สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ประวัติวัดเขาแผงม้า

ประวัติวัดเขาแผงม้า
ประวัติสำนักสงฆ์เขาแผงม้า
 
ที่ตั้งวัด
    สำนักสงฆ์เขาแผงม้า ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเขาแผงม้า ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมาอยู่ที่ระดับเดียวกับ จุดสุดของเขาปักธงชัย หรือสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-600 เมตรทำให้สภาพอากาศ มีความเย็นเกือบตลอดทั้งปี
 
สภาพพื้นที่วัดในสมัยก่อน
    เมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน สภาพพื้นที่บริเวณที่ตั้งวัด ยังปกคลุมไปด้วยป่าไม้ใหญ่ ที่มีความหนาทึบ แต่ในสภาพปัจจุบัน มีการบุกรุกทำลายป่า จนมีสภาพเหลือแต่ภูเขาโล่งเตียน มีแต่พืชที่ปลูกขึ้นเพื่อการเกษตร แต่ยังมีป่าที่เหลืออยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณวัดประมาณ 3 กิโลเมตร ทำให้ได้รับอิทธิพลของความซุ่มซื้น และความเย็นจากป่าอุทยานเขาใหญ่
 
ผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดิน
   เมื่อประมาณปี 2538 นายส่องขวัญและนางนภา สุวรรณเตมีย์ มีจิตศรัทธาถวายที่ดินประมาณ 40 ไร่ ให้แก่พระอาจาร์อนันต์ อกิญจโน เจ้าอาวาสวัดมาบจันทร์ (สาขาวัดหนองป่าพงที่ 73) จ.ระยอง เพื่อสร้างเป็นวัดป่าขึ้น
   สภาพพื้นที่ดินแต่เดิม ในสมัยที่เริ่มเข้ามาบุกเบิก มีแต่ต้นหญ้าคาขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณมีต้นไม่ใหญ่ที่อาศัยร่มเงาได้เพียงไม่กี่ต้น ท่านพระอาจารย์อนันต์ อกิญจโน จึงให้ทำการขุดสระขึ้น 2 สระเพื่อให้กักเก็บน้ำไว้ใช้
 
เริ่มบุกเบิก
    เมื่อประมาณ ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2539 ท่านพระอาจารย์อนันต์ ได้ส่งพระอาจารย์กนกและพระจากวัดมาบจันทร์ จ.ระยอง อีก 2 รูป เข้ามาบุกเบิกสถานที่นี้ โดยในระยะแรกมีเพียงที่พักของคนงานที่เป็นโรงมุงสังกะสี ที่ใช้สำหรับอาศัยชั่วคราว เป็นร่มเงาพอบังแดดบังฝนได้(ในปัจจุบันได้ต่อเติมเป็นโรงครัว) และสร้างห้องน้ำชั่วคราว และห้องน้ำพระ 2 ห้อง สร้างกุฏิพระมุงด้วยหญ้าคา 2 หลัง และต่อมาก็เริ่มสร้างกุฏิถาวร เนื่องจากกุฏิหญ้าคา ถูกลมพัดพังลง
    ในช่วงต้นฤดูฝน ก็ได้ปลูกต้นไม้ทั้งต้นใหญ่และที่เป็นกล้าไม้ จำนวลหลายพันต้น เพื่อฟื้นฟูให้เป็นสภาพป่าที่สมบูรณ์อีกครั้ง และเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นวัดป่าด้วย
 
สร้างศาลาหลังแรก
   เมือมีพระมาอาศัยอยู่มากขึ้น และมีญาติโยมที่มีจิตศรัทธา มาปฏิบัติธรรมมากขึ้นจึงจำเป็นต้องสร้างศาลา เพื่อใช้เป็นที่รวมฉันอาหาร เป็นที่รวมปฏิบัติธรรม ทำวัตรสวดมนต์รวมถึงทำสังฆกรรม สำหรับพระภิกษุที่อยู่จำพรรษา โดยสร้างเป็นศาลาชั้นเดียว ขนาด 8 คูณ 10 เมตร มีห้องสำหรับเก็บของ และใช้เป็นคลังสงฆ์ โดยมีพระจำพรรษาแรก 5 รูป
 
สร้างกุฏิรับรอง
   เมื่อพระภิษุสงฆ์เริ่มรู้จักวัดมากขึ้น และเดินทางมาพักปฏิบัติภาวนา ตลอดจนร่วมในพิธีกรรมต่างๆจึงจำเป็นต้องสร้างกุฏิที่ใช้รับรอง พระเถระผู้ใหญ่ และพระที่มาร่วมงานโดยสร้างเป็นกุฏิคอนกรีต 2 ชั้นมุงหลังคากระเบื้อง โดยวัสดุส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่มีผู้มีจิตศรัทธาถวายและนำมาประกอบกัน จากนั้นได้สร้างห้องน้ำสำหรับโยมอีก 6 ห้อง และสร้างกุฏิที่พักพระและโยมเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้เพียงพอกับพระที่อยู่ในจำพรรษาที่สองคือปี 2540 ซึ่งมีพระจำพรรษา 5 รูป ปัจจุบันมีพระจำพรรษา 15 รูป (2547)
 
ขยายเขตที่ดินวัด
   เมื่อมีผู้เห็นความสำคัญของวัดป่า ซึ่งจำเป็นต้องมีอาณาบริเวณกว้างเพื่อใช้เป็นที่พักภาวนาสำหรับพระภิกษุเพื่อความสงบวิเวก และขยายเขตของป่าจึงมีผู้มีจิตศรัทธา บริจากทรัพย์เพื่อซื้อที่ดินขยายเขตบริเวณวัดอีกเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 140 ไร่
 
สร้างโรงย้อมผ้า
   โรงย้อมผ้าใช้สำหรับซักย้อมผ้าจีวร สำหรับพระภิกษุ สามเณร ตามวิธีในสมัยพุทธการโดยใช้แก่นขนุนสับต้มกับน้ำ สำหรับซักจีวร โดยซักทุก 15 วัน และยังใช้ความร้อนจากเตาย้อมผ้าเพื่อใช้สำหรับต้มน้ำสมุนไพร เพื่ออบไอน้ำรักษาโรค ได้ตามแบบโบราณ และยังเป็นข้อวัตรที่ประพฤติปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลอีกด้วย
   สำนักสงฆ์เขาแผงม้า ในวันนี้เกิดจาก ญิโยมผู้มีจิตศรัทธา ที่มีส่วนร่วมสร้างเสนาสนะ และสิ่งต่างๆด้วยความศรัทธาอุตสาหะ ภายใต้การดูแลของท่านพระอาจารย์กนก สุรปญโญ ที่เป็นประธานสงฆ์ในที่นี้ โดยท่านด้รับความไว้วางใจจากท่านพระอาจารย์อนันต์ อกิญจโน ให้มาบุกเบิกสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่ต้นมา
                   
                                    จึงขออนุโมทนาในคุณความดีของบรรดาญาติโยม ผู้มีจิตศรัทธาในที่นี้ด้วย
 
                                                                              สำนักสงฆ์เขาแผงม้า
view