สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เรื่องฉลาดให้เป็นจะไม่ทุกข์

 

เรื่องที่ ๓ เรื่องฉลาดให้เป็นจะไม่ทุกข์

ให้พวกเรานั่งสมาธิกัน (มือขวาทับมือซ้าย ขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติของเราให้มั่นไว้) ตามที่พวกเราได้ฝึกกันมาแล้ว ตอนนี้มารู้ที่ลมหายใจของเราพยายามประคองความรู้ไว้เพราะสติเป็นที่เกิดแห่งความฉลาด เราเคยได้ยินมามากแล้วว่าคนที่มีสติปัญญาดีคนนั้นก็จะมีความจำหรือการเรียนรู้ได้ดี ทุกคนต้องการมีสติปัญญาดีกันทั้งนั้นต้องการเป็นคนฉลาดไม่ต้องการเป็นคนโง่แต่คนฉลาดจะต้องฝึกหัดปฏิบัติ มีความขยันหมั่นเพียร เราดูคนที่เรียนได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ อันดับ ๒ ไม่มีใครไม่อ่านหนังสือหรอก ไม่มีใครไม่ขยันหมั่นเพียรหรอก คนพวกนี้มีความเพียรมากกว่าคนอื่นมีเซลล์สมองความจำได้มากกว่าคนอื่นคือเขาจะมีความเข้าใจเรื่องราวที่ครูบาอาจารย์สอนได้รวดเร็วและอาศัยความเพียรพยายามในการทบทวนเรื่องที่เรียนมาแล้วด้วย มีการเตรียมตัวก่อนที่จะไปเรียนในครั้งต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ความขยันหมั่นเพียรของเขาก็เกิดผลทำให้เขามีความฉลาด แต่ความฉลาดทางด้านการศึกษาเหล่าเรียนในศาสตร์ต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินว่าคนนั้นจะมีความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัว และการใช้ชีวิตในสังคมได้ยอดเยี่ยมไม่ แต่ถ้าผู้ใดมี่ที่มีความฉลาดในจิตใจของตนเองรู้ว่าอะไรควรที่จะปล่อย อะไรที่ควรที่จะวาง อะไรที่ควรที่จะพูด อะไรควรที่จะไม่พูดในสถานที่ต่าง ๆ ในบุคคลต่าง ๆ ได้ถือว่าบุคคลนั้นฉลาด

แต่พวกเราต้องการความฉลาดในสังคมในหน้าที่การงานของเรา เราจะทำอย่างไร ? พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า สติ คือการระลึกรู้ จะเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เราทำการงานไม่เครียด คือทำงานด้วยความฉลาด ทำงานด้วยความปล่อยวาง แต่ทุกวันนี้เราทำงานด้วยความยึดไว้ หมายมั่นไว้ มีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา มีเรามีเขา มีดีมีชั่ว มีคนเก่งคนไม่เก่ง ต้องการให้ทุกคนยอมรับว่าเราเป็นคนเก่งเป็นคนฉลาดที่สุด ต้องการให้เจ้านายเห็นคุณค่าและให้เพื่อนร่วมงานเห็นความสามารถของเรา เมื่อเราตั้งความรู้สึกไว้อย่างนี้ (ตั้งความเห็นผิดไว้อย่างนี้) ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เราจะต้องมาตั้งความคิดเห็นใหม่ เราทำงานเพื่อให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สมบูรณ์ที่สุด ส่วนใครจะเห็นหรือไม่เห็นผลงานของเราไม่ใช่หน้าที่เราเป็นผู้ตัดสิน เป็นหน้าที่ของคนอื่นเป็นผู้ตัดสิน หน้าที่เราจะตัดสินได้จากการงานของเรา ต้องถูกต้องดีงาม และสำเร็จประโยชน์ในหน่วยงานนั้น ๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าจะถูกใจเราอย่างเดียวแต่ไม่ถูกใจคนอื่นก็ไม่ได้ (มันต้องถูกใจของเจ้านายด้วยให้เจ้านายยอมรับ ให้เพื่อนร่วมงานยอมรับ และจะต้องทำงานนั้นให้สมบูรณ์) รับฟังความคิดเห็นจากหลาย ๆ คน ผู้ใหญ่สอนว่า ให้หยุดเป็นผู้ฟังที่ดี การที่เราเป็นผู้พูดที่ดีแล้วยังไม่เท่าไรแต่การเป็นผู้ฟังที่ดีทำยาก ทั้งนี้เพราะทุกคนไม่ยอมฟังกัน เช่น เวลาประชุมเราก็แย่งกันพูด แย่งกันแก้ตัวกันหมด โยนไปหมด เป็นต้น

การที่เราบอกกันว่าทำผิดแล้วอย่ายอมรับผิดคนที่ยอมรับความผิดแล้วจะไม่ได้เกิดเลยเพราะว่าเขาจะเอาความผิดของเรามาโพนทะนาทำให้เสียชื่อ ทำให้คนอื่นไม่ยอมรับและตนเองก็จะด้อยลงไป อันนี้ไม่ถูกหลักธรรมตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ถ้าเราผิดก็จะต้องยอมรับผิดเราจะได้รู้ว่าจะปรับปรุงและแก้ไขอย่างไรในส่วนที่ผิดเหล่านี้ ถ้าเราปกปิดความผิดอย่างไรเราก็รู้ว่าเราทำผิดเราก็เกิดความไม่สบายใจอยู่ดีแต่ถ้าเรารับผิดและพยายามปรับปรุงไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีกอันนี้ดีกว่าการปกปิดความผิด และจะทำให้เราไม่เครียดด้วยแต่เราก็ไม่กล้าเปิดเผย เมื่อเรามีปัญหาเราไปปรึกษาเพื่อนร่วมงานเขาก็ว่าอย่ารับผิด เราอย่าลืมซิว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะไม่มีความผิดพลาดในการทำหน้าที่การงานต่าง ๆ เรื่องที่เราคิดว่าง่าย ๆ เช่นกัน เรามาลองคิดดูซิแม้แต่เราใช้มือของเราก็ตามเราก็ยังเคยของหลุดมือได้ หรือการเดินก็ตามเราก็เคยมีการหกล้มได้ เป็นต้น และการงานจะไม่มีผิดพลาดย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้เราก็ควรค่อย ๆ ปรับความเข้าใจของเราหรือปรับความคิดเห็นของเราใหม่ เมื่อใดถ้าเราผิดพลาดก็ควรที่จะยอมรับผิดเราควรมาหาวิธีแก้ไขกันดีกว่า แต่สมัยนี้มันไม่ใช่แล้วใครทำผิดพลาดก็จะโดนซ้ำเติมและทำลาย มีความเห็นแก่ตัวตัวอย่างรุนแรงทำให้ทุกคนไม่กล้าเปิดเผยความเป็นจริงในการกระทำนั้น ๆ

การกระทำอย่างนี้ก็จะทำให้การทำงานมีแต่ความเร่าร้อนและมีแต่ความทุกข์ ประชุมก็มีแต่จับผิดกันวุ่นวายกันว่ากันไปก็ว่ากันมา โยนไปแผนกโน้นโยนไปแผนกนี้ จริง ๆ แล้วจะต้องช่วยกันทุกแผนก คนทำงานจะสำเร็จไม่ใช่อยู่ที่แผนกเดียวมันทำงานส่งต่อกันไปเมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้วจะปัดความรับผิดชอบไปเลยไม่ได้มันต้องกระทำกันเนื่องกัน เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้จะทำให้เราเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของตัวเราเอง เราก็เข้าใจว่าเรามีความโลภ ความโกรธ ความหลง เรามีความต้องการความสุข ทุกคนก็ต้องการความสุขเหมือนเรา เราไม่ต้องการให้ใครมาว่าเรา ๆ ก็อย่าไปว่าคนอื่นก่อน เราต้องการให้คนอื่นพูดกับเราไพเราะเราก็พูดกับคนอื่นไพเราะก่อน เราต้องการให้คนอื่นเมตตาเรา ๆ ก็เมตตาคนอื่นก่อน เราต้องการให้คนอื่นให้เรา ๆ ก็ให้คนอื่นก่อน เห็นไหมสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ที่การกระทำของเราไม่ใช่ว่าเราต้องการให้คนอื่นพูดดีกับเราแต่เราไม่พูดดีกับคนอื่นอย่างเดียวอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ว่าเราจะเจ้านายหรือจะเป็นอะไรก็ตาม การพูดจาชอบ คือ การพูดจาที่ถูกต้องดีงามไม่เป็นเท็จ พูดจาซื่อตรง พูดจาอ่อนหวาน ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ

แต่เดี๋ยวนี้คนในยุคปัจจุบันพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหน็บเก่งมาก ในการพูดที่ไม่ดีไม่รู้เรียนมาได้อย่างไร (ยิ่งเรียนสูงยิ่งพูดไม่ดีฉลาดขึ้น) พูดให้คนอื่นคิดเมื่อคนอื่นคิดก็ทุกข์ มันว่าเราสู้ว่ากันตรง ๆ ดีกว่ามันพูดส่อเสียดนี่รับไม่ได้แต่ทุกคนก็ต้องเจอ เมื่อเราต้องเจอคนประเภทนี้ควรทำอย่างไร ? หรือเราเป็นคนประเภทนี้หรือเปล่า ? เราต้องมาดูกันก่อนแต่ถ้าเราเป็นประเภทนี้เราจักอยู่ประเภทฉลาดแต่มีความเห็นแก่ตัวสูง เราจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแต่เราจะไม่พบความสุขของชีวิตเลย เลือกเอาว่าเราจะเอาอะไร จะเอาทรัพย์ จะเอายศ จะเอาสรรเสริญ (สิ่งเหล่านี้เป็นของจอมปลอมไม่ยั่งยืน) อย่างนั้นหรือ ? แต่สิ่งที่เป็นความสุขที่แท้จริง คือการเจริญเมตตาแต่ก็คิดว่าถ้าเราเจริญเมตตากับคนอื่นก็จะเสียเปรียบคนอื่นวันยังค่ำ แล้วคนที่โกงเราเอาเปรียบเราจะมีความสุขไหมมาดูซิ คนเสียเปรียบอาจจะมีความสุขมากวกว่าก็ได้ เราจะต้องเปลี่ยนมุมมองกันใหม่แล้ว บางคนก็ไม่ยอมรับจะเอาฉลาดกว่าคนอื่นอย่างเดียวคือมีความทันเกมส์เขาไปหมดทุกเรื่อง นึกว่ามันจะดียิ่งทันก็ยิ่งทุกข์ เห็นอะไรก็เห็นแต่ความทุกข์มองออกไปก็เห็นแต่ความทุกข์มองไปก็มองแง่ลบตลอดไม่มองสร้างสรรค์เพราะมองสร้างสรรค์ที่ไรพลาดทุกทีทุกข์ทุกทีทุกข์ที่ไม่ทันการณ์ จะต้องมองทั้งกันด้วยและแก้ด้วยไม่ให้มันเกิด จะต้องคิดเยอะ ๆ มันก็บีบสมอง บีบความคิดมาก ๆ

ผลคือสติมันก็เบลอไปหมดไม่ตั้งมั่นเพราะไปคิดแต่เรื่องคนอื่น กลัวมากกลัวความทุกข์จะเกิดขึ้นก็เลยกันมาก กันมากก็ทุกข์มากเพราะไปแก้ผิดไปกันผิด ความทุกข์ที่ใจของเรามีความเห็นผิดไป แต่เราไปกันภายนอกไม่ได้เพราะเราคิดอย่างไรคนอื่นก็คิดอย่างนั้นเราคิดว่าคนอื่นไม่รู้ความคิดเราอันนี้ไม่ใช่นั้นเราต้องคิดใหม่เสียแล้วเรารู้คนอื่นฉันใดคนอื่นก็รู้เราฉันนั้นเพียงแต่ว่าเราจะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น เพราะอะไร ? เพราะเราก็เป็นคนเขาก็เป็นคน เราจะไม่รู้เราเชียวหรือ ? เขาก็ต้องรู้เช่นกัน โบราณสอนไว้ว่า เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้าเหมือนกัน เรารู้เท่าใดคนอื่นก็รู้มากกว่าเราก็มี เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วก็อย่าทำเป็นคนฉลาดไปทุกเรื่อง บางทีก็แกล้งโง่บ้างก็ดีเหมือนกันจะทำให้ใจสบาย อัตตาตัวตนทิฐิมานะ ความเห็นผิดมันก็จะเกิดจากการที่ว่าเราฉลาด เราประสบความสำเร็จ เราไม่เคยผิดหวังอย่างใดทั้งสิ้น มีความปรารถนาสิ่งใดเราต้องการสิ่งนั้น ถ้าเราตั้งความคิดเห็นอย่างนี้มันผิดแน่นอนเพราะว่าความปรารถนาที่เราตั้งไว้ย่อมเกิดผิดหวังด้วย เราจะสมใจปรารถนาไปทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้มันผิดต่อความเป็นจริงของธรรมชาติของมนุษย์ อันนี้แหละที่ทำให้เราจะต้องมาคิดแล้วว่าเราต้องการอะไรในชีวิต เราทำงานต้องการงานและตำแหน่งหน้าที่ เอาเงินมาใช้จ่ายในการดำรงชีวิต

ต้องการความสุขจากการทำงานนั้น ๆ แต่เราก็ไม่เกิดความสุขจากการทำงานนั้น ๆ ทำงานไปก็เครียดไปอยากจะลาออก ถึงจะเปลี่ยนงานกี่แห่งก็ตามถ้าความคิดเห็นของเรามันผิดมันก็ยังทุกข์อยู่ มันไม่ใช่อยู่ที่งานมันอยู่ที่คน มันอยู่ที่เราเมื่อเราไม่มีสติปัญญา คือเราไม่มีความฉลาดในอารมณ์ของเราเองไม่ฉลาดว่านี่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงของเรา แต่เราไปฉลาดกับความโลภ ความโกรธ ความหลงของคนอื่น เมื่อเขาเห็นแก่ตัวก็ทันเขา เขามีความโลภเท่าไร เขามีความโกรธเท่าไร เขามีความหลงเท่าไรก็ทันเขา ไปทันกับสิ่งเหล่านั้นของคนอื่นมันไม่มีประโยชน์อะไรยังเพิ่มความทุกข์ให้เราซะอีกเพิ่มความโลภ ความโกรธ ความหลงให้เรา เพิ่มไปเรื่อย ๆ เรามาลดกันดีกว่า มาลดความโลภ ความโกรธ ความหลงของเรา มาลดความเห็นแก่ตัว เรามาเจริญเมตตาให้อภัยกันอันนี้สำคัญ จะทำให้จิตใจของเราไม่เร่าร้อนตอนนี้จิตใจของเรามันเร่าร้อนไม่เยือกเย็นเพระเราปรารภโลกไปต้องการความปรารถนาสิ่งต่าง ๆ ความปรารภสิ่งต่าง ๆ ก็ยึดมั่น ชีวิตของเราก็ไม่สมดุลถ้าต้องการชีวิตที่สมดุลเราจะต้องมีสติ ปรับอารมณ์ของเราใหม่ ปรับมุมมองดี ๆ ของเขา พระพุทธองค์สอนว่า ถ้าจะมองคนอื่นมองส่วนดีของเขา อย่าไปมองส่วนที่ไม่ดีของเขา พยายามมองหาส่วนดีของเขาดีกว่าก็แล้วกัน พยายามมองข้อบกพร่องของเราแทนว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้างที่เราจะแก้ไข

ถ้าเรามองว่าเราดีหมดข้อบกพร่องของเราก็ไม่อยากมอง ไม่อยากจะรู้ไม่อยากจะเห็นเลย อัตตาตัวตนของเราก็เพิ่มขึ้น ความทุกข์ก็เพิ่มขึ้น ทิฐิมานะก็เพิ่มขึ้น การให้อภัยก็ไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อเรามามองให้เห็นความผิดของเราจริง ๆ เราอาจจะผิดมากกว่าคนอีกตั้ง ๗-๘ คน ทั้งนี้เพราะเรามีความเห็นผิด แต่เราก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่าเราถูก ถ้าจะมาพินิจพิจารณาใหม่แล้วว่าทำไมเรามองอย่างนั้น ? ทำไมเรามองอย่างนี้เป็นเพราะอะไร ? อย่าเข้าข้างตัวเองนะและอย่าเข้าข้างคนอื่นทำจิตใจให้เป็นกลางไว้ มีสติมีปัญญาไว้พินิจพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามความเป็นจริงของชีวิต เราควรที่จะต้องพิจารณาความแก่ความเจ็บความตายบ้างนะ ถ้าเราไม่พิจารณาก็คิดว่าเราจะอยู่ในโลกนั้นสบาย ๆ แต่อย่าลืมว่าไม่แน่นะความตายไม่เลือกกาลเวลา ตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เราจะต้องพร้อมที่จะตาย เราเคยได้ทราบข่าวไหมว่าเพื่อนของเราตายบ้าง ญาติของเราตายบ้าง บางทีก็เห็นคนเหล่านั้นอายุยังน้อย ๆ อยู่เลย ตายด้วยอุบัติเหตุบ้าง ตายด้วยโรคมะเร็งบ้าง ทุกคนก็รู้ว่าในสมันนี้ใครก็มีความเครียดมาก ความเครียดนี้ก็จะเป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็ง เพราะความเครียดเมื่อเกิดขึ้นก็จะหลั่งสารก่อมะเร็งในร่างกายของเราให้มันตายเร็วขึ้น เพราฉะนั้นเราก็อย่าเครียด พยายามปล่อยวางในเรื่องราวต่าง ๆ พยายามปิดหู ปิดตา ปิดจมูก อย่าไปรับรู้เรื่องราวไปทุกเรื่องจะทำให้เกิดความทุกข์

ทุกวันนี้เราก็รู้มากมายเพราะยุคนี้เป็นยุคการสื่อสารไร้สาย การติดต่อทางโทรศัพท์ก็รวดเร็ว มีระบบอินเตอร์เน็ตอยากจะรู้เรื่องราวอะไรก็ใช้อินเตอร์เน็ตหา ยิ่งรู้ไปเท่าใดยิ่งเครียดเท่านั้นเพราะมันรู้เกินไปมันรู้เกินความจำเป็นของการเป็นอยู่ของมนุษย์มันเลยทำให้เกิดความเครียด ทุกวันนี้เรามาปรับความคิดเห็นใหม่ ครูบาอาจารย์บอกว่า การเข้าวัดปฏิบัติธรรมสำคัญที่สุดคือ เปลี่ยนความคิดคิดเห็นของเราให้ได้ ความคิดเห็นเดิม ๆ ของเราที่ผิดไม่เอาแล้ว เราจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดของเราใหม่แล้วว่าเราจะดำเนินชีวิตของเราอย่างไรให้มีความสุขให้มีความสงบดีกว่าเพราะความสุขชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นมาได้โดยไม่ต้องอาศัยอะไรเลย อาศัยจิตของเรานี้มีความเห็นที่ถูกต้อง มีความสงบมีความเข้าใจความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหลายว่ามนุษย์ของเราเกิดมามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา และมีความตายเป็นธรรมดา สิ่งเหล่านี้ทุกคนก็รู้แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง รู้ด้วยสัญญารู้แล้วก็กลัวไม่อยากเจอะเจอสิ่งเหล่านี้แต่เราก็ต้องเจอ การพลัดพรากของรักของชอบใจเป็นทุกข์เราก็รู้แต่เราไม่ต้องการแต่มันก็ต้องเจอ มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ๆ ก็เป็นทุกข์เราก็ต้องเจอแล้วมันสุขหรือมันทุกข์ ? มันทุกข์

เราก็ต้องยอมรับว่าทุกอย่างมันต้องเจอทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีใจ-เสียใจ ทั้งถูกใจ-ไม่ถูกใจ ชอบหรือชังเราก็ต้องเจอหมดแหละ ทำอย่างไรหละ ? ถ้าเราเจอสิ่งที่เราไม่ชอบเราจะทำอย่างไรให้ใจนั้นยอมรับอันนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามแล้ว พยายามทำให้มันยอมรับให้ได้โดยใช้ปัญญาพินิจพิจารณาว่าคนเราเกิดมานี้ไม่นานหรอกต้องจากโลกนี้ไป ก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไปเราก็จะสร้างคุณงามความดีดีกว่าหาความสุขที่แท้จริงทำจิตใจของเราให้สงบ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี เพราะฉะนั้นเราพยายามหาความสงบดู ให้เรามาดูที่ลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้าก็รู้พร้อมกับบริกรรมคำว่า พุธ หายใจออกก็รู้ พร้อมบริกรรมคำว่า โธ คำว่า พุทโธแปลว่า ผู้รู้ เป็นชื่อของพระพุทธเจ้า ให้เรามาดูลมหายใจนี้แหละมันจะสงบแล้วเราก็จะพบความสุขที่แท้จริงแน่นอน บัดนี้อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลาของยุติด้วยประการฉะนี้ ต่อไปตั้งใจถวายสังฆทานต่อไป.

-------------------

view