดไหนและเขาสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติได้ขนาดไหน ถ้าเครื่องรับเขาน้อยเหตุปัจจัยเขาน้อยเขาก็จะรับได้น้อย”
โยม “เขาจะใช้ความพยายามที่สุดในการพยายามจะให้คนนั้นรู้ให้ได้”
อาตมา “โยมก็แบกของหนักมากเกินไปบางอย่างมันไม่ได้ อย่างเช่น เด็กเรียนอยู่ระดับประถมแต่โยมเอาคณิตศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยมาสอนเขานี้ เด็กคนนั้นจะสามารถรู้ได้ไหม มันก็อาจจะได้แต่ก็ยากมาก ๆ โยมก็ต้องสอนความรู้ระดับมัธยมปลาย ความรู้ระดับพื้นฐานกว่านั้นเข้าไปอีก แต่โยมจะข้ามขั้นตอนเลยเอาความรู้ระดับมหาวิทยาลัยมาสอนเขาอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้นะ”
โยม “เขาก็จะพยายามลดความสามารถของเขาลงมานิดหนึ่งให้เท่ากับความสามารถของคนอื่นแล้วค่อยสอนเขาไปตามขั้นตอนที่เขาพอจะรับรู้ได้”
อาตมา “อันนี้ก็ใช้ได้แล้วโยมจะได้ไม่หนัก” ต่อมา...
โยม “ชาตินี้กับชาติหน้ามันมีผลจริงไหม ?”
อาตมา “อันนี้มันก็พูดยากโยม เอาชาติปัจจุบันดีกว่า อาตมาขอถามอะไรโยมหน่อยโยมทำงานอะไร ?”
โยม “เป็นเภสัชกรครับ”
อาตมา “สมมติว่าโยมเป็นเภสัชกรอายุประมาณซัก ๕๐ กว่า ๆ ขายยามาแล้ว 20 ปี จนมีความชำนาญ แล้วต่อมาโยมก็หยุดไป ๑๐ ปีไปทำอาชีพอื่น หลังจากนั้นแล้วโยมก็กลับมาทำเภสัชกรใหม่ จะมีเด็กรุ่นใหม่ที่จบเภสัชกรมาทำงานพร้อมกัน เข้างานพร้อมกัน โยมกับเด็กรุ่นใหม่ใครจะเรียนรู้งานนั้นได้เร็วกว่ากัน ? ถึงจะมียาชนิดใหม่เกิดขึ้นมาก็ตาม ประสบการณ์ ๒๐ ปีของโยม กับเด็กพึ่งจบมามันต่างกันมาก เด็กรุ่นใหม่เขาก็ไม่รู้ภูมิหลังของโยม รู้แต่ว่าเข้ามาทำงานพร้อมกันแต่โยมสามารถเรียนรู้งานได้เร็วมาก ตัวอย่างอันนี้ก็เหมือนกับวาสนาบารมีที่เคยทำมาแล้วมันก็จะสะสมในกระบวนการของจิตนี่แหละทำให้เราเกิดมาในชาตินี้มีสติปัญญา มีเหตุมีปัจจัยที่จะโน้มเอียงให้เรามีความฉลาดในหน้าที่การงานนั้น ๆ ได้ เหมือนอย่างเช่นช่างซ่อมรถยนต์บางคนเก่งมากเลยแค่เอาหูฟังเสียงรถเท่านั้นเองว่าอันนั้นเป็นอันนั้นอันนี้เป็นอย่างนี้ อันนี้มีข้อผิดพลาดอย่างนี้ เป็นต้น หรืออย่างเช่นหมอก็ตามได้กลิ่นปัสสาวะก็ตามได้กลิ่นอุจจาระก็ตามรู้เลยว่าคนนี้เป็นโรคชนิดไหนเพราะเคยได้กลิ่นชนิดนี้แล้วและก็คนที่เขาเป็นโรคชนิดนี้จริง ๆ เคยวินิจฉัยโรคมาแล้ว”
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ ก็ดีถ้าบุคคลใดมีความฉลาดก็สามารถที่จะแก้ปัญหาหรือแก้ความทุกข์ในจิตใจของเราได้ อย่างเราศึกษาพระพุทธศาสนานี้เราก็ต้องการความสงบ ต้องการความฉลาดไม่ให้เกิดความทุกข์ในจิตใจนี้เราก็ต้องมีสติปัญญาตั้งมั่นรักษาใจของเรา ถ้าเราไม่รักษาชัยภูมิที่มั่นก็คือใจของเราไว้โจรก็เข้ามาง่าย ๆ บ้านเรานี้ถ้าไม่มีประตูหรือไม่ได้ดูแลรักษาใครเขาก็เข้ามาได้ง่ายแต่ถ้าเรารักษาไว้มีสติปัญญารักษาจดจ้องจดจ่อไว้ใครเข้ามาก็รู้ ใจก็เหมือนกันมันมีประตูเข้ามาได้ตั้งหลายประตู ประตูตา ประตูหู จมูก ลิ้น กายเราก็ต้องรักษาทุกประตูไว้รวมไว้ที่ใจของเรา นั่งยืนไว้ตรงนี้ที่ใจของเราสร้างความรู้ไว้ไม่ไปคิดเรื่องอื่นไปคิดว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธรรมารมณ์ความคิดนี้มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันจะเกิดขึ้นมาในลักษณะใด มันจะทำให้เราสุขหรือมันจะทำให้เราทุกข์อย่างไร เราจะแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร ? แม้แต่เราจะประกอบหน้าที่การงานมันก็ทำได้ ไม่ใช่ว่าเราจะมานั่งเฉย ๆ แล้วดูมัน
เราเคลื่อนไหวไปเราก็ดูไปมีสติสัมปชัญญะ หยิบของใหม่ ๆ เราพลาด เราก็รู้ว่าตอนนี้เรากำลังหยิบชิ้นนี้ กำลังหยิบอะไร ? ชื่ออะไร ? จะเอาไปวางตรงไหน กำลังยื่นให้ใคร ? กำลังรับอะไร ? กำลังทำอะไร ? ใหม่ ๆ ลองสร้างความรู้อย่างนี้ก่อน ลองดู เพียรไป ๆ ๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องกำหนดระยะเวลาว่ามันจะมีผลอะไร แต่เราลองมาทำอย่างนี้ดูมันก็จะเกิดอารมณ์ปัจจุบันรู้สึก จิตใจของเราจะเบาไปเรื่อย ๆ เพราะความคิดเราจะน้อยไงเราจะคิดเฉพาะเรื่องที่เราจะให้มันคิดก็คือเรื่องที่มาเกี่ยวข้องกับกายของเรา นี้คือการประพฤติปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องเพราะ ๑. จิตเราอยู่ในปัจจุบัน ๒. จิตเราจดจ่อจดจ้องอยู่ในการเคลื่อนไหวของกาย ก็ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า “ให้เราเจริญสติอยู่ในกาย ให้เราตั้งสติอยู่ในปัจจุบันธรรม ให้เรามีความรู้อยู่ในปัจจุบัน เราก็จะรู้จะเห็นกายกับใจไปพร้อม ๆ กันเห็นใจกับอารมณ์ไปพร้อม ๆ กันเราก็สามารถที่จะจัดการกับอารมณ์ที่เข้ามาได้ง่ายขึ้น”
ไม่ใช่ว่าเกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลงแล้วเราเพิ่งมาเห็นมันตอนรุนแรงไปแล้ว เราเห็นความหงุดหงิดเราก็จัดการมันได้แล้ว เมื่อเราเห็นความไม่สบายใจนิดเดียว เห็นความขัดเคืองใจเราก็รู้ว่าใจของเรากำลังขัดเคืองแล้วนะกำลังไม่สมดุลแล้วนะก็รู้แล้วก็จัดการมันได้ไม่ยากแต่ถ้ามันเข้าไปได้มากแล้วเหมือนกายที่มันร้อนมันเป็นเพลิงใหญ่ ๆ ลุกไหม้มาก ๆ แล้วมันจะดับยาก การจะดับไฟไม่ได้ดับที่เปลวไฟนะ ดับที่เชื้อไฟ พยายามดึงเชื้อไฟออกที่ละเล็กทีละน้อยไฟก็จะดับ และเปลวไฟก็จะหายไปด้วยเพราะเชื้อมันไม่มี ใจของเราก็เหมือนกันเชื้อมันเกิดมาจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์นี่แหละ เพราะว่าเชื้อมันอยู่ในใจของเราแล้วคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อสิ่งเหล่านี้มันเข้ามาเติมก็เหมือนกับน้ำมันสาดเข้าไปในกองไฟมันก็ยิ่งลุกมากไปอีก เพราะฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตัวที่จะเป็นตัวดึงไปดับความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ เมื่อสิ่งเหล่านี้มันลด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ มันก็มีผลไม่มากมันก็จะลดไปด้วยเพราะสติปัญญาของเราจดจ้องจดจ่ออยู่ที่การกระทำนี้สำคัญมากเลย ให้เราฝึก ๆ ว่าเช้านี้เราจะฝึกนะเมื่อเราลุกขึ้น
มีคราวหนึ่งอาตมาสนทนาธรรมกับโยม บอกกับโยมว่าโยมอยากรู้ว่าโยมมีสติหรือไม่มีสตินะ อาตมาจะบอกอย่างนี้หลังจากที่โยมเลิกคุยกับอาตมาเวลาสนทนาธรรมเวลาโยมลุกขึ้นโยมรู้ว่าโยมลุกขึ้นแล้วโยมนับ 1 เลยนะ โยมก็บอกว่าได้ ๆ ๆ ครับผมจะตั้งใจ อาตมาก็สนทนาธรรมไปกับโยมอีกซัก ๒๐ นาที อาตมาก็แจกหนังสือ ทุกคนก็ลุกขึ้นพร้อมกันหมด รับหนังสือเสร็จอาตมาก็ถามโยมว่าโยมนับไหม โยมก็บอกว่า ลืม จิตมันพุ่งไปที่หนังสือก่อนเลย อาตมาก็บอกว่า เห็นไหมแสดงว่าจิตโยมไม่ได้อยู่ที่กายแล้ว อาตมาก็เตือนแล้วนะเวลาลุกนับ ๑ ในใจนะ เห็นไหมเจอสิ่งล่อเร้านิดเดียวคือ หนังสือธรรมะเท่านั้นจิตมันพุ่งมาเลย อันนั้นจะไปฝากคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง ยิ่งคิดอย่างนั้นก็ยิ่งกระจายไปใหญ่เลย เพราะฉะนั้นก่อนที่โยมจะมาหยิบหนังสือโยมต้องตั้งสติมาไว้ที่กายให้ดี ๆ ที่นี่มาที่พวกเราโยมก็ต้องตั้งใจให้ดี ๆ นะว่ารับพรเสร็จโยมจะลุกโยมจะเดินไปทีโรงครัวโยมตั้งไว้ดี ๆ นะ พยายามดูซิว่ามันจะอยู่ไหม โยมลุกแล้วโยมนับ 1 เลยนะต้องตั้งสติให้มั่นถ้าตั้งไม่มั่นโยมนับไม่ได้แน่นอนเพราะจิตของโยมจะไม่อยู่ที่กายมันจะไปอยู่ที่อื่นเมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วเราก็ต้องพยายามแล้ว พยายามตั้งสติให้อยู่ที่กายไว้นะ พุทโธ ธัมโม สังโฆไว้ก็ได้ ดูลมหายใจไว้ก็ได้ ดูกายไว้นะดูบ่อย ๆ ไว้แต่ต้องมีสติให้มั่นถ้าไม่มั่นไม่อยู่นะโยมพิจารณาให้ดี ๆ บัดนี้อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.
-----------------------------