สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เรื่อง ความสำคัญของสติ

 

เรื่อง ความสำคัญของสติ

ถ้าความหมายของคำว่า พระพุทธศาสนา อย่างพุทธะนี้ เราก็เข้าใจว่าคือผู้รู้ เราจะรู้อะไรนี้สำคัญที่สุดก็ต้องรู้ใจของเรานี้แหละว่าใจของเรานี้เป็นอย่างไร สุขเป็นอย่างไร ทุกข์เป็นอย่างไร เราจะแก้ความทุกข์ได้อย่างไร อันนี้เป็นความรู้ของมนุษย์ที่สูงที่สุด อย่างครูบาอาจารย์เคยบอกไว้ว่า พระไตรปิฎกนี้มีหลายเล่ม 45 เล่ม เขียนไว้เยอะมากแจกแจงไว้ละเอียดมากมายทั้งหมดรวมลงมาอยู่คำ ๆ เดียว คือตัวสติ ตัวสติเท่านั้นเพราะว่าพระอรหันต์เจ้าท่านจะมีสติสมบูรณ์บริบูรณ์ที่สุด เพราะฉะนั้นตัวสติจึงเป็นตัวรวมของผู้รู้ทั้งหลาย ผู้รู้ทั้งหลายจะเกิดได้ก็ต้องอาศัยว่าบุคคลนั้นมีสติที่เป็นธรรมชาติเท่าทันอารมณ์ทุกอารมณ์ที่เข้ามาทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูก ลิ้น กาย และก็ส่งมาสุดที่จิตใจของเรา

สตินี้จะเป็นตัวกั้นเป็นตัวสอนเป็นตัวบอกให้เราจะทำกระทำต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร ที่ถูกต้องที่สุดที่จะไม่เกิดความทุกข์ ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะไม่ทัน เพราะการฝึกหัดสติของเรานี้มันยังไม่ชำนาญสติที่เรามีอยู่นี้ไม่เพียงพอที่เราจะไปแก้ความทุกข์ที่เกิดจากความเห็นผิดที่ยึดตัวตนของเราว่าเป็นเราเป็นของเราจริง ๆ จัง ๆ เพราะเราไม่เข้าใจพื้นฐานว่า จริง ๆ แล้วตัวตนของเรามันไม่มี มันมีสภาวะที่ปรุงแต่งกันเกิดขึ้นเท่านั้นเองของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าไม่มีการปรุงแต่งเราคงโตมาไม่ถึงบัดนี้หรอก มันก็ปรุงแต่งไปเรื่อย ๆ ปรุงไป ปรุงไป แต่งไป เสื่อมไป สิ้นไปไม่มีที่สิ้นสุดในส่วนของร่างกาย ในส่วนของจิตใจก็ปรุงแต่งไปไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน

ถ้าตราบใดเมื่อสติของเราไม่ตั้งมั่นยังไม่บริบูรณ์ เขาเรียกว่ามันยังไม่เต็มรอบ ไม่เต็มรอบในกระบวนการของการเห็น กระบวนการของการได้ยิน ของการลิ้มรส ของการสัมผัส ของการถูกต้องทางกาย ของธรรมารมณ์ ของการรู้สึกนึกคิดก็ตาม เรายังไม่เต็มรอบตราบใดนะ ตราบนั้นความทุกข์นี้มันก็ต้องเกิดขึ้น เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นเราจะได้เรียนรู้ว่าทุกข์นี้เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะกำหนดรู้ได้อย่างไร ดูได้อย่างไรให้ทุกข์นั้นมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่รู้ได้ง่าย ๆ มันต้องอาศัยความฉลาดมาก กุศล คือความฉลาด รอบรู้ในกองทุกข์นั้นให้ได้นี่แหละเป็นสิ่งที่เราจะต้องบากบั่นพากเพียรพยายาม

เราจะต้องสร้างสติให้ได้ต้องรู้ความหมายของคำว่าสติให้ได้ ถ้าเรารู้ความหมายรู้การทำให้สตินี้มันกล้าขึ้น แสดงว่าการปฏิบัติของเรานี้มันเริ่มถูกทางแล้ว ถูกทางเข้าไปทุกที ๆ เมื่อมันถูกทางผลการกระทำมันก็ได้ผล แต่ถ้าการกระทำของเรานี้ในชีวิตประจำวันของเรามันยังมีความทุกข์เกิดขึ้นเราก็ต้องมาเตือนแล้วว่า สติของเรามันไม่ทันกันแล้วนี่เพราะฉะนั้นการคิด การพูดนี้มันเป็นสิ่งสำคัญเมื่อเราพูดเราก็ไม่ได้ฟัง คนพูดจะไม่ค่อยได้ฟังเพราะมัวแต่พูด พูดมาก ๆ ก็เสียพลังถ้าพูดแบบไม่มีสติพูดไปก็หลุดไปขาดไป เพลินไป เป็นตัวเป็นตนเราพูดไปเลยนี้แสดงว่าเราขาดสติแล้ว

ถ้าผู้พูดมีสติกำลังของสตินี้ก็จะตั้งมั่น คนที่รับฟังก็จะเยือกเย็นแต่ถ้าเราพูดแบบใส่อารมณ์กันใส่ให้เกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลงนี่ คนได้ยินก็เกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลงตามคนที่พูดนั้นมันก็เลยวุ่นวาย แต่พระพุทธเจ้าทรงให้เราได้ยินได้ฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถึงคนที่พูดจะพูดอะไรก็ตามถ้าเรามีสติตั้งไว้เราก็จะกลั่นกรองความโลภ ความโกรธ ความหลงของเขานี่ไม่ให้เข้ามาสู่จิตใจของเราได้

แต่ทุกวันนี้เราฝึกสติกันไม่มั่นคงหวั่นไหวเหมือนแสงเทียน โดนลมก็ไหวไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าสติของเรามันตั้งมั่นอะไรผ่านเข้ามาเราจะรู้ทันที และเราก็จะไม่วิ่งไปตามสิ่งที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การจดจ้องสตินี้ครูบาอาจารย์เปรียบเหมือนแมวที่จดจ้องที่จะตะครุบเหยื่อ ทุกคนก็น่าจะเคยเห็นแมว ตามันจะเพ่งจ้องและก็จะย่อตัวทำตัวให้เบาที่สุดพร้อมที่จะพุ่งไปจับเหยื่อนั้นให้ได้ สติก็เหมือนกันเราก็ต้องพยายามจดจ้องมันอยู่ในความรู้สึกของเราในใจของเรามันจะคิดไปอย่างไร มันจะคิดไปโลภ ไปโกรธ ไปหลง ไปยินดี ไปยินร้าย ไปพอใจไม่พอใจ ไปเกลียด ไปโกรธ ไปพยาบาทอะไรไหม เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วเราจะกำจัดมันอย่างไร

พระพุทธเจ้าบอกว่าควรไม่ให้มันเกิด กั้นมันไว้เลย ให้มันเกิดมามันก็เกิดไปตามกระบวนการตามธรรมชาติแต่อย่าให้ไปถึงความยินดีและความยินร้ายหรือให้มันเกิดความพอใจหรือไม่พอใจให้มันเกิดเฉย ๆ เกิดแล้วเรารู้รูปนี้สวยไม่สวยชอบไม่ชอบก็ว่าไปเท่านั้น เสียงก็เหมือนกัน กลิ่น รส สัมผัสก็ให้มันวางไป เราจะวางได้ก็ต้องอาศัยสติเท่านั้นเพราะสติเป็นพ่อแม่แห่งธรรมทั้งหลาย เป็นพ่อแม่แห่งกุศลทั้งหลายคือความฉลาดทั้งหลาย ถ้าตราบใดสติไม่เกิดขึ้นเราก็จะทุกข์อย่างนี้ทุกข์ซ้ำซากไม่จบซะทีเราเลยต้องมาระลึกรู้ มาเจริญสติปัฏฐาน 4

พระพุทธเจ้าบอกว่า บุคคลใดเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 คือ 1. สติอยู่ในกาย 2. สติอยู่ในเวทนา คือความสุขความทุกข์ หรือความเฉย ๆ 3. สติอยู่ในจิต จิตของเราตอนนี้เป็นยังไง เป็นกุศลเป็นอกุศล และ4.สติอยู่ในธรรม ๆ บทใดบทหนึ่งที่เราพินิจพิจารณา ทั้ง 4 ฐานนี้เป็นสิ่งที่เราควรระลึกรู้ แต่การตั้งสติอยู่ในกายนี้เป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้ง่ายเพราะกายนี้มันหยาบมันเป็นรูปธรรม ส่วนอีก 3 ฐานเป็นนามธรรมมันระลึกรู้ได้ยาก ท่านเลยให้มาระลึกรู้กาย ลมหายใจบ้าง การเคลื่อนไหวบ้าง พิจารณาธาตุกัมมัฏฐานว่าร่างกายของเราเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟบ้าง พิจารณาไปเรื่อย ๆ มีสติอยู่ประคองผู้รู้ของเรา ธาตุรู้ของเรา

ในโลกนี้ไม่มีอะไรมีแต่ธาตุโดยธรรมชาติเท่านั้นกำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งหมดอยู่เนืองนิตย์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอะไรก็ตาม มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ว่า โอ้สิ่งทั้งหลายอาศัยความปรุงแต่งเกิดขึ้นมานี้ มันก็อาศัยความปรุงแต่งเสื่อมสลายไป เราก็อย่าไปหลงการปรุงแต่งเหล่านั้นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาจริง ๆ จัง ๆ ล้วนแล้วแต่สมมติในโลกนี้เท่านั้นเหมือนกับชื่อเรานี้ เราก็มีการสมมติชื่อกัน ผู้หญิงก็สมมติว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชายก็สมมติว่าเป็นผู้ชาย เป็นภาษาต่าง ๆ มากมายที่ในโลกนี้สมมติกันสื่อความหมายให้เข้าใจ แต่จริง ๆ แล้ววิมุตตินั้นไม่มี มีแต่สักแต่ว่าธาตุโดยธรรมชาติกำลังแปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น แต่เราไปเอาสมมตินั้นว่าเป็นจริงเป็นจัง เป็นเราเป็นเขาเป็นดีเป็นชั่ว เป็นถูกเป็นผิด เราเลยวุ่นวายกันทุกวันนี้ เพราะว่าความปรารถนาของเรามันไม่มีขอบเขต

มนุษย์นี้มีความต้องการไม่มีขอบเขตถ้าตราบใดมนุษย์นี้ไม่เห็นโทษของความต้องการในจิตใจของเราว่า ไอ้ความต้องการหรือความปรารถนาของเรานี้มันเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ทั้งหลายแต่ทุกวันนี้เราต้องการนั้น เราต้องการนี้ เราไม่ต้องการนั้น เราไม่ต้องการนี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้เราทุกข์ทั้งนั้น เมื่อเรารู้เหตุแล้วเราควรจะหาทางละ จะดับก็ดับที่เหตุเราก็เอาสตินี้แหละไปดับ มันไม่ได้เอาตัวอะไรไปดับมันเอาสติที่เป็นผู้รู้นี่แหละเอาสติที่เป็นผู้รู้กำกับอยู่นี่ สอน บอกกล่าว ตักเตือนจิตของเราเอง เราต้องสอนนะ จิตของเรานี้เราต้องสอน คือน้อมจิตของเราไปสู่ความเป็นจริง ว่าร่างกายของเรามีความเป็นอย่างไร อารมณ์ของเรามีความเป็นอย่างไร ตัวตนของเราเป็นอย่างไรจริงแท้แค่ไหน บุญบาปที่เราได้เสวยอยู่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร เราจะได้รู้วาสนาบารมีของเรา

วาสนาบารมี คือความดีที่เราได้สะสมมาแล้วในชาติปางก่อนและชาติปัจจุบันชาติด้วย เพราะฉะนั้นวาสนาบารมีคือเหตุปัจจัยที่ทำให้คนน้อมจิตไปสู่ธรรมได้ง่าย บุคคลใดไม่พอใจในธรรมนั้นแสดงว่าวาสนาบารมีคุณงามความดีของเขานั้นยังไม่เข้มข้น เขายังสร้างมาไม่เหมาะสมเพียงพอที่จะนำจิตของเขานี้น้อมไปสู่ธรรม หรือไปปฏิบัติธรรม หรือทำให้ใจของเขานั้นเป็นธรรม เขาก็จะหลงอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมมารมณ์ในสิ่งที่ว่าเป็นสมมติในโลกนี้นั้นเอง และเขาก็จะสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เขาก็พอใจอยู่เช่นนั้น เขาไม่พอใจสูงไปกว่านั้นได้เพราะวาสนาบารมีเขาไม่เพียงพอ

อย่างพวกเรานี้มีวาสนาบารมีเพียงพอ มีการทำทานบารมีได้เพราะการทำทานทำให้เกิดความร่มเย็นต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ถ้ามนุษย์ในโลกนี้ไม่รู้จักการทำทาน ไม่รู้จักการเสียสละแล้วโลกนี้จะร้อนมากกว่านี้ จะวุ่นวายมากกว่านี้อีกหลายพันเท่าทวีคูณเลย แต่ทุกวันนี้มนุษย์นี้ยังมีความร่มเย็นบ้างเพราะอาศัยความเมตตาของมวลมนุษย์ทั้งหลายนี้มีต่อกันและกัน และต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย

เราดูโลกทุกวันนี้ซิทุกเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น วุ่นวายทุกวันนี้เพราะความไม่เมตตา ถ้าทุกคนมีความเมตตากันมีการให้อภัยกัน มีการเจริญสติปัญญามีความฉลาดกันจริง ๆ แล้ว มีความสามัคคีในใจของเราก่อนนะ ที่ว่ารู้จักสามัคคีกันนั้น คือรู้อะไรที่ควรกำจัดมันอะไรที่ทำให้เราแตกความสามัคคีในความรู้สึกของเรา เราก็กำจัดอารมณ์นั้นไปซะไม่เอา อารมณ์ไหนที่สร้างความสามัคคีในใจของเราให้เกิดความสงบ เกิดความร่มเย็น เกิดความผ่องใส

อันนี้เราต้องสร้างเองนะไม่มีใครสร้างให้เราได้ ความสุขก็ตาม ความทุกข์ก็ตาม เราสร้างเองทั้งนั้น เราคิดว่าสิ่งอื่นสร้างความสุข สร้างความทุกข์ให้เรานั่นไม่ใช่ ใจของเราเองถ้าใจของเรามีความฉลาดเราก็สร้างความสุขได้ไม่ยาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมมารมณ์ต่าง ๆ ผ่านมาเราก็สบายเพราะเราฉลาดแล้ว เราตั้งมั่นแล้ว เราเข้าใจในเรื่องรูป เรื่องเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมมารมณ์ต่าง ๆ เข้าใจชัดว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มีรูปที่ไหนบ้างเกิดขึ้นแล้วมันไม่ดับ เสียงที่ไหนเกิดขึ้นแล้วมันไม่ดับมีไหม กลิ่น รส สัมผัส ธรรมมารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา แม้แต่ความสุขความทุกข์ที่ผ่านมาในชีวิตประจำวันของเรานี้ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ดับมีไหม ไม่มีเลย มันเกิดแล้วมันก็ดับ แล้วมันก็จะเกิดอีกแล้วมันก็ดับอีก

นี่แหละที่ทำให้มวลมนุษย์ทั้งหลายนี้พอใจ เพลิดเพลิน เพลินอย่างยิ่งในความเกิดดับของอารมณ์ หรือของความรู้สึก และก็ปล่อยจิตปล่อยใจเลยหาความสงบไม่ได้เพราะความสงบนี้มันอยู่เหนือความสุข เหนือความทุกข์ ที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่เราได้รับความสงบเพราะว่าความสงบมันไม่ได้อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมมารมณ์ต่าง ๆ มันอาศัยปัญญา คือความฉลาดของจิตเราต่อสิ่งเหล่านั้น ต่อรูป ต่อเสียง ต่อกลิ่น ต่อรส ต่อสัมผัส ต่อธรรมมารมณ์ต่าง ๆ นั้นมันถึงสงบได้ ไม่ใช่ว่าตาบอดเราถึงสงบ หูเราหนวกแล้วเราเกิดความสงบไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างนั้นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมมารมณ์ต่าง ๆ ก็มีเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่เราฉลาดแล้วเราไม่หลงแล้ว เราไม่เพลินแล้ว เรามีจุดยืนที่ถูกต้องว่าเห็นรูปก็สักแต่ว่ารูป

จะสักแต่ว่าได้อย่างไร ก็สติของเราจะต้องตั้งมั่นจริง ๆ ตั้งมั่นมีผู้รู้ของเรานี่ ตั้งมั่นอยู่ในใจของเรา ดูรูปก็ดูใจ เห็นรูปก็เห็นความรู้สึกทันทีเลย เสียงผ่านมาก็เห็นความรู้สึกทันทีเลย พร้อมกัน เขาเรียกว่าเกิดกับดับพร้อม ๆ กัน มีสติรักษาใจของเราอยู่ตลอดเวลานี้แหละที่ทำให้เราฉลาด ถ้าเราฝึกหัดปฏิบัติอย่างนี้ ฝึกหัดให้จิตใจของเราอยู่ในปัจจุบันนะ อย่างนี้เราจะเข้าใจตัวเราเอง เมื่อเราเข้าใจตัวเราเองคนในโลกนี้ก็เหมือนเรา มีเลือดเนื้อเหมือนเรา มีธาตุดินน้ำ ลม ไฟ เหมือนเรา มีอวัยวะน้อยใหญ่เหมือนเรา มีความรู้สึกเหมือนเรา เหมือนกันหมด มนุษย์ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหนคือต้องการความสุข เกลียดความทุกข์ สรุปแล้วเท่านี้เอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วเราก็พยายามไม่สร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง และก็ไม่สร้างความทุกข์ให้กับคนอื่น เราจะไม่สร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง เราก็รู้แล้วว่าอะไรเป็นเหตุของความทุกข์เราก็อย่าไปยุ่งกับมัน เราก็อย่าไปแสวงหาเหตุของความทุกข์ คือความอยากทั้งหลาย คือความไม่อยากทั้งหลาย คือความพอใจยินดีทั้งหลายนี่แหละเป็นเหตุทำให้เราเกิดอุปาทานความยึดมั่นหมายมั่นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นตัวเป็นตนจริง ๆ จัง ๆ นี่แหละว่าเป็นเหตุ เราก็ถอนความรู้สึกของเราทีละเล็กทีละน้อย เราถอนได้ครั้งหนึ่งความฉลาดก็เกิดครั้งหนึ่ง เมื่อเราเผลอสติเราเราก็เข้าไปยึดอีกเราก็สอนให้มันคลายมันก็คลาย มันก็ยึดอีก ก็สอนอีกอย่างนี้แหละทำให้ชำนาญ ทำให้แคล่วคล่องสุดท้ายแล้วมันจะฉลาดเอง มันจะไม่เอาแล้วนะเราก็รู้แล้วว่ามันก็ทุกข์นะไม่เอานะอย่า ๆ เท่านั้นแหละมันก็ถอนแล้ว ถอนจากความรู้สึกที่เราไปหมายมั่นแล้ว

อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องพยายาม พระพุทธเจ้าทรงทำมาแล้วและได้ผลแล้วในการกระทำนั้น ๆ ถ้าความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้มันเป็นใจของเรามันคงจะหมดหรือถอนออกไปไม่ได้หรอกเพราะฉะนั้นความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่ใช่ใจ มันเป็นอารมณ์เฉย ๆ เป็นสภาพปรุงแต่งใจของเราให้หลงอารมณ์เฉย ๆ บุคคลใดหลงโลกก็คือหลงอารมณ์ตัวเองนั่นแหละก็คือจะหลงโลกนี้ทั้งหมด แต่ถ้าบุคคลใดไม่หลงโลกก็คือไม่หลงอารมณ์ตัวเอง โลกนี้จะสบายมากเลย เราจะอยู่ในโลกนี้ด้วยความผ่องใส สบาย เห็นพระอาทิตย์ก็สบาย เห็นพระจันทร์ก็สบาย เห็นแม่น้ำภูเขาสบายหมด เห็นผู้หญิงผู้ชายเห็นคนดีเห็นคนไม่ดี เห็นเหตุการณ์บ้านเมืองแบบไหนก็สบายหมดเลย เข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ มันเป็นอย่างนี้แหละ

เมื่อใดที่มนุษย์ยังมีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง มันก็จะเป็นอย่างนี้แหละมันจะไม่เป็นไปอย่างอื่นแน่นอนอันนี้แหละให้เราฉลาดไว้ อย่าหลงโลกอย่าหลงอารมณ์เด็ดขาดเพราะจะทำให้เราเกิดความทุกข์ เพราฉะนั้นให้เรามีสติ ตั้งสติระลึกรู้อยู่ในกายของเรา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่น ทำ พูด คิด อันนี้แหละให้มีสติไว้ พุทโธ ๆ ๆ ของเราไว้ก็ได้ พุทโธนับ 1-10 ของเราไว้ก็ได้ ดูลมหายใจก็ได้ พิจารณาธรรมก็ได้ อะไรก็ตามทำให้จิตของเราอย่าลอย อย่าปล่อยจิตให้มันลอยไป วันๆ หนึ่งเราปล่อยจิตของเราให้มันลอยมากเลย อันนั้นไม่ใช่ทางแห่งความพ้นทุกข์แต่เป็นทางแห่งความทุกข์ ต้องตั้งสติผูกจิตของเราไว้ในอารมณ์ที่เราตั้งใจให้มันรู้อันนั้นสติของเราจะตั้งมั่นอยู่ ฉะนั้นขอให้เราตั้งใจเจริญสติกันให้บ่อย ๆ .

---------------------------

view