สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

สิ่งที่ควรรู้ (เทศน์ตอนนั่งสมาธิทำวัตรเย็น)

เรื่องที่ ๒ สิ่งที่ควรรู้

(เทศน์ตอนนั่งสมาธิทำวัตรเย็น)

ในความรู้เรื่องราวต่าง ๆ เก็บไว้เป็นความจำมันเลยคิดปรุงแต่งไปมากมาย ถ้าเราได้เคยไปเที่ยวประเทศลาว (หรือประเทศอะไรก็ตามที่เราเคยไปเที่ยว) เราก็จะปรุงแต่งเรื่องอดีตที่เราเคยไปยืนตรงโน้น ณ ประเทศนั้นจริง ๆ ได้แต่ถ้าเราไม่เคยไปประเทศนั้นเราก็ไม่สามารถที่จะปรุงแต่งเรื่องนั้นได้เช่นกัน สมมติว่าเรานึกประเทศที่เราไม่เคยไป เช่น ประเทศทิเบตโอ้ เราไม่เคยไปทิเบตเลยมันเกินกว่าที่เราจะนึก (จิตนี้ไงจิตนี้ที่ผัสสะถึงรูปและนาม) เมื่อเรานึกถึงรูปที่เราเคยดูในสารคดีในประเทศทิเบตที่มันเป็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ก็ดี สัตว์ก็ดี นึกถึงการแต่งตัวของประชาชนชาวทิเบต นึกถึงพระทิเบต นึกถึงว่าเขาอยู่ในหิมะแต่ก็ไม่สามารถนึกสภาพจริงได้เพราะเราไม่เคยไป เป็นต้น มันต่างกับประเทศที่เราเคยไปเรานึกประเทศไหนที่เราเคยไปมันนึกได้ง่าย เราก็ไปอยู่ตรงนั้น อย่างประเทศจีนเมืองที่เราเคยไปเราก็จะระลึกถึงได้ตรงไหนที่เราเคยไปแล้ว ตรงไหนที่เราไม่ได้ไปเราก็อาจจะนึกเป็นรูปแผนที่บ้าง คิดปรุงแต่งบ้าง เทียบเคียงบ้าง จิตใจ คือ ผู้รู้ ผู้รู้นี้มันเร็วกว่าที่เราคิดมากมายเราจึงต้องมาระลึกรู้ใหม่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ให้มาระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจ หายใจเข้าเราก็รู้ว่ากำลังหายใจเข้าอยู่นะ หายใจออกเราก็รู้ว่ากำลังหายใจออกอยู่ เราหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ แต่สุดท้ายมันก็มารวมอยู่ผู้รู้ของเรา

จิตใจของเรามันก็วิ่งไปตามสัญญาอารมณ์มากมาย คิดปรุงแต่ง เช่น ความรัก-ความชัง ความพอใจ-ความไม่พอใจ ความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาไปหมด จิตไม่สงบ เราก็มาโทษว่าที่นี่วุ่นวาย ที่นี่ไม่สงบ แต่จริง ๆ แล้วเพราะว่าจิตของเรามันไม่ฉลาด มีความเห็นผิด ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้องว่าการระลึกอยู่ที่ลมนี้มันเป็นสิ่งที่ดีมันทำให้พวกเราฉลาดขึ้นมีปัญญาขึ้นเพราะจิตที่อยู่ในปัจจุบันนี้มันจะสำเร็จประโยชน์ เหมือนกับการทำงานถ้าจิตใจของเราว้าวุ่นอยากให้งานเสร็จ จะไปทำนี่ต่อ จะไปทำโน้นต่อจนเราไปทำก็คิดแหลกเลยทีนี้ทำอะไรมันก็ผิดหมดละ ทีนี้อยากเร็วก็กลับช้าเพราะใจของเรามันเร็วมากแต่กายของเรามันเร็วไม่ทันมันเลยมั่วไปหมดเลยทีนี้แทนที่จะได้งานกลับเสียไปหมด ก็เครียดตัวเองอีก เครียดคนอื่นอีก ทั้งนี่เพราะเราไม่เข้าใจด้านจิตใจ จิตใจไม่ตั้งมั่นในเรื่องราวที่เราต้องการให้มันตั้งมั่นอยู่ แต่ถ้าเรามีสติเราก็เคลื่อนไหวไปในการงานของเรา ๆ จะหยิบกระดาษก็รู้ หยิบปากกาก็รู้ ลุกขึ้นก็รู้ นั่งลงก็รู้ กดคอมพิวเตอร์ก็รู้ว่ากำลังพิมพ์ เรื่องราวต่าง ๆ ก็รู้ ลองสังเกตดูซิว่าเมื่อเราทำงานอยู่เราก็สามารถที่จะทำและก็คิดไปได้ด้วย คิดไปเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากมายมันเลยทำให้จิตใจของเรานี้ทำงานไม่เกิดความสงบ เกิดความฟุ้งซ่านเพราะเราอยู่ในหลายอารมณ์จะให้มาอยู่ในอารมณ์เดียว

ถ้าเราอยู่ในอารมณ์เดียว เราพิมพ์คอมพิวเตอร์อยู่ในอารมณ์เดียว เขียนข้อความเรื่องราวต่าง ๆ จนมันติดต่อ การพูดคุยโทรศัพท์มีสติระลึกรู้ไปด้วยถ้าจบเรื่องราวนั้นมันก็จบมันจะไม่ปรุงแต่งต่อแต่ถ้าเราปล่อยจิตใจให้ล่องลอยไปคิดไปเรื่อย ๆ ทำงานเรื่องนี้ คิดไปเรื่องโน้นคิดไปไม่จบ การทำงานก็ยิ่งคิดไปเรื่อย ๆ ไม่สงบซะทียิ่งคิดมากความร้อนมันก็มากแต่ก็คิด ไปก็เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวเราเป็นตัวเขา มีถูก มีผิด มีดี มีชั่ว มีชอบ มีชัง จิตของเรานี้ไหลลงไป ผู้รู้ของเราไหลลงต่ำไปสู่ความทุกข์เราเลยต้องมานั่งสมาธิ มาฝึกนั่งสมาธิ ๑ วัน ๒ วัน จะให้มันสงบเลยนี้มันก็ยาก เพราะเราปล่อยจิตปล่อยใจของเรามานาน ลองคิดดูซิเอาแค่วันนี้เราก็ปล่อยใจมาเยอะตั้งแต่ตื่นนอนมาเราก็ปล่อยจิตปล่อยใจ ซึ่งตามปกติเราต้องตามรักษาผู้รู้ของเราด้วย เมื่อเราจะดูอะไรก็มีผู้รู้ดูด้วยไม่ใช่ว่าดูอะไรก็ล่องลอยปล่อยไปด้วยเหตุนี้จิตใจของเราเลยฟุ้งซ่านเมื่อได้มาทำความเพียรหรือทำความสงบก็ทำได้ยากเพราะเราไม่สำรวมภายในของเรา ตอนนี้เริ่มต้นเราก็ต้องวางไว้ก่อนในเรื่องราวอดีตที่ผ่านมายังเราไม่ต้องการคิด อนาคตเราก็วางไว้ก่อนเช่นกัน ตอนนี้เราจะปฏิบัติจิตใจของเราใหม่เพราะถ้าเราไม่ปฏิบัติจิตใจของเราใหม่ความรู้สึกนึกคิดใหม่ ๆ ก็ไม่เกิดขึ้นมันก็จะคิดวนทับของเก่าวนไปวนมา ไม่สามารถออกจากกองทุกข์ได้

เราจึงต้องมาคิดใหม่คือคิดอยู่ที่ลมหายใจ หายใจเข้าเราจะบริกรรมคำว่า พุท หายใจออกเราจะบริกรรมคำว่า โธ คำว่า พุทโธ หรือคำว่า พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้เบิกบาน คำนี้เป็นนามของพระพุทธเจ้า เมื่อเราระลึกรู้อย่างนี้จิตใจของเราก็จะไม่ไหลไปในอดีตในอนาคต เราจะต้องใช้ความเพียรพยายามอย่าบังคับอารมณ์ อย่าไปบังคับให้มันระลึกรู้ อย่าไปกดจิต ถ้ามันวุ่นวายมาก ๆ ก็กลั้นลมหายใจซักพักหนึ่งหายใจเข้า-ออกลึก ๆ ซัก 2-3 ครั้ง และก็ตั้งสติใหม่ สติ คือ การระลึกรู้ ถ้าเราระลึกรู้อยู่ตรงนี้สติก็อยู่ เราระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจกับคำบริกรรมว่า พุท-โธ ถ้าเราออกไประลึกรู้อย่างอื่นแสดงว่าสตินี้มันไม่อยู่ตามที่เราตั้งใจแล้วแปลว่าเราขาดสติแล้ว แต่เราก็ต้องพยายามตั้งพยายามต่อ ถ้าตั้งด้วยต่อด้วยให้มันต่อเนื่องด้วยจิตก็จะห่างจากสัญญาอารมณ์อดีต-อนาคต เข้ามาอยู่กับที่อารมณ์ปัจจุบันนี้ หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ การที่เราหายใจเข้าบริกรรมคำว่า พุท หายใจออกบริกรรมคำว่า โธ แค่นี้เป็นสิ่งที่ทำยากแต่เมื่อเราทำไปแล้วมันจะมีผลหรือมีอานิสงส์ผลที่จะได้รับก็คือจิตเกิดความสงบ พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตที่สงบดีแล้วจะย่อมนำความสุขมาให้ มันจะจริงไหม ? เราก็ต้องพิสูจน์การกระทำของเรานี้ ก็ให้พยายามตั้งใจกันตั้งใจให้มั่นอยู่ที่อารมณ์เดียว เดี๋ยวอาตมาจะให้สัญญาณระฆังเลิก.

----------------------

view